บทละคร‘ให้รักพิพากษา’ (DARE TO LOVE) กับบทบาทพนักงานอัยการในกระบวนการยุติธรรม

บทละคร‘ให้รักพิพากษา’ กับบทบาทพนักงานอัยการในกระบวนการยุติธรรม

กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรงในโลกสังคมออนไลน์ สำหรับละครเรื่อง “ให้รักพิพากษา” ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ทิชากร ทนายความสาวสวยมากความสามารถประจำสำนักงานกฎหมายรอส แอนด์ ฮาร์วี่ ที่เข้ามารับหน้าที่เป็นทนายความให้กับ คิว เด็กหนุ่มที่เข้ามาฝึกงานในสำนักงานกฎหมายของเธอ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดและเรื่องราวก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อสำนวนคดียาเสพติดของคิวนั้น มี นรา พนักงานอัยการซึ่งเป็นอดีตคนรักของทิชากรเป็นเจ้าของสำนวน โดยละครดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดบทบาทของนราในฐานะพนักงานอัยการออกมาสู่สายตาของประชาชนที่รับชมอย่างต่อเนื่องหลายตอนในขณะนี้

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้อยครั้งนักที่จะมีการถ่ายทอดบทบาทของวิชาชีพทางด้านกฎหมาย ซึ่งรวมถึงบทบาทของพนักงานอัยการออกมาในรูปแบบละครไทยหลังข่าว ดังนั้น ละครเรื่องให้รักพิพากษา จึงถือว่าเป็นละครไทยไม่กี่เรื่องที่ถ่ายทอดบทบาทพนักงานอัยการสู่สายตาประชาชน อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ละครเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ายังมีข้อมูลที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่หลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอัยการ ซึ่งหากประชาชนที่ทราบและเข้าใจบทบาทพนักงานอัยการอยู่แล้วก็จะสามารถแยกแยะได้ว่า นี่คือละคร แต่ก็จะมีประชาชนบางส่วนซึ่งมีจำนวนไม่น้อย อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับบทบาทพนักงานอัยการ ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและทำให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานอัยการเสียหายในสายตาประชาชนได้ และเพื่อเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขออธิบายประเด็นที่ละครเรื่องนี้กล่าวถึงบทบาทพนักงานอัยการ ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังนี้

ประเด็นการเข้าสู่ตำแหน่งของพนักงานอัยการ ปัจจุบันการเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานอัยการนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 35 และมาตรา 49 ถึง 54 ประกอบระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 50 พ.ศ.2563 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานอัยการไว้เช่นเดียวกับการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษา คือ ต้องจบนิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิตไทย มีประสบการณ์ด้านกฎหมายตามที่กำหนดถึงจะมีสิทธิสมัครสอบ จากนั้นก็จะมีการสอบคัดเลือก (สนามใหญ่) การทดสอบความรู้ (สนามเล็ก) และการคัดเลือกพิเศษ (สนามจิ๋ว) โดยผู้ที่จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานอัยการนั้นต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ พนักงานอัยการทุกคนต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 37

ดังนั้น ตามบทละครที่อัยการนราชักชวนทนายทิชากรมาเป็นพนักงานอัยการ ประหนึ่งว่าไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบก็มาเป็นอัยการได้นั้น จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน อีกทั้งการที่อัยการนรากล่าวว่า การเป็นอัยการดีกว่าเป็นทนายบริษัทเอกชน มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ จะขยับไปเป็นผู้พิพากษาก็ได้ จะเล่นการเมืองก็ได้นั้น ก็ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเช่นกัน เนื่องจากการสอบเข้ารับราชการเป็นพนักงานอัยการในสำนักงานอัยการสูงสุดกับการสอบเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมเป็นการสอบของคนละองค์กรแยกต่างหากจากกันโดยสิ้นเชิง หากพนักงานอัยการจะไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาก็จะต้องมีการสอบใหม่ ในทางกลับกัน ถ้าผู้พิพากษาจะมาดำรงตำแหน่งพนักงานอัยการก็ต้องมีการสอบใหม่เช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะสามารถย้ายไปดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้ตามต้องการ

Advertisement

ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะสับสนอยู่แล้ว การที่ละครสื่อเนื้อหาออกมาเช่นนี้ อาจยิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชน ตลอดจนทำให้เด็กและเยาวชนที่กำลังจะศึกษากฎหมายเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งของพนักงานอัยการและผู้พิพากษาได้

