เพื่อนรักต่างศาสนาในชายแดนใต้

ผมไม่ได้เดินทางไปจังหวัดชายแดนใต้มากว่าสองปีแล้ว เพราะโครงการที่ทำได้หยุดไป และมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ได้ฤกษ์แล้วที่จะเดินทางไปพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่อยู่บนเส้นทางกิจกรรมสันติภาพอีกครั้งหนึ่ง ราวเที่ยงคืนวันที่ 16 ที่ปัตตานี ได้รับข้อความจากเพื่อนคนหนึ่งที่โพสต์ว่ามีการเผาร้านสะดวกซื้อ วันรุ่งขึ้นผมไปประชุมที่นราธิวาส เพื่อสรุปและประเมินผลของโครงการ “เพื่อนรักต่างศาสนา” จึงได้ทราบว่ามีการเผาร้านสะดวกซื้อจำนวน 10 แห่งในจังหวัดนราธิวาส ข่าวแรกบอกว่าไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีผู้ถูกเพลิงเผาไหม้เกรียม 1 ราย ใกล้ทางออกประตูหลังของร้านสะดวกซื้อ นับเป็นข่าวที่น่าสลดใจ และมีรายงานข่าวว่า ที่ยะลามีเหตุการณ์ความรุนแรง 6 จุด ที่ปัตตานี 2 จุด รวม 18 จุด ข่าวที่น่าเป็นห่วงคือการก่อเหตุที่ปั๊มนำมันบางจาก อำเภอหนองจิก ที่คนร้ายวางระเบิดรถบรรทุกน้ำมันที่จอดอยู่ในปั๊มจนไฟลุกลามเสียหายทั้งปั๊ม ส่วนอีกจุดหนึ่งมีการวางระเบิดปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่อำเภอ มายอ แต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน การวางระเบิดที่ปั๊มน้ำมันเป็นเรื่องใหญ่เพราะอาจมีผลเป็นการทำลายทรัพย์สินในวงกว้างได้มากกว่าการเผาร้านสะดวกซื้อ การก่อเหตุพร้อมกันหลายจุดเช่นนี้ ไม่ได้มุ่งต่อชีวิตแต่ต้องการแสดงแสนยานุภาพหรือส่งสัญญาณบางอย่างไปยังสังคมและผู้มีอำนาจหน้าที่

ผมได้มีโอกาสทำงานด้านสันติภาพในชายแดนใต้ ภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2548 เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันฯได้จัดทำโครงการในนามกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) มาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิส โครงการถักทอสันติภาพเน้นการเปิดพื้นที่การสื่อสารระหว่างชาวพุทธ โดยมีชาวมุสลิมเข้าร่วมในบางครั้ง ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยในสังคม

หนึ่งในโครงการย่อยของโครงการถักทอสันติภาพ คือการถักทอความสัมพันธ์ผ่านการทำงานในมิติสุขภาวะโดยมี พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการย่อย พัทธ์ธีรามีความเห็นว่า มิติสุขภาวะเป็นมิติที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งมุสลิมและชาวพุทธไม่มีความลำบากใจที่จะเข้าร่วม โครงการย่อยนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2561 และยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ที่ขับเคลื่อนโครงการนี้ในพื้นที่ได้แก่ผู้นำศาสนาที่สนใจการทำงานเพื่อสังคม และบุคลากรสาธารณสุขผู้เห็นความทุกข์ทางกายและทางใจของคนในสังคมที่มีความรุนแรง

สังคมชายแดนใต้มีความขัดแย้งทางการเมืองที่มีพื้นฐานบนความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ คือประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายูและถือศาสนาอิสลาม (เป็นมลายูมุสลิม) และส่วนน้อยมีเชื้อสายไทย-จีนและถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่น (เรียกรวม ๆ ว่าเป็นไทยพุทธ) ชาวมลายูมุสลิมเคารพนับถือผู้นำศาสนาอิสลาม ได้แก่อิหม่ามประจำมัสยิด บาบอประจำปอเนาะ (สถานศึกษาศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิม) อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) เป็นต้น ส่วนชาวไทยพุทธเคารพนับถือพระสงฆ์เป็นสำคัญ การถักทอความสัมพันธ์จึงต้องทำทั้งภายในชุมชนของตน และข้ามขีดแบ่งระหว่างชุมชนมลายูมุสลิมและชุมชนไทยพุทธด้วย

