งูหลาม วัว ควาย ไก่ กบ แกะ และกำเนิดอำนาจอภิบาลร่วมสมัย : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ความแปลกใหม่ของผู้นำไทยคนปัจจุบันก็คือความสามารถพิเศษในการพูดจากับสิงสาราสัตว์ในหลายๆ ครั้งที่ลงพื้นที่ ไล่เรียงมาตั้งแต่

คุยกับงูหลามสีทองว่า “สบายดีไหมจ๊ะ” (กรมทหารราบที่ 21 – 21/08/58)

-ป้อนหญ้าควาย บางตัวไม่ยอมกิน คุยกับควายว่า “ควายตัวนี้เล่นตัวเว้ย สงสัยจะไม่ชอบนายกฯ ทำตัว
ดีๆ นะ ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคน” (อุดรธานี – 18/03/59)

-คุยกับกบเลี้ยงที่ชาวบ้านนำมาให้ว่า “ชาติหน้าขอให้เกิดมาเป็นกบตัวเมียนะ ผมจะได้เป็นเจ้าชายกบ” (นครราชสีมา – 21/08/60)

Advertisement

-คุยกับวัว “อยู่คอกเดียวกันอย่าทะเลาะกันนะลูก” (นครราชสีมา – 21/08/60)

-คุยกับไก่ชนว่า “ไม่ต้องกลัว คสช. นะ คสช. ไม่ดุ” (พิษณุโลก – 25/12/61)

-ป้อนนมลูกแกะ และคุยกับแกะว่า “มันหิวนะ ชุดนี้ต้องไปโชว์ทุกที่ไหม แล้วมันไม่เมารถเหรอ มีหน้าที่โชว์ตัวนะลูกนะ เหนื่อยไหม ทนหน่อยนะ” (แม่ฮ่องสอน- 17/01/61)

Advertisement

-กินไก่ย่าง ไก่ทอด และหันไปเจอไก่แจ้ป่าที่นำมาโชว์ และกล่าวขึ้นว่า “ไม่น่ากินไก่ตรงนี้เลย ไก่ที่ยืนตรงหน้าทำหน้าจ๋อยๆ สงสัยกลัวจะเป็นไก่ย่าง” (แม่ฮ่องสอน – 17/01/61)

-คุยกับวัวว่า “How are you?” (ราชบุรี – 11/11/62)

ผมลองค้นหาคำอธิบายในเรื่องนี้ดูในกูเกิลตามที่ทั่นผู้นำได้แนะนำไว้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ข้อมูลส่วนใหญ่ในโลกอินเตอร์เน็ตจะให้ความสนใจกับเรื่องการอธิบายว่าสัตว์เลี้ยงและการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงส่งผลดีต่อจิตใจและส่งผลทางจิตวิทยาอย่างไร การเมืองของสัตว์คืออะไร หรือไม่ก็การอธิบายว่าผู้นำโลกนั้นเขาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอะไรกันบ้าง และเขาใช้เรื่องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นในการสร้างภาพและสื่อสารกับประชาชนอย่างไร

ประเภทที่ฝรั่งใช้คำว่า randomly คือคาดเดาไม่ได้ว่าไปเจออะไรแล้วก็คุยเลยแบบนี้ค่อนข้างพิเศษ ค้นแล้วก็ไม่เจอในโลกอินเตอร์เน็ต ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้ายิ่งนัก (อาจเป็นไปได้ว่าทีมงานทั่นผู้นำ หรือตัวทั่นผู้นำเองได้วางแผนเอาไว้อย่างจริงจังมาก !!!)

ความรู้ส่วนมากในโลกออนไลน์ จะพูดถึงประโยชน์ของสัตว์เลี้ยง (ไม่ใช่สัตว์เฉยๆ) ในฐานะเพื่อนร่วมชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะในทางจิตวิทยาและอารมณ์ เช่นสัตว์เลี้ยงนั้นช่วยลดอาการหดหู่ ด้วยการที่การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะเจ้าหมา จะกระตุ้นให้เราออกกำลังกาย หรือการที่พวกเขามาใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆ เราหรือการที่เราเล่นกับสัตว์เลี้ยงก็จะส่งผลให้เราผ่อนคลายและจิตใจสงบ ว่ากันว่าการดูแลสัตว์เลี้ยงทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตในแต่ละวันว่าเราต้องทำอะไรบ้าง และรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังลดอาการเหงาและโดดเดี่ยว รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์สำหรับคนวัยชรายังช่วยลดแนวโน้มความเจ็บป่วยจากอาการบางอย่างเช่นอัลไซเมอร์ได้ด้วย (“Pet and mental health” – www.mentalhealth.org.uk)

