จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (4) ‘หนทางที่ค่อยๆ เผยตัวออกมา’

จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (4) ‘หนทางที่ค่อยๆ เผยตัวออกมา’

จิตวิวัฒน์ : วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis (4) ‘หนทางที่ค่อยๆ เผยตัวออกมา’ : โดย ญาดา สันติสุขสกุล

หลายๆ คนอาจไม่เจอเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ทำให้รู้สึกล้มครืนอย่างกะทันหัน แต่เป็นรูปแบบของการคืบคลานเข้าสู่ช่วงนี้อย่างช้าๆ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นปัญหาซ้ำซาก แบบค่อยเป็นค่อยไป และพัฒนาสู่ความรู้สึก “อยู่สุดปลายขอบ” กลายเป็นข้อจำกัดที่เราไม่สามารถก้าวข้ามได้ง่ายๆ และสัมผัสถึงความเบื่อหน่าย ผู้คนมักจะรู้สึกเหมือนถูกขังอยู่ในกล่องแคบๆ ถึงแม้พวกเขาต้องการจะกระโดดออกมา แต่ทำได้ยาก รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ หรือปัจจัยภายนอกได้ และไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่

คุณลองคิดถึงสัตว์ป่าที่นำมากักอยู่ในคอกแคบๆ ใจกลางเมืองใหญ่ พลังงานภายในที่เหมือนกำลังจะระเบิดออกมา ถูกจำกัดยับยั้ง หลายคนรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก เช่น การวางแผนมีลูกทั้งๆ ที่ต้องทำงานเต็มเวลา ณ จุดนี้เองที่สาระสำคัญกำลังเผยตัวต่อเราอย่าง ช้าๆ อาจมาช่วยให้เราตระหนักรู้ถึง “ทางเลือกใหม่ของชีวิต” และสิ่งที่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความฝันเดิม สิ่งที่เคยสนใจ ทักษะต่างๆ ที่เคยทำได้ดี ซึ่งเพียงพอที่จะกระตุ้นความกลัว ทำให้เราสัมผัสถึงการสูญเปล่า ลึกๆ เรากล่าวโทษตัวเอง โอกาสที่หายไปกระตุ้นความกลัวภายใน เมื่อเราคาดเดาว่าทางเลือกสำหรับอนาคตอาจแคบลงเรื่อยๆ และเราเริ่มไม่แน่ใจว่า ทางเลือกใหม่จะเป็นไปอย่างที่เราคาดหวังไว้ไหม ก่อนแต่งงานหลายคน จึงเริ่มหวาดหวั่นที่จะสูญเสียอิสรภาพ เมื่อต้องเดินเข้าไปอยู่ใน

ไมเคิล อายุ 44 ปี เล่าถึงความรู้สึกของการเจอข้อจำกัดว่า “ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตในแบบของผมไปได้เรื่อยๆ จนแก่ตายนะ ไอ้ที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่มีบางสิ่งที่ขาดหายไป คล้ายเวลาเราชิมรสเปรี้ยวของผลไม้แล้วรู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกายเรา ผมเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวา ผมแสดงความรู้สึกต่างๆ ได้ง่ายดาย หรือเวลาที่ผมกำลังตีกลอง จะรู้สึกถึงความเข้มแข็งและดื่มด่ำกับเสียงกลอง ผมสัมผัสถึงความรักในขณะที่ขี่จักรยานเสือภูเขาไปตามทาง แต่ในภาพรวมของชีวิต ผมยังรู้สึกขาดแคลนเหมือนผมทำมันหล่นหายไป และส่วนใหญ่ผมมักจะถอยห่างจากความมีชีวิตชีวา ปล่อยให้เวลาไหลผ่านไปอย่างเฉื่อยชา รู้สึกถึงความเบื่อหน่าย ติดพันกับชีวิตเปลือกๆ ภายนอก และความมีชีวิตชีวาภายในเหมือนถูกปิดลง”

Advertisement

ไมเคิลกับนิสัยเดิมๆ ของเขากำลังแห้งเหี่ยวลงช้าๆ เขาเจอภาวะเงินฝืดเคือง ซึ่งทำให้เขาคิดเกี่ยวกับชีวิตที่จะต้องดำเนินต่อไปอย่างเดิม พลังชีวิตส่วนใหญ่หมดไปกับการจมอยู่ในข้อจำกัดของอดีต ทำให้เขาขาดแรงบันดาลใจและขาดความสุข ชีวิตช่วงถัดไปก็ยังไม่เปิดทางให้เขาเห็นอะไรใหม่ๆ เสียด้วย ไมเคิลยึดติดกับวิถีชีวิตแบบเดิมของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะรู้สึกหายใจไม่ออกก็ตาม

ในสังคมยุคปัจจุบัน เราได้รับการบ่มเพาะให้ก้าวไปข้างหน้า สู่การพัฒนาและประสบความสำเร็จ เราจึงจำเป็นต้อง “ทำไปเรื่อยๆ ห้ามหยุด” หลายคนเมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤตวัยกลางคน จึงมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว ชะงักงัน และเลือกไม่ทำอะไรต่อ การบ่มเพาะของยุคปัจจุบันไม่สนับสนุนให้เราหันกลับไปมองภาพชีวิตเบื้องหลัง เราเข้าใจว่าหากเราหยุดทำเงิน หยุดสร้างชื่อเสียง หยุดผลิตผลงาน แปลว่าเรากำลังถอยหลังลงคลอง แต่เมื่อเรากลับมาสังเกตร่างกายได้ชัดเจนว่าเรากำลังหมดพลังชีวิต ความปลอดภัยเดิมๆ เริ่มปิดฉากลงทีละนิด สภาพทางจิตใจกำลังแย่ลงตามสภาพร่างกาย จากที่เคยใช้กำลังเดินหน้าอย่างมากมาย หากเรายังคงคิดว่าความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือรื้อสร้างต่อไปได้ คนส่วนใหญ่ที่เพิ่งเจอวิกฤตในครั้งแรกๆ มักจะเริ่มต้นที่ “การปล่อยวางความหนักใจ” ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่จุดนี้ปราศจากการรับรองภาวะการก่อกำเนิดสิ่งใหม่

