ผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐสภา บทพิสูจน์ เกียรติ ศักดิ์ศรีและความศรัทธาของประชาชน : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

“บัดนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลงและมีการเรียกประชุมรัฐสภาพุทธศักราช 2562 แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญัติตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ขอให้สมาชิกแห่งสภาพึงนึกถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะการกระทำทุกอย่างของแต่ละคนจะมีผลโดยตรงถึงความมั่นคงของประเทศและความสุขทุกข์ของประชาชน จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวงโดยเต็มสติปัญญา ความสามารถ ด้วยความสุจริต และด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบหนักแน่นด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามหลักนิติธรรมและคุณธรรม ให้งานของชาติดำเนินก้าวหน้าไปโดยไม่ติดขัดและเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์สมบูรณ์ บริบูรณ์ ขออำนวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อยสัมฤทธิผลเป็นความผาสุกสวัสดิ์และความวัฒนาถาวรแก่อาณาราษฎร์และชาติบ้านเมือง ทั้งขอให้ทุกคนที่ประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ประสบความสุขความเจริญทุกเมื่อทั่วหน้ากัน” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเปิดรัฐสภา วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ)

การเปิดรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเป็นทางการของประเทศไทยหลังจากที่มีการว่างเว้นมานานถึง 8 ปี

อย่างไรก็ตามเมื่อสมาชิกทุกท่านไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาได้รับเกียรติให้ปฏิบัติหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยถือได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็น “ผู้ทรงเกียรติ” ที่จะต้องดำเนินภารกิจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเหนือสิ่งอื่นใดคือการเดินตามพระราชดำรัสดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานในวันเปิดรัฐสภา

ที่น่าสนใจยิ่งเมื่อบุคคลที่ได้รับการขานเรียกว่า “ผู้ทรงเกียรติ” คำถามจึงมีอยู่ว่า บุคคลเหล่านั้นจะรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีที่ได้รับมอบหมายมากน้อยแค่ไหน ความศรัทธา ความคาดหวังที่ประชาชนเฝ้ารอในฐานะตัวแทนที่อาสาคือโจทย์หรือการบ้านที่ทุกคนต้องพิสูจน์

Advertisement

แต่เพียงแค่คล้อยหลังการเปิดรัฐสภาได้วันเดียวเมื่อเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรกภายหลังสมาชิกได้กล่าวปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้วเมื่อถึงวาระเข้าสู่การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นบรรดาผู้ทรงเกียรติบางคนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้และวังวันของนักการเมืองเก่าๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำเน่า” ก็กลับมาปรากฏให้เห็นกันอีกครั้ง การแสดงออกที่ไม่เหมาะไม่ควรจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็ตามประชาชนที่ติดตามและชมการถ่ายทอดสดทางวิทยุโทรทัศน์ต่างส่ายหน้ากันตามๆ กันโดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่สังคมได้สะท้อนผ่านโซเชียลมีเดียถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ไม่พึงประสงค์สำหรับนักการเมืองในรัฐสภา ณ วันนี้

ที่น่าสนใจยิ่งถ้าเด็กและเยาวชนที่สนใจและติดตามพฤติกรรมของท่านไปพร้อมกับครอบครัวหรือติดตามผ่านสื่อออนไลน์หรือสื่อแขนงต่างๆ จะมีคำถามไปยังผู้ทรงเกียรติเช่นกันว่าท่านซึ่งเป็นผู้ที่เคยผ่านการเลี้ยงดูจากครอบครัว ตลอดจนการอบรมศึกษาเล่าเรียนมาจากสถานศึกษาทั้งในและต่างประเทศซึ่งมี ครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองได้ปลูกฝังและอบรมให้เป็นผู้มีความรู้ มีระเบียบวินัย เคารพในกติกากฎหมายบ้านเมือง มีน้ำใจนักกีฬา ทำไมจึงได้แสดงออกในที่ประชุมในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่เคารพประธาน ขาดระเบียบวินัย หากเจอคำถามลักษณะนี้ท่านจะตอบเด็กและเยาวชนเหล่านี้อย่างไรหรือนั่นคือเกมที่นักการเมืองพึงปฏิบัติ

การเมืองไทยเมื่อมีกระบวนการการเลือกตั้งและเข้าสู่มิติแห่งรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่ารูปแบบและวิธีการยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร การแสดงออกให้เห็นถึงเกมแห่งการแย่งชิงหรือแสวงหาอำนาจและโอกาสของพวกพ้องและตนเองยังปรากฏให้เห็นเช่นเดิม

Advertisement

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในบางมิติผู้ที่ผ่านการอาสามาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยบางคนยังขาดซึ่งภาวะของการเป็นผู้นำทางการเมือง ไร้จิตสำนึก คุณธรรมและจริยธรรม และหากเทียบกับการดำรงตำแหน่งของข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในบางตำแหน่งที่สำคัญจะเห็นได้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรต่างๆ หรือเป็นไปตามเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งที่กำหนด แต่การเป็นผู้แทนราษฎรจะมีเพียงคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงความศรัทธา ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกรัฐสภานั้นหากย้อนไปศึกษาการรายงานวิจัย “เรื่องบทบาทและความรับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในอนาคตตามทรรศนะของประชาชน” ซึ่งสำนักวิจัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้เคยศึกษาไว้เมื่อครั้งมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16

สำหรับผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวถึงแม้ว่าเวลาสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยจวบจนวันนี้ประเทศไทยได้มีการใช่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 แล้วก็ตาม แต่ผลการศึกษาถือได้ว่ายังสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติของของผู้ทรงเกียรติในปัจจุบันอยู่หลากหลายมิติ

ดังเช่นเมื่อถามถึงความรู้ความเข้าใจและทรรศนะของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พบว่า บทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทราบและเห็นด้วยมากที่สุด 3 อันดับ คือ การเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนในด้านความซื่อสัตย์สุจริต การตรวจเยี่ยมและรับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือประชาชน การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่ในเขตรับผิดชอบของตน

ส่วนความรู้ความเข้าใจและทรรศนะของประชาชนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกวุฒิสภา พบว่า ประเด็นที่ประชาชนทราบและเห็นด้วยมากที่สุด คือ บทบาทในการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทย

สำหรับการวิจัยดังกล่าวยังสอบถามในประเด็นของความคาดหวังในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พบว่าประชาชนคาดหวังให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยึดมั่นในนโยบายที่แถลงไว้กับประชาชนตอนหาเสียง และควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนด้วยการไม่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลมากที่สุด

ขณะที่ความคาดหวังที่มีต่อสมาชิกวุฒิสภานั้น ผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังให้สมาชิกวุฒิสภาประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักการเมืองและประชาชนโดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลและสิ่งผิดกฎหมายมากที่สุดเช่นเดียวกัน (Library 2.parliment.go.th/ebook/content-er)

วันนี้รัฐสภาไทยภายใต้การขับเคลื่อนการบริหารจัดการของนายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีจุดยืนและยึดมั่นในระบบรัฐสภาและนายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะประธานสมาชิกวุฒิสภา ด้วยสถานะคุณวุฒิ และวัยวุฒิของทั้งสองท่านที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ภายใต้บริบทการยอมรับของสังคมเชื่อว่ารัฐสภาไทยในยุคแห่งการปฏิรูปจะสามารถกู้ศรัทธาและสร้างความเชื่อมั่นจากสังคมไทยและนานาประเทศได้เป็นอย่างดี

เหนือสิ่งอื่นใดหัวใจที่สำคัญสำหรับความศรัทธาและความคาดหวังของสังคมที่มีต่อ ส.ส.และ ส.ว.นั้นคงจะหนีไม่พ้น “ตัวตน” ของผู้ทรงเกียรติแต่ละท่านว่าจะขับเคลื่อนในการที่จะคืนความสุข และสร้างโอกาสที่ดีงามให้กับประชาชนดังที่คาดหวังและมอบหมายได้มากน้อยแค่ไหน นับจากนี้ไปจะเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งปวงจะได้แสดงออกให้เห็นในเชิงประจักษ์กับปรากฏการณ์ที่สังคมกล่าวขานและให้ฉายาแก่นักการเมืองบางคนในมิติของนักการเมืองที่ยังไม่พ้นวังวนแห่งน้ำเน่าซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้จึงไม่ควรจะก่อเกิดให้เห็นในรัฐสภาไทยอีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่การเมืองใหม่

ความคาดหวัง ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองหรือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงเกียรตินั้นใช่ว่าประชาชนจะให้ความสนใจเฉพาะผู้ทำหน้าที่ในรัฐสภาในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร บุคคลเหล่านี้ย่อมมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งมวล ดังนั้นเมื่อโอกาสและอำนาจมาถึงตัวท่านแล้วขอให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่โดยยึดเอาประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก และที่จะต้องนำมาเป็นเทียนชัยแห่งการปฏิบัติคือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้เนื่องในวาระของการเปิดรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

เพลโตนักปราชญ์แห่งโลกกล่าวว่า “ผู้ปกครองรัฐต้องเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ แยกแยะระหว่างสิ่งที่ดีและสิ่งที่ชั่วออกจากกัน มีความสามารถในการชักชวนให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของความดีเพื่อเป้าหมายของการมีชีวิตที่ดี ดังนั้นผู้ปกครองรัฐจึงต้องมีคุณธรรม ศีลธรรมจรรยา ที่เรียกว่า ราชานักปราชญ์ (Philosophy King) ….”

คำกล่าวนี้ยังเป็นมนต์ขลังและเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งสำหรับผู้ทรงเกียรติและการเมืองไทยในการที่นำมาซึ่งความยั่งยืนสำหรับความหวังและความศรัทธาของปวงชนชาวไทยทั้งวันนี้และวันหน้า

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image