Advertisement

การข้ามขีดแบ่งระหว่างชุมชนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อมีความรุนแรงร้าวฉานมากว่า 18 ปีแล้ว ลำพังผู้นำอิสลามคนหนึ่งจะมาผูกสัมพันธ์ที่ห่างเหินขึ้นมาใหม่ (เกิดการคืนดีกัน – Reconciliation) กับชุมชนไทยพุทธ หรือลำพังพระสงฆ์รูปหนึ่งจะข้ามขีดแบ่งมาคืนดีกับชุมชนมลายูมุสลิมนั้น เป็นเรื่องยาก (ทั้งนี้ ย่อมมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับบาบอไม่กี่คนหรือพระสงฆ์ไม่กี่รูปที่สามารถคงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาแต่เดิมไว้ได้โดยตลอด)

แต่เราอาจเกิดแรงบันดาลใจให้ทำงานที่ยากนี้จากการรับรู้ประสบการณ์จากที่อื่น ๆ เรื่องเล่าในกรณีเช่นนี้เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศไนจีเรีย ซึ่งพลเมืองมีหลากหลายชาติพันธุ์และมีผู้นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์โปรเตสแตนต์จำนวนพอ ๆ กัน การสู้รบกับระหว่างชุมชนหรือระหว่างชุมชนหนึ่งกับฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งและอย่างยืดเยื้อ ครั้งหนึ่งเกิดการสู้รบระหว่างชุมชนโดยคนหนุ่มสาวของแต่ละฝ่ายเป็นกำลังแรงใน “การปกป้องชุมชน” ของตน ซึ่งเป็นคำกล่าวที่อธิบายว่าจำเป็นต้องโจมตีชุมชนอีกฝ่ายหนึ่งด้วย แน่นอนว่าผู้นำศาสนา ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงอีหม่ามฝ่ายหนึ่งและปาสเตอร์อีกฝ่ายหนึ่ง ก็เข้าร่วมในการสู้รบ

มีหนังสารคดีเรื่องหนึ่งชื่อ “อีหม่ามกับปาสเตอร์” ที่เล่าเรื่องว่า อีหม่ามชื่อ มูฮัมหมัด อาชาฟา และปาสเตอร์หรือศิษยาภิบาลในศาสนาคริสต์ ชื่อ เจมส์ ยูเว เคยเผชิญหน้าในการรบราฆ่าฟันระหว่างมุสลิมและชาวคริสต์ในไนจีเรียมาอย่างโชกโชน แต่ได้ยั้งคิดว่า “เราเกิดมาไม่ใช่เพื่อฆ่าฟันกัน” และหลักศาสนาสอนให้เราเคารพกันในความเป็นมนุษย์และเป็นเพื่อนร่วมโลก ทั้งสองคนจึงปฏิเสธการเป็นผู้นำในการสู้รบและหันมาคิดในเรื่องสันติภาพ ทั้งสองเริ่มต้นด้วยการไปเยี่ยมเยียน ไปมาหาสู่กัน พูดคุยกันบ่อยครั้งด้วยความใส่ใจ เกิดความเข้าใจกัน จนในที่สุดได้กลายมาเป็นเพื่อนรักต่างศาสนาที่ทำงานเคียงคู่กันไปในที่ต่าง ๆ ข้ามขีดแบ่งระหว่างชุมชนที่แตกแยก แสดงตัวอย่างว่าการคืนดีเป็นไปได้ ปัญหาต่าง ๆ สามารถแก้ไขได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง จากศัตรูมาเป็นมิตร จากการใช้ความรุนแรงมาเป็นสันติวิธี การแปลงเปลี่ยนเช่นนี้ค่อย ๆ ขยายไปสู่การเปลี่ยนใจของกลุ่ม ขบวนการและแนวร่วมที่เคยใช้ความรุนแรงในไนจีเรียให้หันมาเห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสร้างมิตรภาพและการคืนดี

