รื่นร่ม รมเยศ : เทวดาแก้ผ้า โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คําว่า “เทวดา” เป็นคำกลางๆ ใช้กับเทวดาผู้ชายก็ได้ เทวดาผู้หญิงก็ได้

ในภาษาแขกซึ่งเป็นต้นเดิมของคำเหล่านี้ ถ้าพูดเทวดาผู้ชายเขามักใช้คำว่าเทวปุตต (ภาษาไทยแปลงเป็นเทพบุตร) เทวดาผู้หญิงใช้คำว่าเทวธีตา (ภาษาไทยใช้คำว่าเทพธิดา) ทั้งเทพบุตรและเทพธิดา แปลตามตัวว่า “ลูกชายเทวดา” และ “ลูกสาวเทวดา”

ว่ากันว่าสวรรค์ชั้นฟ้านั้นเต็มไปด้วยเทวดาหนุ่มๆ สาวๆ ทั้งนี้ เทวดาแก่ๆ ไม่ยักมี หรือว่าชาวเมืองฟ้าเขาไม่มีแก่เฒ่ากันก็ไม่รู้

มีชื่อเรียกอีกคำหนึ่งที่คุ้นหูคนไทยเราคืออัปสร ซึ่งเราแปลกันว่า “นางฟ้า” ความจริงเทพธิดากับอัปสรน่าจะเป็นคนละพวกกัน นางฟ้าควรจะหมายถึงเทพธิดามากกว่าอัปสร อัปสรนั้นแปลว่า “นางน้ำ” (อัป = น้ำ + สร = เคลื่อนไหว)

Advertisement

มีตำนานเก่าแก่สมัยพระเจ้าเหากล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งเทวดากับอสูรยังมีสัมพันธไมตรีอันดีกันอยู่นั้นพากันกวนน้ำอมฤต ในการกวนน้ำอมฤตนั้นจะมีของวิเศษผุดขึ้นจากเกษียรสมุทร 14 อย่าง ก่อนที่น้ำอมฤตจะโผล่ขึ้นเป็นอันดับสุดท้าย

อันดับที่สี่โผล่ขึ้นมากลางทะเลน้ำนมก็คือนางอัปสร ที่ได้นามดังนี้เพราะนางมีกำเนิดจากน้ำ ประดับประดาด้วยอาภรณ์อันเป็นทิพย์ สวยอย่างหยาดฟ้ามาดิน

แต่ก็ประหลาด ทั้งที่งดงามอย่างนั้น เหล่าเทวดาและอสูรก็ไม่มีใครสน มันจดจ่ออยู่แต่กับน้ำพรรค์หยั่งว่า พอหม้อบรรจุแม่โขง เอ๊ย! น้ำอมฤตโผล่พ้นน้ำเท่านั้น ก็เกิดการวางมวยแย่งน้ำวิเศษกันโกลาหล มึงมั่ง กูมั่ง จนหกเรี่ยราด

Advertisement

นัยว่าเทวดากับอสูรเลยเถิดเขม่นกันมาตั้งแต่บัดนั้น วันดีคืนดีจะยกทัพมารบราฆ่าฟันกันที ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เป็นสงครามยืดเยื้อต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น เรียกว่าเทวา สุรสงคราม

สาเหตุก็เนื่องมาจากแย่งเหล้าโรงบางยี่ขันกันนี่แหละ คิดดูอีกทีเทวดากับอสูรนี่โง่ชะมัด มีอย่างรึ นางน้ำออกเต่งตึงไม่สน ยื้อแย่งกันอยู่ได้กะไอ้ไหสุรา

ในพระราชนิพนธ์เรื่องนารายณ์สิบปาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงบรรยายฉากนี้อย่างแจ่มชัดว่า

ที่สี่ที่ขึ้นจาก ชลา ลัยฤา
คือคณาอัปสร เฉิดแฉล้ม
รูปโฉมสุดโสภา หาเปรียบ ไม่เลย
งามเนตรงามเกศแก้ม ก่องฉวี
ท่วงทีมารยามล้วน ยวนใจ
เสียงเสนาะขับรำ ร่ำร้อง
แต่หาสุรเทพใด รับบ่ มีเลย
เหตุฉะนั้นจึงต้อง อยู่ลอย

