ก่อนเกิดมาบนโลก‘เราเป็นใคร’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีมาจากเหตุต้องมีผลเป็นธรรมดา และที่สำคัญ คือ จะมีคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ตั้งแต่โบราณกาล ว่า “คนเรามาจากไหน?” หรืออีกคำถามหนึ่งก็คือ ก่อนเกิดมาบนโลก… “เราเป็นใคร” บางทีเป็นปัญหาโลกแตกทำนองว่าไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกันทำนองนั้น เรามาเริ่มจากก่อนหน้าเกิดดินยังไม่มีมนุษย์ มีเพียงจักรวาลและดวงจิตของจักรวาลดวงใหญ่ ต่อมาได้มีการกำเนิดฟ้า กำเนิดดิน คือ โลก เมื่อมีการกำเนิดฟ้า กำเนิดดินแล้ว ทั้งฟ้าและโลกจะต้องได้รับการพัฒนาให้คงอยู่ในสภาพของ “ความสมดุล” จึงจะไม่สูญสลายไป จึงแบ่งแยกจิตจักรวาลดวงน้อยๆ ออกมาจากจิตจักรวาลดวงใหญ่ คือ “จิตเดิมแท้” ให้ลงมาปฏิสนธิเป็น “มนุษย์” เพื่อช่วยกันดูแลรักษาคุ้มครอง และสร้างความสมดุลบนโลกเพื่อให้โลกได้คงอยู่ตราบนานเท่านาน แต่เมื่อดวงจิตน้อยๆ ทั้งหลายได้ลงมาบนโลก ก็ได้ทำการคิดค้นพัฒนาจนกระทั่งโลกมีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสะดวกสบายมากขึ้น เหล่ามนุษย์ทั้งหลายก็หลงใหลได้ปลื้มกับผลงานของตนเกิดการยึดติดว่าเป็นตัวกู ของกู และแย่งชิงกันจนทำให้โลกเสียความสมดุลไป

“มนุษย์” ประกอบด้วย กายสังขาร คือ ธาตุทั้ง 4 : ดิน น้ำ ลม ไฟ และกายละเอียด คือ “จิตวิญญาณ” เป็นผู้บงการ “กายสังขาร”

จุดหมายปลายทางของสรรพสิ่งชีวิต ที่ต้องเกิดมาบนโลก คือ เมื่อเสร็จภารกิจแล้วต้องกลับสู่บ้านเดิมในชีวิตเดิมแท้ เริ่มแรกเมื่อจิตวิญญาณรวมเข้ากับร่างกายก็สามารถเดินทางกลับบ้านเดิมได้ โดยใช้เส้นทางที่ถูกต้องที่เรียกว่า “พุทธจิตธรรมญาณ” หรือ “ญาณทวาร” หรือประตูเกิด-ตาย เราใช้เส้นทางหรือประตูนี้ เข้า-ออกในร่างกาย แต่พอนานวันเราก็ไปหลงใหลได้ปลื้มกับประตูที่มีสิ่งหลอกล่อเย้ายวนของกิเลสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปรียบเสมือนหมอกขาวที่ปิดบังชีวิตเดิมแท้ที่สว่างใสบริสุทธิ์ “ด้วยความไม่รู้” เราจึงสร้างเหตุ ปัจจัยมากมาย (ก่อหนี้เวรกรรม) และวุ่นวายอยู่กันข้างล่าง ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน 3 ภพภูมิ ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ไม่สามารถหาทางออกที่แท้จริงเพื่อกลับบ้านเดิมในจิตเดิมแท้ได้

ธรรมะ คือ ธรรมชาติที่ให้เกิดทุกสรรพสิ่งสรรพชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเกิดมาจากธรรมชาติ เมื่อดับสลายก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ เช่น คน เมื่อตอนมีชีวิตอยู่ประกอบด้วยธาตุ ทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และจิตวิญญาณ เมื่อตาย ธาตุทั้ง 4 ก็แตกสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม มีเพียง “สติสัญญาณ” เท่านั้น ที่ไม่อาจกลับคืนสู่ความสว่างใสบริสุทธิ์ตามธรรมชาติได้ เพราะสะสมข้อมูล (สัญญาความจำ) แห่งกรรมดีและกรรมชั่วได้มากมายไว้ในจิต จนกลายเป็นการทวงหนี้กรรม เมื่อไม่อาจลบล้างสัญญาเก่าได้ แต่กลับสร้างสัญญาใหม่ทับถมทวีขึ้นไปเรื่อยๆ จนจิตเดิมแท้เต็มไปด้วยสัญญาแห่งกรรม ต้องมัวหมองและหลงลืมความสว่างใสบริสุทธิ์แห่งจิตเดิมแท้ไปหมดสิ้น มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะลบข้อมูล (ล้างกรรม) ได้ คือ ต้องเปลี่ยนข้อมูลและใส่ข้อมูลใหม่เข้าไปในจิต

