คารวาลัย‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการบันเทิง และเป็นความระทมของวงการเพลงไทย เมื่อ “สุเทพ วงศ์กำแหง” ตำนานลูกกรุงอมตะได้ละจากโลกนี้ไป

สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง)

แม้จากไปในวัย 86 ซึ่งย่างเข้าปัจฉิมวัยไปนานแล้วก็ตาม

และแม้คนเราไม่สามารถจะเลือกได้ว่าจะอยู่ยืนโยงยาม เพราะทุกอย่างย่อมมีวาระ เมื่อถึงเวลาก็ต้องไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จะหนีให้พ้นโลกธรรมนี้ไปมิได้เลยก็ตาม

Advertisement

แต่ก็ยังเสียดายการจากไปของศิลปินแห่งชาตินาม สุเทพ วงศ์กำแหง

“สุเทพ วงศ์กำแหง” เป็นศิลปินที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เป็นศิลปินของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นขวัญใจของคนยากไร้และประชาชนโดยทั่วไป

ผู้มีเพลงอยู่ในหัวใจคือศิลปินของประชาชน โลดแล่นอยู่บนถนนบันเทิงเกินกว่า 5 ทศวรรษ แม้ขณะที่อายุเกิน 80 แต่ก็ยังร้องเพลงขับกล่อมแฟนเพลงอยู่อย่างต่อเนื่อง มิเคยว่างเว้น มีอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม ทำความดีมีน้ำใจ ไม่ว่างานบุญการกุศลไปหมด

Advertisement

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ “ผุสดี วงศ์กำแหง” (อนัคฆมนตรี) ที่ว่า เหตุที่เลือกแต่งงานกับพี่เทพ เพราะเห็นว่าเป็นคนดี ใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น

สุเทพ วงศ์กำแหง เจ้าของเสียงเพลงอันหวานซึ้งนุ่มนวลโดยเอกลักษณ์ เสียงทุ้ม นุ่มหู ชัดถ้อยชัดคำ บริหารเสียงและจังหวะได้อย่างพอเหมาะพอควร คือปัญญาเรืองรอง

จึงเป็นการสมควรแล้วที่ “รงษ์ วงษ์สวรรค์” ให้คำนิยามว่า “เสียงขยี้แพรในฟองเบียร์”

จึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่ “กฤษณา อโศกสิน” ใช้วลีอมตะว่า “ลอยไปในลมบน”

สุเทพเป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณคน เช่น การจัดคอนเสิร์ต เพื่อครู ชาลี อินทรวิจิตร และสุรพล โทณะวณิก สองศิลปินแห่งชาติที่ตามกำหนดเดิมคือ วันที่ 8 มีนาคมนั้น ก็ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณทั้งสองท่าน

สุเทพถือว่า “ที่มีวันนี้เพราะชาลีให้” เช่น

พ.ศ.2500 สุเทพ เป็น 1 ในคณะศิลปินไทยที่ไปเยือนเมืองจีน อันเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เมื่อกลับจากเมืองจีน ก็มีผลกระทบจากการเมืองโดยพลัน

จึงหลบภัยการเมืองชั่วคราวไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ด้วยความเมตตาของครูชาลีจึงขมีขมันแต่งเพลง “รักอย่ารู้คลาย” ให้ร้องทันที พร้อมกับบอกด้วยความรักและหวังดีว่า “มึงต้องร้องเพลงนี้นะ ไม่งั้นคนไทยเขาลืมมึงแหงเลย”

ครั้นเมื่อกลับจากญี่ปุ่น ครูชาลีก็เตรียมเพลง “บ้านเรา” ไว้ให้ร้องเพื่อเรียกความนิยมชมชอบที่ชาวไทยลืมสุเทพจนแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว กลับมามีชื่อเสียงใหม่อีกจนทุกวันนี้

ก็ด้วยความเมตตาของครูชาลี ที่ทำให้สุเทพเกิดใหม่ ด้วยเพลง “บ้านเรา”

“บ้านเรา แสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา

คำว่า ไทย ซึ้งใจเพราะใช่ทาสเขา

ด้วยพระบารมีล้นเกล้า คุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์…”

