โคทม อารียา : ประโยชน์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมได้ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรมาสามวันเศษแล้ว ผมได้ความรู้จากข้อมูล, เหตุผล, และความเห็นที่รอบด้านขึ้น แต่อดหดหู่ใจไม่ได้ โดยรวมแล้วผมว่าการอภิปรายดังกล่าวมีประโยชน์มาก แต่การอภิปรายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารราชการในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนได้ฟังอย่างตั้งใจและนำมาไตร่ตรองด้วยภูมิปัญญาของตนเองมากน้อยเพียงใด ที่บอกว่าหดหู่ใจ เพราะรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่รวมทั้งผมเอง มีตัวกรองที่กรองส่วนที่ไม่เห็นด้วยออกไปและได้ยินเฉพาะส่วนที่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนได้เชื่อไว้ก่อนแล้ว ทำให้คิดถึงกาลามสูตรข้อที่ 8 และข้อที่ 9 ซึ่งขอยกมาเตือนใจดังนี้

8. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีหรือทิฏฐิของตนหรือตามอคติในใจ

9. อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรือเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือเพราะเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ผมได้เรียนรู้จากการฟังรองประธานสภาผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านมุ่งเน้นการกล่าวหารัฐมนตรี จึงเสนอแต่ข้อมูลด้านลบของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายให้ตรงประเด็นมากที่สุด โดยไม่ควรอภิปรายแบบเลียบค่ายหรือไปวิจารณ์องค์กรอื่น ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านไม่ต้องแสดงความชื่นชมการทำงานของรัฐมนตรีแต่ประการใด ผมจึงแปลกใจที่มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่งลุกขึ้นมาแสดงความเห็นว่า อยากให้ชมกันบ้าง รัฐมนตรีทำเรื่องดี ๆ มากมาย ทำไมไม่พูดถึงบ้าง เลยนึกว่า คนแต่ละคนมีผลงานทั้งบวกและลบ คนที่มองเขาอาจเห็นด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่งเป็นธรรมดา ดังกลอนแปดที่ว่า

Advertisement

สองคนยลตามช่อง

คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม

คนหนึ่งตาแหลมคม

Advertisement

มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว

แต่ในการอภิปรายคราวนี้ ตาของผมคงไม่แหลมคมนัก เพราะมองเห็นโคลนตมมากกว่าเห็นดวงดาว เพราะข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปราย มีตัวเลข มีข้ออ้างอิงและรายละเอียดที่น่าเชื่อถือมากกว่าคำอธิบายและข้อมูลที่รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายหลายคนนำมาหักล้างคำกล่าวหาของฝ่ายค้าน กระนั้น ควรตั้งใจฟังรัฐมนตรีให้มากไว้

การใช้เพาเวอร์พอยต์และคลิปวิดีโอประกอบการอภิปรายช่วยให้เข้าใจประเด็นและติดตามการอภิปรายได้ดีขึ้น ผมได้เรียนรู้จากคำกล่าวของรองประธานสภาผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมว่า ประธานไม่มีหน้าที่ตรวจข้อความในเอกสารหรือสื่อที่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลนำมาเสนอในที่ประชุม โดยผู้นำเสนอจะต้องรับผิดชอบเองถ้าจะมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น กระนั้นก็ดี เมื่อฝ่ายค้านคนหนึ่งกล่าวว่าได้ขออนุญาตคณะกรรมาธิการ ปปช. ว่าจะนำข้อมูลของคณะกรรมาธิการ ปปช. มาเปิดเผยในที่ประชุม ได้มี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่ง ลุกขึ้นประท้วงต่อประธานว่า ผู้อภิปรายมีลายลักษณ์อักษรว่าได้รับอนุญาตจากคณะกรรมาธิการหรือเปล่า ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการหรือเปล่า และสภาได้อนุญาตให้เปิดเผยรายงานดังกล่าวหรือไม่ ยังดีที่ประธานในที่ประชุมยืนยันว่าไม่จำเป็นและอนุญาตให้ฝ่ายค้านอภิปรายต่อได้ การลุกขึ้นประท้วงกันหลายคนจึงเพลาลง อย่างไรก็ดี ประธานได้เตือนผู้อภิปรายให้อยู่ในประเด็นหลายครั้ง แต่ผู้อภิปรายได้เขียนสคริปต์มาอย่างละเอียด แม้ถูกเตือนก็ยังขอว่า “นิดเดียวครับท่านประธาน” แล้วไม่ตัดหรือข้ามส่วนที่อาจอยู่นอกประเด็นออกไป ทำให้ผู้ฟังเสียความรู้สึกไปบ้าง

