สถานีคิดเลขที่ 12 : ก่อน 14 ตุลาฯ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ก่อน 14 ตุลาฯ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายเรื่องในบ้านเรา ต้องศึกษานอกห้องเรียน

รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519

ซึ่งเข้าใจได้ เพราะบทบาทของรัฐใน 2 เหตุการณ์เป็นที่รู้กัน

Advertisement

ทั้ง 2 เหตุการณ์ จึงเป็นประวัติศาสตร์นอกตำรา ที่ผู้สนใจ ต้องไปหาซื้อหนังสืออ่าน ค้นตามชั้นหนังสือพ่อหรือลุงป้าน้าอาเอาเอง

หรือไปหาอ่านในห้องสมุดมหาวิทยาลัย

ปีนี้ ครบรอบ 44 ปี ของ 6 ตุลาฯ ส่วน 14 ตุลาที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้าบวกเข้าไป 3 ปี เท่ากับ 47 ปี

Advertisement

คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ไม่รู้จัก หรือรู้จักเหตุการณ์ทั้งสองน้อยมาก

แต่คนรุ่นใหม่ก็อีกไม่น้อยเหมือนกัน ที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ติดตามอ่านหนังสือ หรือเว็บไซต์ หรือเพจที่เล่าเรื่อง หรือวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าว

รวมไปถึงการทำงานวิจัย งานเขียนอย่างต่อเนื่อง ของนักวิชาการ หรือผู้สนใจการค้นคว้าในหัวข้อเหล่านี้

ดังนั้น แม้จะผ่านไป 4 ทศวรรษกว่าแล้ว แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ จึงยังเป็นที่จดจำและมีความงอกงาม

มองในภาพรวม เราจะเข้าใจ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ได้ไม่ครบถ้วน หากไม่ย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลง 2475

และนับวัน ยิ่งมีข้อมูล หรือแง่มุมใหม่ๆ เปิดเผยออกมาจากเหตุการณ์ชุดนี้

หลายๆ ประเด็น อาจยังไม่ชัดเจน หรือคลุมเครือ แต่ในระยะหลัง 2549 ที่เกิดรัฐประหาร 2 รอบ และมีอาการเหมือนอยากจะนำพาบ้านเมืองถอยหลัง จะพบว่า มีการเปิดเผยข้อมูล และสร้างบทสรุปใหม่ๆ มากมาย

การเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ เหล่านี้ก็ง่ายดาย โดยผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต

เรื่องราวของประวัติศาสตร์การเมืองชุดนี้ จะบอกอย่างตอกย้ำว่า “ประชาธิปไตย” ในประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากการหยิบยื่นให้ แต่มาจากการเสียสละชีวิตเข้าเรียกร้องทั้งสิ้น

ยิ่งอำนาจรัฐเข้มแข็ง มีกลไกอำนาจสารพัด มีทุน มีงบ การเรียกร้องสิ่งที่ผู้ถืออำนาจรัฐหวงแหน ก็จะยิ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยง ต้องพบกับอุปสรรคขวากหนาม และสิ่งประดิษฐ์ของผู้ครองอำนาจ

ฝ่ายประชาชนมีอย่างเดียว คือ “ความชอบธรรม” ที่จะส่งเสียง หรือเคลื่อนไหว ในฐานะเจ้าของประเทศ

ความรู้จากประวัติศาสตร์การเมือง ทำให้เข้าใจสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ได้ง่ายๆ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ที่เหมือนจะง่ายๆ จึงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

ใช้แทคติคเก่าๆ ตั้ง กมธ.มาศึกษาอีกรอบ เท่านี้ก็ติดแหง็กอยู่ในสภา

แต่ในอีกด้าน การขัดขืนความต้องการของประชาชน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ยาวๆ ตลอดไปอีกเหมือนกัน

ประวัติศาสตร์ที่เขียนจากชีวิตจริงของประชาชนคนไทย ให้ข้อคิด บทเรียน แก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเสมอหน้ากัน

อยู่ที่ว่าจะเลือกหยิบมาใช้กันยังไงเท่านั้นเอง

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image