จากชังชาติสู่ชังรัฐ(ธรรมนูญ) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ยังไม่มีการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังจากทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ และฝ่ายที่กล่าวหาอีกฝ่ายว่าชังชาตินั้นเริ่มต้นเมื่อไหร่ และ ด้วยเงื่อนไขอะไร

แต่อาจกล่าวจากข้อสังเกตง่ายๆ ว่า ข้อกล่าวหาว่าด้วยการชังชาตินั้นเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ในสังคม ซึ่งแม้ว่าอาจจะเกิดมาได้หลายปีแล้ว แต่คาดว่าไม่เกินสองสามปีนี้ความหมายของข้อกล่าวหาว่าชังชาติก็เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่เรายังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะลงเอยกันอย่างไร

ถ้าเป็นการเดินทางในอวกาศ เราก็คงจะกำลังเดินทางไปในบริเวณที่เรียกว่า uncharted territory หรือพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีใครสำรวจ หรือยังไม่เคยไปถึง แทนที่เราจะเชื่อว่าทุกอย่างเคยเกิดขึ้นมาก่อน แบบซ้อนทับกันพอดีจนสามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้น

การร้อยเรียงเรื่องราวของข้อกล่าวหาในเรื่องของการชังชาติ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะนำไปสู่การสถาปนาการครองความคิดหลักในสังคม (hegemony) ที่มีคนเพียงไม่กี่คน หรือเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นจะผูกขาดคำจำกัดความและความรักที่มีต่อชาติได้ โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์ที่ชาติและความเป็นชาติถูกท้าทายอย่างรอบด้าน

Advertisement

ประการสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้พูดกันก็คือ ในวงวิชาการทางรัฐศาสตร์ไทย หนึ่งในวิวาทะที่สำคัญแต่รับรู้กันไม่กว้างขวางนักก็คือ การพยายามทำความเข้าใจว่า การสร้างชาติ (nation building) และการสร้างรัฐ (state building) อาจไม่ใช่กระบวนการเดียวกัน หรือซ้อนทับกันพอดี

ลองยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ในบางประเทศนั้นเขาสร้างชาติก่อนสร้างรัฐ เช่น ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม เขาก็ย่อมจะรู้สึกและพยายามจะสร้างความหมายของความเป็นชาติให้ได้ในระดับหนึ่ง (หากชาติหมายถึงชุมชนจินตกรรม-imagined communities) คือมีความรู้สึกถึงการคงอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่มีรากฐานประวัติศาสตร์ความเป็นมา และตัวตนรวมทั้งความใฝ่ฝันบางอย่างถึงความสามารถในการกำหนดอนาคตของตัวเองได้ กำหนดการอยู่ด้วยกัน และอาจหมายถึงว่าสามารถกำหนดศัตรูร่วมกันได้ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะประสบการณ์ร่วมของพวกเขาที่ตกอยู่ภายใต้รัฐที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแยกขาดจากตัวพวกเขา เช่น รัฐอาณานิคม ซึ่งหมายถึงรัฐที่มาจากภายนอก และเชื่อมกับชนชั้นนำบางกลุ่มเพื่อกดขี่คนในประเทศ

ด้วยเหตุนี้เองที่ชาตินิยมจึงรวบรวมตัวเอาความใฝ่ฝันและการรวมตัวกันของผู้คนที่ปลดแอกออกจากความเป็นอาณานิคม หรือการปกครองจากรัฐและชาติอื่น และนำไปสู่การสถาปนารัฐ(ของ)ชาติใหม่ขึ้นมา

Advertisement

แต่ในบางสังคมนั้น อาทิ ประเทศไทย เคยมีคำอธิบายว่า ชาตินิยมในประเทศไทยเกิดขึ้นในหลังจากการสร้างชาติ คือรัฐถูกสร้างมาก่อน แล้วรัฐที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นต่างหากที่สร้างจินตนาการครอบสังคมลงมา โดยผลิตอุดมการณ์ชาตินิยมที่นำโดยรัฐ (official nationalism) กลายเป็นอุดมการณ์หลักของสังคม (บางส่วนจาก Ben Anderson. Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread od Nationalism. Revised Edition. London: 2016.)