รัฐมนตรีบางคนคงเดาข้อสอบได้ เลยเตรียมคำตอบและข้อมูลมาตอบคำถามของฝ่ายค้านได้ดี แม้จะไม่ครบถ้วน แต่อย่างน้อยมีสองรายที่ขอเวลาไปรวบรวมข้อมูลเพื่อมาตอบในวันถัดไป แต่คำตอบยังไม่ชัดเจนอยู่ดี มีการแบ่งรับแบ่งสู้ว่าทราบปัญหาแล้ว บางเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลจึงไม่อยากก้าวล่วง บางเรื่องกำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่ในส่วนที่ส่อทุจริต ดูเหมือนจะไม่สามารถเคลียร์ข้อกังขาได้ ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะดำเนินการสืบสวนต่อจากที่ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อกล่าวหาไว้ในหลายกรณี โดยเฉพาะในกรณีของรัฐมนตรีสอง-สามคนที่ตอบไม่ชัดเจน ถ้ามีหลักฐานพอเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ก็ต้องทำตามคำมั่นที่ว่าจะปราบปรามการทุจริตโดยไม่ละเว้น และปลดรัฐมนตรีที่เชื่อว่าไม่ขาวสะอาดออกจากตำแหน่ง โดยไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่

เรื่องแรกที่ผมคิดว่ามีการกล่าวหาที่หนักหนาสาหัสคือเรื่องของความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการดำเนินการของการเคหะแห่งชาติ ข้อกล่าวหามีอาทิ การบริหารงานโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ไม่สามารถจัดที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพแก่ผู้มีรายได้น้อย การให้บริษัทในเครือ (บริษัท CEMCO) รับงานถมดินพื้นที่ในโครงการการเคหะฯอย่างมีพิรุธ เพราะมีการซอยโครงการถมดินเพื่อให้ผู้ว่าการการเคหะฯสามารถอนุมัติได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท อีกทั้งการถมดินไม่สอดคล้องกับจังหวะเวลาการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญคือการตั้งบริษัทในเครือขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งซึ่งน่าจะซ้ำซ้อนกับบริษัท (CEMCO) เดิม และมีการออกข้อบังคับให้บริษัทใหม่สามารถกู้เงินโดยให้การเคหะฯเป็นผู้ค้ำประกันได้

เรื่องที่สองที่ขอกล่าวถึงคือเรื่องของการผลิตพลังงานไฟฟ้า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการทุจริต แต่เป็นการกล่าวหาว่ามีการบริหารงานที่ผิดพลาดและมีการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินควร สาเหตุมาจากการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ผิดพลาดทำให้มีการคาดการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงเกินจริง กล่าวคือมีการสำรองกำลังการผลิตสูงกว่าการใช้กำลังไฟฟ้าที่ใช้จริงประมาณ 50 % (รัฐมนตรีกล่าวว่าสูงกว่าการใช้จริงประมาณ 35%) ผลที่ตามมาคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องจ่ายเงินค่าประกันกำไรให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามกำลังการผลิตซึ่งสูงกว่าการผลิตจริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง กรณีโรงงานไฟฟ้าเอกชนโรงใดไม่ผลิตไฟฟ้าเนื่องจากถ้าผลิตก็จะเกินจำเป็น โรงงานนั้นก็ยังได้รับเงินค่าประกันกำไรอยู่ดี มีผลทำให้การคำนวณค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจึงสูงเกินจำเป็นไปด้วย

เรื่องที่สามเกี่ยวกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการดักฟังทางโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่า spyware มีซอฟต์แวร์โด่งดังชื่อ Pegasus ที่พัฒนาโดยบริษัทแห่งหนึ่งของอิสราเอล มีเงื่อนไขว่าจะขายให้เฉพาะรัฐบาลเพื่อใช้ในการป้องกันการก่อการร้ายหรือเพื่อการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น แต่อาจมีการใช้นอกเงื่อนไขดังกล่าวได้บ้าง สำหรับประเทศไทย มีการซื้อซอฟต์แวร์ชื่ออื่น ๆ มาใช้งาน โดยมีหลักฐานการจัดซื้อที่ฝ่ายค้านนำมาแสดง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลักฐานว่ามีการใช้โปรแกรมสอดแนมเพื่อดักฟังนักกิจกรรมและนักวิชาการบางคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมตอบว่า ข้อมูลของฝ่ายค้านมาจากการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้โทรศัพท์ปรับปรุงการป้องกันการสอดแนม ซึ่งมีการแจ้งเตือนเช่นนี้ในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่มีนโยบายใช้ spyware ที่ไปกระทบต่อประชาชนทั่วไป ตอนแรกผมก็ไม่สะกิดใจ แต่รัฐมนตรีลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งที่สองโดยใช้วลีเดิมว่า “ไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไป” เท่ากับเปิดช่องให้ใช้แก่ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเจาะจงได้หรือไม่ นอกจากนี้ รัฐมนตรียังอธิบายว่า หน่วยงานที่เรียกกันว่าหน่วยปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO (Information Operation) นั้น มีไว้เพื่อชี้แจงข่าวปลอม ข่าวที่ทำให้เข้าใจผิดและมีผลกระทบในวงกว้าง

