ปัญหาแกนนำและการนำในการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัย

ว่ากันไปตามแนวคิดทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคมร่วมสมัย ปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคมไทยสองปรากฏการณ์คือ การคาดการณ์ต่อม็อบคนรุ่นใหม่ (ขอเรียกง่ายๆ) ว่าปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง กับ การพิพากษาแกนนำม็อบ กปปส. ที่สัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความยุ่งเหยิงในการพิจารณาอยู่ไม่น้อย

กล่าวคือ ในทางหนึ่งในปีที่ผ่านมาพัฒนาการของม็อบคนรุ่นใหม่มีความเติบโตและหลากหลายมาก รวมทั้งมีการยกระดับหลายครั้ง และในที่สุดก็มีการฟ้องร้องดำเนินคดี “แกนนำ” และในวันนี้ก็ยังมีการไม่ให้ประกันตัวสี่แกนนำ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการผลิตคำอธิบายอยู่เสมอๆ ว่า ม็อบในปีที่ผ่านมาเป็นม็อบที่ไม่มีแกนนำ ซึ่งถ้าจะแปลง่ายๆ ก็คือ เป็น ม็อบที่ไม่มีผู้นำ (leaderless movement)

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการดำเนินคดีและปล่อยตัวชั่วคราวกับกลุ่มแกนนำ กปปส. ซึ่งท่ามกลางข้อสงสัยมากมายในสังคมสิ่งที่ยังไม่เคยได้รับความกระจ่างก็คือ ทำไมโทษแต่ละคนไม่เท่ากัน และการตัดสินนั้นวางอยู่บนหลักคิดอะไรบ้าง

ทั้งนี้ ทั้งสองกรณีเอาเข้าจริงแนวคิดหลักในสังคมไทยอาจไม่ใช่ข้อถกเถียงทางการเมือง หรือทางวิชาการที่เข้าใจตรงกันว่า ตกลงแล้ว การเคลื่อนไหวจำต้องมีการจัดตั้งและจัดองค์กรอย่างไร แต่กลายเป็นเรื่องที่ว่าตกลงแล้ว “ใครอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวนั้นกันแน่?”

Advertisement

สรุปง่ายๆ ก็คือ แทบจะเป็นเรื่องป่วยการที่จะมานั่งอธิบายข้อถกเถียงในระดับสากลว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เพราะเรื่องใหญ่ที่มักเป็นที่สนใจ (หรือเคลือบแคลงสงสัย) ก็คือเรื่องของใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุม มากกว่าเรื่องของแนวทางอุดมการณ์ ผู้เข้าร่วม หรือยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว

แต่กระนั้นก็ตาม ข้อถกเถียงเรื่องของการบริหารจัดการการชุมนุมในแง่ของการจัดตั้งกระบวนการ การขยายผล และการออกมาชุมนุมจริงนอกโลกออนไลน์ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ในวันนี้ หากเรากำลังพูดถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมในโลกออนไลน์มากกว่าแค่การอธิบายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง หรือการไปรวบรวมสรุปข้อค้นพบจากการนั่งสังเกตการณ์ในโลกออนไลน์ว่าเด็กๆ เขาคุยอะไรกัน หรือเราเดินไปถามคนที่เข้าร่วมชุมนุม

กล่าวโดยสรุปในกรอบข้อถกเถียงหลักเรื่องหนึ่งในการเคลื่อนไหวชุมนุมนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของอุดมการณ์ ประเด็น หรือการสำรวจกลุ่มคนที่เข้าร่วม แต่กำลังพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นมาได้ ซึ่งคำเก่าๆ ที่เรียกว่าจัดตั้ง หรือการจัดการชุมนุมในโลกออฟไลน์อาจจะไม่ครอบคลุมประเด็นที่กำลังพูดถึงกันอยู่ และมีความหมายแฝงในแง่ลบมากเกินไป

Advertisement

คำถามที่ยังวนเวียนในเรื่องการพูดคุยเรื่องม็อบ หรือการชุมนุมในวันนี้มักจะมีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับคำว่า ม็อบนี้มีแกนนำไหม คำตอบในเรื่องนี้ก็พูดกันยาก ที่ถูกจับไปเรียกว่าแกนนำหรือเพียงแค่ผู้ปราศรัย เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องในระดับทฤษฎีเท่านั้น เพราะว่าในอนาคตถ้าแนวคิดเรื่องการชุมนุมเปลี่ยนไปจริงๆ การดำเนินคดีก็อาจจะต้องเปลี่ยนไป เพราะแนวทางการออกกฎหมาย หรือตีความกฎหมาย รวมทั้งพิพากษาให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นก็จะต้องเปลี่ยนไป หากเราไปตีความกันว่าการชุมนุมไม่มีแกนนำ หรือไม่มีผู้นำ

