ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : วิปัสสนาวงศ์ในไทย มอญและพม่า(5) โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดเสม็ด ชลบุรี ราว พ.ศ.2431 สักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาสุวรรณบรรพต บาทลักษณ์สมัยทวารวดีศิลปะอินเดียปรากฏที่สระมรกต ปราจีนบุรี พญาลิไทยทรงสร้างไว้ 4 รอยตามแบบลังกา แห่งหนึ่งที่วัดตระพังทอง พระเจ้าทรงธรรมทรงค้นหาและพบที่สระบุรี
จิตรกรรมฝาผนังปูนปั้นพระวิหารวัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
พระพุทธเจ้าเสด็จประทับยืนบนยอดเขารังรุ้ง โยนกปุระ
ล้านนามีที่วัดพระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม เชียงใหม่
สมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงอุตสาหะเสด็จนมัสการที่เขารังรุ้ง

วิปัสสนาวงศ์ในสยามเป็นการสืบทอดอริยารหันตวงศ์โดยมีลังกาวงศ์เข้ามาช่วยชำระและผสมผสานอย่างกลมกลืนตลอดความเป็นมาในประวัติศาสตร์

ในสมัยทวารวดีสมณวงศ์เถรวาทน่าจะเติบโตครอบคลุมเมืองโบราณต่างๆ ได้แก่บ้านลาด-พริบพรี คูบัว พงตึก อู่ทอง สุพรรณภูมิ นครปฐม อโยธยา ดงละคร ดงศรีมหาโพธิ เสมา ละโว้ อู่ตะเภา เชลียง หริภุญชัย ซับจำปา ศรีเทพ จำปาศรี ฟ้าแดดสงยาง ฯลฯ

พุทธเถรวาททรุดหนักในราวพุทธศตวรรษที่ 16 หลักใหญ่มาจากการที่ขอมยึดครองกรุงละโว้สำเร็จและขยายอำนาจไปถึงแคว้นทางตะวันตก ต่อมาการค้ากับจีนได้ช่วยให้สุโขทัยและอโยธยาแข็งแรงขึ้น พุทธเถรวาทจึงเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในพุทธศตวรรษที่ 17-18 ในพุทธศตวรรษที่ 17 ยังมีการเผยแผ่จากพุกามในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อด้วย ในช่วงเดียวกันนี้มีจารึกวัดดอนแก้วที่ลำพูนซึ่งกล่าวถึงความศรัทธาของพระเจ้าสววาธิสิทธิแห่งหริภุญชัย

ลัทธิลังกาวงศ์เก่ามีศูนย์กลางที่ตามพรลิงค์และเผยแผ่ต่อมาที่ศรีสัชนาลัยสุโขทัย ศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางตั้งแต่ครั้งพระราหุลเถระเดินทางออกจากพุกามมาเผยแผ่ที่นั่นซึ่งในจารึกกัลยาณีเรียกว่ามะลายา จากนั้นก็มีศิษย์สายพระอานนทวนรัตน์เดินทางจากลังกาเข้ามาเผยแผ่ พระอานนทวนรัตน์เป็นศิษย์อุทุมพรคีรีที่มีบทบาทในลังกาสมัยดัมพเดณิยะ

Advertisement

ส่วนในอาณาจักรสุโขทัยมีเข้ามา 2 สาย สายแรกเป็นสายลังกาจากศรีธรรมราชที่เข้าไปตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนรามคำแหงแล้วต่อด้วยการเผยแผ่สมัยพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี สายนี้เรียกว่าสำนักสีหล

พระมหาเถรศรีศรัทธามีบทบาทสูงมากแต่ไม่ทราบช่วงปีที่แน่ชัด มีประวัติปรากฏในจารึกวัดศรีชุมและวัดเขากบแต่ไม่พบในตำนานมูลศาสนา ท่านเป็นหลานปู่ของพ่อขุนผาเมืองและในวัย 26 ปี เคยออกศึกให้พญาเลอไทยจึงน่าจะอ่อนพระชันษากว่าพญาเลอไทยหลายปี ท่านไปลังกา 9 ปี และเป็นมหาสวามีด้วย จารึกวัดศรีชุมว่าท่านไปถึงอรัญญิกนอกคัมโปละ (คัมโปละเป็นเมืองหลวงใหม่ที่มีคณะอรัญวาสีอยู่ที่นั่นด้วย) คำนำในจารึกก็ขึ้นต้นนามของท่านและสถานที่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมหาเวลีที่คัมโปละ ท่านจึงอาจมีสำนักที่นั่นและน่าจะเดินทางกลับราวปี พ.ศ.1890 ซึ่งคัมโปละเริ่มเป็นเมืองหลวงพักหนึ่งแล้ว อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ประมาณไว้ที่ปี พ.ศ.1887

