คอร์รัปชั่น กับ สังคมไทย ปรากฏการณ์ปราบไม่หมด ฆ่าไม่ตาย

คอร์รัปชั่น กับ สังคมไทย ปรากฏการณ์ปราบไม่หมด ฆ่าไม่ตาย

คอร์รัปชั่น กับ สังคมไทย
ปรากฏการณ์ปราบไม่หมด ฆ่าไม่ตาย

คอร์รัปชั่นเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ติดสังคมไทยมาอย่างยาวนานที่น่าสนใจไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าสู่ปีใหม่ หรือแม้ว่ารัฐบาลทุกยุคจะมีนโยบายและแผนกลยุทธ์ในการป้องกันและปราบปรามก็ตามแต่ยิ่งนานวันกลับดูเหมือนว่ามะเร็งร้ายไม่เคยหมดไปจากสังคมเสียที

ด้วยปรากฏการณ์แห่งความร้อนแรงของการทุจริตอันเนื่องมาจากน้ำมือของคนในสังคม ไม่ว่าจะสังกัดภาครัฐหรือเอกชนรวมถึงปัจเจกบุคคลที่แพร่กระจายไปทั่วโลก วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล และเมื่อถึงวันดังกล่าวสังคมไทยโดยเฉพาะรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างเดินหน้าในการประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการรณรงค์และต่อต้าน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านปรากฏการณ์โกงกินก็กลับสู่วังวนเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการขุดรากถอนโคนหรือการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นยืนหนึ่งที่สังคมคาดหวังคงจะต้องเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โจทย์หรือการบ้านข้อใหญ่จึงเป็นหนึ่งในมิติที่รัฐบาลจะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญในการดำเนินการใช้กฎหมายเข้าไปปฏิบัติการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่สังคมคาดหวังสูง ทั้งนี้ เพราะด้วยต้นทุนหรือความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาเยียวยาและแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ทั้งนี้ หากย้อนไปดูในมิติของนโยบายยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการปราบโกงด้วยแล้ว จะพบว่าในขณะดำรงตำแหน่งผู้นำว่าในยุคของรัฐบาล คสช.หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้แสดงให้สังคมได้เห็นในเชิงประจักษ์ว่าจริงจังและจริงใจ

ยิ่งเมื่อส่องไปดูนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 พบว่าการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตฯเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 8 ที่รัฐบาลได้แถลงไว้ซึ่งสาระสำคัญที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำความว่า “โดยเร่งรัดการดำเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายเมื่อพบผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด และเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเมื่อพบผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ภาครัฐปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยเร็วที่สุดพร้อมทั้งให้ภาคสังคม ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบ”

และต่อกรณีนี้หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 วันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางไปเป็นประธานในพิธีแสดงเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเนื่องในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” ที่อาคารอิมแพค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5-6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งในวันนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในพิธีเปิดงานมีสาระที่น่าสนใจความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“การต่อต้านทุจริตเป็นการสร้างจิตสำนึกความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในทุกมิติ และเป็นการแสดงจุดยืนของประเทศโดยกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำดำเนินการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมปราศจากการแทรกแซงของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล ตลอดจนวางมาตรการคุ้มครองพยานและกำหนดให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกรณีทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและรวดเร็ว….”

พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์ชาติว่า “การป้องกันปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต โดยมุ่งหวังให้ระยะ 5 ปีข้างหน้าจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการทำงานจากเดิมไปสู่กระบวนการทำงานแบบบูรณาการทั้งระบบ ทั้งคน เครื่องมือ เทคโนโลยีโดยวางรากฐานทางความคิดของประชาชนลดความขัดแย้ง…” (www.thaigov.go.th)

จากปรากฏการณ์ในเชิงประจักษ์ที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบันได้แสดงให้เห็นที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือการปาฐกถาในที่สาธารณะต่างๆ วันนี้ขวบปีกว่าที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาบริหารกิจการบ้านเมืองหากพิจารณาในแง่ของผลสัมฤทธิ์ที่ฝ่ายปฏิบัติรับไปดำเนินการไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือกลยุทธ์จะเห็นได้ว่าผลงานที่สังคมคาดหวังยังไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงและกล่าวไว้มากนัก

