การเดินกับสุขภาวะในสถานการณ์โควิด : โดย โคทม อารียา

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แนะนำว่า การออกกำลังกายที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการเดินและใส่หน้ากากอนามัย ส่วนการวิ่งต้องไม่ใช้หน้ากากปิดทึบแบบ N95 ถ้าเป็นหน้ากากผ้าก็พอไหว แต่ถ้าวิ่งเร็วมาก ๆ อากาศที่เข้าไปสู่ร่างกายอาจไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นไม่แนะนำให้วิ่งไปด้วยใส่หน้ากากอนามัยไปด้วย ผมคิดว่าในสถานการณ์โควิด ถ้าใครมีบริเวณบ้านที่สะดวก กว้างขวาง ก็อาจเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ รอบบ้าน แต่คนส่วนใหญ่มีบริเวณบ้านที่ไม่กว้างขวางนัก สำหรับผมจึงเลือกวิ่งไปกลับในซอยของบ้าน ที่เป็นซอยตันและไม่พลุกพล่าน พอรักษาระยะห่างได้ นอกจากนี้ ที่ที่น่าจะไปเดินหรือวิ่งมีสวนสาธารณะ สนามกีฬา สถานศึกษา และบริเวณวัด เป็นต้น

ผมเดิน/วิ่งเหยาะ ๆ อยู่ในซอยของบ้านมานานแล้ว มีเพื่อนบ้านไม่กี่คนที่เดิน/วิ่งเหยาะ ๆ ในซอยเหมือนผม แต่พอมีสถานการณ์โควิด มีเพื่อนบ้านหลายคน รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ในซอยเดียวกัน ออกมาเดิน/วิ่งเหยาะ ๆ ด้วย จริงอยู่ การรักษาระยะห่างทำให้ไม่ได้คุยกันมาก แต่เดิน/วิ่งสวนกันไปมา ก็มีโอกาสทักทายกันบ้าง การเป็นเพื่อนบ้านในเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ ได้เปลี่ยนเป็นการอยู่ในชุมชนเดียวกันมากขึ้นบ้าง นี่เป็นตัวอย่างที่สถานการณ์โควิดทำให้เห็นประโยชน์ทางด้านสังคมของการเดิน/วิ่ง

สุขภาวะแบ่งเป็นทางกาย ทางจิตใจ และทางสังคม การเดิน/วิ่งทำให้เกิดสุขภาวะทางกายอย่างแน่นอน ข้อมูลจากวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า แค่เพียงคุณเดินออกกำลังกายทุกวัน จะช่วยให้เกิดผลดังนี้ (ดู https://www.haijai.com/4376)

1. ลดการทำงานของยีนที่มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวครึ่งหนึ่ง หากเราเดินเร็วต่อเนื่องกันวันละ 1 ชั่วโมง

Advertisement

2. ช่วยแก้อาการติดของหวาน จากการทดลองพบว่า การเดินวันละ 15 นาที ช่วยลดความอยากกินของหวานลงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีนิสัย “ยิ่งเครียดยิ่งกินขนมหวาน”

3. ลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านม คนที่เดินออกกำลังกายสัปดาห์ละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป สามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 14

4. ลดอาการปวดข้อ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก ที่มักมีปัญหาเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

5. เพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย คนที่เดินออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20 นาที จะมีสุขภาพดีกว่าคนที่ออกกำลังกายสัปดาห์ละครั้งถึงร้อยละ 43 ทีเดียว หากเจ็บป่วยก็จะหายเร็วกว่าปกติอีกด้วย

มูลนิธิหมอชาวบ้านแนะนำว่า การเดินออกกำลังกายนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย ประหยัด มีประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด สมควรใช้เป็นวัคซีนและยา (วิเศษ) ป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางใจด้วยตนเอง โดยขอยกบางข้อที่เป็นเรื่องสุขภาวะทางใจที่สัมพันธ์กับทางกาย เพื่อเป็นตัวอย่างดังนี้ (ดู https://www.doctor.or.th/article/detail/4471)