นอกจากนั้นความรู้ในเรื่องของสัตว์กับการเมืองนั้นมักจะแบ่งออกเป็นสองเรื่อง ก็คือเรื่องของการเปรียบเทียบพฤติกรรมของสัตว์กับนักการเมือง และ เรื่องของการใช้สัตว์(เลี้ยง)ให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง

การพยายามเปรียบเทียบพฤติกรรมสัตว์กับพฤติกรรมของมนุษย์ในทางการเมืองนั้นเป็นที่สนใจกันมานาน โดยเฉพาะการพยายามอธิบายว่าการเมืองนั้นไม่ใช่พฤติกรรมที่ใช้เหตุใช้ผล แต่ส่วนมากเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากสัญชาตญาณดิบๆ ของสัตว์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง การศึกษาทดลองและเปรียบเทียบจึงมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภท primate ซึ่งโดยคำแปลแล้วก็คือวานรแบบหนึ่งรวมมนุษย์และลิงด้วย และยังแปลจากรากศัพท์ว่าที่หนึ่ง หรือผู้นำในฐานะที่เป็นสัตว์ที่เหนือกว่าสัตว์ประเภทอื่น

– คุยกับงูหลามสีทองว่า “สบายดีไหมจ๊ะ” (กรมทหารราบที่ 21 – 21/08/58)
-คุยกับกบเลี้ยงที่ชาวบ้านนำมาให้ว่า “ชาติหน้าขอให้เกิดมาเป็นกบตัวเมียนะ ผมจะได้เป็นเจ้าชายกบ” (นครราชสีมา – 21/08/60)
-คุยกับไก่ชนว่า “ไม่ต้องกลัว คสช. นะ คสช. ไม่ดุ” (พิษณุโลก – 25/12/61)

ตัวอย่างประเด็นที่ถูกนำมาอภิปรายกันก็คือการพยายามทำความเข้าใจการแสดงออกซึ่งสะท้อนสัญชาตญาณบางประการของนักการเมืองและผู้นำ เช่นการซ่อนตัวของนักการเมืองเพื่อหลบหนี(ฝูง)นักข่าว การพยายามทำตัวให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า การแสดงท่าทางบางอย่างเมื่อเจอคู่แข่งทางการเมืองเช่นการที่ทรัมป์ออกอาการโมโห แล้ววางท่าวางทางวางก้าม หรือข่มขู่ ก้าวร้าว ของพวกนี้สามารถนำไปเทียบเคียงกับพฤติกรรมในฝูงลิงได้ อาทิ การศึกษาพฤติกรรมความก้าวร้าว การไล่ล่าฝูงสัตว์และต่อสู้กันในฝูงลิงซิมแปนซีที่สะท้อนถึงความก้าวร้าวและการทำสงครามของมนุษย์ (บ้างก็อ้างว่า สภาวะธรรมชาติตามตำราปรัชญาการเมืองนั้น อาจสามารถศึกษาได้จริงนอกไปจากตำรา โดยศึกษาจากพฤติกรรมสัตว์) และขณะเดียวกันมนุษย์ก็พยายามที่จะควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวป่าเถื่อนของตนเองให้ได้ ขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มก็แย้งว่า สัตว์นั้นก็ไม่ได้ก้าวร้าวตลอดเวลา ส่วนใหญ่สัตว์เองก็รักสงบ (F. de Waal. What animals can teach us about politics. The Guadian.com – 12/03/19)

นอกจากนี้ยังมีการชี้ให้เห็นว่า อำนาจ และการต้องการให้มีคนเชื่อถือเชื่อฟังทำตามนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ โดยเฉพาะพวกนักการเมืองและผู้นำนั้นหวงแหนมาก เหมือนกับเราได้เห็นการหวงของของสัตว์ ดังนั้นพวกเขาจะทำทุกวิถีทางที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้ รวมทั้งพวกเขาจะแสดงออกโดยไม่รู้ตัวเมื่อเขาได้สูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป ดังที่เราได้เห็นตามภาพในสื่อเมื่อพวกเขาแพ้เลือกตั้ง หรือถูกขับออกจากการเมืองโดยสภา อาทิ กรณีของนิกสัน (เพิ่งอ้าง)