เป็นเพลงอมตะนิรันดร์กาล ตราตรึงซาบซึ้ง

ถ้าใช้ชีวิตในต่างแดนนานเข้า ยามคิดถึงบ้านก็คิดถึงเพลง “บ้านเรา”

เพลงที่ครูชาลีแต่ง สุเทพร้อง ล้วนเป็นไปในทางสร้างสรรค์ มีประโยชน์หลายสถาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้คนรักบ้านเกิด

ย้อนกลับไป พ.ศ.2508 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟัง สุเทพ วงศ์กำแหง ร้องเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” ในงานการกุศล ณ ยิมเนเซียม สนามกีฬาแห่งชาติ เนื้อเพลงกินใจดังว่า

“…รักคุณเข้าแล้ว เต็ม ทรวง

แล้วคุณอย่าหวง สัม พันธ์

เรา คิดมารักกัน ดี ไหม

ก็ ที ผมยังรักคุณ ก็คุณรักบ้างเป็นไร

ของรักกันได้ อย่าคิดอะไร เลย คุณ”

เพลง “รักคุณเข้าแล้ว” ดูประหนึ่งเป็นจุดเปลี่ยนการใช้สรรพนาม กล่าวคือ

คำว่า “ผม” แทน ฉัน พี่ และเรียม เช่น ก็ที “ผม” ยังรักคุณ

คำว่า “คุณ” แทน เธอ น้อง เช่น ก็ “คุณ” รักบ้างเป็นไร

ต่อมา พ.ศ.2510 เริ่มเป็นแฟนคลับที่ห้องอาหารโลลิตา ราชดำเนินกลาง

นาม “สุเทพ วงศ์กำแหง” ดังระเบิดที่นั่นพร้อมกับ “สวลี ผกาพันธุ์” และ “ผุสดี อนัคฆมนตรี” ศิลปินทั้งสามเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและเพื่อนสนิท

สมัยนั้นมื้อเที่ยง โลลิตาถือว่าสุดยอดทั้งอาหารและความบันเทิง จึงเป็นที่ชุมนุมของบรรดานายธนาคาร นักธุรกิจ ผู้บริหารองค์กร และนกน้อยในไร่ส้ม ฯลฯ

กินข้าวเคล้าเสียงเพลง บรรยากาศแบบนั้นไปหาที่ไหนก็ไม่ได้อีกแล้ว

ทั้ง “สุเทพ-สวลี-ผุสดี” เป็นนักร้องยอดนิยม ทุก “เมโลดี” เป็นการเรียกแขกให้แก่โลลิตา และโลลิตาก็มีความรุ่งเรืองในขณะเดียวกัน

สำนวน “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” เป็นที่ประจักษ์ในขณะนั้น

“สุเทพ-สวลี” เป็นคู่พระคู่นางบนเวทีที่สวรรค์บันดาลให้ เวทีไหนมี “สุเทพ” เวทีนั้นก็ต้องมี “สวลี” ส่วน “สวลี-ผุสดี” เป็นคู่แฝดนอกเวที ที่ไหนมี “ผุสดี” ที่นั่นก็ต้องมี “สวลี”

แม้ต่อมา “สุเทพ” ได้แต่งงานกับ “ผุสดี” แต่ศิลปินทั้ง 3 ยังเป็นกัลยาณมิตรไม่แปรเปลี่ยน

หากเปลี่ยนแต่สถานภาพ “สุเทพ-ผุสดี” กลายเป็นคู่สร้างคู่สมที่สวรรค์บันดาลให้

การที่ “ผุสดี “ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ว่า สมัยร้องเพลงมีคนมาติดเยอะแยะ รวมถึงคนมีฐานะ แต่เธอเห็นพี่เทพเป็นดนดี ใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นนั้น

เป็นความจริงทุกประการ ที่แน่ๆ ก็คือ มีคอลัมนิสต์เบอร์ใหญ่ (ล่วงลับ) ฐานะดี ขับบีเอ็มดับเบิลยูรุ่นใหม่ในสมัยนั้น ใส่สูทผูกไทไปนั่งเฝ้าทุกวัน แต่ผุสดีก็ไม่เล่นด้วย

คำพังเพยของจีน “เรือนหออยู่ใกล้น้ำย่อมได้เห็นพระจันทร์ก่อน” ก็เป็นที่ประจักษ์ด้วย