1. สติปัญญาเฉียบแหลม เพิ่มความสามารถในการคิด การจำดีขึ้น

2. ลดปัญหาการนอนไม่หลับ การเดินออกกำลังกายตอนเย็นแดดอ่อน ๆ จะช่วยให้การนอนหลับดียิ่งขึ้น

3. เจริญอาหารยิ่งขึ้น ผิวพรรณสดใสและเต่งตึง ใครอยากสาวเสมอ สวยเสมอจงเดินออกกำลังกายเป็นประจำ

4. ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้ฮอร์โมน เอนดอร์ฟิน (หรือสารความสุข) หลั่งออกมาซึ่งมีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้อารมณ์ดี รู้สึกมีความสุขเป็นพิเศษ จิตใจสดชื่นเบิกบาน

5. ลดความหงุดหงิด ความโกรธหรืออารมณ์ไม่ดีต่าง ๆ ได้อย่างดี

6. ผ่อนคลายความตึงเครียดของสมอง และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

7. ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพศมากขึ้น ความรู้สึกทางเพศจึงดีขึ้นทั้งชายและหญิง

ผมมีเพื่อนที่ดีหลายคน มีคนหนึ่งเพิ่งส่งหนังสือมาให้อ่านเล่มหนึ่ง ที่ช่วยให้สะท้อนคิดแง่มุมทางจิตวิญญาณของการเดินได้อย่างดี หนังสือเล่มนี้ชื่อ ก้าวเดิน (WALKING One Step at a time Erling Kagge เขียน ธันยพร หงษ์ทอง แปล) ผู้เขียนเป็นชาวนอร์เวย์ ผู้มีประสบการณ์เดินไปที่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์ มาแล้ว คำโปรยของหนังสือเล่มนี้คือ “การเดินและความเงียบ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ความเงียบเป็นเงาที่ซ่อนอยู่ในรูปกายของการเดิน”

สังคมสมัยใหม่เผชิญภัยพิบัติที่มองไม่เห็นด้วยตาอยู่หลายประการ ไวรัส SARS Cove-2 เป็นตัวอย่างหนึ่ง ภาวะโลกร้อนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง แต่ที่ไม่ค่อยจะนึกถึงคือภัยจากความเร่งรีบ การเร่งบริโภค การไม่เห็นหรือไม่สื่อสารกับคนที่อยู่รอบข้าง และการที่ความเงียบและเสียงตามธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยเสียงอึกทึกจอแจ เราสูญเสียความสามารถในการฟังความเงียบ การฟังใจของเขาและใจของเราลงไปทุกที ต่อภัยที่คุกคามสุขภาวะของสังคมสมัยใหม่ Kagge เสนอว่า “การเดินส่งผลต่อสุขภาวะของมนุษย์ ได้มากกว่าการแพทย์แผนไหนก็ตาม ในตลอดประวัติศาสตร์ของเรา” ขอยกข้อความบางตอนในหนังสือของเขามาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ในหลายภาษา ชีวิตมีความหมายถึงการเดินระยะไกล เช่น ในภาษาสันสกฤต gata (คะตะ) แปลว่า “ที่ที่เราเดินไปถึงมาแล้ว” ส่วน anagata (อะนาคะตะ) หมายถึง “ที่ที่เรายังเดินไปไม่ถึง” และ pratyutpanna (ปรัตยุตบัน) แปลว่า “ที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าเรา” แต่ในภาษาสมัยนี้ คำว่า “ไป” ไม่ค่อยจะหมายถึง “เดินไป” อีกแล้ว ถ้าคุณเห็นว่าเดินเป็นเรื่องสำคัญ คุณอาจต้องตอบคำถามของลูกว่า “ทำไมเราต้องเดินด้วย ขับรถไปเร็วกว่า” ผู้ใหญ่ก็ตั้งคำถามว่า “จะเดินทางด้วยวิธีที่ เชื่องช้า แบบนั้นไปทำไม” และเนื่องจากอากาศร้อนและมีมลภาวะ จะมีใครยินดีเดินไปกับคุณไหม

