ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : เมตตาไม่มีประมาณ เมตตาตลอดโลก โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหนองยาวสูง สระบุรี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงสละความสุขเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่

มีผู้บันทึกไว้ว่าประมาณปี พ.ศ.2540 ท่านพระอาจารย์หลวงปู่หลอด ปโมทิโตเคยกล่าวกับหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโนซึ่งไปกราบนมัสการท่านที่วัดใหม่เสนานิคม ลาดพร้าว ความว่า “เมตตาอัปปมัญญาเป็นธรรมของพระอริยเจ้า เมตตาพรหมวิหารไปนิพพานไม่ได้”

ในธรรมปฏิบัติ เมตตาภาวนาเป็นกรรมฐานหลักประการหนึ่งของชาวพุทธ ทว่าไม่มีปรากฏคำนี้เป็นข้อปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ

ผู้สนใจอาจสงสัยว่าถ้าเมตตาภาวนามีความสำคัญต่อการเดินทางสู่พระนิพพาน เหตุไฉนจึงไม่ปรากฏข้อความอยู่ในโพธิปักขิยธรรมและถ้าไม่ใช่โพธิปักขิยธรรมไฉนจึงสำคัญยิ่งต่อการภาวนาของชาวพุทธ

ในเมตตาสูตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกจำนวนหนึ่งเคยถามท้าทายพุทธสาวกโดยอ้างว่าพวกตนก็เจริญพรหมวิหารและแผ่ออกไปแบบเดียวกัน ทำไมจึงถือว่าแตกต่างกัน

Advertisement

ต่อมาพระพุทธองค์ทรงอธิบายแก่พระภิกษุสาวกดังกล่าวนั้นว่าพวกอัญญเดียรถีย์ไม่มีวิธีปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ไม่มีเมตตาสัมโพชฌงค์ กรุณาสัมโพชฌงค์ มุทิตาสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

พระพุทธองค์ตรัสถึงแนวทาง ผลและความเป็นที่สุดของการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทรงกล่าวถึงเมตตาเจโตวิมุติซึ่งเป็นการหลุดพ้นทางสมาธิด้วยเมตตา ส่วนกรุณาเจโตวิมุติ มุทิตาเจโตวิมุติและอุเบกขาเจโตวิมุติก็เป็นในทำนองเดียวกัน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรทรงจัดเมตตาภาวนาเป็น “สุภกรรมฐาน” และขยายความว่าในอัปปมัญญาพรหมวิหารนั้นเมื่อมีอารมณ์แทรกก็จะมีการใช้ธรรมวิจยะอันเป็นโพชฌงค์

Advertisement

เมตตาภาวนาเป็นส่วนหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม มีเมตตาเป็นอารมณ์ของสมถะ มีสัมโพชฌงค์เป็นความเฉียบคมของปัญญาและมีอริยมรรคเป็นอานุภาพแห่งมรรค

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดศาลาปูนวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา พระพรหมอนาคามีผู้เปี่ยมเมตตา หลุดแล้วจากกามภพ ไม่มีเพศ ในภาพมีทรวดทรงดูอรชร

ประเด็นที่มีประโยชน์มากเกี่ยวกับคำกล่าวของหลวงปู่หลอด ปโมทิโตคือทำไมพระอริยบุคคลพึงเจริญเมตตาอัปปมัญญาในการไปให้ถึงพระนิพพาน

สมัยก่อนพุทธกาล พรหมของพราหมณ์พระเวทคือพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์มาจากอวัยวะของพระพรหมและมีวรรณะสูงต่ำ ส่วนอัญญเดียรถีย์ปริพาชกที่กล่าวถึงเป็นนักบวชที่แคว้นโกลิยะซึ่งห่างออกไปจากอิทธิพลของลัทธิพระเวท นักบวชเหล่านี้มีการระบุพรหมวิหาร 4 ไว้ หลักของพรหมในสมัยนั้นคงเน้นไปทางกรุณาซึ่งผู้ที่มีฐานะสูงควรสงเคราะห์แก่ผู้ที่ต่ำต้อย

สำหรับชาวพุทธ พรหมเป็นภูมิจิตซึ่งขยับเลื่อนชั้นและเกิดสลายได้ เมตตาเป็นเสาหลักของพรหมวิหารที่พึงมีความไพศาลเป็นปกติ ไม่เอียงไปในตนเอง ผู้ที่รัก ผู้ที่ชังและผู้ที่ไม่รักไม่ชัง กรุณาและมุทิตาจะมีบทบาทที่ค่อนไปทางที่เป็นบริวารของเมตตา กรุณาเป็นความปรารถนาดีต่อผู้ที่กำลังมีทุกข์หรือเดือดร้อน มุทิตาเป็นความปรารถนาดีต่อผู้ที่กำลังมีความสุขหรือประสบความสำเร็จ

ส่วนอุเบกขาในพรหมวิหารเป็นการที่จิตมีอารมณ์ที่สงบเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปในทางเมตตา กรุณาหรือมุทิตา จึงเป็นเสาหลักที่ช่วยให้พรหมวิหารตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยดี

ในแง่ของการปฏิบัติทางจิต เมตตาภาวนาของอัญญเดียรถีย์แคว้นโกลิยะมีลักษณะเป็นการเจริญฌานที่ใช้เมตตาเป็นสัญญา กล่าวคือเป็นเพียงเมตตาฌานที่ยึดถือตัวตนเราเขาและมีอัตตาเป็นที่สุด

ส่วนเมตตาภาวนาแบบพุทธเป็นการผสมเมตตาเข้ากับสมาธิ เป็นขั้นตอนที่ให้จิตมีความปรารถนาดีและออกจากอารมณ์ที่โกรธพยาบาท ไม่มีโทสะปะปนและไม่มีกิเลสรุมเร้า จิตมีกำลังและความรับรู้ทางอายตนะด้วยเมตตา การแผ่เมตตาเป็นการสละออกไป มิใช่เพื่อให้ได้กลับมา

เมตตาเจโตวิมุติเป็นเมตตาจิตที่เป็นฌานและหลุดจากความพยาบาท การแผ่เมตตาเจโตวิมุติออกไปอย่างไม่มีประมาณและไม่จำกัดขอบเขตหรือบุคคลเรียกว่าเมตตาอัปปมัญญา

เมตตาอัปปมัญญาจึงเป็นภาวนาขั้นสูง มีเมตตาจิตที่ไม่เฉพาะเจาะจงและรวมเป็นหนึ่งแล้วจึงแผ่ไปอย่างไม่จำกัด เมตตาพรหมวิหารอาจแผ่ไปอย่างเฉพาะเจาะจง เมตตาจิตยังแยกบุคคลเราเขา

ในบทแผ่เมตตาอัปปมัญญาจะมีการน้อมจิตไปสู่ความรู้สึกที่ดีอันได้แก่ความไม่มีเวร ความไม่พยาบาทเบียดเบียน ความปราศจากทุกข์กายทุกข์ใจ ความมีความสุขและความปราศจากภัย

โดยเริ่มจากการสร้างความรู้สึกดังกล่าวให้แก่ตนเองก่อน จากนั้นจึงแผ่ไปยังบุคคลและสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นลำดับอย่างเท่าเทียมและทุกทิศทาง

การแผ่ออกไปจากจิตที่มีสมาธิจะเริ่มที่มารดา บิดา ครูอาจารย์ ญาติมิตรและผู้ประพฤติธรรมทั้งปวง จากนั้นแผ่ต่อไปยังผู้ร่วมปฏิบัติธรรม ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ให้ปัจจัยในการปฏิบัติและเทวดาอารักษ์ในสถานที่นั้น

มีการแผ่กว้างออกไปอีกอย่างไม่เจาะจงถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ฯลฯ

มีการแผ่ไปยังทิศต่างๆ ได้แก่ทิศทั้งสี่คือทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเฉียงหรือทิศขวางอีก 4 ทิศ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่างอีก 2 ทิศ รวม 10 ทิศ

มีการแผ่ต่อไปอีกยังสัตว์ทั้งหลายและภพภูมิทั้งสูงและต่ำตลอดโลกและทั่วจักรวาล

พระอนุรุทธได้อธิบายว่าเจโตวิมุติที่แผ่ไปแบบไม่มีประมาณหรือตลอดโลกนี้เป็นการแผ่แบบอัปปมัญญา มีความแตกต่างจากการแผ่แบบมหัคคตะซึ่งแผ่ออกไปทั่วถึงในขอบเขตหนึ่งๆ

ใบเสมาสลักกุลาวกชาดก ศิลปะทวารวดีกาฬสินธุ์ ราวพุทธศตวรรษที่ 15 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จงแผ่เมตตาและรำพึงถึงศีล

ท่านพระอาจารย์หลวงปู่หลอด ปโมทิโตมักย้ำว่าการแผ่เมตตาต้องเริ่มจากตนเองก่อนแล้วแผ่ออกไปถึงจะใช้การได้

เราจะสังเกตได้ว่าบทแผ่เมตตาอัปปมัญญารวมเป็นลำดับไว้ตั้งแต่ที่เจาะจงจนถึงที่ไม่เจาะจง เริ่มจากรูปธาตุไปยังอรูปธาตุ จากตัวเราไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย จากส่วนที่เกี่ยวข้องไปยังส่วนที่กว้างขวางออกไปจนไม่จำกัด อารมณ์ของกรุณาและมุทิตาก็อาจนับได้ว่ามีอยู่ด้วย

ในทางสมถภาวนา การแผ่เมตตาให้กับตนเองเป็นการประคองจิตที่ประกอบด้วยความสุขความปรารถนาดี การแผ่แบบพรหมวิหารที่มีความเจาะจงจะมีความเป็นมหัคคตะซึ่งเป็นกำลังของฌานและยังเลือกที่และบุคคล ส่วนการแผ่เมตตาออกไปแบบอัปปมัญญามีมิติที่สำคัญ 2 ประการ

