ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัยปีกึ่งพุทธกาล-2540 (1) โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี เจ้ามัลละกุสินาราจัดสมโภชพิธีสักการะพระสรีระ พระมหากัสสปะถวายบังคมพระบาทในพิธีถวายพระเพลิง

สมัยปีกึ่งพุทธกาลเป็นห้วงเวลาสำคัญสำหรับชาวพุทธ ซึ่งเชื่อสืบกันมาว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุยาวถึง 5,000 ปี และเมื่อถึงช่วงกึ่งกลางพระพุทธศาสนาจะกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้งหนึ่ง และอาจเป็นช่วงสุดท้ายสำหรับผู้ที่ยังประมาท

กระแสการสมโภชจึงมีมากในหมู่พุทธศาสนิกชนและประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งรัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชู ความมั่นใจและความสนใจในพระพุทธศาสนาก็กลับมามีแนวโน้มที่ดีในศรีลังกา พม่าและประเทศไทย

ในสหภาพพม่ารัฐบาลได้จัดให้มีการสังคายนาใหญ่และส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมเป็นส่วนหลักของการศึกษาทางพระพุทธศาสนา วงการพุทธโลก และศรีลังกาหันมาสนใจแนววิธีใหม่ของพม่ามากขึ้น

ในประเทศไทยรัฐบาลสนใจการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพบก กรมตำรวจและประเทศมหาอำนาจ จอมพล ป.พิบูลสงครามเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในระดับทั่วไป เคยจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ในปี 2498 และได้สร้างพุทธมณฑลสำเร็จในช่วงปีสมโภชนั้น ส่วนที่เป็นการเคลื่อนไหวของชาวพุทธมีมากที่วัดอโศการาม ซึ่งจากนั้นก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมของพระภิกษุสายวัดป่า

Advertisement
จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี ตำนานพระเจดีย์ชเวดากอง พระธรรม
และพระเกศาธาตุสู่อุกกลชนบท

การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมในประเทศไทยมีความชัดเจนเป็นลำดับและยังคงรักษาความหลากหลายในวิธีปฏิบัติได้มากกว่าในประเทศอื่นๆ ความแตกต่างในนิกายมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางสู่ธรรมอันบริสุทธิ์ พระภิกษุได้เรียนรู้และสนทนาธรรมระหว่างกันตามกาล การอบรมปฏิบัติธรรมหลายแห่งก็มีฆราวาสเป็นผู้บรรยายอบรม

สืบต่อมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 การอบรมการเจริญสติปัฏฐานยังคงเติบโตต่อเนื่องสำหรับภิกษุส่วนใหญ่ ซึ่งสังกัดมหานิกาย ในขณะที่พระภิกษุสายวัดป่าก็เริ่มเคลื่อนการเผยแผ่จากชนบทห่างไกลสู่เมืองใหญ่ บทบาทมีมากขึ้นอย่างชัดเจนในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง

แนวปฏิบัติแบบสมถวิปัสสนาได้หายไปมากในมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งให้ความสำคัญกับภาคปริยัติที่ดูทันสมัยมาอย่างยาวนาน ภาพลักษณ์ของการอวดอ้างคาถาอาคมและความไม่เข้มแข็งในบาลีก็เป็นปัจจัยเช่นกัน ฝ่ายปกครองสงฆ์ซึ่งดูแลมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยมักเป็นพระอาจารย์ทางปริยัติ และภาษาบาลี ในช่วงภายหลังปี 2490 การศึกษาพระอภิธรรมมีส่วนของการปฏิบัติตามแนวของพม่าอยู่ด้วย จึงได้เริ่มให้มีการสอนแนวอิริยาบถที่มณฑปวัดมหาธาตุก่อน จากนั้นเมื่อมีสังคายนาที่พม่าจึงได้ขอการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่า ฝ่ายปกครองสงฆ์มหานิกายในสมัยนั้นก็เห็นว่าแนวทางการเจริญสติของวัดมหาสีเป็นวิปัสสนากรรมฐานและเห็นผลได้ชัดจริง

Advertisement

สายอิริยาบถได้เติบโตอย่างรวดเร็วที่วัดมหาธาตุโดยมีเจ้าคุณโชดก ฌานสิทธิ และพระอาจารย์ภัททันตะอาสภเถระ เป็นหลักสำคัญ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ก็มีบทบาทเป็นหลักอีกท่านหนึ่งในเวลาต่อมา คุณแม่สิริ กรินชัย เปิดโครงการอบรมแพร่หลายในหมู่ฆราวาสและเยาวชน ท่านได้ปรับการเดินจงกรม ซึ่งเป็นไปอย่างช้าๆ นั้นให้มีจังหวะเพิ่มขึ้น