เรื่องที่สี่ที่จะขอยกมาเล่าคือกรณีห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรักชั่น ซึ่งเดิมรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของ และได้โอนหุ้น 80 % ให้ลูกน้องคนสนิทและย้ายสำนักงานออกจากบ้านพักของตนเองก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน ภายหลังจากเข้าดำรงตำแหน่ง บริษัทดังกล่าวได้รับงานก่อสร้างจากกระทรวงเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาท รัฐมนตรีชี้แจงต่อสภาว่า มีหลักฐานการขายหุ้นให้เพื่อนเป็นเงิน 119 ล้านบาท ส่วนการรับงานจากกระทรวงของบริษัทดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นใหม่ไม่เกี่ยวกับตน อย่างไรก็ดี มีข้อกังขาว่า เงิน 119 ล้านบาทไม่ปรากฏในการเคลื่อนไหวของบัญชีทรัพย์สินที่รัฐมนตรียื่นต่อ ปปช. และไม่ปรากฏว่าลูกน้องคนสนิทได้แสดงว่าได้ตนได้รับเงิน 119 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินที่ต้องเสียภาษีรายได้หรือไม่ เรื่องนี้จะถือว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ก็น่าจะมีการสืบสวนต่อไป

เรื่องที่ห้าเกี่ยวกับอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนหนึ่งที่มีเรื่องหย่าร้างกับภรรยา เพราะ “มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว และยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา” ข้อกล่าวหาคือการผิดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง แต่ผมมีข้อสังเกตเพียงว่า ทำไมรัฐมนตรีจึงกล่าวว่าไม่มีปัญหาและข้อกล่าวหาเป็นเท็จ และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาที่ทำให้ตนเสียหาย

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรงนั้น มีการอภิปรายที่ดุเดือดว่ากองทัพบกมีโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการก่อน คือให้ผู้รับเหมาลงมือก่อสร้างก่อนที่จะมีการประมูลและการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งทำไปพอเป็นพิธี ในเรื่องนี้ มีการชี้แจงว่า อาจเป็นโครงการที่ไม่รัฐไม่ต้องออกเงิน คือบริษัทก่อสร้างทำงานก่อสร้างให้ฟรี แต่ข้อสังเกตของผมคือว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงโกรธมาก บอกว่าทราบว่าผู้อภิปรายไปเคลื่อนไหวนอกสภาอยู่เสมอ ในบางเรื่องที่หมิ่นเหม่ ยอมรับไม่ได้ และอาจถูกดำเนินคดี นี่เป็นการขู่ใช่หรือไม่

ผมได้ทราบข่าวว่ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever ASF) มานานนับปีแล้วจากการบอกเล่าของสัตวแพทย์ที่เตือนให้ทำหมูให้สุกดีก่อนบริโภค (อันที่จริง โรคดังกล่าวไม่น่าจะเรียกว่าเป็นอหิวาต์ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ ASF เกิดจากไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในหมู โดยไม่ติดต่อจากระหว่างสัตว์กับคน) แต่ทางราชการปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีโรคระบาดดังกล่าว แต่พอจำนนต่อหลักฐานก็ยอมรับว่ามีการระบาดจริง และกำลังรักษาและป้องกันอยู่ จากนั้นก็ประกาศว่าประเทศได้ปลอดจากโรค ASF แล้ว การมีนโยบายที่ไม่รับความจริงเช่นนี้มีข้ออ้างว่าเพราะไม่ต้องการให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก และเพื่อคุ้มครองผู้เลี้ยงหมูที่จะได้รับผลกระทบถ้าเกิดการตื่นตระหนกขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวมีผลกระทบที่สำคัญคือ 1) ยังมีการนำเนื้อหมูที่ตายเพราะโรค ASF มาขาย ดังหลักฐานที่ผู้อภิปรายนำตัวอย่างเนื้อหมูในตลาดไปตรวจว่าติดโรคจริงในห้องปฏิบัติการวิจัย 2) เมื่อเนื้อหมูเริ่มขาดแคลน ราคาของเนื้อหมูก็เพิ่มขึ้นตามกลไกตลาดจากประมาณ 150 บาทต่อกิโลกรัม มาเป็นกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน คือผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายปกปิดความจริงของรัฐบาล 3) ส่วนแบ่งตลาดของผู้เลี้ยงหมูได้เปลี่ยนไป ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ที่มีระบบสุขาภิบาลที่ดีในการเลี้ยงหมูได้ขยายส่วนแบ่งไปเป็นประมาณ 75 % ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยก็เลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้เลี้ยงระดับกลางก็มีส่วนแบ่งตลาดลดลง หากผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดก็จะสามารถกำหนดราคาของเนื้อหมูเพื่อประโยชน์ของตนได้ ขณะที่เขียนบทความ ผมยังไม่ทราบว่ารัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจะมีคำอธิบายหรือคำโต้แย้งอย่างไร