Advertisement

สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ จะต้องรับรู้ถึงจุดศูนย์กลางของความเป็นสภาวธรรมทั้งมวลก่อน จุดศูนย์กลางของสภาวธรรมนั้นเปรียบเสมือนช่องทางสำหรับรับข้อมูลต่างๆ หรือทางธรรม เรียกว่า “จุดญาณทวาร หรือ ประตูเกิด-ตาย” หรือเส้นทางที่ใช้สำหรับเดินทางกลับคืนสู่บ้านเดิมในจิตเดิมแท้

“จุดญาณทวาร” คือ ช่องทางสำหรับรับข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านมายังอายตนะทั้งหก คือ “หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ” แล้วรวบรวมข้อมูลทั้งหมด นำเข้ามาสู่กระบวนการหน่วยความจำ (สัญญา) แล้วส่งผ่านไปยังสมอง เพื่อจ่ายงานออกไปเป็นการกระทำต่างๆ เมื่อเรารู้แล้วว่า “จุดญาณทวาร” คือ ช่องทางที่จะรับข้อมูลที่ผ่านเข้ามา เราจึงต้องมาพิจารณาแยกแยะโดยใช้สมองเป็นตัวทำงานแยกสิ่งที่เข้ามาทางญาณทวาร โดยปิดประตูทั้งหก คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วนำจิตที่ศรัทธา มั่นคง เมตตา กรุณา ออกมาใส่ตามสภาวะความเป็นจริง จิตจะค่อยๆ บ่มเพาะความมีเมตตา มีมโนธรรมสำนึกที่ดี รู้จักรักคนอื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น จิตจึงจะยกระดับเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

การที่ทำให้จิตเข้าสู่กระบวนการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนอื่นจะต้องใช้วิธีผ่อนคลายความตึงเครียดของจิตที่อ่อนล้าเหนื่อยหน่าย ให้กลับมามีชีวิตชีวาร่าเริง เบิกบาน และร่างกายเบาสบายเสียก่อน เพราะ “พุทธะ” คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว จิตของท่านก็จะมีความเข้มแข็งกลับมามีพลัง มีศักยภาพ มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของท่านเองได้ ตลอดเวลาท่ามกลางความสับสนวุ่นวายแห่งโลกโลกีย์ ท่านจะต้องรวบรวมจิตของท่านไว้ ณ จุดศูนย์กลางแห่งสภาวธรรมที่เรียกว่า “พุทธจิตธรรมญาณ” หรือ “จุดญาณทวาร” หรือ “จุดกลางระหว่างคิ้ว” นั่นเอง

Advertisement

การปฏิบัติธรรม คือ การเตรียมเสบียงให้พร้อมที่จะเดินทางเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทาง

การบำเพ็ญ แปลว่า เติมให้เต็ม และขัดเกลาจิตที่ขาดความเมตตากรุณา การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือเกื้อกูล ขาดมโนธรรมสำนึกที่ดีงาม ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดการให้ทาน ขาดการให้อภัย ขาดความสงบ สะอาดและสว่าง ดังนั้น
จึงต้องเติมสิ่งดังกล่าวให้เต็ม แล้วยังต้องขจัดขัดเกลาสิ่งเลวร้ายหรือกิเลสออกไปให้หมดจากจิต

การทำสมาธิ คือ การปูพื้นฐานของจิต หรือการรวบรวมจิตให้กลับเข้าที่เข้าทาง ไม่ฟุ้งซ่านสับสน มีสติพร้อมที่จะนำปัญญาเพื่อพิจารณาธรรมต่อไป

หากท่าน “ปฏิบัติธรรม” และ “การบำเพ็ญธรรม” อย่างสม่ำเสมอมั่นคงในศรัทธา วิริยะ อุตสาหะ ความพากเพียร อดทน อดกลั้น อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อถอย ไม่หยุดกลางคัน หากเกิดอุปสรรคหรือเกิดปัญหากับชีวิตของท่าน ท่านก็สามารถบรรลุธรรมได้ โดยไม่ต้องออกบวช เพราะท่าน “ได้บวชที่จิต” แล้ว

การทำความดี ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย เริ่มต้นเสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะสาย ก่อนที่จะไม่มีกายสังขารให้เริ่มต้น

มนุษย์มีกายสังขาร จึงสามารถปฏิบัติและบำเพ็ญธรรมได้ แล้วท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่าชาติหน้าท่านจะได้เกิดมาในร่างของ “มนุษย์” อีก