แต่ใช่ว่าแนวคิดว่าชาติเกิดก่อนรัฐ หรือรัฐเกิดก่อนชาติ จะเป็นเรื่องที่ฟันธงกันอย่างง่ายๆ เพราะพลวัตของการต่อสู้-ต่อรองระหว่างรัฐกับชาติบางทีก็ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน

ในชาติที่ถูกสร้างโดยรัฐก็ถูกท้าทายโดยคนในชาติที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรัฐนั้นอยู่ดี ชาตินิยมจึงไม่ได้เท่ากับล้มรัฐ แต่อาจจะล้มรัฐบาล

ในอีกด้านหนึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าชาตินิยม (nationalism) นั้นต้องตรงข้ามกับการชังชาติ หรือการเป็นโลกนิยม (cosmopolitanism) เพราะบ่อยครั้งคนที่ต่อต้านความเป็นชาติในแบบที่เป็นอยู่ เขาเพียงกำหนดนิยมของความเป็นชาติ (nationhood) ใหม่ เพราะเขาวิจารณ์ตัวตนของชาติ หรือความใฝ่ฝันรวมทั้งการจัดระเบียบของชาติในแบบที่เป็นอยู่ แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธชาติเสียทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าความเป็นชาติไม่ได้ถูกกำหนดจากตัวเขาคนเดียว นับแต่จุดตั้งต้นของการกำเนิดรัฐชาตินั้น ในการกำหนดสถานะรัฐชาติ การได้รับการยอมรับจากรัฐชาติอื่นก็เป็นเรื่องสำคัญ ชาติไม่ใช่ศาสนาที่จะประกาศและเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง ต้องมีการรับรองอีกหลายลำดับ

เขียนมาไม่ได้คิดว่าตัวเองไล่ทันข้อถกเถียงเรื่องชาติคืออะไรไปเสียทุกเรื่อง แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า บางทีเรื่องของการชังชาติอาจจะไม่มีในความหมายที่พยายามถูกทำให้เข้าใจในแง่ร้าย และเป็นการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก็คือมันมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจนนำไปสู่การตั้งคำถามกับความเป็นชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ถึงขนาดนี้

เอาเข้าจริงคนที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติ เขาไม่ได้ชังชาติ หรืออาการที่ดูเหมือนการชังชาติอาจเป็นเรื่องของการชังรัฐ(บาล) หมายถึงชังทั้งรัฐบาลที่มักผูกขาดความเป็นชาติ และรัฐ (ที่หมายถึงรัฐบาลและโครงสร้างในส่วนอุดมการณ์ และกลไกขับเคลื่อนต่างๆ ที่เรามองเห็นและมองไม่เห็นที่สร้างระบบอำนาจแบบลำดับชั้น กดบังคับเราอยู่ อาทิ กฎหมาย ความรู้ ประวัติศาสตร์ คุก ทหาร ศาล ตำรวจ)

สิ่งที่เขาต้องการสร้างใหม่ คือ ชาติ และรัฐ(บาล) ที่ดีกว่านี้ มากกว่าการที่จะออกมาบอกว่าเขาไม่มีชาติ และไม่มีรัฐ(บาล)

ไม่งั้นเขาจะมาเรียกร้องทำไมเรื่องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้มีการยุบสภา

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าชังชาติและชังรัฐ(บาล) ขั้นรุนแรง เขาน่าจะต้องหันไปดูแลตัวเอง และปฏิเสธอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย อาทิ การไม่จ่ายภาษี การปฏิเสธบริการรัฐ การใช้อาวุธในการดูแลตัวเองและชุมชนของเขา การมีระบบการเงินของตัวเอง นอกเหนือจากการจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐโดยไม่ได้ต่อสู้เพื่อต้องการสถาปนาชาติและรัฐที่ดีกว่าเดิม

ที่เป็นอยู่นั้นเขาไม่ได้ชังชาติ แต่เขามีความใฝ่ฝันใหม่ในการพูดถึงชาติ และรัฐ(บาล) เสียมากกว่า

ทีนี้คำถามหลักก็คือรัฐ(บาล) จะยังใช้ความเป็นชาติที่พวกเขาเหล่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติมากำหนดกดทับความใฝ่ฝันของคนเหล่านั้นได้ไหม ได้อีกนานเท่าไหร่ และด้วยราคาเท่าไหร่?