ประเด็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการนั้นจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 13 องค์กรอัยการ มาตรา 248 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “องค์กรอัยการมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย” และวรรคสองบัญญัติว่า “พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง…” นอกจากนี้ ในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการก็จะต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ซึ่งความในข้อ 7 ได้กำหนดภารกิจของพนักงานอัยการไว้ว่า “พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจักต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว เท่าเทียมกัน และเป็นธรรม กับทั้งต้องกระทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน… ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาและจำเลย ให้พนักงานอัยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นด้วย ส่วนบุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายและพยาน พนักงานอัยการพึงให้ความคุ้มครองและการปฏิบัติที่เหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้” และข้อ 15 ได้กำหนดบทบาทของพนักงานอัยการไว้ว่า “พนักงานอัยการเป็นทนายแผ่นดิน และเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการตรวจสอบและค้นหาความจริงในคดีอาญา การควบคุมการดำเนินคดีของรัฐ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนรวม”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ “การอำนวยความยุติธรรมทางอาญา” ซึ่งหมายถึงการให้ความยุติธรรมกับบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้เสียหาย หรือฝ่ายผู้ต้องหา หรือจำเลย พนักงานอัยการจึงไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชน เพราะพนักงานอัยการต้องให้ความคุ้มครองและการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหาย และในขณะเดียวกันพนักงานอัยการก็ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา หรือจำเลยด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น พนักงานอัยการ จึงมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงในคดีต่อศาล ทั้งข้อเท็จจริงที่เป็นคุณและเป็นโทษกับตัวจำเลย นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานแล้วการกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิด หรือพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด หรือแม้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาจะเป็นความผิด แต่หากพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามกฎหมายได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งฟ้อง หรือคำสั่งไม่ฟ้องล้วนแต่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบตามลำดับชั้น รวมถึงมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายด้วย

เมื่อย้อนกลับมาที่ละครให้รักพิพากษาแล้ว แม้ในละครจะวางบทบาทให้อัยการนราเป็นผู้ร้ายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีโดยกล่าวว่า ฟ้องคดีตามความเคยชิน แม้ทนายผู้ต้องหาจะร้องขอความเป็นธรรมก็ดี การดึงผลตรวจลายนิ้วมือออกจากสำนวนการสอบสวนก็ดี ทั้งนี้ ก็คงเพื่อเป็นการสร้างอรรถรสในละครให้ผู้ชมได้ติดตามเอาใจช่วยพระเอกและนางเอก ซึ่งเป็นทนายความในการต่อสู้คดี ซึ่งในประเด็นนี้ก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงแล้วทุกองค์กร หรือทุกวิชาชีพล้วนมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การทำให้ประชาชนรู้และเข้าใจในสิทธิของตนตามกฎหมาย และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่ผิดกฎหมายและระเบียบของทางราชการเหล่านี้จะกระทำมิได้ และหากมีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นก็ต้องมีการตรวจสอบและพิจารณาลงโทษอย่างจริงจังและเด็ดขาด เพื่อให้ประชาชนมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในพนักงานอัยการ รวมตลอดถึงกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ ผ่านภาพที่ประจักษ์ชัดในสายตาของประชาชนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงการมองผ่านภาพมายาในละคร หรือแม้กระทั่งเป็นเพียงมายาคติของคนในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คำว่า “ก็แค่ละคร” อาจไม่สำคัญถ้ามันเป็นเรื่องของการสร้างสีสัน หรือมิติให้กับเนื้อเรื่องหรือตัวละคร แต่ละครไม่ควรจะเป็นแค่ละคร หากเป็นเรื่องของข้อมูลซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและสมจริง เพราะสิ่งเหล่านี้คือความรับผิดชอบที่ผู้จัดทำ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีต่อสังคมและประชาชน โดยศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบ ไม่สร้างความเข้าใจผิดๆ แก่ประชาชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวมได้ และผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระแสติชมที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเป็นบทเรียนให้ละครไทยพัฒนาเป็นสื่อที่มีคุณภาพที่นอกจากจะสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมแล้ว ก็ยังเป็นสื่อที่สามารถสอดแทรกความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนและสังคมได้ด้วย เพื่อให้ละครไม่ได้เป็นเพียงแค่ละคร

และในขณะเดียวกัน กระแสติชมเหล่านี้ก็เป็นกระจกสะท้อนองค์กรอัยการ ให้พนักงานอัยการยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริงด้วย เพื่อให้ “อัยการ” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “อัยกิน” ในสายตาของประชาชนอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image