สายที่สองเรียกว่าสำนักรามัญเพราะมาจากเมืองมอญ สายนี้สืบตรงจากสำนักพระอุทุมพรกัสสปะมหาสวามีซึ่งถือว่าหาได้ยากอย่างยิ่ง พญาลิไทยทรงผนวชกับพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี พระเถระที่เป็นหลักได้แก่พระอโนมทัสสีเถระ พระสุมนเถระและพระอานันทเถระ เป็นต้น

Advertisement

สายนี้เริ่มเผยแผ่ที่กรุงสุโขทัยในปี พ.ศ.1900 และได้ขยายไปที่ลำพูน เชียงใหม่ อโยธยา หลวงพระบาง น่านและสองแคว เกิดสำนักที่วัดป่าแดงในศรีสัชนาลัย วัดป่ามะม่วงที่สุโขทัย วัดสวนดอกที่เชียงใหม่และวัดราชฐานหลวงที่เชียงตุง

ครั้งกรุงสุโขทัยเริ่มรุ่งเรืองอโยธยาก็เริ่มเป็นศูนย์กลางบริเวณตอนล่างแทนละโว้แล้วจากนั้นได้ขยายและสถาปนาเป็นกรุงศรีอยุธยา กัมโพชอาจเป็นคำเรียกดินแดนตอนล่าง กัมโพชสงฆ์แพร่หลายอย่างมากที่กรุงศรีอยุธยาและเมื่อกรุงสุโขทัยอ่อนแอลงจนเป็นประเทศราชลังกาวงศ์เก่าที่เผยแผ่มาแต่เดิมก็ยังคงเจริญต่อไป

ในราวปี พ.ศ.1931 พระธรรมกิตติซึ่งสืบสายตรงมาจากพระธรรมกิตติมหาเถระในลังกาได้มาที่กรุงศรีอยุธยาในช่วงก่อนพระบรมราชาหรือขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์ (พระธรรมกิตติมหาเถระนี้เป็นพระเถระสำคัญในลังกาที่ไปจากตามพรลิงค์ตั้งแต่ปี พ.ศ.1793) คงไม่นานนักท่านได้ไปประจำต่อที่กรุงสุโขทัย ครองที่วัดลังการามและเป็นมหาสามีในคณะอรัญวาสีที่นั่น ต่อมาในปี พ.ศ.1949 ท่านเป็นสังฆปริณายกครองที่วัดป่าแดงศรีสัชนาลัย จึงนับเป็นสายสีหลที่เข้ามาเพิ่มเติมในกรุงสุโขทัยต่อจากพระมหาเถรศรีศรัทธา

จารึกวัดศรีพิจิตรที่สุโขทัยระบุว่าสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดาได้สร้างและปลูกต้นมหาโพธิ์ที่นั่นในปี พ.ศ.1946 เจดีย์ที่วัดนี้ก็มีศิลปะอยุธยาผสมลังกาคล้ายคลึงกับที่หลายวัดในสุโขทัย กำแพงเพชรและสุพรรณบุรี สายสีหลห้วงเวลานี้ชี้ว่ากรุงศรีอยุธยามีความเป็นลังกาวงศ์มากขึ้น

ในปี พ.ศ.1962 ตามตำนานวัดป่าแดงเชียงตุงมีคณะภิกษุเชียงใหม่และอยุธยาเดินทางไปโรหณชนบท พระญาณคัมภีร์ซึ่งเริ่มต้นในสำนักของพระมหาธรรมกิตติได้นำคณะนี้ไปบวชกับพระมหาสุทัสนะราชครูแล้วกลับมาเผยแผ่ที่กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.1967 โดยเดินทางต่อไปถึงเชียงใหม่ในปีต่อมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นของฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ในสยามและล้านนา

ตามตำนานมูลศาสนาก็มีอีกคณะหนึ่งเป็นพระภิกษุจากเชียงใหม่และลพบุรีซึ่งนำโดยพระธรรมคัมภีร์และพระเมธังกรไปบวชและกลับมาพำนักที่กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.1967 จนถึงปี พ.ศ.1973 จึงไปล้านนา บ้างระบุว่ามีพระภิกษุอยุธยาร่วมเดินทางไปด้วยและมีพระภิกษุเข้ามาพร้อมกันอีก 2 รูป พระพงศาวดารโยนกกล่าวว่าคณะนี้บวชที่แม่น้ำกัลยาณีโดยมีพระธรรมจริยาเถระและพระวันรัตน์บวชให้ ทั้งสองคณะไม่ควรจัดเป็นคณะเดียวกัน คณะพระญาณคัมภีร์บวชในสำนักของพระราชครูซึ่งอาจมิได้ย้ายตามไปที่ชัยวัฒนานคร