ประการแรก การแผ่เมตตาอัปปมัญญาเป็นการแผ่ความรู้สึกที่มีความสุขและมิตรไมตรีให้สัตว์โลกอย่างไม่เฉพาะเจาะจงและทัดเทียมกับตน เมตตาจิตไม่แยกคุณภาพกันไปตามบุคคลและเขตแดนที่แผ่ไป จิตมีสภาพทั้งรวมทั้งสม่ำเสมอ

จึงเป็นสมถภาวนาแบบผสมที่ช่วยละความพยาบาทและการเลือกที่รักมักที่ชัง

ประการที่สอง การแผ่ออกไปเป็นลำดับตามทิศทางทั้งหลายและทุกทิศทางนั้นเป็นไปอย่างฌานโดยมีความรู้สึกสุขของเมตตาเป็นอารมณ์ การฝึกฝนที่แผ่ความรู้สึกออกไปจะเป็นอรูปฌานที่สูงขึ้นเมื่อแผ่ไปอย่างไม่เฉพาะเจาะจงตลอดโลกทั่วจักรวาล

จึงทำให้สมถภาวนาเจริญไปถึงอรูปฌานโดยไม่ต้องอาศัยกสิณ อรูปฌานที่ไปถึงได้คืออากาสานัญจายตนะและวิญญาณัญจายตนะซึ่งเป็นอรูปฌาน 2 ขั้นแรก ส่วนขั้นต่อไปต้องอาศัยอุเบกขาอัปปมัญญา

วิธีปฏิบัติในขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อพระอริยบุคคลขั้นสูง ภพที่ละเอียดกว่าสามารถละภพที่หยาบกว่า พระอนาคามีและพระอริยะที่มีรูปฌานอาจอาศัยอัปปมัญญาภาวนาสลัดรูปฌานและสลัดความเมตตาที่มีตัวตนเราเขาไปสู่ภพละเอียดที่อาศัยปัญญาขจัดต่อไปได้

พระโสดาบันและพระสกิทาคามีจะอาศัยเมตตาภาวนาลดละพยาบาทจนเข้าสู่ขั้นของพระอนาคามีซึ่งต้องละถึงปฏิฆะ ปฏิฆะเป็นอนุสัยกิเลสซึ่งละเอียดกว่าความพยาบาทและความโกรธ

เมื่อพระอนาคามีขจัดปฏิฆะรวมทั้งกามราคะได้แล้วจะยังคงติดภพก็อาจอาศัยอัปปมัญญาภาวนาต่อไปอีกจนกระทั่งสามารถละความยินดีในรูปภพและอรูปภพบางขั้นได้

การเจริญเมตตาของชาวพุทธมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลสัตว์โลก ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่อาศัยอย่างมีความสุขและมีสันติภาพที่ถาวร เรียนรู้ที่จะไม่เบียดเบียนผู้ใดแม้แต่สังคมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายและไม่ใช้ผู้อื่นทำลาย ผู้เข้าถึงจะมีจิตใจที่ผ่องใสและมีไมตรี

เมตตาภาวนาจะยกระดับสมาธิและสร้างเมตตาเจโตวิมุติ ผู้มีรูปฌานอาจภาวนาให้เกิดเมตตาเจโตวิมุติก่อนเจริญสติปัฏฐาน ผู้เจริญกสิณอาจภาวนาหลังการเจริญสัญญาและอนุสติ ส่วนผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็อาจอาศัยเมตตาเมื่อเจริญอินทรีย์-พละ การรับรู้ทางอายตนะทั้งหลายจะมีความชัดและมีกำลังพละเป็นเมตตาเจโตวิมุติจนเกิดเมตตาสัมโพชฌงค์และอริยมรรค

ผู้ที่ถึงฝั่งในศีลต้องเจริญเมตตาภาวนามากขึ้นเพื่อเดินทางสู่ฝั่งในสมาธิและฝั่งในธรรม

เมตตาอัปปมัญญาเป็นยอดของเมตตาภาวนาและเป็นการเดินทางภาคสมถะที่สำคัญยิ่ง เมตตาเจโตวิมุติที่แผ่ไปอย่างไม่มีประมาณและตลอดโลกเป็นเครื่องอยู่และเครื่องปฏิบัติของพระอริยบุคคลขั้นสูง เป็นการสละออกโดยไม่ยึดไว้ว่าเป็นของตน ดังนั้นจึงเป็นการสร้างอริยทรัพย์ให้มีแล้วใช้ไปในการดำรงชีวิตซึ่งสำคัญมากและเรียกว่า “โภคะ”

ในส่วนของความสงบทางจิต เจโตวิมุติมีทั้งที่เป็นมหัคคตะอย่างพรหมและที่เป็นอัปปมัญญาอย่างอริยะ

ในส่วนของการละกิเลส พระพุทธองค์ตรัสว่าเมตตาจะละความพยาบาทได้ กรุณาจะละความคิดเบียดเบียน มุทิตาจะละความไม่ยินดีและอุเบกขาจะละราคะความอยากความพอใจ

“เมตตาเจโตวิมุติเปรียบเสมือนดาวประกายพฤกษ์ในปัจจุสมัยราตรี ผู้ใดที่มีสติและเจริญเมตตาไม่มีประมาณ สังโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้นย่อมเบาบาง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image