ส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงเรื่องการชุมนุมว่ามีแกนนำหรือไม่ หรือไม่มีแกนนำนั้นเอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมานานแล้วอย่างน้อยในการเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากจะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมหลักๆ สามประเด็นในสังคมอเมริกาก็คือเรื่องของชนชั้น สีผิว และเพศสภาพ จะพบว่าการพูดคุยเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสภาพ และสีผิว (อาทิ Black Lives Matter) ดูจะมีการพูดและถกเถียงกันถึงการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำมานานแล้ว ขณะที่การเคลื่อนไหวในเรื่องของชนชั้นแม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวและพูดคุยในเรื่องของการไม่มีแกนนำอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยการมีแกนนำและเจ้าภาพในระดับสหภาพก็อาจจะยังชัดอยู่ แม้ว่าจะมีการพูดถึงการต่อสู้แบบไร้แกนนำอยู่ในระดับของการต่อสู้กับระบบทุนนิยมในภาพรวม แต่เมื่อกล่าวถึงกรณีการเจรจาในรายกรณีแล้วการมีการเคลื่อนไหวโดยมีแกนนำก็อาจจะชัดกว่า

การพูดถึงการมีแกนนำหรือไม่มีแกนนำในการเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของทั้งการพูดคุยกันในประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวจริง และเรื่องของการเล่าเรื่อง ในการเล่าเรื่องก็คือมิติของการกำหนดว่าใครคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่จะบันทึกและส่งผ่านเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป ดังนั้น การพยายามทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง โดยเฉพาะมิติของการนำจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในส่วนของข้อถกเถียงในเรื่องของการต่อสู้เรื่องสีผิวในอเมริกานั้น ส่วนหนึ่งของการถกเถียงว่าการเคลื่อนไหวสัมพันธ์อย่างไรกับการนำและการมีแกนนำ มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อหลายปีก่อนที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือเรื่องการพูดถึงการต่อสู้เรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องของการให้ความสำคัญและเคารพต่อคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา หรือรู้จักกันในนามของ Black Lives Matter ซึ่งส่วนสำคัญของการเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของแค่ว่ามีแกนนำหรือไม่มีแกนนำ เพราะมันไปเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของบทบาทของเทคโนโลยีการสื่อสารว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ไม่ต้องมีแกนนำก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า twitter ที่เป็นแอพพ์ที่สามารถส่งข้อความสั้นๆ และแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เพระเน้นการส่งข้อความและต่อมาก็สามารถส่งภาพได้ด้วย

การถกเถียงในเรื่องของบทบาทของแกนนำและเทคโนโลยีการสื่อสารในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมทำให้เรามักจะเชื่อว่า ในการชุมนุมนั้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ไม่ต้องมีแกนนำ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคนเข้าหากัน (บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าในยุคแรกๆ ของการมีระบบอินเตอร์เน็ตสมัยที่ยังเป็นเรื่องของเว็บบอร์ดนั้น ก็มีการพูดคุยกันว่าโลกอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นโลกในอุดมคติที่ทุกคนสามารถสื่อสารหากันได้โดยเสรี โดยจะเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น) หรือพูดให้ดูเท่ก็คือในวันนี้ เราทุกคนคือแกนนำ เพราะว่าเราทุกคนคือผู้ใช้เทคโนโลยีได้เอง และใช้อย่างมีความชำนาญ และมีความถ่องแท้ในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ เพราะเรามักจะเป็นคนรุ่นใหม่