ในกรุงศรีอยุธยาพระภิกษุหนุ่มจำนวนมากได้บวชกับลังกาวงศ์ใหม่และกลายเป็นคณะคามวาสีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่าคณะป่าแก้ว ในตำนานมูลศาสนาคณะของพระธรรมคัมภีร์มีเค้าความขัดแย้งกับสายวัดป่ามะม่วงในกรุงศรีอยุธยา การเผยแผ่ที่สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและพิษณุโลกเป็นไปด้วยดี ที่เชียงใหม่เกิดคณะใหม่ของวัดป่าแดงซึ่งขัดแย้งกับคณะวัดสวนดอก พระญาณคัมภีร์ต้องไปประจำอยู่เชียงตุง 13 ปี และเป็นที่เลื่อมใสมาก ฝ่ายวัดสวนดอกที่นั่นเกือบสูญไปจนกระทั่งมีพระจันทปัญญาสร้างวัดขึ้นที่ป่าช้ายางกวง (แปลว่าหมดสิ้นศัตรูหรือมารคล้ายคำว่าย่างกุ้ง) ฝ่ายวัดยางกวงนี้ขัดกับคณะวัดป่าแดงหลายครั้ง

คณะธรรมคัมภีร์เป็นที่นิยมมากในเชียงใหม่แต่การวิวาทในหมู่สงฆ์ทำให้พระเจ้าสามฝั่งแกนทรงต้องขับออก พระธรรมคัมภีร์สึกแล้วไปอยู่ที่ลำปางในขณะที่พระเมธังกรไปประจำที่ลำพูน พระพุทธรักขิตซึ่งศึกษาจากพุกามก็ประจำอยู่ที่ลำพูน พระเจ้าติโลกราชทรงอุปถัมภ์คณะวัดป่าแดง ทรงศรัทธาพระเมธังกรและทรงแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชและต่อด้วยพระพุทธรักขิต ส่วนพระญาณคัมภีร์พำนักที่เชียงแสนและมรณภาพก่อนพระเมธังกรไม่นาน

ในกรุงศรีอยุธยาสมัยที่ลังกาวงศ์ใหม่เข้ามามากเป็นช่วงของราชวงศ์สุพรรณภูมิซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิดกับทางสุโขทัย สมเด็จเจ้านครอินท์ สมเด็จเจ้าสามพระยาและสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงศรัทธาในพระศาสนามากซึ่งมิใช่เฉพาะลังกาวงศ์ใหม่

คณะคามวาสีเดิมเป็นกัมโพชสงฆ์หรืออริยารหันตวงศ์ เมื่อเกิดคณะคามวาสีวัดป่าแก้วซึ่งเข้มแข็งทางปริยัติมากกว่าและมีพระภิกษุหนุ่มบวชกันมาก คณะป่าแก้วก็มีบทบาทมากขึ้นตามกาลเวลา ส่วนฝ่ายอรัญวาสียังมีสายลังกาวงศ์ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์ พระมหาเถรศรีศรัทธาและคณะจากวัดป่ามะม่วง ในสมัยพระมหาธรรมราชามีคณะรามัญเพิ่มขึ้นอีกคณะหนึ่ง พระมหาเถรคันฉ่องพร้อมชาวเมืองแครงจำนวนมากเข้ามาพร้อมกับสมเด็จพระนเรศแต่ไม่ชัดว่าคณะนี้เป็นคณะกัลยาณีมาแต่เดิมหรือไม่

ในช่วงตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจนถึงก่อนเสียกรุงมีการทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านั้นคำให้การชาวกรุงเก่าระบุไว้ว่าสมเด็จพระเอกาทศรฐทรงศึกษากรรมฐานมิได้ขาดและพระเจ้าทรงธรรมก็ทรงสนพระทัยกรรมฐานยิ่งกว่ากษัตริย์พระองค์ใด

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งคณะภิกษุที่เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกไปต่ออายุสมณวงศ์ที่ลังกา ในสมัยของพระองค์มีพระอริยวงศ์มหคุหาฝ่ายอรัญวาสีเป็นสังฆปริณายก สำนักกรรมฐานส่วนใหญ่เป็นวัดในฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งมักอยู่แถบเมืองเก่าอโยธยาเช่นวัดประดู่ วัดโรงธรรม วัดโบสถ์ราชเดชะ วัดบางกะจะ วัดเจ้ามอญ วัดกุฎีดาว วัดสมณโกฏ วัดมเหยงคณ์และวัดในคณะรามัญ ลาวและเขมร ส่วนฝ่ายคามวาสีมีสำนักกรรมฐานหลักอยู่ที่วัดป่าแก้วในกำแพงพระนคร