มาถึงเรื่องรัฐธรรมนูญและข้อเสนอเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญในวันนี้ ผมคิดว่ามีเรื่องมากมายที่ยังต้องคุยกันอีกมาก อย่างน้อยสี่ประเด็นไล่เรียงกันไป

1.สภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

2.การก้าวออกจากสภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

3.การกำหนดเป้าหมายและความใฝ่ฝันในรัฐธรรมนูญใหม่

4.การทำให้รัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นได้ และมีระบอบการเมืองตั้งมั่น

ทั้งสี่ประเด็นนี้เมื่อนำมาพิจารณาในวันนี้ เราจะพบว่าไม่ได้ซ้อนทับพอดีกับสภาวการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ที่ออกมาเป็นสามฝ่าย หนึ่งคือ ไม่ต้องแก้อะไรเลย สองคือ แก้ทั้งฉบับ และสามคือ พยายามแก้บางมาตราให้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ได้ ทั้งที่หลายฝ่ายมองแล้วก็งงว่าจะแก้อะไร เพราะรัฐธรรมนูญนี้ก็ผ่านประชามติมาแล้ว อีกฝ่ายก็มองว่าประชามติที่ผ่านมาไม่เป็นธรรม และอีกกลุ่มก็จ้องแต่จะแก้กฎหมายให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์โดยเฉพาะพรรคการเมืองบางกลุ่มที่อาจต้องการแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะประเด็นด้านเทคนิคให้ตนได้ประโยชน์ เช่น ระบบเลือกตั้ง

1.สภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญในวันนี้ – ประเทศไทยไม่ได้เผชิญสภาวะเรื่องวิกฤตรัฐธรรมนูญเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาที่พบว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตในบ้านเมืองได้ (constitutional crisis) ด้วยว่าไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เฉพาะเจาะจงลงไปในเรื่องนั้นๆ (อาทิ มาตรา 7)

วิกฤตรัฐธรรมนูญในวันนี้เป็นเรื่องของ “วิกฤตความชอบธรรมของตัวรัฐธรรมนูญเอง” กล่าวคือรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์รวมและที่มาของความขัดแย้ง ไม่ใช่เป็นศูนย์รวมและที่มาของการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังที่เขากล่าวอ้าง

วิกฤตรัฐธรรมนูญในรอบนี้จึงเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการเมือง ไม่ใช่วิกฤตการเมืองเกิดขึ้นแล้วรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาวิกฤตนั้นไม่ได้

ไม่จำเป็นเสมอไปที่รัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจรัฐจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ทฤษฎีและประสบการณ์ของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในหลายประเทศได้ชี้ให้เห็นว่าเงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญเดิม แต่หมายถึงการสร้างกฎกติกา และสถาบันที่สร้างหลักประกันให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยการเปิดให้มีการคานอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งสร้างระบบการยึดโยงกับประชาชนในทุกสถาบันการเมืองเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบสถาบันการเมืองต่างๆ ได้ ซึ่งรวมไปถึงสถาบันที่ไปยึดอำนาจเขามาด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราจะเห็นว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเกิดจากการยึดอำนาจ และการฉีกรัฐธรรมนูญเก่าที่มาจากการลงประชามติเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือเป็นกระบวนการที่ย้อนรอยและย้อนแย้งกันเอง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มาจากการทำรัฐประหาร และมีการลงประชามติ โดยไม่ได้มีเสรีภาพในการรณรงค์เห็นต่าง และไม่มีเสรีภาพในการเลือกตัวแทนเข้าไปร่าง

ที่แย่กว่าปี 2550 เข้าไปอีกก็คือ ในรอบนี้มีการร่างถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกผู้มีอำนาจยิงตกเอง และในรอบสองก็ยังมีปัญหามากมายที่ผู้มีอำนาจและเครือข่ายของเขาจำต้องบิดประเด็นออกมาสร้างคำถามพ่วงให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงแรกของการสร้างระบอบใหม่ และยังมีบทเฉพาะกาลที่ให้คณะรัฐประหารสามารถแต่งตั้ง ส.ว.ได้เอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบและยึดโยงกับประชาชน

2.การก้าวออกจากสภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน – สิ่งที่ยังตกลงกันไม่ได้ในสภาวะวิกฤตทางการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง (หากพิจารณาจากการขอแก้รัฐธรรมนูญในรอบนี้) ก็คือ จะมีการยอมรับตรงกันได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการเมือง เพราะบางคนยังเชื่อว่ารัฐธรรมมนูญควรมีการถูกแก้ไขบางมาตราเท่านั้น เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมือง คนเหล่านี้จะไม่ยอมรับเลยว่ารัฐธรรมนูญนั่นแหละคือศูนย์กลางของปัญหา และต้องแก้ใหม่ทั้งฉบับ

ประเด็นในข้อนี้จึงอยู่ที่ว่า จะไม่แก้เลย จะแก้บางมาตรา จะแก้ทั้งฉบับ หรือจะร่างใหม่ทั้งฉบับ