ก็เพราะสุเทพเป็นคนดี ทั้งคู่จึง click กัน และในที่สุดก็ in-love

ต้องยอมรับว่า ผุสดีมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่เห็นแก่เงิน หากเลื่อมใสความดีของคน เพราะสุเทพเป็น “แฟมิลี่แมน” รักครอบครัว เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ยึดถือเป็นแบบอย่างได้

ดังนั้น ทุกทิวา ทุกราตรี สองชีวิตมิมีหน่าย ไม่สลายคลายรัก

สิ่งที่ประเสริฐสุดคือ ผุสดีเป็นยอดหญิงมิ่งมิตรเมียดี เป็นปัญญาชน เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และเป็นแม่ศรีเรือน ดูแลสามีอย่างใกล้ชิด และดูแลกันถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สำหรับเพลงที่ “สุเทพ-สวลี” ร้องร่วมกันที่ถือเป็นไฮไลต์คือ “เธออยู่ไหน”

ขึ้นเวทีคนละมุม เสียงมาก่อน ว่ากันว่า เป็นเพลงที่ร้องตอบโต้กันระหว่างคนกับจิตวิญญาณ เป็นเพลงสุดยอดในการสื่อความหมายอันลึกซึ้ง เปี่ยมด้วยหลักปรัชญา ดังว่า …

(ญ) เธออยู่ไหน

(ช) ฉัน อยู่ นี่ ที่รัก จ๋า

(ญ) เธออยู่ไหน

(ช) ในดาราคือตาฉัน

(ญ) เธออยู่ไหน ให้ฉันเห็น เป็น สำคัญ

(ช) ที่กลางใจ เธอ นั้น คือฉันเอย

มีทั้งเย็นและหวาน เย็นคือ เธออยู่ไหน หวานคือเธออยู่ไหน ให้ฉันเห็น เป็น สำคัญ

การร้องเพลงของสุเทพมักมีมุขตลก เป็นการเติมสีสันบันเทิง เช่น

(ญ) เธออยู่ไหน

(ช) ดูไบ

เป็นต้น

การเดินร้องเพลงพร้อมกับรินเหล้าเบียร์ และเครื่องดื่มให้แฟนเพลง ถือเป็นเอกลักษณ์ น่ารักน่าเอ็นดู อีกทั้งสุขุมคัมภีรภาพ เสียงเพลงนุ่มนวล มารยาทสง่างาม

เป็นที่มาของวลี “ฟังสบายหู ดูสบายตา พาสบายใจ”

เพลง “นางใจ” ได้รับความนิยมจากสตรีที่มีอาชีพอีกประเภทหนึ่ง สมัยนั้นยามราตรีที่โลลิตา มีลีลาศ เพลง “นางใจ” เป็นเพลงยอดฮิตและกินใจดังว่า

“…จะเป็น วันทอง ของใคร ก็ช่าง

เธอ ย่อมเหนือ ร้อยนาง

ฉัน เคยคิดใฝ่หา

แม้ ทุกคน ประณาม

หยาม เธอ เรื่อยมา

ฉันเองยังศรัทธา

รักเธอ นั้น เป็น อาจิณ…”

จะเห็นได้ว่า เพลงที่ขับร้องนั้น เป็นการสร้างสังคมให้มีความเสมอภาค ปราศจากความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ สตรีย่อมมีสิทธิในการเลือกอาชีพของตนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

จึงเป็นขวัญใจของ…

เพลงสุดฮิตของสุเทพเห็นจะเป็นเพลง “จงรัก”

ว่ากันว่า เป็นเพลงโปรดของ “ป๋าเปรม”

คนส่วนใหญ่ร้องกันได้ บัดนี้ได้กลายเป็นเพลงหาเสียงของนักการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว

เพลง “ป่าลั่น” เป็นเพลงปลุกใจ เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้สติที่ได้รับความนิยมมาก เป็นการขับร้องที่เปี่ยมด้วยความเรืองรองแห่งปัญญา ล้วนเป็นเอกลักษณ์ เป็นอัจฉริยะ ดังว่า

“…แดด ส่องฟ้า เป็นสัญญา วันใหม่…

ตื่น เถิดหนา อายนกกา มันบ้าง…”

