‘อี-โหวตติ้ง’ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพจาก-Elliott Stallion via Unsplash)

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่อังกฤษมีการเลือกตั้งสภาระดับท้องถิ่นขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ดุเดือดพอตัว ว่าด้วยเรื่องเบร็กซิทนั่นแหละครับ

ผมไม่ได้มาบอกเล่าเรื่องเลือกตั้งที่ว่านี่หรอกครับ แต่อยากหยิบเอา “ส่วนหนึ่ง” ของการเลือกตั้งที่ว่านี้มาเล่าสู่กันฟัง

เพราะในเขตเลือกตั้งของเมืองเกตส์เฮด เมืองใหญ่ริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำไทน์แอนด์แวร์ ตรงกันข้ามกับเมืองนิวคาสเซิล เมืองใหญ่อีกเมืองในอังกฤษที่เรารู้จักกันดีเพราะเป็นที่ตั้งของสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลนั่นเอง เขาทดลองระบบลงคะแนนเลือกตั้งแบบใหม่กัน ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนที่หน่วยเลือกตั้งกันครับ

ถือเป็นระบบการลงคะแนนที่ใหม่ที่สุด อยู่ในระหว่างการทดลองใช้เป็นครั้งแรกหลังจากที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยวอร์วิค นำโดยศาสตราจารย์ เฟิ่ง เฮา ที่เป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมความปลอดภัยประจำคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยวอร์วิค พัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากสภาการวิจัยแห่งยุโรป (อีอาร์ซี) และอินโนเวท ยูเค องค์กรสนับสนุนนวัตกรรมของอังกฤษ

Advertisement

แล้วก็ตั้งความหวังกันว่า ระบบลงคะแนนเสียงผ่านทัชสกรีนที่คูหาเลือกตั้งนี้จะได้ผล มีประสิทธิภาพจนเป็นที่ยอมรับกันในที่สุด

ที่ต้องตั้งความหวังกันก็เพราะว่า ระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า อี-โหวตติ้ง นี้มีการคิดกันมาแล้วหลายระบบ แต่ในที่สุดก็จำกัดวงนิยมใช้กันอยู่ในไม่กี่ประเทศ ยังไม่มีอะไรเป็นมาตรฐานสากลและยังไม่มีใครวางใจระบบใดได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ถ้าจะแยกกันคร่าวๆ อี-โหวตติ้ง เคยใช้กันอยู่ 2-3 แบบ แบบแรก เป็นแบบที่ยังคงพึ่งกระดาษกันอยู่ คนลงคะแนนก็ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องการใช้งานเครื่องมากนัก เพียงแค่เปลี่ยนวิธีจากการกากบาท เป็นทำวงกลมให้เป็นจุดดำทึบแสงให้ตรงกับหมายเลขที่เราต้องการเลือก แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะป้อนเข้าเครื่อง “ออพติคอล สแกน” ซึ่งจะอ่านการลงคะแนนมาเก็บไว้ในหน่วยความจำเป็นข้อมูลดิจิทัล เพื่อจัดส่งออนไลน์ไปรวมคะแนนกันต่อไป

Advertisement

แบบนี้มีใช้กันอยู่ในหลายประเทศครับ สหรัฐอเมริกาใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเมื่อมีปัญหาก็สามารถนำเอาตัวกระดาษมานับใหม่กันได้ ใกล้ๆ บ้านเราก็มีที่ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้ระบบอี-โหวตติ้งแบบนี้กันในการเลือกประธานาธิบดีมาแล้ว 2 ครั้ง

ตัวบัตรเลือกตั้ง เมื่อหลายปีก่อนจะคล้ายๆ กับกระดาษคำตอบปรนัยในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ที่ต้องใช้ดินสอ 2บี แบบดำมากๆ ตอบนั่นแหละครับ เดี๋ยวนี้คงเปลี่ยนไปแล้วกระมัง

แบบที่ 2 เป็นแบบที่ลงคะแนนใส่เครื่องโดยตรง บราซิลเป็นคนเริ่มต้นคิด แล้วก็ถือเป็นการนำเอาระบบอี-โหวตติ้ง มาใช้ครั้งแรกสุดของโลก ตั้งแต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1996 หรือเมื่อ 23 ปีมาแล้ว