การพูดถึงสัตว์กับการเมืองยังรวมไปถึงเรื่องของการชี้ให้เห็นว่า สัตว์เลี้ยงของนักการเมืองและผู้นำประเทศนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมส่วนตัว แต่ยังหมายถึงการที่ผู้นำและนักการเมืองจะส่งสารเรื่องนี้ไปยังสาธารณะด้วย ดังกรณีของ ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส ที่ให้ความสำคัญในการเลือกสัตว์เลี้ยงประจำทำเนียบ/ประธานาธิบดี (Presidential Pet) เป็นหมาลาบราดอร์สีดำ

ว่ากันว่าการเลือกหมาลาบราดอร์สีดำของมาครงนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นการสืบต่อธรรมเนียมของประธานาธิบดีคนก่อนๆ และการริเริ่มเปิดมิติใหม่ๆ ของธรรมเนียมในทำเนียบเช่นกัน ที่ว่าการสืบต่อธรรมเนียมเดิมก็คือ หมาลาบราดอร์นั้นเป็นหมายอดนิยมของประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาตั้งแต่ George Pompidou และคนต่อๆ มาโดยจะเลี้ยงสีดำหรือน้ำตาล เจ้าหมาพันธุ์นี้เป็นหมารับแขกเก่ง ชอบอยู่กับคน ซึ่งมีส่วนสำคัญที่เมื่อประธานาธิบดีจะต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ส่วนสีที่เข้มนั้นจะทำให้ตัวมันโดดเด่นเป็นที่สนใจในภาพสื่อ รวมทั้งการที่มันชอบวิ่งเล่นข้างนอก ทำให้ได้ภาพการออกมาทำกิจกรรมภายนอกของตัวประธานาธิบดีกับเจ้าหมาที่น่าประทับใจ

แต่ตัวมาครงเองก็สร้างความเปลี่ยนแปลงในธรรมเนียมโดยเลือกลาบราดอร์พันธุ์ผสม และไปรับมาจากสถานที่รับเลี้ยงสุนัขที่ถูกทิ้ง เพื่อให้เข้ากับกระแสที่ปัจจุบันมีการพูดถึงฟาร์มสุนัขที่มักจะมีเรื่องราวเล่าลือกันว่า ถ้าสุนัขตัวไหนที่ผสมออกมาไม่เป็นที่ต้องการก็อาจจะโดนจัดการ แถมยังมีเรื่องเล่าลือว่าการที่มาครงตั้งชื่อหมาว่า นีโม่ นั้นก็มาจากตัวเอกของนิยายของ Jules Verne ที่เขาโปรดปราน ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับชาวอินเดียน และการเชื่อมโยงกับเรื่องราวอื่นๆ อาทิ เรื่องของท่าทีที่มีต่อการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ เพราะกัปตันนีโม่ในเรื่องนั้นหนีจากอังกฤษ นอกจากนี้คานธียังเล่าเรื่องของการที่แมว ที่เขาและเพื่อนร่วมห้องขังเลี้ยงเอาไว้ในคุก นั้นรักษาความสะอาด โดยนำเอาเรื่องนี้มาใช้ในการรณรงค์เรื่องความสะอาดในอินเดียในเวลาต่อมา (V. Doctor. How Politicians have long used animals to connect with people, or to make a point. Economic Times. 08/09/17)

การพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรคือความหมายของการที่ทั่นผู้นำของเรานั้นพยายามพูดจากับวัว กับควาย งูหลาม กบ ไก่ และลูกแกะนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเหลือเกิน ทั่นมีอาการโดดเดี่ยวท่ามกลางผู้คนรายรอบและอำนาจอันล้นพ้นมากน้อยแค่ไหนก็ไม่อาจทราบได้ หรือทั่นต้องการจะส่งสารอะไรถึงประชาชนของทั่น

บางทีการทำความเข้าใจความหมายอันสลับซับซ้อนอาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจคำเชิญชวนของท่านให้ประชาชนอ่านหนังสือ Animal Farm เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ตามคำแถลงของ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า “วันนี้นายกฯ ยังคงทำงานตามปกติ โดยเฉพาะงานเอกสารที่มีเข้ามาให้พิจารณาทุกวัน และยังฝากแนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี” (คลิกอ่านข่าวนี้ที่นี่)