การแนะนำการปฏิบัติของสายวัดมหาสีมีทั้งการสังเกตการก้าวย่าง และการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเพิ่มสติสัมปชัญญะ และการเพ่งสติที่หน้าท้องควบคู่ไปด้วย ไม่อาศัยสมาธิที่ละเอียด การมีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอมีความสำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติสติปัฏฐานหมวดนี้ ส่วนการเพ่งการสังเกตที่หน้าท้องยุบเข้าออกเวลาหายใจเป็นช่วยเพิ่มกำลังขณิกสมาธิ ท่านเจ้าคุณโชดกอธิบายว่า “พองหนอยุบหนอ” ที่ใช้ก็คือ “หายใจเข้าหายใจออก” ในพระสูตรนั่นเอง ส่วนงานฉบับภาษาอังกฤษของพระอาจารย์มหาสี สยาดอใช้คำกำกับว่าเกิดขึ้นดับไป

สำนักรูปนาม ซึ่งมีพระอาจารย์ภัททันตะวิลาสะเข้ามาเผยแผ่ที่วัดปรกตั้งแต่ปี 2474 และมีหลวงประพันธ์พัฒนการ (สอน สามโกเศศ) อาจารย์สาย สายเกษม อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ และคุณพระชาญบรรณกิจเป็นกำลังสำคัญยังคงมีบทบาทต่อเนื่อง สำนักนี้เน้นความรู้และการเข้าถึงปรมัตถธรรม การปฏิบัติเน้นการแยกรูปนามโดยนัยของพระอภิธรรม การเคลื่อนไหวเป็นรูปและการรู้เป็นนาม การกำหนดจังหวะเป็นการฝึกฝนสติสัมปชัญญะ การศึกษาด้านอภิธรรมมีอาจารย์บุญมี เมธางกูร และอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เป็นกำลังสืบต่อมา ส่วนด้านการปฏิบัติมีพระอาจารย์ประเดิม โกมโล สืบทอดต่อจากพระภาวนาภิราม (สุข ปวโร) แห่งวัดระฆัง โดยมีหลักที่วัดเพลงวิปัสสนา ซึ่งที่สำนักนี้ก็มีการอบรมอานาปานสติด้วย ศิษย์ของพระอาจารย์สุข ปวโรอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทคือ พระอาจารย์โสบิน นามโท

ในช่วงนี้มีการอบรมปฏิบัติตามแนวทางของพระอาจารย์มิงกุนสยาดอที่เป็นที่นิยมอย่างมาก วิธีนี้มักเรียกว่า “ติงนิ่ง” การอบรมมีการสังเกตการเคลื่อนไหวให้อยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน พระอาจารย์สำคัญได้แก่หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ หลวงพ่อแป้น ธัมมธโร และหลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ มีบทบาทอย่างสูงในการเผยแผ่ให้เห็นผลของการปฏิบัติ ท่านเคยใฝ่หาแนวทางปฏิบัติมาหลายแห่งจนกระทั่งได้เรียนรู้วิธีปฏิบัตินี้จากพระอาจารย์มหาปาล อานันโท
ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์สุข ปวโรและมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่เวียงจันทน์ หลวงพ่อเทียนแนะนำวิธีติงนิ่งโดยได้เพิ่มจำนวนจังหวะให้เกิดความละเอียดมากขึ้น

ข้อปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานสูตรแบบวัดมหาสีมีฝ่ายปกครองสงฆ์มหานิกายให้การสนับสนุนมายาวนาน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติที่มีมาก่อนหน้านั้นก็ยังเป็นที่สนใจอย่างมากเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นสายสมถวิปัสสนาที่สืบทอดมาจากกรุงเก่าและอีกส่วนมาจากการเผยแผ่ของพระอาจารย์หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม

การปฏิบัติแบบกรุงเก่านับว่ายังเจริญมากในช่วงสมัยนี้ แม้ว่าจำนวนพระอาจารย์ที่อบรมกรรมฐานได้จริงจะมีลดลง ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่พระภิกษุรุ่นก่อนๆ การสืบทอดมักอาศัยการบอกกรรมฐานตามกาลเฉพาะตน การศึกษาอาจอาศัยคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นคู่มือการปฏิบัติและต้องพึ่งพระอาจารย์ในวัดนั้น ซึ่งอยู่นอกระบบการศึกษาทางการของคณะสงฆ์

แหล่งที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่ที่วัดสะแก อำเภออุทัย พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เป็นพระอาจารย์ที่เมตตาแนะนำการปฏิบัติให้ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ สนับสนุนการปฏิบัติโดยไม่จำกัดสังกัด และเป็นที่ยอมรับในหมู่พระปฏิบัติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงปู่บุดดา ถาวโร หลวงพ่อฤาษีลิงดำ และหลวงปู่โง่น โสรโย เป็นต้น