การอภิปรายเกี่ยวกับตำรวจมีข้อมูลใหม่ที่ผมไม่ทราบมาก่อน เช่น การย้ายตำรวจจำนวน 509 คน จากสังกัดเดิมไปเป็น “ตำรวจราบ” โดยก่อนหน้านี้ตำรวจจำนวน 97 คนปฏิเสธการเป็นตำรวจราบ จึงถูกลงโทษ หรือที่เรียกว่า “การธำรงวินัย” โศกนาฏกรรมคือในบรรดาตำรวจราบ 509 คน มีคนหนึ่งที่มีหนังสือขออโหสิกรรมก่อนที่จะฆ่าตัวตาย เรื่องอื้อฉาวอีกเรื่องหนึ่งคือกรณี พล.ต.ต. ชื่อย่อ ก. ที่ในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจได้ก่อหนี้เกินงบประมาณที่หน่วยงานได้รับ เมื่อเจ้าหนี้บังคับการใช้หนี้ รัฐบาลต้องเอางบกลางมาใช้หนี้ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่สามารถ “ไล่เบี้ย” ให้ พล.ต.ต. ก.ยอมรับสภาพหนี้ที่ตนก่อได้ อีกเรื่องหนึ่งคือนายตำรวจคนนี้ได้นำอะไหล่เครื่องบินจำนวนมากไปแลกกับใบพัดเฮลิคอปเตอร์จำนวนสองใบพัด ทำให้กองบินตำรวจเสียเปรียบเป็นอันมาก หลังจากนั้น เมื่อนายตำรวจ คนนี้พ้นจากตำแหน่งไปอยู่หน่วยงานอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบินแล้ว แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังแต่งตั้งให้สามารถสั่งการกองบินตำรวจได้อีก เรื่องนี้ผมยังไม่มีโอกาสรับทราบคำอธิบายหรือข้อโต้แย้งในขณะที่เขียนบทความนี้

ผมใจหายใจคว่ำเมื่อ ส.ส. พรรคก้าวไกลคนหนึ่งอภิปรายถึงการดำเนินคดีแก่ผู้เห็นต่างจำนวนประมาณ 200 คนโดยใช้มาตรา 112 ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพียงแต่สงสัยว่าทำไมถึงมีผู้เคลื่อนไหวจนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 จำนวนมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งชวนให้สงสัยว่ามีขบวนการที่ไม่หวังดีหรือเปล่า นายกรัฐมนตรีอ้างว่าทุกคนรวมทั้งตนเองย่อมมีสิทธิมนุษยชนด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนต้องรับผิดชอบ เรื่องของกฎหมายก็ต้องว่ากันไป หลายเรื่องอธิบายไปแล้วก็ถามแล้วถามอีก น่าจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์จะดีกว่า

เรื่องราวที่อภิปรายกันมีมากหลายภายในสามวันครึ่งที่ผมฟังอยู่จนไม่สามารถนำเสนอเรื่องราวให้ครบถ้วนได้ และผมไม่สามารถสรุปหรือชี้แนะว่าควรเชื่อฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านดี เพียงแต่รู้สึกว่า เป็นธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีจะมีทั้งคนรักและคนชัง แต่คนที่รักก็ไม่น่าจะถึงกับหลง คนที่ชังก็ไม่น่าจะถึงกับเกลียด เพราะความคิด-ความรู้สึกนั้นมีให้เลือกได้มากกว่าสองทางเสมอ แต่ในทางการเมือง ส.ส. มักเลือกลงคะแนนตามมติของพรรคเป็นธรรมดา เพียงแต่หวังว่าถ้ารัฐมนตรีคนใดไม่ไหวจริง ๆ ก็ไม่น่าจะไว้วางใจมิใช่หรือ

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image