ในปี 2010 บราซิลมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีผู้มีสิทธิมาลงคะแนนมากกว่า 135 ล้านคน ระบบที่ว่าใช้เวลาเพียง 75 นาทีหลังปิดหีบเลือกตั้งก็สามารถแสดงผลการเลือกตั้งออกมาให้เห็นกันแล้ว

เครื่องลงคะแนนของบราซิลเรียกว่า “พรีเมียร์ อิเลคชั่น โซลูชั่น” เดิมเรียกกันว่า “ดิเอโบลด์ อิเลคชั่น ซิสเต็ม” แต่เรียกเป็นระบบรวมๆ ว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อบันทึกคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยตรง ใช้ชื่อย่อว่า ระบบเดร (DRE)

ระบบที่ 3 ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นระบบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดและเอื้อต่อการดึงดูดคนให้ไปลงคะแนนมากที่สุด เป็นระบบของประเทศเอสโตเนียใช้อยู่ประเทศเดียว เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี 2005 ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพราะสะดวกสบายและที่สำคัญคือเปลี่ยนใจได้หลายครั้ง จนกว่าจะถึงเวลาปิดหีบของวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ตอนนี้ชาวเอสโตเนียราว 1 ใน 3 ใช้วิธีลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านระบบนี้ครับ

ระบบของเอสโตเนียผู้ลงคะแนนต้องไปลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิก่อน โดยการใช้บัตรประชาชน เสียบเข้ากับการ์ดรีดเดอร์ที่ต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้การ์ดอ่านข้อมูลชิปในบัตรที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนลายเซ็นดิจิทัลในการลงทะเบียนใช้สิทธิ เมื่อได้รับการรับรองจากระบบแล้ว ผู้ใช้สามารถลงคะแนนเสียงผ่านอินเตอร์เน็ตได้ แก้ไขกี่ครั้งก็ได้ เพราะจะไม่มีการนำไปนับจนกว่าจะหมดเวลาลงคะแนนในวันเลือกตั้งแล้วเท่านั้น

ระบบใหม่ที่อังกฤษทดลองในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 2 แต่เป็นการทำผ่านคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนแบบที่ทุกคนคุ้นเคย คนที่อยากมีส่วนร่วมในการทดลองครั้งนี้ก็สามารถไปลงคะแนนได้ (ก่อนหรือหลังการไปหย่อนบัตร ซึ่งจะถูกนำไปนับคะแนนในการเลือกตั้งจริง) แต่ละคนจะได้รับ “รหัสผ่าน” เฉพาะคนให้เข้าไปในระบบเพื่อลงคะแนน หลังจากที่กดลงคะแนนเลือกตั้งบนหน้าจอแล้ว เครื่องพิมพ์จะพิมพ์กระดาษออกมาให้หนึ่งชิ้นเสมือนหนึ่งเป็นใบเสร็จการเลือกตั้งเป็นอันเสร็จพิธี

ระบบนี้จะคล้ายกับระบบของเอสโตเนียตรงที่หลังจากลงคะแนนแล้ว คะแนนทุกคะแนนจะไปปรากฏบนเว็บไซต์การเลือกตั้ง ใครก็ได้สามารถเข้าไปรวมคะแนนของผู้สมัครแต่ละรายได้ทันทีครับ

ศาสตราจารย์เฟิ่้งอ้างว่า ระบบจะแจ้งเตือนผู้ควบคุมทันทีถ้าหากกระบวนการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด

ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับความไว้เนื้่อเชื่อใจให้นำมาใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีหลายประเทศมากที่เคยทดลองแล้วก็เลิกใช้ เพราะเชื่อว่าระบบเอสโธเนียในการเลือกตั้งมีความเสี่ยงอยู่ในตัวหลายจุด จนไม่คุ้มที่จะนำมาใช้งานจริง ประเทศอย่างไอร์แลนด์ก็เลิกใช้ไปแล้ว เนเธอร์แลนด์เคยทดลองแต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ แคนาดาก็เคยทดลองแล้วก็บอกว่าไม่เช่นเดียวกัน

ส่วนคำถามที่ว่าเหมาะกับเมืองไทยหรือเปล่า ผมว่าอย่าเพิ่งคิดกันเลยครับ คิดหาทางให้มีเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกันซักสี่ซ้าห้าครั้งให้ได้เสียก่อนจะดีกว่า!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image