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ สืบทอดการปฏิบัติมาจากหลวงปู่กลั่น ธัมมโชโต วัดพระญาติการาม ซึ่งสืบมาจากสำนักวัดประดู่ทรงธรรม สำนักนี้เริ่มต้นโดยพระภิกษุวัดประดู่สมัยกรุงเก่าและภายหลังเสียกรุงได้ไปประจำที่วัดบางหว้าใหญ่ หรือวัดระฆังในสมัยกรุงธนบุรี ท่านแนะนำอานาปานสติและพุทธานุสติ ท่านไม่ส่งเสริมความขลังในวัตถุมงคลมากเหมือนพระเกจิอาจารย์รุ่นก่อนๆ

แหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งมีพระราชพรหมญาณ หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำเป็นพระอาจารย์กรรมฐาน ตั้งแต่ราวปี 2511 ท่านได้สอนกรรมฐานและเผยแผ่ให้แนวทางสมถวิปัสสนาเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง และมีชื่อเสียงด้านมโนมยิทธิ แนวทางนี้สืบทอดมาจากสายอยุธยาและสุพรรณบุรี ซึ่งสืบทอดมาจากวัดพลับในอดีต นับว่ามีที่มาคล้ายคลึงและใกล้ชิดกับหลวงพ่อสด จันทสโร

หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุงบรรยายกรรมฐานหลายหมวดและให้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ทั้งหลายด้วย มิใช่เพื่อฌานและความขลัง ท่านมักแนะนำพุทธานุสติ อานาปานสติ และกสิณตามแนวที่ท่านสืบทอดมาจากหลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค พุทธานุสติกำกับลมหายใจใช้คำว่า “พุทโธ” ที่นิยมมาแต่เดิม หลวงพ่อสด จันทสโร ใช้คำว่า “สัมมาอรหัง”

ในช่วงหลังของสมัยนี้แนวทางสมถวิปัสสนามีการอบรมที่เน้นกรรมฐานห้าที่วัดสังฆทาน นนทบุรี หลวงพ่อสนอง กตปุญโญเป็นศิษย์ของหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก ซึ่งสืบทอดการปฏิบัติจากหลวงปู่บุดดา ถาวโร

หลวงปู่บุดดา ถาวโร สรรเสริญกรรมฐานห้าอย่างยิ่ง เคยจำพรรษาที่วัดสัมพันธวงศ์ และวัดอาวุธวิกสิตาราม ท่านใกล้ชิดกับหลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร และเป็นพระอาจารย์ของแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม บ้างกล่าวว่าพระเจ้าคุณนรรัตนราชมานิตก็ศึกษาจากท่าน

สวนโมกขพลารามเป็นแหล่งปฏิบัติด้านอานาปานสติและการเผยแผ่ธรรมที่สำคัญยิ่ง หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุส่งเสริมการเจริญปัญญาความรู้ที่เข้าถึงได้ดีในหมู่ผู้คนสมัยใหม่ที่สนใจแก่นธรรมมากกว่าอาคมความขลัง ท่านมีชื่อเสียงมากในวงการพุทธโลก และได้เคยพบกับพระอาจารย์โลกนาถ (Salvatore Cioffi) ในปี 2476 พระอาจารย์โลกนาถเป็นผู้ที่จุดประกายยิ่งใหญ่ของพุทธสากล ท่านได้ริเริ่มโครงการภิกษุสามเณรใจสิงห์ และมีอิทธิพลต่อ ดร.อัมเบดการ์ ผู้นำชาวพุทธใจพิมในอินเดีย

ในส่วนของการปฏิบัติ หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุแนะนำอานาปานสติ 16 ขั้นตามพระอานาปานสติสูตร ซึ่งครอบคลุมถึงสติปัฏฐานทั้งสี่ โดยไม่ต้องเจริญกายานุปัสสนาหลายหมวด หรือเฉพาะอานาปานสติแบบกายานุปัสสนาในพระมหาสติปัฏฐานสูตร

แหล่งปฏิบัติในแนวของสวนโมกขพลารามก็เปิดโอกาสให้เกิดความสนใจในธรรมบรรยายและการสนทนาธรรมอย่างมาก นอกจากที่สุราษฎร์ธานีก็มีสถานที่อื่นอีกเช่นวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ปากเกร็ด วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ และวัดเขาสันติ หัวหิน (หลวงพ่อดาวเรือง มหาปุญโญ) อุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง ก็มีบทบาทสูงในการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม

ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ท่านแนะนำให้เจริญสติก่อนจนเกิดสมาธิและปัญญา ลำดับการปฏิบัติเป็นแบบอานาปานสติ 16 ขั้นเช่นเดียวกับคำแนะนำของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image