ต่อคำถามเรื่องการขับรถ (ที่เร็วกว่า) เมื่อเทียบกับการเดินไป (ที่เชื่องช้า) Kagge ให้คำตอบว่า เมื่อขับรถมุ่งหน้าไป คุณจะผ่านหนองน้ำ เนินเขา ก้อนหิน ตะไคร่น้ำ และต้นไม้ ไปอย่างรวดเร็ว เหมือนชีวิตถูกตัดทอนให้สั้นลง เพราะคุณจะไม่สังเกตถึงลม กลิ่น อากาศ แม้แต่แสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไป เท้าของคุณไม่ปวดร้าวจากการเดิน ทุกอย่างกลายเป็นภาพเบลอ ๆ เขามีความเห็นว่า หลายอย่างรวมทั้งสติปัญญา อารมณ์ความรู้สึก และความทรงจำ เป็นปฏิภาคผกผันกับความเร็วของการเดินทาง อีกนัยหนึ่ง ยิ่งคุณเดินทางด้วยความเร็วสูงขึ้นเท่าไร สติปัญญา ความรู้สึก และความทรงจำก็จะลดลงเท่านั้น

Kagge อ้างถึงนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า มาร์โล-ป็องตี ผู้เสนอคำตอบต่อคำถามของเมนอนที่ถามโสกราติสว่า “แล้วคุณจะหาสิ่งนั้นเจอได้อย่างไร ถ้าคุณไม่รู้ว่ากำลังมองหาอะไรอยู่” มาร์โล-ป็องตีตอบว่า “คุณคิดด้วยตัวตนทั้งหมดของคุณ” อวัยวะทั้งหมดของเรา (นิ้วเท้า เท้า ขา แขน ท้อง หน้าอก หัวไหล่ฯลฯ) รับรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ “สมองและจิตวิญญาณ” ที่รับรู้ ร่างกายทั้งหมดสนทนากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา “มันไม่มีคนที่อยู่ข้างในตัวเรา คนต่างหากที่อยู่ในโลกนี้ และในโลกนี้เท่านั้นที่เขาจะรู้จักตัวเองได้” เวลาที่เราเห็น ได้กลิ่น หรือได้ยินอะไรบางอย่าง เรากำลังนำข้อมูลที่ร่างกายของเราจดจำเอาไว้ ออกมาใช้อีกครั้ง เพื่อที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ถ้าถามนักปรัชญา อาจได้คำตอบเชิงปรัชญา แต่เรากำลังพูดถึงสุขภาวะ ควรลองถามนักคณิตศาสตร์คนหนึ่งดู เขาชื่อ อาร์เน แนส เขาใช้อักษร W (wellbeing) แทนสุขภาวะ อักษร G (glow) แทนความแจ่มจรัส ความรู้สึกท่วมท้น เบิกบาน และอักษร P (pain) แทนความปวดร้าว ความทุกข์ ซึ่งแบ่งเป็น Pb คือทุกข์ทางกาย (body pain) และ Pm คือทุกข์ทางใจ (mind pain) สูตรของเขาคือ W = G2 [Pb + Pm] หมายความว่า เมื่อเราเปล่งประกายความเบิกบาน จะมีผลเพิ่มพูนสุขภาวะเป็นอย่างยิ่ง (แบบยกกำลังสอง) แต่ถ้าเรามีความปวดร้าวมากขึ้น สุขภาวะก็ลดลง หมายความว่า การเดินเพื่อเพิ่มสุขภาวะ แม้จะมีความเจ็บปวดทางกายบ้าง เช่น เจ็บเท้า ที่ลดทอนสุขภาวะลง แต่ความแจ่มจรัสจากการเดินย่อมมีผลเหนือกว่าในการเพิ่มพูนสุขภาวะ

ในสถานการณ์โควิด และในวิถีชีวิตหลังโควิด ขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้เราหันมานิยมการเดิน ไม่ใช่เพียงเพื่อสุขภาพกาย แต่เพื่อให้เรามีสุขภาวะที่ดีในทุกด้านและถ้วนหน้ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image