พล.ท.วีรชน ยังขยายความต่อว่า “ท่านนายกฯ ไม่อยากให้เชื่อมโยงการเมือง และอย่าไปตีความว่าการแนะนำให้อ่านหนังสือเป็นการดูถูกผู้อื่น เพราะการอ่านหนังสือช่วยเสริมสร้างหลักคิด ช่วยสร้างปัญญาไม่ใช่สร้างปัญหา สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ แม้คนเราจะอยากได้ทุกสิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะสมหวังไปทุกอย่าง และไม่มีใครทำให้คนอื่นพอใจได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ มนุษย์ควรดูแลใส่ใจสิ่งที่อยู่รอบตัวให้ดี รวมถึงสัตว์เลี้ยงในฟาร์มก็ต้องทำให้มีความสุข ทุกชีวิตต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน” (เพิ่งอ้าง)

ผมไม่ขอตีความตัวบท animal farm ที่ทางผู้มีอำนาจตีความซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปรับรู้และตีความอย่างมากมาย แต่อยากจะพยายามทำความเข้าใจความหมายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการเมืองกับผู้คนผ่านสิงสาราสัตว์เหล่านี้ โดยกลับไปที่บทสรุปคำบรรยายของนักคิดชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Michel Foucault ที่ว่าด้วยเรื่อง pastoral power ซึ่งเป็นหนึ่งใน “วิถีอำนาจ” อำนาจในแบบ pastoral นี้เป็นอำนาจในแบบที่เปรียบเทียบการซ้อนทับกันของความสัมพันธ์ที่นักบวชกับญาติโยมหรือผู้ใต้ปกครอง ซึ่งเทียบเหมือนกับการดูแลฝูงสัตว์ (แกะ) ซึ่งอำนาจแบบนี้แม้จะกำเนิดมาในสังคมศาสนาแต่ก็พัฒนาสืบเนื่องมาถึงรัฐสมัยใหม่ คือผู้ปกครองนั้นจะคอยดูแลให้กับผู้ใต้ปกครองเจริญเติบโตในวิถีทางที่ดีงามตากหลักคำสอนที่ถูกต้อง เหมือนที่ในสังคมสมัยใหม่รัฐสมัยใหม่ก็มีบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่คอยแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสม ให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาอย่างดีงาม อำนาจเช่นนี้ไม่ใช่อำนาจบังคับแบบที่ปราศจากความปรารถนาดี และอำนาจเช่นนี้เองที่ทำให้การเชื่อฟังและสยบยอมต่ออำนาจนั้นเกิดขึ้นได้

อำนาจในแบบการดูแลแบบฝูงสัตว์นี้มีความหมายว่า ผู้ดูแลฝูงสัตว์นั้นไม่ใช่นายผู้โหดเหี้ยมกับฝูงสัตว์ แต่ต้องใส่ใจและดูแลฝูงสัตว์อย่างทะนุถนอม (ไล่ต้อนและดุด่าลงโทษก็เพราะรักห่วงใย-love and care ใช้ในความหมายของการเลี้ยงดู พยาบาลช่วงเจ็บป่วย และมีการบริหารจัดการด้วยไม่ใช่เน้นรักษาโดยไม่ใส่ใจ) และเจ้าฝูงสัตว์นั้นก็จะต้องพึ่งพาและเห็นใจกับคนเลี้ยงสัตว์เหล่านั้น ขณะที่อำนาจอธิปัตย์ (sovereign power) นั้นอาจถูกลุกฮือโค่นล้มได้ เพราะผู้ปกครองอาจทำตัวไม่ดีและลุแก่อำนาจ แต่อำนาจในการปกครองฝูงสัตว์นั้นไม่สามารถถูกลุกฮือโค่นล้มได้ เพราะผู้ปกครองในแบบอำนาจ pastoral power (ผมอยากจะแปลว่าอำนาจอภิบาล) นั้นจะใช้อำนาจเพื่อปกป้องและดูแลเหล่าฝูงสัตว์อย่างเหน็ดเหนื่อยและไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน อำนาจเช่นนี้ไม่ใช่อำนาจอธิปัตย์ที่ ลงโทษหรือให้รางวัล หรืออำนาจเชิงวินัย ( disciplinary power)  ที่เราทำกับตัวเองเพื่อให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนปกติที่อยู่ในสังคมได้ หรือชีวอำนาจ (bio-power) หรืออำนาจที่กระทำผ่านความสัมพันธ์กับหลักคิดทางประชากร เช่น การแบ่งคนเป็นกลุ่มประชากรและดูมาตรฐานต่างๆ เช่น จำนวนการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการคาดคำนวณต่างๆ ว่าจำนวนสถานการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร (S. Michel Foucault: modalities of power. Educationmuseum.wordpress.com- 19/03/13 และ B. Golder. Foucault and the Genealogy of Pastoral Power. Radical Philosophical Reviews. 10. 2009. และ Waring, J., & Latif, A. Of Shepherds, Sheep and Sheepdogs? Governing the Adherent Self through Complementary and Competing ‘Pastorates.’ Sociology, 52(5), 2018.)