ในความเป็นจริงแล้วสื่อสมัยใหม่ที่เรียกว่า social media ที่มีการสามารถสร้างเนื้อหาเองโดยไม่ต้องพึ่งมืออาชีพ และสามารถส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งร้านค้าและผู้จัดจำหน่ายนั้น เป็นเสมือนอาวุธ/เครื่องมือ ที่สามารถใช้ได้ในหลายด้าน และบางทีอาจจะขัดแย้งกันเอง สื่อโซเชียลนี้อาจจะทำให้เราเห็นมิติของความอยุติธรรม และสามารถสื่อสารกันในการจัดการชุมนุมในแต่ละครั้ง หรืออาจจะเป็นเครื่องมือในการขายของทุกอย่างที่ถูกผลิตขึ้น และแม้ว่าทวิตเตอร์จะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนความเห็น อภิปรายถกเถียง เฉลิมฉลอง แบ่งปันความเศร้าเสียใจ หรือจัด/ระดมการเคลื่อนไหว แต่การใช้ทวิตเตอร์ก็ไม่เท่ากับการจัดองค์กรเพื่อการเคลื่อนไหว และการพูดถึงองค์กรเคลื่อนไหวอาจจะไม่ได้หมายถึงต้องเป็นองค์กรที่เป็นทางการ และมีลำดับชั้นเช่นกัน

ในทวิตเตอร์มีลักษณะของการขับเคลื่อนด้วยบุคลิกภาพของผู้ส่งสารเสียมาก อาจจะมีลักษณะที่ไร้ตัวตนได้ในหลายกรณี (แอคหลุม) และก็สร้างโอกาสให้เป็นทั้งพวกที่มา “มุง” หรืออาจจะ “มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง” ด้วยว่าเราไม่รู้ว่ามีกี่คนที่ติดตามเราอยู่นั้นให้การสนับสนุนเรา/การเคลื่อนไหวของเรา และเราก็ไม่รู้ว่าคนที่ตามเราจะชื่นชอบเราจริงๆ รวมทั้งการที่เขารีทวิต หรือเผยแพร่ข้อมูล ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยกับเรา และการสอดส่องจับกุมจากรัฐบาลบ้านเราก็ทะลวงเข้าถึงทวิตเตอร์แล้ว จากกรณีการดำเนินคดีที่ผ่านมา

ดังนั้น การอธิบายว่าทวิตเตอร์มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวจนแทบจะแทนที่การมีผู้นำ/แกนนำ หรือองค์กรที่จะขับเคลื่อนก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่อง แต่เป็นส่วนสำคัญที่ยากจะปฏิเสธได้ เพราะยังมีเรื่องของการสร้างการเคลื่อนไหวที่กระทำผ่านการต่อสู้ที่เป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งในองค์กรเคลื่อนไหว และผ่านการรวมตัวกัน โดยเฉพาะบรรดาแกนนำที่ยังให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

ในแง่ทฤษฎีที่เขาถกเถียงกันที่ผมหยิบบางส่วนมาเล่านี้ เอาเข้าจริงก็แตกต่างจากประเทศของเราอยู่ไม่น้อย เพราะประเทศของเราค่อนข้างเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีแกนนำที่ปราศรัยและจัดการชุมนุมบนถนนมากกว่าในกรณีของอเมริกาที่นักวิชาการและแกนนำการชุมนุมรุ่นเก่าออกมาวิพากษ์วิจารณ์สื่ออเมริกาที่เอะอะอะไรก็แขวนป้ายการชุมนุมว่าเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวที่ไม่มีแกนนำ และขับเคลื่อนได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องที่ง่ายและชัดเจน เช่น “จงหยุดฆ่าเรา (ชาวผิวดำ)”

การถกเถียงในเรื่องของการเคลื่อนไหวขับเคลื่อนประเด็นสีผิวในอเมริกา เป็นเรื่องที่มีกำเนิดเฉพาะเจาะจงไปที่เรื่องของการเคลื่อนไหวของคน (สี) ผิวดำ และหนึ่งในต้นกำเนิดในเรื่องของการพูดถึงการเคลื่อนไหวไร้แกนนำ มาจากนักเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ที่เป็นผู้หญิง และเคลื่อนไหวกับชุมชนผิวดำ ที่ชื่อว่า Ella Baker โดยคำพูดที่มีการพูดถึงบ่อยก็คือ “ประชาชนที่แข็งแกร่ง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำ/แกนนำที่แข็งแกร่ง” ซึ่งความหมายตั้งต้นของประโยคนี้หมายถึง การไม่ต้องมีผู้นำการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะแบบผู้มาโปรดสัตว์ หรือมีบุญญาธิการ มีความรอบรู้ในการเคลื่อนไหวในทุกๆ อย่าง ที่มานำเสนอทางรอดทางการเมืองและได้รับการเคารพเยี่ยงเทพเจ้าเป็นการตอบแทน (น่าจะมีความหมายถึงคนอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์คิง หรือการแสวงหาผู้นำในแบบนั้น ที่สั่งการลงมาจากบนลงล่าง)