3.การกำหนดเป้าหมายและความใฝ่ฝันในรัฐธรรมนูญใหม่ – ในสังคมนี้อาจไม่มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมจะขอเสนอประเด็นในการพิจารณาก่อนว่าการกำหนดเป้าหมายและความใส่ใจในรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะเกิดขึ้นมาได้ต้องมีความเข้าใจความหมายและความสำคัญของรัฐธรรมนูญร่วมกัน (หรืออย่างน้อยก็ต้องเข้าใจว่าทำไมเข้าใจไม่ตรงกัน)

3.1 ลำดับศักดิ์ของตัวรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมาย: ในแง่นี้รัฐธรรมนูญบ้านเรามีไม่กี่ฉบับที่เกิดจากภายในระบบเอง ส่วนใหญ่มีอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเข้ามาฉีกและร่างใหม่ นอกจากนั้นกฎหมายบางมาตราอาจมีสถานะที่สูงกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ

3.2 เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ: ต้องการให้เป็นประชาธิปไตย (การรองรับเสรีภาพต่างๆ) ต้องการให้เป็นเผด็จการ หรือต้องการให้มีทั้งสองส่วนอยู่ด้วยกัน หรือต้องการซ่อนรูปและครอบงำประชาชนอย่างไร

3.3 จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในเชิงความเป็นเครื่องมือ (instrumental): หมายถึงการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเมืองอย่างไร อาทิ การระบุปัญหาการเมืองในประเทศ และการออกแบบสถาบัน กลไก และกระบวนการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

3.4 การให้คุณค่ากับรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นศูนย์กลางและหลักประกันในการจำกัดอำนาจรัฐ (constitutionalism) เพื่อไม่ให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ตลอดจนความไม่สับสนระหว่างความเป็นประมุขของประเทศกับความเป็นองค์อธิปัตย์ของประเทศซึ่งหมายถึงที่มาของอำนาจปกครอง

3.5 นอกเหนือจากการทำให้รัฐธรรมนูญกำหนดรูปแบบรัฐ และการใช้อำนาจในรัฐแล้ว รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นศูนย์รวมของความใฝ่ฝันในเรื่องของความเป็นชาติ (ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความเป็นชาตินิยม) ในแง่นี้หมายถึงการทำให้รัฐธรรมนูญนั้นสะท้อนถึงตัวตนของชาติ และการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ และข้ามพ้นวาทกรรมที่มองว่าการเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถเข้ากับสากลได้ มาสู่เรื่องของการสร้างสรรค์ความเป็นสากลลงในบริบทของสังคมไทย และทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้เป็นทั้งส่วนหนึ่งและต้นแบบของความเป็นสากลได้ (อาทิ ครั้งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเป็นความก้าวหน้าและส่วนหนึ่งของความเป็นสากลได้เช่นกัน)

4.การทำให้รัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นได้ และมีระบอบการเมืองตั้งมั่น – ความท้าทายในเรื่องนี้อยู่ที่การเลือกหาทางว่าจะใช้กรณีการเลือก ส.ส.ร.หรือไม่ และจะเลือกอย่างไร เช่น เลือกตั้ง หรือมีทั้งเลือกตั้งและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมไปถึงความเชื่อมั่นศรัทธาที่จะมีกับ ส.ส.ร.และความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ส.ร.กับประชาชน

การมี ส.ส.ร.ไม่ได้มีหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญจะมาจากประชาชนเสมอไป คำถามหลักก็ยังอยู่ที่ว่า ส.ส.ร.ในสังคมที่มีความแตกแยกและมีการใช้อำนาจครอบงำนั้นจะสามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธา เสนอแนวทางการประนีประนอม และอยู่ร่วมกันได้ไหม และจะสามารถจับสาระสำคัญของเจตจำนงของประชาชนได้ไหม

ส.ส.ร.อาจไม่ใช่ founding fathers ในความหมายโบราณแบบการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ถกเถียงเรื่องทฤษฎีและปรัชญาอย่างลึกซึ้งหรือเชื่อว่าตนเองรู้ไปเสียทุกเรื่อง แต่ควรจะต้องมีความเข้าใจองค์ประกอบห้าประการของเป้าหมายและความใฝ่ฝันของรัฐธรรมนูญให้ได้ และทำงานร่วมกับประชาชนในรูปแบบที่ใหม่ขึ้นท่ามกลางความตื่นตัวและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าจะส่งเสริมการสร้างสรรค์และความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image