ชื่อเสียงของวัดประดู่เคยปรากฏในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและอาจปรากฏลดลงบ้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เพราะทรงสนพระทัยในทางศาสนวัตถุและคาถาอาคม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็มีลัทธิพราหมณ์และศาสนาอื่นเข้ามามาก อย่างไรก็ตามในช่วงต้นสมัยพระเพทราชาวัดนี้ยังมีความสำคัญยิ่งดังที่หมอแกมป์เฟอร์ได้บันทึกแผนที่ไว้และใช้ชื่อว่าวัดพระยาพระคลัง จึงนับว่ารุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระเจ้าอุทุมพรทรงผนวชที่วัดแห่งนี้และทรงยกพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพระอารามหลวงเรียกว่าวัดโรงธรรม วัดประดู่และวัดโรงธรรมจึงกลายเป็นวัดที่ตั้งอยู่คู่กัน

พระเจ้าอลองพญายกทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2303 แต่สิ้นชีพ ในปี พ.ศ.2307 พระเจ้ามังระให้ยกทัพมาตีอีก เกิดสงครามครั้งใหญ่เกือบ 3 ปี จึงยึดกรุงได้ การกวาดล้างอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาหนักกว่าที่เคยกระทำกับมอญและทำให้ผู้คนล้มตายและต้องอพยพหลบหนี ชนชั้นปกครองถูกกวาดต้อนไปอังวะ มีการเผาวัดและคัมภีร์รวมทั้งการสังหารหมู่พระสงฆ์มากมายด้วย ช่วงกรุงแตกเป็นช่วงที่ยากต่อการดำรงสมณเพศจึงมีพระภิกษุแท้ๆ เหลืออยู่น้อยมาก

สภาพการณ์ครั้งกรุงแตกเริ่มต้นคล้ายคลึงกับการล่มสลายของกรุงพุกามซึ่งติดตามมาด้วยสงครามระหว่างเมืองย่อยๆ พระยาตากซึ่งเป็นแม่ทัพหนึ่งในชุดสุดท้ายที่ออกต้านทัพพม่าและเป็นหนึ่งเดียวที่หลุดรอดจากวงล้อมได้เร่งกอบกู้ราชอาณาจักรโดยมีศูนย์กลางที่ธนบุรีศรีมหาสมุทรฝั่งบางกอก ต่อมาค่อยขยายและเกิดวังพระมหาอุปราชที่ฝั่งเมืองสุพพวัณชาตเดิม

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงต้องทำศึกและแก้ไขปัญหาความอดอยากและการปล้นชิงแต่ทรงพยายามสืบต่อสมณวงศ์ที่เกือบสูญไปพร้อมๆ กันด้วย ด้านการศึกครั้งใหญ่คือการรับศึกอแซหวุ่นกี้ ด้านเศรษฐกิจคือการฟื้นฟูท่ามกลางการค้าในภูมิภาคที่ถดถอย ส่วนด้านศาสนาคือการสืบทอดพระธรรมและวิปัสสนาธุระที่ถูกต้อง พระองค์ทรงเคยศึกษากรรมฐานแนววิสุทธิมรรคตั้งแต่ก่อนเสียกรุง สมัยเป็นสามเณรทรงประจำที่วัดสามพิหารซึ่งเป็นวัดอรัญวาสีที่สร้างในสมัยพระบรมราชา

การที่ทรงเลื่อมใสสมถวิปัสสนาและอาจใกล้ชิดราชสำนักมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทำให้สายวัดประดู่ของคณะอรัญวาสีเดิมกลับมาเป็นหลัก พระองค์เองทรงเจริญอานาปานสติถึงฌาน อย่างไรก็ตาม เมื่อผลัดเปลี่ยนแผ่นดินสำนักหลักคงสิ้นสุดและกระจัดกระจายกันไป เค้าลางมีที่วัดหนองโพ วัดประดู่ทรงธรรม (บริเวณวัดโรงธรรมเดิม) และวัดน้อยทองอยู่ (ภายหลังร้าง)

ส่วนเจ้าฟ้าอุทุมพรมหาเถระทรงถูกพระเจ้ามังระให้สละสมณเพศแต่จากนั้นพระองค์ทรงผนวชอีกและมีสำนักที่กรุงอังวะ ทรงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2339 โดยมีการถวายพระเพลิงพระศพที่บริเวณริมทะเลสาบตาวตะมานใกล้กรุงอมรปุระ

สายนี้จึงขาดร่องรอยให้ติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image