สิ่งสำคัญที่เป็นประเด็นในเรื่องของการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องมีแกนนำแบบผู้มีบารมี หรือแกนนำที่เป็นซุปเปอร์แมน ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการไม่มีการจัดการเคลื่อนไหวที่จะต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน การกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง การจัดตั้งที่เข้มแข็ง การเคลื่อนคน และการสร้างข้อตกลงร่วมกันในหมู่ผู้จัดการเคลื่อนไหวและแน่นอนกับตัวผู้ชุมนุมเอง

กล่าวโดยสรุปประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องของการนำขบวนไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการมีผู้นำหรือไม่มีผู้นำ แต่เป็นเรื่องของการมี “ลำดับชั้น” ในการสั่งการและตัดสินใจ ซึ่งถ้าลำดับชั้นในการตัดสินใจและการสั่งการแข็งตัวจนเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลความแค่ว่ามวลชนจะไม่เข้าร่วม แต่อาจจะหมายความไปถึงว่าการไม่เข้าร่วมไม่ใช่เพราะมวลชนไม่เห็นความสำคัญกับประเด็นของการเคลื่อนไหว

แต่เขาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรในการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเอาเสียเลย และยิ่งทำให้ผู้ตัดสินใจหรือแกนนำในขบวนการมีลักษณะที่เป็นชนชั้นนำ หรืออภิสิทธิ์ชนในขบวนการมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสรุปย้ำก็คือประเด็นที่เคลื่อนไหวอาจจะยังเป็นเรื่องสำคัญ แต่มันขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะคนเข้าร่วมรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว หรือรู้สึกแปลกแยกจากการเคลื่อนไหวที่ต้องฟังหรือต้องทนกับการตัดสินใจและการสั่งการบางเรื่องที่เขาไม่ได้มีส่วนในการรับรู้ตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ ข้อถกเถียงในการเคลื่อนไหวของขบวนการคนผิวดำยังเกี่ยวกับเรื่องของการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการต่อต้าน กับการเปลี่ยนแปลงเพื่อชัยชนะ เพราะในการต่อต้านอาจจะเป็นเรื่องที่ชัดเจน เรียบง่ายและเป็นการสะท้อนอย่างฉับพลันทันทีเมื่อมีการกดดันจากคนที่มีอำนาจ แต่ในการต่อสู้ระยะยาวเพื่อให้ได้รับชัยชนะอาจจะยังต้องการการจัดการและการจัดตั้งที่จริงจังมากกว่าการด่วนสรุปว่าการต่อต้านเท่ากับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคม หรือทุกสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ในแง่นี้การเคลื่อนไหวและจัดตั้งยังจะมีความสำคัญในการเคลื่อนไหวในระดับของการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของแกนนำและผู้นำ แต่ข้อเสนอในการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ก็คือ การจะต้องทำให้เกิดการนำในแบบหมู่คณะ (group-centered leadership) มากกว่าการนำโดยคนไม่กี่คน และในแง่นี้ก็ไม่ต่างจากเคลื่อนไหวเรียกร้องการบริหารประเทศที่เราต้องการให้รัฐนั้นพร้อมรับผิด (accountable) ต่อการกระทำของเขา แต่หมายถึงการนำในแบบใหม่นี้ประเด็นของการพร้อมรับผิดในความหมายของการเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นมากกว่าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวตลอดเวลา และจะต้องพูดถึงการยอมรับฉันทามติจากคนในขบวนการและมวลชน รวมทั้งจะต้องสามารถต่อรองกับแต่ละฝ่ายในขบวนการและนอกขบวนการได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมายถึงการนำที่สร้างผลกระทบจริง และมีความเป็นประชาธิปไตยและยั่งยืนกว่าการนำบุกตะลุยโดยคนไม่กี่คน