อธิบายง่ายๆ ก็คือ อำนาจอภิบาลนั้นคืออำนาจที่ผู้ปกครองเป็นเสมือนผู้ดูแล อำนาจไม่ได้สูงส่งอยู่เหนือ
ในรูปแบบอำนาจอธิปัตย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากความรักห่วงใย ใส่ใจ ดูแล ไม่ว่าจะ “สบายดีไหมจ๊ะ” “ทำตัวดีๆ นะ” “ชาติหน้าขอให้เป็นกบตัวเมียนะ” “อย่าทะเลาะกันนะลูก” “ไม่ต้องกลัว” “เหนื่อยไหม ทนหน่อยนะ” “(สงสัย)กลัวเป็นไก่ย่าง” และ “How are you?” เรื่องนี้ผมนั่งยันนอนยันได้ในระดับหนึ่งว่า ทั่นผู้นำท่านไม่ได้บ้าเหมือนที่มีคนร่ำลือกัน เพียงแต่เป็นการสะท้อนถึงภาวะอำนาจอภิบาล ที่คิดไม่ได้ว่าทำงานเหนื่อยมาขนาดนี้แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีการลุกฮือขึ้นต่อต้าน เว้นแต่พวกไม่หวังดีเท่านั้นแหละ

ฮ่าๆ เห็นไหมครับว่าทั่นผู้นำเรานั้นเหนื่อยขนาดไหน

 

วันที่เกิดเหตุ กิจกรรม สัตว์ที่คุย
21/08/2558 พิธีสถาปนากรมหารราบที่ 21 รอ. ปีที่ 65 – คุยกับงูหลามสีทองว่า “สบายดีไหมจ๊ะ” (https://www.matichon.co.th/columnists/news_995179)
18/03/2559 ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีการเยี่ยมชมควายในโครงการตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการส่งเสริมความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้านปศุสัตว์ – ป้อนหญ้าควาย บางตัวไม่ยอมกิน คุยกับควายว่า “ควายตัวนี้เล่นตัวเว้ย สงสัยจะไม่ชอบนายกฯ ทำตัวดี ๆ นะ ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคน” (https://www.matichon.co.th/politics/news_75233)
21/08/2560 เยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ บ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ที่ 4 ต.วังหิน อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา – ปล่อยมุกคุยกับกบเลี้ยงที่ชาวบ้านนำมาให้ว่า “ชาติหน้าขอให้เกิดมาเป็นกบตัวเมียนะ ผมจะได้เป็นเจ้าชายกบ” (https://www.matichon.co.th/politics/news_637040)

– คุยกับวัว “อยู่คอกเดียวกันอย่าทะเลาะกันนะลูก” (https://www.matichon.co.th/columnists/news_995179

25/12/2561 เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี พิษณุโลก (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พร้อมพบประชาชนบ้านวังส้มซ่า หมู่ที่ 1 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก – คุยกับไก่ชนว่า “ไม่ต้องกลัว คสช. นะ คสช. ไม่ดุ” (https://www.matichon.co.th/politics/news_778789)
17/01/2561 เยี่ยมโรงเรียนห้องสอนศึกษาในพระอุปถัมภ์ฯ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ชมผลิตผลจากและผลิตภัณฑ์จากนวเกษตรของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน – ป้อนนมลูกแกะ และคุยกับแกะว่า “นี้มันหิวนะ ชุดนี้ต้องไปโชว์ทุกที่ไหม แล้วมันไม่เมารถเหรอ มีหน้าที่โชว์ตัวนะลูกนะ เหนื่อยไหม ทนหน่อยนะ” (https://www.matichon.co.th/politics/news_805973)

 

– กินไก่ย่าง ไก่ทอด และหันไปเจอไก่แจ้ป่าที่นำมาโชว์ และกล่าวขึ้นว่า “ไม่น่ากินไก่ตรงนี้เลย ไก่ที่ยืนตรงหน้าทำหน้าจ๋อยๆ สงสัยกลัวจะเป็นไก่ย่าง” (เพิ่งอ้าง)

11/11/2562 เยี่ยมชมสหกรณ์โคนมหนองโพในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดราชบุรี พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการด้านการปศุสัตว์และสินค้าโอท็อป (OTOP) – คุยกับวัวว่า “How are you?” (https://www.matichon.co.th/politics/news_1749063)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image