เสียงสะท้อนของผู้คนในสังคมจึงตั้งคำถามและส่งเสียงเรียกร้องอยู่เนืองๆ ว่าวันนี้เมื่อรัฐบาลมีเจตนาที่แน่วแน่และปักหมุดชัดเจนสำหรับไล่ล่าหาคนโกงหน่วยงานและผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะข้าราชการประจำซึ่งถือว่าเป็นต้นทางของการป้องกันและแก้ไขการโกงกินที่สำคัญจะมีส่วนร่วมและมีมาตรการที่ตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

เมื่อกล่าวถึงผู้เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ของการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้คนในสังคมที่ว่าด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยอาศัยเงินภาษีของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศนั้นคน
กลุ่มนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปักหมุด หรือตั้งธงไปที่ข้าราชการประจำและนักการเมืองมาลำดับต้นๆ ยิ่งข้าราชการด้วยแล้วคนกลุ่มนี้มีกระบวนการหรือวิธีการในการโกงที่แยบยลยิ่งข้าราชการผู้ที่ขาดซึ่งจุดยืนอุดมการณ์กระสันกับการมีอำนาจ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใหญ่โตด้วยแล้วคนเหล่านั้นเซียนยังเรียกพี่เพราะเขามีนวัตกรรมและพวกพ้องที่คอยสนับสนุนการโกงที่ล้ำลึกยิ่งนัก

ด้วยปรากฏการณ์ของการโกงบ้านกินเมืองที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในแวดวงข้าราชการที่ตั้งตนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในองค์กรอาศัยเครือข่าย นวัตกรรมและเทคนิคที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและมาตรการการลงโทษ วันนี้จากปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่ามะเร็งร้ายหรือหลุมดำที่เกาะเกี่ยวสังคมไทยมาอย่างยาวนานกำลังเป็นโรคร้ายที่ปราบไม่หมด ฆ่าไม่ตาย

ข้อมูลหรือตัวเลขในเชิงประจักษ์อันเนื่องมาจากการทุจจริตและคอร์รัปชั่นสำหรับสังคมไทยหากไปสืบค้นจะพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดแม่ลูกจันทร์จากสำนักข่าวหัวเขียวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำเสนอข้อมูลเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลไว้อย่างน่าสนใจยิ่งซึ่งถือว่าข้อมูลดังกล่าวมีประโยชน์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปเป็นฐานในการกำหนดมาตรการปราบโกงให้อยู่หมัด

สาระหรือข้อมูลที่แม่ลูกจันทร์จากสำนักหัวเขียวไทยรัฐนำมาเสนอดูเหมือนว่าจะโดนใจผู้อ่านและอาจจะนำมาซึ่งความปวดร้าวของภาครัฐ อาทิ ผลการประเมินความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐปี 2563 ซึ่ง ป.ป.ช.ยืนยันพบว่าหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด 8,303 แห่ง สอบผ่านเกณฑ์ความโปร่งใสมาตรฐานสากลเพียง 1,085 แห่งเท่านั้น เมื่อสรุปคดีทุจริตย้อนหลัง 3 ปี ยิ่งเห็นภาพการโกงกินชัดขึ้นเช่นปี 2561 ป.ป.ช.รับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ 3,285 เรื่อง ยอดวงเงินงบประมาณสูงถึง 2.3 แสนล้านบาท

ปี 2562 ถึง 2564 ตัวเลขของการร้องเรียนและวงงบประมาณโครงการภาครัฐที่บ่งบอกว่าไปในทางไม่สุจริตยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ยิ่งปีงบประมาณ 2564 เพิ่งเริ่มเบิกจ่ายมาแค่ 2 เดือน ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 9,416 เรื่อง แต่ยังรวบรวมวงเงินที่พัวพันการทุจริตไม่หมด…(ไทยรัฐ วันที่ 11 ธันวาคม 2563 หน้า 2)

วันนี้เพื่อให้นโยบายรัฐบาลตลอดจนกฎหมายและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล และเป็นผู้ที่อาสาเข้ามารับใช้ประชาชนคงจะต้องเดินหน้าและจริงจังกับการไล่ล่าหาคนโกงบ้าน กินเมืองมารับโทษตามผลกรรมแห่งการกระทำ

และเหนือสิ่งอื่นใดหลุมดำอันเนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกาะเกี่ยวกับสังคมไทยมาอย่างยาวนานที่ดูเหมือนว่ายิ่งปราบยิ่งโตและฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่มีวันตายนั้น วันนี้ถ้าหากจะให้มะเร็งร้ายตัวนี้ล้มหายตายไปอย่างไม่มีวันกลับ ผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนถือได้ว่าเป็นยืนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมในการไล่ล่าหาคนโกงเช่นเดียวกัน

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image