บทนำ : ภารกิจท้าทาย

บทนำ : ภารกิจท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำความตั้งใจว่า ปี 2565 จะแก้หนี้ภาคครัวเรือนให้สำเร็จให้ได้ โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ดำเนินการแก้ไข 8 กลุ่มหนี้ และปรากฏความคืบหน้า โดยเห็นว่าหนี้ภาคครัวเรือนมีความสำคัญ และรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหานี้เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน

ความคืบหน้าดังกล่าว นายธนกรอธิบายเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ เช่น ให้ชำระหนี้คืนจาก “รายปี” เป็น “รายเดือน” เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย “เท่ากันทุกเดือน” ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี การเริ่มชำระหนี้ให้ผูกกับ “การมีงานทำ” เป็นต้น 2.กำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ 3.การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น 4.การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะครูและตำรวจ อาทิ การยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น

5.การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ เช่น กระทรวงการคลังปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน นอกจากนี้ยังมีมาตรการการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) 6.การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีการจัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็น platform กลางในการแก้ไขปัญหา 7.การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. และ 8.การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน

ความตั้งใจแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าจะช่วยกันสนับสนุน เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีจำนวนมาก นอกจากจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หนี้สินภาคครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ง่ายนัก เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเอง ภาวะข้าวของแพงที่ทำให้ต้องใช้จ่ายมากขึ้น การหารายได้ไม่ได้เพราะติดขัดจากภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดที่เป็นอยู่ ดังนั้น ความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้จึงต้องใช้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน ทั้งการช่วยปลดเปลื้องภาระหนี้ และการป้องกันมิให้ก่อหนี้ใหม่ ภารกิจที่รัฐบาลประกาศแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในปีนี้จึงท้าทาย และหากทำได้สำเร็จถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่ฝากไว้ก่อนจะสิ้นวาระในปี 2566

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image