สรุปคือ การเริ่มต้นของวิกฤตวัยกลางคนมีได้หลายรูปแบบ บ้างช้า บ้างเร็ว เป็นระลอกรัวๆ ถี่ๆ หรือนานๆ ที แต่เป็นเรื่องที่หนักหนา ซึ่งเราอาจรู้สึกแตกต่างกันไป เช่น ตระหนก ตกใจ เบื่อเซ็ง เศร้าโศก แต่ทุกประเภทที่กล่าวมาจะมีความคล้ายกันคือ ความรู้สึกหมดหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าหลายคนยังคงพยายามจัดการแก้ไขให้สิ่งต่างๆ กลับมาเข้าที่เข้าทางดั่งเดิม แต่ถึงที่สุดก็ไม่เป็นไปตามแบบเดิม การตอบสนองของเราบางคนต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้เขาเลือกการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว เพราะตัดสินว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นเรื่องโกหก เช่น เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เขาเลือกเทขายกิจการไปเลย บางคนกลายเป็นศิลปินไปเลย บางคนเลือกย้ายไปอยู่ต่างประเทศ หย่าร้างและแต่งงานใหม่กับคนอายุน้อยๆ หรือบางคนใช้กีฬาผาดโผน โดดร่ม แข่งรถ เพื่อหวังบรรเทาความตระหนกต่อวิกฤต ซึ่งการเลือกทำแบบนี้ ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขกระจายไปทั่วร่างกายได้เพียงชั่วคราว เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้วิธีการกระโดดออกไปจากชีวิตเดิมได้อย่างฉับพลันและง่ายดาย ในบางจุดเราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความไร้ระเบียบ และอาจไร้ประโยชน์ด้วย ถ้ามัวแต่ปฏิเสธความเป็นจริงของวิกฤตนี้ เพื่อหวังเพียงให้มันผ่านไปเร็วๆ

Advertisement

พวกเราส่วนใหญ่ที่เลือกงัดข้อต่อสู้กับกระบวนการของวิฤกตวัยกลางคน เพราะเข้าใจว่าวิกฤตเหล่านี้ต้องการมาขัดขวางเรา เรามักไม่รับรู้ว่า มันเป็นกระบวนการที่คอยชี้ทางให้เราเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราเคยมีชีวิตอยู่ จะง่ายกว่ามากถ้าเรามีเวลาเสียใจกับการเสียขวัญที่เกิดจากวิกฤตการณ์ที่กระชากเราให้หวั่นไหวไม่มั่นคง แต่สิ่งที่เรามักจะทำต่อความสูญเสียคือ การใช้ตัวตนที่เราเป็นเพื่อต่อสู้ทุกหนทาง

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประสบการณ์ของวิกฤตวัยกลางคนถูกสังคมวงกว้างตีความในเชิงอุบัติการณ์ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านของการเติบโตทางศักยภาพที่ซ่อนเร้น โครงสร้างทางสังคมจึงจัดการด้วยวิธีสั่งจ่ายฮอร์โมนเสริม ยาชูกำลัง ยาต้านความซึมเศร้า และการรักษาต่างๆ เพื่อปรับระดับอาการที่เกิดขึ้น หรือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเรา แถมคนรอบตัวเราทั้งเพื่อนฝูงและครอบครัวยังพยายามดึงเราให้กลับไปเป็นคนที่พวกเขารู้จัก พวกเขาจะพยายามทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแทนที่จะกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงสิ่งที่เรารู้สึก เพราะการรู้สึกถึงสิ่งที่เรากำลังรู้สึก (แทนที่จะ “เอาชนะ” และเดินหน้าต่อไป) จะส่งเสริมประสบการณ์ที่ลึกล้ำของเรา ซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลง

คงเป็นเพราะปัจจุบันเป็นยุคสมัยของการหลีกหนีความจริงของชีวิต แม้กระทั่งหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เราเชื่อสิ่งที่ตาเห็น เงินทอง ความสำเร็จ ความเยาว์วัย บ้าน รถ บริวาร ฯลฯ ความล่มสลายเสื่อมถอย เช่น ความตาย ความป่วยไข้ เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ เพราะเราอยู่ในระบบความเชื่อว่า ความเป็นหนุ่มสาวคือ ความมีประสิทธิภาพ เราถูกตัวตนต่างๆ ที่เราหล่อหลอมขึ้นมาบิดเบือนภาพความเป็นจริงของชีวิต เราถูกป้อนความเชื่อว่า “ความสุขต้องเกิดจากการสร้างและพยายามตามหาสิ่งที่จับต้องได้ แต่กลับไม่ใช่ความสุขจากการที่เราได้เป็น”

ภาพลวงตาจะถูกเปิดเผยในช่วงวิกฤตวัยกลางคน เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไป

ถอดความจากหนังสือ Hidden Blessings (Midlife Crisis as a spiritual awakening), Jett Psaris, PhD

จับความโดย
ญาดา สันติสุขสกุล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image