จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (3) กระบวนการรอการเกิดใหม่

จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (3) กระบวนการรอการเกิดใหม่

จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (3) กระบวนการรอการเกิดใหม่ : ญาดา สันติสุขสกุล

ช็อก!! เมื่อเราไม่สามารถคว้าจับอะไรไว้ได้

การเริ่มต้นเส้นทางวัยกลางคน เปรียบเหมือนเรายืนที่ขอบของแม่น้ำสายใหญ่ และเริ่มเห็นว่ายานพาหนะที่พาเรามาถึงไม่สามารถข้ามผืนน้ำไปได้ ตัวตนเดิมไม่สามารถพาเราเดินทางชีวิตต่อไปได้ เราได้มาถึงจุดสิ้นสุดการเป็นผู้ใหญ่คนแรกแล้ว

เพราะตัวตนต่างๆ ที่เราเคยสร้างขึ้นมา “นี่แหละฉัน/ผม”, “ฉันเป็นคนที่ใช้เหตุผล… ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของชีวิตจะเน้นการตอบสนองความต้องการของตัวเราเองและเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคม

Advertisement

ถึงแม้เราจะได้รับประโยชน์และประสบการณ์ความรู้มากมายจากนิสัยต่างๆ ที่เผยแสดงศักยภาพออกมา ทำให้เราถูกมองเห็น ได้รับการยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าผลลัพธ์ที่สั่งสมมานี่แหละเป็น “ชีวิตที่ดี”

แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ “วิกฤตวัยกลางคนด้วยความไม่รู้” อีกส่วนหนึ่งของเราพร้อมออกเดินทางท่องไปในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ พาเราเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของการเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เราสั่งสมมาไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง การงาน ชื่อเสียงและอื่นๆ อันล้วนแล้วเป็นสิ่งที่น่าพอใจ จะไม่ถูกทำลายไปในคราวเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะค่อยๆ มองเห็นจุดวิกฤตแต่ละด้านได้เอง

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เจอหายนะแค่ครั้งเดียว แต่จะมาในรูปแบบเรื่องเล็กเรื่องน้อยเป็นชุด เพื่อช่วยขยายมุมมองและการรับรู้ของเราให้กว้างและครอบคลุมขึ้น แต่ในช่วงแรก มักทำให้เราถอยหลังไปตั้งหลักเสมอ เพราะไม่มีใครสนุกกับการเผชิญความเจ็บปวด ความสับสน ความทุกข์แสนทานทน ที่เหมือนกับมาล้วงควักพลังชีวิตของเราไป ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเราพอจะเห็นโจทย์ในอนาคตที่ครอบคลุมชีวิตเราและคนรอบข้างเราได้ชัดเจนระดับหนึ่ง

Advertisement

คำถามที่ชวนถามตัวเองคือ

– คุณกำลังประสบปัญหาอะไรในชีวิตที่เป็นเสมือนวิกฤตบ้าง มันเป็นอย่างไร และท้าทายคุณอย่างไร
– วิกฤตชีวิตหรือการดิ้นรนแต่ละครั้ง นำคุณขยายการรับรู้ได้มากขึ้นไหม หรือเป็นอุปสรรคต่อชีวิตมากกว่า?

คุณสามารถจินตนาการถึงการเพิ่มศักยภาพและความเข้าใจ ซึ่งเป็นมุมมองเปิดกว้างต่อประสบการณ์ที่ท้าทายข้างต้น แต่คุณไม่ต้องเป็นกังวล หากคุณยังไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่นี้อย่างชัดแจ้ง เพียงแค่คุณลองขยายกรอบการมองเข้าไปที่ตัววิกฤต คุณอาจจะค้นพบเบาะแสที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่คุณกำลังใส่ใจอยู่
เมื่อเราเป็นทารกที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองหรือปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ด้วยตนเอง ความต้องการพึ่งพิงและความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็น เรายังอลหม่านกับภาวะอารมณ์อันสับสนต่างๆ รวมถึงความกลัวภายใน ยิ่งเราโตขึ้น อารมณ์ความรู้สึกยิ่งซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวัง ความอิจฉา หรือความรู้สึกละอายใจ

การสร้างตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ ในช่วงวัยพัฒนาการ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้เราอยู่รอด อยู่ร่วม มาจนถึงวัยผู้ใหญ่ เราจึงมีแนวโน้มจะยึดถือว่าเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ หากเรามองย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก เรามีกระบวนการ “เล่น” หรือการสวมบทบาท (Role) ต่างๆ อย่างไม่รู้ตัว เช่น สวมบทลูกสาวที่น่ารักให้กับพ่อ หรือเป็นลูกชายที่สวมบทฮีโร่ให้แม่ชื่นชม สวมบทตัวตลกสร้างเสียงหัวเราะให้กับเพื่อนฝูง หรือพอเริ่มเป็นหนุ่ม เราสวมบทห่วงใยคนรัก และถึงแม้เราจะเคยเป็นเด็กดื้อ อันเป็นบทบาทของกบฏตัวน้อย แต่นั่นเป็นเพราะเราถูกกระตุ้นให้มีปฏิกิริยาต่อระบบครอบครัวแรกของเรา หาใช่แรงขับของตัวตนที่แท้จริงภายในบทบาท (Role) ต่างๆ ที่เราเคยเล่นในช่วงวัยเด็ก บทบาทเหล่านั้นอาจย้อนกลับมาให้เราทำซ้ำต่อไปเรื่อยๆ การระบุว่าเราเคยเป็นใครมาก่อนมีความจำเป็น เพราะเราจะไม่เห็นว่าตัวเองเป็นใครถ้าไม่มีบทบาทเหล่านั้น