บันได 3 ขั้น ก้าวกลับสู่บ้านเดิมในจิตเดิมแท้ ขั้นที่ 1 การให้อภัย : ต้องรู้จักการให้อภัยกับคนที่ทำผิดโดยไม่รู้สึกว่าฝืนต่อความรู้สึก ไม่เสแสร้งแต่ต้องเป็นการให้ “อภัย” ด้วย “ความรัก” และ “เมตตา” ที่ออกมาจากจิตเดิมแท้ ขั้นที่ 2 การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ : สร้างความรู้สึกที่ต้องการแต่จะเป็น “ผู้ให้” ให้แล้วเกิด “ความสุข” ให้ด้วย “เมตตา” ที่ออกมาจากจิตเดิมแท้ ขั้นที่ 3 ไม่ต่อว่า : ถึงแม้เราจะรู้สึกถูกใส่ร้ายป้ายสีไม่ได้รับความยุติธรรม ถูกดุด่าว่ากล่าวโดยไม่มีความผิด หรือถูกตำหนิต่อหน้าผู้อื่น เราจะต้องไม่โต้แย้ง ไม่ต่อว่าไม่แก้ตัว ต้องอยู่ในความสงบ ที่สงบจากจิตเดิมแท้จริงๆ

บันไดทั้ง 3 ขั้น เป็นบันไดสำหรับก้าวข้ามขึ้นไปสู่ความสำเร็จในการบำเพ็ญธรรม หากขาดความสะอาดของจิต จะทำให้จิตไม่สงบ เมื่อจิตไม่สงบ จะทำให้จิตไม่สว่าง เมื่อจิตไม่สว่าง เป็นผลให้ปัญญาไม่บังเกิด เมื่อปัญญาไม่บังเกิด ก็ไม่อาจบรรลุธรรมได้

เราจะทำอย่างไรไม่ให้นึกว่ามี “สังขาร” : เขาเรียกว่าเป็น “ความรู้สึกที่สัมผัส” ความรู้สึกที่สัมผัสนี้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเรานั่งสมาธิ เวลาเรารู้สึกร้อน เพราะมีสังขารมันก็ร้อนสังขารนี้ มันแทงไปที่ความรู้สึกว่า “ร้อน”

สังขารได้มาแล้ว ความเจ็บปวด ความสับสนก็ตามมาด้วย แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้ปวด มันไม่สบาย เราทำไมไม่ไปหาหมด มันจะทนไม่ไหวหรอ กายสังขารก็ทรุดลง ตอนที่สังขารไม่เป็นไร หากให้คิดว่า “สังขาร” นี้ไม่มีก็พอนึกได้ แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะนึกไม่ไหว

อาจารย์บอกว่า : สังขารไม่มีตัวตน มีแต่ความรู้สึก จะทำอย่างไรให้มันตัดแยกออก ระหว่างไม่มีตัวตนกับความรู้สึกเจ็บปวด พวกเราแยกความรู้สึกเจ็บปวดออกยาก แต่ถ้าเราได้จุดกลางระหว่างคิ้วเวลาเช่นเจ็บปวดไม่สบาย มันจะแยกออก “จุดกลางระหว่างคิ้ว” ตัวนี้ ให้เรานึกว่ามันไม่มีตัวตน แต่ความรู้สึกมันมีเจ็บปวด ใจมันรู้ แต่ใจไม่ยึด เป็นเพียงความรู้สึก ส่วน “สังขาร” ที่มีความเจ็บปวดไปรักษา “มันจะแยกกันระหว่างสังขารกับความรู้สึก” เพราะจุดกลางระหว่างคิ้วตัวนี้ จะบอกว่า สังขารตัวนี้ต้องใช้อยู่เมื่อมันป่วย ไม่สบายต้องไปรักษา ก็ไปด้วยความรู้สึก แต่จะไม่มีตัวตน (คือ รู้สึกเจ็บ แต่ไม่รู้สึก “ทุกข์”)