คอยบำเรอเทพไท้ เปรมปรีดิ์
ยามเทพใดมีทุกข์ ช่วยแก้
เปรียบโสภิณีนางในโลก มนุษย์แล
เป็นแบบแต่นั่นแล้ สืบมา

เมื่อไม่มีใครรับ ก็เลยกลายเป็นสมบัติส่วนกลาง “คอยบำเรอเทพไท้ ยามเทพใดมีทุกข์ ช่วยแก้” ทำหน้าที่โสภิณีในสวรรค์ว่างั้นเถอะ ใครใคร่เชย เชย ใครใคร่ชม ชม ตามสบาย เทพไท้องค์ไหนมักมากในกามารมณ์ก็กว้านไว้ในครอบครองมาก อย่างเช่นพระอินทร์ (พระเอกของผมนั่นแหละครับ) ตั้งตนเป็นพ่อเล้าเลยทีเดียว นอกจากจะเอาไว้เชยชมเองแล้ว แกยังใช้นางอัปสรเป็นเครื่องมือในการทำลายตบะของผู้เคร่งฌาน โดยเฉพาะฤๅษีชีไพร

ทำไมหรือครับ?

ผมจะเล่านิสัยขี้อิจฉาของพระอินทร์ไว้ว่า ถ้าแกเห็นใครทำความดีมากๆ แกก็กลัวเขาจะแย่งตำแหน่งแกเข้า แกก็หาวิธีทำลายเขาเสียเองบ้าง ส่งนางอัปสรไปยั่วยวนให้ตบะเขาแตกบ้าง

อย่างกรณีฤๅษีวิศวามิตรผู้เคร่งฌาน พระอินทร์ก็ส่งนางอัปสรชื่อเมนถา มาฉอเลาะออเซาะซะจนฤๅษีท่านเคลิบเคลิ้ม คุมสติสตังไว้ไม่อยู่ เลยตบะแตกได้นางเป็นภรรยา มีลูกด้วยกันคนหนึ่งชื่อศุกุนตลา

ดังที่เราท่านผู้ศึกษาวรรณคดีทราบกันดีอยู่แล้ว เมื่อนางอัปสรกลับไปเมืองฟ้าแล้ว หลวงพ่อวิศวามิตรได้คิด จึงเริ่มบำเพ็ญฌานใหม่กล้าแข็งกว่าเดิม

คราวนี้แข็งปั๋งดังโป๊กเลย พระอินทร์พ่อเล้าใหญ่ส่งมาอีกนางชื่อรัมภา บังเกิดเป็นคราวเคราะห์ของนาง หลวงพ่อไม่เล่นด้วย

“คราวก่อนเผลอไปแผล็บเดียว ลูกออกมาหนึ่ง คราวนี้ขืนนอตหลุดอีก เดี๋ยวก็จะออกมาอีก อยู่ป่าดงพงไพรอย่างนี้จะเอาอะไรเลี้ยงมัน”

คิดได้ดังนี้ หลวงพ่อเลยโนเค สาปส่งให้นางกลายเป็นหินเสียเลย นางก็เลยกลายเป็นแพะรับบาป เพราะความขี้อิจฉาตาร้อนของพระเจ้า “พันตา” แท้ๆ
น่าสงสาร

ถ้าว่าตามตำราสันสกฤต เทพธิดากับอัปสรไม่ใช่พวกเดียวกัน แต่ตำราฝ่ายบาลีดูเหมือน (ดูเหมือนไว้ก่อนนะครับ เพราะผมไม่แน่ใจ) กล่าวไว้ปนๆ กันจนกลายเป็นพวกเดียวกัน

ยิ่งในความหมายอย่างไทยด้วยแล้ว ไม่ว่าเทพธิดา-นางอัปสร นางฟ้า เราหมายถึงสตรีเพศที่งามหยาดเยิ้มหยดย้อยอยู่เมืองฟ้าอมรโน่นแหละ

เวลาจิตรกรเขาวาดภาพนางฟ้าหรือเทพธิดาพวกนี้ จึงพยายามวาดจินตนาการให้อ่อนช้อยสวยงามที่สุดเท่าที่จะทำ

และเทพธิดานางฟ้าในความนึกคิดของไทยมักจะนุ่งน้อยห่มน้อยหรือเปลือยส่วนบนโชว์ส่วนเว้าส่วนนูนถึงอกถึงใจ ก็ความงามของสตรีจะอยู่ที่ไหนเล่าครับ ถ้าไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ ใช่ไหมครับ