เราน้อมรับบทบาท (Role) ต่างๆ เพราะเราต้องการได้รับการตอบสนองจากคนรอบข้าง และเราเชื่อว่าจำเป็นต้องสวมบทบาทเหล่านั้นเพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ ในฐานะเด็ก เราต่างต้องการได้รับการมองเห็น ไม่ถูกเพิกเฉย ความเป็นจริงคือ สิ่งที่เด็กต้องการคือ “ความรัก” แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น เราพยายามล้มเลิกการเรียกร้องความรัก และเริ่มหา “ตัวแทนแห่งความรัก” แทน เช่น การถูกยอมรับ, เป็นคนที่ถูกรัก, การมีชื่อเสียง, ต้องการความเคารพ, ดูเป็นคนที่มีพลัง, ต้องการคำชื่นชม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ได้รับการมองเห็นว่าเป็นคนที่มีคุณค่า หากความสามารถในการเล่นบทบาทหนึ่งใด ลดประสิทธิภาพลง อัตตาของเราจะเริ่มพังทลายลง

เราอาศัยตัวตนของเราเพื่อจัดการสิ่งต่างๆ ให้ราบรื่น แต่เมื่อกลไกการทำงานเหล่านั้นพังหรือลดประสิทธิภาพลง ถ้ามีใครทำให้เราผิดหวัง ประสบการณ์แรกของเราจึงเป็นความตกตะลึง!! ยิ่งเรายึดติดในอัตลักษณ์ตัวตนของเราสูง เราจะยิ่งเกิดความรู้สึกตกใจมากขึ้น แต่ถึงแม้ช่วงวัยกลางคนจะเป็นการเริ่มต้นของวิกฤต เมื่อมองลึกลงไป เราจะรับรู้ได้ว่ามันคือการท้าทายตัวตนต่างๆ ที่เรายึดว่าเป็นเรา เช่น การที่เรามีความมั่นคงทางสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวที่เราสร้างขึ้น หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน ซึ่งทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน วิกฤตชีวิตอาจมาในรูปของการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก คือการท้าทายตัวตนที่เราคิดว่าเราเป็น จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ถ้าเราไม่ได้ทำหน้าที่ของแม่อย่างเดิม เมื่อจำต้องแยกจากลูก หรือไม่ได้ทำบทบาทพ่อที่สมบูรณ์ดั่งที่เคยเป็น หรือไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนฝูงแล้ว เราจะกลายเป็นใครต่อล่ะ?

หลายคนเมื่อเจอวิกฤตจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการหาคำตอบและหาทางออกจากปัญหาด้วยวิธีการเดิม เติมความรู้ที่เราพร่อง หาที่ปรึกษาเพื่อให้ได้คำตอบต่อความสงสัย เพื่อจะกลับคืนสู่ความปลอดภัยอีกครั้ง เรามักอึดอัดเมื่อต้องอยู่ในความไม่รู้นานๆ แต่แล้วมันอาจไม่ได้ช่วยให้เกิดการกู้คืนอะไรเลย เพราะสาระสำคัญของการพังทลายนั้นมาเพื่อให้เราตระหนักถึงการเปิดเส้นทางใหม่ หาใช่แก้ไขหรือซ่อมแซม สิ่งที่เราจะได้พบเจอ คือแต่ละจุดของความสูญเสีย ความยากต่ออุปสรรค แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากเราย้อนกลับมามอง เราจะพบคำตอบถึงคุณประโยชน์ของวิกฤตว่ามาเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่มีคุณค่ากว่าเดิม เสมือนเป็นพลังงานของการทำให้เราหยุดชะงัก หรือมาช่วยชะลอให้เราช้าลง เพราะเรามีโอกาสที่จะเพลิดเพลินไปกับเสียงของสังคมที่คอยป้อนเป้าหมายที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการภายในด้านลึกของเรา

แต่เมื่อเราสามารถข้ามผ่านจุดที่มืดหม่นไปได้ จะนำพาเราไปสู่การเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเอง ซึ่งช่วยเราให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิตช่วงที่เหลือ เพียงแค่เราให้คุณค่ากับจุดวิกฤตนี้เป็นดั่งเข็มทิศนำทางเราให้ผ่านช่วงเวลาที่ทุกข์ยาก และหลอมรวมกับการเติมเต็มชีวิตให้ชีวิตที่เหลือ เป็นความอุดมสมบรูณ์ของวัยผู้ใหญ่เต็มตัว เป็น “กระบวนการรอการเกิดใหม่นั่นเอง”

ถอดความจากหนังสือ Hidden Blessings (Midlife Crisis as a spiritual awakening), Jett Psaris, PhD

จับความโดย
ญาดา สันติสุขสกุล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image