เพราะฉะนั้น “สังขารไม่มี” แต่เรายังติดสังขารอยู่ก็วุ่นวาย เจ็บปวดและทรมาน ยิ่งเรามีตัวตนมากเท่าไร ความเจ็บปวดก็มากเท่านั้น แต่ถ้าได้จุดกึ่งกลางระหว่างคิ้ว เหมือนมีสิ่งขวางความรู้สึกเจ็บจะเจ็บเป็นพักๆ แล้วก็หายไม่วุ่นวาย ใช้ “จุดนี้” สามารถรักษาสังขารที่มีความรู้สึกเจ็บปวดได้ เพราะจุดนี้เรียกว่า จะใช้เป็นพลัง ใช้เป็นยารักษาโรคได้ ในนั้นจะตอบเวลาไม่สบาย เราเจ็บเราปวด จุดนี้จะแผ่ออกไป เราจุดนี้รักษาที่เจ็บที่ปวดได้ เพราะเหตุอะไร? เพราะหรือแต่ความรู้สึก ไม่มีสังขาร จุดนี้ คือ “จุดพลัง” มันจะไปรักษา แต่ถ้าเราคิดว่ามีสังขาร ก็จะเจ็บปวดตลอเวลา มันทรมานมันยากตรงที่ว่า “เป็นความรู้สึก” แต่ใครทำได้ ใครทำอันนี้ได้มันจะเปลี่ยนหมด เปลี่ยนที่เราเคยฝังมาเป็นหมื่นชาติ คือ การมีตัวตน ใครผ่านนี้ได้ ก็ได้ 80 ส่วน อีก 20 ส่วนไปหาจุดกลางระหว่างคิ้ว เพื่อพิสูจน์จุดต่อ จากที่สุดตรงนี้ คือ แยกออกระหว่าง “การไม่มีตัวตนมีแต่ความรู้สึก” เวลามีอะไรมากระทบ มันเป็นแค่ความรู้สึก ความรู้สึกกับความรู้สึกของสภาพที่เราอยู่ เมื่อความรู้สึกเรารู้แล้วว่า “ไม่เที่ยง” เมื่อมันไม่เที่ยงมันมาก็ไป

วิธีนั่ง “สมาธิ” ให้ “สงบ” เย็นที่จิต :

วิธีทำให้สงบ : ก็คือ ให้เรานึกว่าเราไม่มีอะไร แม้แต่ร่างกายของเรา เวลานั่งสงบ เดินก็สงบ ทำอะไรก็สงบ มันจะทำให้สงบเร็วขึ้น ให้นึกว่า “ทุกอย่างไม่มี” มีแต่ “จิต” ที่อยู่ในจุดลบระหว่างคิ้วแค่นั้น มันเป็นการค้นหาจิตเดิมแท้ เพราะจิตเดิมแท้มันฝังลึกเข้าไปมาก และมีสิ่งต่างๆ (กิเลส) จากข้างล่างมากมายไปปิดบังจิตเดิมแท้ ที่ให้กำหนด “จิต” (ความรู้สึก) ลงตรงบริเวณจุดกลางระหว่างคิ้วก็เพราะว่า เป็นทางตรงสั้นและเร็ว ในการเชื่อมต่อกับจิตเดิมแท้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติจึงสงบเย็นได้เร็วกว่าที่อื่น นี่คือ เหตุผลดังเช่นตอนยืน จิตไม่รู้ว่ายืนแล้วใครยืนล่ะ “สังขารมันยืน” จิตรู้เพียงว่าสังขารยืน แต่ไม่ใช่จิตยืน “จิตมันสงบ” ต้องแยกให้ออก ดังนั้น สงบตลอดเวลาทุกขณะจิต มันเป็นไปได้ คือ จิตกับสังขารมันแยกกันอยู่แล้ว แต่มันไปด้วยกันเท่านั้นเอง

“ความสงบ” ไม่เกี่ยวกับเวลา สถานที่ รูปแบบ ท่าทาง

วิธีแก้นิสัยไม่ดีให้หมด อย่าปล่อยปละละเลย ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดามันจะแก้ยากมาก เวลาเราจะละสังขารเราไป นิสัยไม่ดีมันยังติดอยู่ในจิตไปด้วย มันก็แก้ยาก เพราะฉะนั้นนิสัยไม่ดีจากอดีตชาติที่สะสมมา ขนาดตายไปไม่รู้กี่ชาติ มันก็ยังสะสมมา ติดมานานเป็นชาติๆ ขอให้ทิ้งให้หมดในจุดกลางระหว่างคิ้ว เพราะมันไม่มีประโยชน์ มันเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่ก้าวหน้า นิสัยไม่ดีอันไหนทำให้เหนื่อยติดเรามาเอาออกให้หมด ไม่ให้มีอารมณ์โกรธ ความโลภ ความหลง ให้มีแต่ความพอดีกับที่เราได้ทำมา ความโลภไม่มีแล้ว เอาความพอดีแทน อย่าคิดว่าเราหาเองต้องใช้เอง เราเหนื่อยมาเราต้องใช้เอง จะเป็นการหวงของ ขอให้เราคิดว่า อันไหนให้ได้ก็ให้ฝึกไว้ ฝึกการให้เป็นการเมตตาอย่างหนึ่ง ความตระหนี่เหนียวก็จะค่อยลดลงไป

ขอให้เริ่มต้นใหม่ นิสัยไม่ดีติดมาจากอดีตชาติ ให้เราละทิ้งไว้ในชาตินี้ให้หมด แล้วสร้างนิสัยใหม่ เปลี่ยนนิสัยใหม่

พรปีใหม่ พ.ศ.2564 คือ ฝึกการ “ให้เป็นนิจ” จิตกายใจจะเป็น “สุข” ตลอดชีวิตนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image