ถ้าใช้ศัพท์ทางทฤษฎีการจะหมายถึงว่าการนำในขบวนการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ไม่ใช่มีแค่กิจกรรมระดมการแสดงออกซึ่งการต่อต้านกับระบบ แต่ต้องหมายถึงการสร้างขบวนการ (movement building) ให้เข้มแข็ง หรือการสร้างสมดุลระหว่าง mass mobilizing กับ organization building ในแง่ของการเปิดรับผู้คนและความคิดต่างๆ ให้กว้างขึ้น และมีความพร้อมรับผิด/รับการตรวจสอบในสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไป หรือหมายถึงการที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการต่อสู้แบบต่อต้านอย่างฉับพลันทันที กับการกระทำที่มีนัยทางยุทธศาสตร์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมีการรวมตัวของผู้คนในการเคลื่อนไหวจำนวนมาก

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องเพศสภาวะในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานแล้ว ว่าสุดท้ายแล้ว

การเคลื่อนไหวจำเป็นต้องมีแกนนำ หรือโครงสร้างในการต่อสู้ไหม อันเนื่องมาจากในขบวนการต่อสู้เองนั้นมักจะมีอคติในเบื้องต้นในการสร้างองค์กรขนาดใหญ่แบบเดียวกับขบวนการแรงงานแบบฝ่ายซ้าย โดยบรรดานักเคลื่อนไหวเรื่องเพศสภาวะส่วนใหญ่ในอดีตจะสมาทานแนวคิดการ “ยกระดับจิตสำนึก” ผ่านการพูดคุยกันในวงเล็กๆ ถึงประสบการณ์ชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ในครอบครัว แต่สุดท้ายเองในการเคลื่อนไหวก็มาถึงสิ่งที่ถูกเรียกว่าทางตันในการต่อสู้ว่า เมื่อทุกคนสามารถเข้าใจและยกระดับจิตสำนึกในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในเพศสภาวะแล้ว พวกเขาจะยกระดับการต่อสู้จากวงพูดคุยของเขาอย่างไร

ทางออกหนึ่งในการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องทางการเมืองคือการดำรงไว้ซึ่งข้อเรียกร้องในเรื่องของประชาธิปไตย และจะต้องมีประชาธิปไตยในขบวนการซึ่งไม่ได้หมายถึงการอธิบายว่าเพราะเทคโนโลยีในตัวของมันเองทำให้เกิดประชาธิปไตย เช่น เพราะมีสื่อโซเชียลเราจึงเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยในขบวนการเองยังหมายถึงการสามารถโอบล้อมเอาผู้คนต่างๆ เข้ามาร่วมเดินและร่วมคิด รวมทั้งการจะต้องรักษาไว้ซึ่งพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างให้คนได้เข้ามาร่วมคิดด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ แต่จะต้องถูกสร้างขึ้นจากการนำในแบบที่เอาความเป็นส่วนรวมหรือกลุ่มที่ยืดหยุ่นเป็นตัวตั้ง

โดยที่การเปิดกว้างในกลุ่มย่อมจะต้องหมายถึงการทำความเข้าใจความซับซ้อนของทั้งการเคลื่อนไหว และประเด็นของการเคลื่อนไหวเองด้วย ซึ่งในอเมริกาเองเขาค่อนข้างกังวลกับการเชื่อมโยงและสื่อสารสาธารณะโดยเฉพาะกับสื่อกระแสหลักในการลดทอนความเข้าใจและข้อเรียกร้องของขบวนการ เช่น เรื่องราวของการให้ความสำคัญในประเด็นของชีวิตคนดำ ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ว่าหยุดฆ่าคนดำ หรือจัดการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่กี่คน หรือรวมไปถึงการพยายามสื่อสารเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่จะเปลี่ยนเรื่องง่ายๆ จากการเคลื่อนไหวจากชีวิตคนดำสำคัญมาสู่ทุกชีวิตสำคัญ (All lives matter) เพราะเงื่อนไขของชีวิตคนดำเกี่ยวพันกับพัฒนาการเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมบางประการอย่างที่มากกว่าเรื่องของการรวมเอาทุกเรื่องเข้าด้วยกัน เช่น นโยบายสังคม รวมทั้งสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาที่เกี่ยวพันกับความยากจนอย่างลึกซึ้ง แตกต่าง และซับซ้อนในแบบที่ไม่เหมือนกับผิวสีอื่นๆ เป็นต้น

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวและการดำเนินคดีที่เข้มข้นขึ้น ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวในบ้านเราคงจะนำไปสู่การทำความเข้าใจใหม่ ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และแง่ของการถกเถียงทางทฤษฎีและการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในบ้านเราครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image