“สุเทพ-สวลี” ศิลปินแห่งชาติ คู่พระคู่นางตลอดกาล ร่วมร้องเพลงเอกคอนเสิร์ตเพื่อมูลนิธิอุบลรัตน์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ หอประชุมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554 คือเพลง “รักเธอเสมอ” เป็นเพลงอมตะนิรันดร์กาลเช่นกัน แสดงถึงซึ่งความรักที่แท้จริงมั่นคง ให้ข้อคิดเตือนสติคนรุ่นใหม่ ดังว่า

“…แน่นอนนักรักท้องฟ้าสม่ำเสมอ

เช่นกับฉันมั่นคงตรงต่อเธอ

ฉันรักเธอเสมอ ฉันรักเธอเสมอ

ชั่วนิจนิรันดร์”

ล้วนเป็นเพลงที่มีความสร้างสรรค์ มีคุณค่า ได้ประโยชน์

นอกจากคนไทยแล้ว เพลงที่สุเทพขับร้องยังได้รับความนิยมจากต่างชาติด้วย เช่น

เมื่อราว 50 ปีก่อน “คู มี่” นักร้องฮ่องกงได้มาเปิดคอนเสิร์ตที่เมืองไทย ณ โรงภาพยนตร์ศรีอยุธยา สี่กั๊กพระยาศรี เธอร้องเพลง “รักคุณเข้าแล้ว”

ทั้งนี้ เธอให้ล่ามเขียนคำร้องเป็นภาษาจีน

ฉะนั้น รักคุณเข้าแล้ว จึงกลายเป็น “รักคุงเข้าเลี้ยว”

ในขณะที่ “จาง จ้งเหวิน” นักร้องไต้หวันมาร้องเพลง “รอ” ที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม เป็นการแสดงประกอบภาพยนตร์ ที่เรียกว่าแสดงหน้าม่าน ดังว่า

“…รอแล้วรอแล้ว รอไม่สิ้น

รอจนใกล้ดับ ถมทับแผ่นดิน แผ่นฟ้า…..

น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน”

คนดูต้องช่วยกันลุ้นจนเหงื่อแตก

นอกจากนี้ ยังเป็นครูเพลงของคนชอบเพลงตั้งแต่ระดับหัดร้อง ระดับอาชีพ และระดับศิลปินแห่งชาติ อีกทั้งได้ปั้นดาว ดวงแล้วดวงเล่า ทำให้เกิดและส่งขึ้นฟ้า ขจรขจายไปทั่วท้องฟ้า

“ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา” คือศิษย์เอก ตามด้วยนักร้องที่โด่งดังหลายคน อาทิ

ธานินทร์ อินทรเทพ อดิเรก จันทร์เรือง สุวัจชัย จันทิมา อดุลย์ กรีน นิทัศน์ ละอองศรี มนูญ เทพประทาน ชรัมภ์ เทพชัย พรเทพ เทพรัตน์ ฯลฯ

สุเทพได้อุทิศชีวิตนี้ให้แก่วงการเพลงลูกกรุง

เป็นการจรรโลงและอนุรักษ์เพลงไทยให้อยู่อย่างเป็นนิรันดร์

เพลง “จงรัก” คือบทสรุปของศิลปินแห่งชาติอันเป็นสัจธรรม ดังว่า

“…อย่าเพียรถามว่าฉันจะรัก

เธอนานเท่าใด

ฉันตอบไม่ได้ว่าฉันจะรัก

ชั่วกาลนิรันดร์

เพราะชีวิตฉันคงไม่ยืนยาว

ไปถึงปานนั้น

รู้แต่เพียงฉันหมดสิ้นรักเธอ

เมื่อฉันหมดลม…”

และแล้วบัดนี้ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ คนดีของแผ่นดินได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว เหลือเพียงชีวประวัติอันบริสุทธิ์ เหลือไว้ซึ่งคุณธรรมน้ำมิตร และเสียงเพลงอันไพเราะ

นี่คือแม่แบบที่ประเสริฐสุดของนักร้องนักแสดง เป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการบันเทิง

คุณสุเทพ วงศ์กำแหงคือบุคคลแห่งตำนาน

ขอแสดงความเสียใจต่อคุณผุสดี และครอบครัว “วงศ์กำแหง” ขอให้อำนาจกุศลกรรมที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติได้เคยบำเพ็ญไว้ จงนำดวงวิญญาณไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image