Advertisement

โครงการสุขภาวะเพื่อสันติภาพยังคงจับประเด็นเรื่องสุขภาพเหมือนเดิม แต่เห็นว่าควรเน้นผู้กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในกรณีนี้คืออีหม่าม (หรือบาบอ) กับพระสงฆ์ ส่วนวิธีการนั้นจะอาศัยข้อคิดของนักสันติวิธีคนสำคัญชื่อ จอห์น พอล เลเดอรัค ที่เสนอให้ใช้วิธีการ “ใยแมงมุม” นี่คือที่มาทางความคิดของโครงการ “เพื่อนรักต่างศาสนา”

แมงมุมเมื่อชักใยจะเริ่มจากเส้นใยเส้นหนึ่งก่อน อุปมาเหมือนการสร้างมิตรภาพระหว่างผู้นำต่างศาสนาคู่หนึ่ง จากนั้นก็เพิ่มเส้นใยอีกหลาย ๆ เส้น ที่ผูกกันอยู่ตรงกลาง จุดตรงกลางอุปมาเหมือนเป็นความมุ่งหมายร่วมที่จะสร้าง “สุขภาพ-สันติภาพ” ใยแมงมุมที่สร้างถึงตอนนี้มองดูเป็นเส้นรัศมีที่แผ่ออกจากจุดกลาง แมงมุมจะสร้างความแข็งแรงแบบหยุ่นตัว (resilient) โดยถักทอเส้นใยเป็นวงกลมหลาย ๆ วงที่มีจุดตรงกลางเป็นศูนย์กลาง แต่ละวงจะต่อเป็นปมติดกับเส้นรัศมี คราวนี้ก็จะได้ผืนใยแมงมุมที่ใช้งานได้ คือทนแรงกระแทกต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น หากแรงกระแทกใดมีความแรงมากจนเส้นใยขาดกระจุย แมงมุมก็จะซ่อมแซมความเสียหายจนกลับมาเป็นผืนใยแมงมุมที่ใช้ได้ใหม่ อุปมาว่าเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงมากระทบสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพจนบางสายขาดสะบั้นลง ซึ่งคงเกิดขึ้นได้หลายครั้งในสังคมที่มีความรุนแรงสูง สังคมจึงต้องสร้างความหยุ่นตัว คือการมาคุยปรับความเข้าใจโดยยังเชื่อในความเป็นเพื่อนและการฟื้นคืนดีกัน

พัทธ์ธีราและคณะได้ดำเนินโครงการเพื่อนรักต่างศาสนา โดยมีขั้นตอนพอสรุปได้ดังนี้

1) ตั้งทีมงาน เข้าพบบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในปัตตานี นราธิวาส ยะลา เยี่ยมเยียนชุมชน รวมถึง อสม. พุทธและมุสลิม เพื่อแนะนำตัว ชวนร่วมกิจกรรม ฯลฯ จำนวน 38 แห่งใน 6 เดือนแรก (ที่ปัตตานี 18 แห่ง, ยะลา 5 แห่ง, นราธิวาส 9 แห่ง, สงขลา 2 แห่ง, สตูล 3 แห่ง, ตรัง 1 แห่ง)

2) ตั้งไลน์กลุ่มเพื่อการสื่อสารภายในโครงการ จัดประชุมออนไลน์

3) บันทึกข้อมูลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

4) เยี่ยมเยียนระหว่างศาสนาโดยชุมชนทำเอง จัดกิจกรรมเรียบง่าย เช่น การเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง, ผู้สูงอายุติดบ้าน ประมาณ 35 ราย

5) สื่อสารสาธารณะโดย จัด FB live 14 ครั้ง (สัปดาห์ละ 1 ครั้ง) มีวิทยากร 54 คน, ใช้สื่อท้องถิ่น, จัดพิมพ์หนังสือ 7 เล่มเพื่อเผยแพร่แนวคิดและการดำเนินงาน, ผลิตคลิปความยาวประมาณ 5 นาที จำนวน 3 คลิป โดย มหิดลแชนนัล

6) ชุมชนถอดบทเรียนกันเอง โดยทีมงานเข้าไปร่วม ที่อำเภอยุโป อำเภอเจาะไอร้อง ฯลฯ

7) ศึกษาดูงาน ที่จังหวัดสงขลา ตรัง สตูล, ปั่นจักรยานเพื่อไปเยี่ยมเยียนมัสยิด 2 แห่ง และวัด 6 แห่ง ที่อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี

8) สานเสวนาแบบประชาธิปไตยเชิงลึก โดยใช้ “จิตวิทยางานกระบวนการ” (Process Work) เพื่อลงลึกในความสัมพันธ์

9) จัดเวทีสาธารณะ (กำลังดำเนินการ)

จากผลการดำเนินโครงการ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำศาสนาอิสลามและผู้นำศาสนาพุทธในพื้นที่เป้าหมายเริ่มแน่นแฟ้นขึ้น จนพอจะกล่าวได้ว่ามีเพื่อนรักต่างศาสนาหลายรูป/คนอยู่ที่ อ. ยะหริ่ง ปัตตานี, อ. ปานาเระ ปัตตานี, อ. ยุโป ยะลา, อ. เมือง นราธิวาส, อ. เมือง ตรัง, และ อ. เมือง สตูล

นอกจากจะใช้การสานเสวนาแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” แล้ว โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา โดย ชาญชัย ชัยสุโกศล ได้ริเริ่มที่จะนำมาใช้ซึ่งวิธีดำเนินการประชุมที่เรียกว่า “จิตวิทยากระบวนการ” ที่อาร์โนลด์ มินเดลล์ เป็นผู้พัฒนาขึ้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การพูดคุยอยู่แต่ในระดับผิวเผิน เออ-ออ หากสามารถลงสู่ระดับความรู้สึกในส่วนลึก สู่ความชอกช้ำใจที่ซ่อนอยู่ บาดแผลทางใจหลังการประสบเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างแรง ฯลฯ จิตวิทยางานกระบวนการจะไม่ห้ามการ “ระเบิด” อารมณ์ความรู้สึกในระหว่างการพูดคุย ตลอดจนการพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหว เรื่องที่ไม่อยากพูดหรือที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ทั้งนี้เพื่อให้เข้าถึง “ความจริง” ในสามระดับคือ 1) ความจริงเห็นพ้อง เช่น กฎหมาย, โครงสร้าง, นโยบาย, พฤติกรรม 2) ความจริงเหมือนฝัน เช่น ความจริงที่พูดไม่ได้. อคติที่มิอาจกล่าว, ความเชื่อที่ไม่ถูกตั้งคำถาม, สมมุติฐานที่ไม่ตระหนักรู้ 3) ความจริงแก่นแท้ เช่น ความเป็นธรรม. ศักดิ์ศรี, ความไว้วางใจ, ความปลอดภัย, ความรับผิดชอบ, สันติภาพ

โครงการเพื่อนรักต่างศาสนาได้เริ่มด้วยประเด็นสุขภาพ และอาจขยายสู่ประเด็นเย็นอื่น ๆ เช่น ประเด็นอาชีพ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ แต่ประเด็นร้อนที่เป็นปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประเด็นความมั่นคงและประเด็นการเมือง ในอนาคต เมื่อเครือข่ายเพื่อนรักต่างศาสนาได้ถักทอเป็นผืนใยที่แข็งแรงและหยุ่นตัวพอสมควรแล้ว อาจค่อย ๆ หารือกันในประเด็นที่ยากขึ้นที่อยู่ในใจ รวมถึงการพูดคุยระหว่างผู้เห็นต่างสายเหยี่ยว และในกรณีที่จะมีข้อตกลงให้ผู้เห็นต่างที่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสเข้าร่วมพูดคุยกับคนในพื้นที่ ก็อาจใช้กระบวนการสานเสวนาและจิตวิทยางานกระบวนการในการอำนวยการพูดคุยด้วย

สำหรับอนาคตอันใกล้กว่านั้น โครงการเพื่อนรักต่างศาสนาได้ปรึกษาหารือกันในระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคมที่อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอยุโป และอำเภอปานาเระว่า ต่อไปจะมีการทำงานต่อยอดจากพื้นที่ที่มีเพื่อนรักต่างศาสนาอยู่บ้างแล้ว โครงการที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาได้แก่ การมีศูนย์เพื่อนรักเพื่อสุขภาพ-สันติภาพ ที่นราธิวาส การตั้งชุมชนเพื่อนรักสุขภาพ-สันติภาพ ที่ยุโป และการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมสันติภาพ ที่ปานาเระ