ทั้งๆ ที่การวาดนางฟ้าเปลือยเป็นเอกลักษณ์ของจิตรกรรมไทยก็ว่าได้ แต่จิตรกรรมเอกท่านหนึ่งถูกพระเจ้าอยู่หัวกริ้ว เป็นเรื่องเป็นราวอื้อฉาวกันใหญ่โต

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระครูกสิณสังวร จิตรกรเอกร่วมยุคขรัวอินโข่ง เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ฝั่งธนบุรี ได้วาดภาพฝาผนังพระอุโบสถวัด
แห่งนั้น

ในหลวงเสด็จฯไปพระราชทานผ้าพระกฐิน ทอดพระเนตรเห็นภาพฝีมือของท่านเข้า ทรงพอพระทัย ตรัสถามว่าใครวาด เมื่อทรงทราบว่าพระครูกสิณสังวรวาด จึงตรัสว่าเก่ง แต่พอหันไปทอดพระเนตรอีกมุมหนึ่งเป็นรูปนางฟ้าเล่นน้ำ ไม่พอพระทัย ทรงตำหนิว่าวาดภาพประเจิดประเจ้อในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

เรื่องนี้มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ขอคัดลอกมาลงไว้ ณ ที่นี้

“จึงทรงพระราชดำริ จะใคร่สถาปนาเลื่อนพระครูกสิณสังวรให้เป็นพระญาณรังสี ที่พระราชาคณะ สำหรับพระอารามนั้น แต่ครั้นทรงพิเคราะห์ไปในจิตรกรรมการเขียนผนังพระอุโบสถนั้น รำคาญพระเนตรอยู่ห้องหนึ่ง ซึ่งเป็นห้องระหว่างประตูกลางและประตูเหนือหน้าพระอุโบสถ เขียนเป็นนันทอุทยานในดาวดึงส์สวรรค์ ก็ในนันทอุทยานนั้นล้วนเกลื่อนกลาดดาษดาไปด้วยนางเทพ นิกร อัปสร กัญญา เดินไปมาแลชมต้นไม้ที่มีดอกมีผลบ้าง ลงอาบน้ำในสุนันทโบกขรณีบ้าง มีรูปวุ่นวายอยู่ถึง 7 รูป คือรูปเปิดผ้านุ่งถึงตะโพก นั่งถ่ายปัสสาวะ บ้างเป็นรูปยืนแหวกผ้านุ่งข้างหน้า บ้างบางนางว่ายน้ำท่อนกลางตัวพ้นน้ำมา ผ้านุ่งไม่มี บางนางขึ้นจากท่า ผลัดผ้าข้างหน้าแหวกอยู่จนถึงอุทรประเทศ บางนางผลัดผ้าข้างหลังเปิดเห็นตะโพก บางนางหกล้มผ้าหลุดลุ่ย

รูปภาพสตรีต่างๆ ถึง 7 รูป ที่เขียนไว้ดังนี้ ก็เป็นรูปนางสวรรค์ล้วนประดับประดามงกุฎ เป็นรูปภาพระบายอย่างดี มิใช่เป็นของเล่นที่ห้องนั้นอยู่เบื้องหน้าพระอุโบสถ ตรงพระพักตร์พระประธาน ตรงที่เสด็จไปประทับ หรือเมื่อพระสงฆ์จะมาชุมนุมกันทำสังฆกรรม อุโบสถกรรมก็จะต้องแลดูรูปนั้นอยู่จนสังฆกรรมเลิก ก็รูปภาพนางสวรรค์แปลกตา 7 รูปนี้ พระครูกสิณสังวรให้การเขียนหรือช่างเขียนไปเอง ถ้าให้การเขียนนั้นจะเป็นประโยชน์โภชผล เป็นปริศนาธรรมทางสังเวช หรือทางเลื่อมใสอย่างไร จึงเขียนไว้ ถ้าช่างเขียนไปเอง ช่างเขียนนั้นเป็นคนดีหรือเสียจริต ถ้าเสียจริต ทำไมจึงเขียนรูปภาพระบายได้งามๆ ได้ดีๆ”

ท่านพระครูกสิณสังวรกำลังจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าฟ้า เจ้าคุณรอมร่อ เลยอดเป็นกัน

ภาพเทวดาแก้ผ้าเป็นเหตุแท้ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image