เหตุการณ์รุนแรงในคืนวันที่ 16 ติดต่อถึงวันที่ 17 สิงหาคมได้มีผลกระทบเล็กน้อยต่อการประชุม “เหลียวหลัง-แลหน้า” ของโครงการเพื่อนรักต่างศาสนา เริ่มจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสไม่สามารถมากล่าวเปิดประชุมให้เราได้ แต่ท่านผู้ว่าก็ใจดีมาก โดยแวะมาพูดคุยกับเราในช่วงเวลาอาหารกลางวันก่อนที่เราจะเคลื่อนตัวไปประชุมที่อำเภอยุโป เราเลยมีเวลาเสนอข้อสรุปเชิงนโยบายให้ได้รับทราบ ซึ่งมี 4 ข้อดังนี้

ข้อเสนอ 1 การสถาปนาชุดความรู้และ “จิตวิทยางานกระบวนการ” (Process Work) ซึ่งมีประสิทธิผลในการสร้างการคืนดีและความปรองดองอย่างยั่งยืนและเป็นระบบโดยใช้ฐานคิด “สุขภาวะองค์รวมเพื่อสันติภาพ”

ข้อเสนอ 2 การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคืนดีและความปรองดองในชายแดนใต้ ทั้งในส่วนที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้เสรีภาพในการพูดคุยอย่างเสรีและปลอดภัย และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเคารพในวิถีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมชุมชน

ข้อเสนอ 3 สนับสนุนการสร้างพื้นที่และช่องทางการสื่อสารสันติที่หนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพและความปรองดอง ลดปฏิบัติการสื่อสารที่สร้างความแตกแยกและเข้าใจผิดทั้งในและนอกพื้นที่

ข้อเสนอ 4 ในกรณีที่การพูดคุยสันติสุขที่มาเลเซียมีข้อตกลงตามสารัตถะข้อที่ 2 เรื่องการพูดคุยในพื้นที่ เครือข่ายชุมชนเพื่อนรักต่างศาสนาสามารถให้ความร่วมมือในการจัดเวทีที่มีชาวพุทธและมุสลิมเข้าร่วม โดยเฉพาะการใช้จิตวิทยางานกระบวนการ ( Process Work) ในเวทีดังกล่าว

ขณะที่ผู้ว่ารับฟังการสรุปของทีมงาน ผู้เข้าประชุมคนอื่นก็เม้าท์ว่าใครคือผู้ก่อเหตุเผาร้านสะดวกซื้อ และต้องการส่งสัญญาณ หรือเรียกร้องอะไร บ้างก็อ้างอิง BRN บ้างก็โยงไปถึง PULO แต่ดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุข ฯลฯ ในเย็นวันที่ 17 ทีมงานมีโอกาสพบกับคณะพูดคุย หัวหน้าคณะรีบขึ้นต้นเลยว่า ขณะนี้เร็วไปที่จะออกความเห็นเกี่ยวกับการเผาร้านสะดวกซื้อ เพราะยังขาดหลักฐานที่พอจะอ้างอิงได้ ส่วนแม่ทัพน้อยบอกเราว่า “ผมเป็นนักรบ ผมสนับสนุนการพูดคุยสันติสุข แต่เมื่อมีการละเมิดกฎหมายอย่างอุกอาจ ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย”

ไม่ทราบว่าเหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเผาร้านสะดวกซื้อหรือไม่ นั่นคือมีคนร้ายใช้มีดตัดคอเณรพลาสติก ที่ติดตั้งตรงตู้รับบริจาคของวัดพรหมประสิทธิ์ ซึ่งเจ้าอาวาส พระครูวิศิษฐ์พรหมคุณเคยถูกคุกคาม ทำร้ายมาก่อนหน้านี้แล้ว มาคราวนี้ “เพื่อนรักต่างศาสนา” ของท่านเจ้าอาวาส ได้แก่ อับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และครูธิดา วรรณลักษณ์ พร้อมทีมงาน ได้ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจแก่ท่านเจ้าอาวาสแล้ว

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image