ความสัมพันธ์เวียดนามไทยจากวันนั้นถึงวันนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นผันแปรเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวของในแต่ละยุคแต่ละสมัย

สุดแท้แต่ว่าใคร คณะใดจะมาเป็นผู้นำ และความเป็นไปของการเมืองระหว่างประเทศ

ดังคำพูดที่ว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

โดยเฉพาะในทางการเมืองระหว่างประเทศ

Advertisement

ที่แท้และถาวรกว่าคือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและเอเปคก็เช่นกัน

ในยุคหนึ่งก็เป็นมิตร แล้วกลับมาเป็นศัตรู

Advertisement

แล้วก็ค่อยๆคลายกลายมาเป็นมิตร เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป

ดังเช่นการคลี่คลายของฐานะประเทศในกลุ่มอาเซียนเองที่เมื่อแรกตั้งนั้นก็เพื่อต่อต้านประเทศที่มีแนวโน้มจะสมาทานลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซีย จีน ในระดับโลก และเวียดนาม ลาว อินโดนีเซียในระดับภูมิภาค

ผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในกลุ่มนี้จากทางฝ่ายไทยเองก็คือคนที่ใกล้ชิดกับอเมริกาและมีบทบาทอันยาวนานในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่าง ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ

ที่ครองตำแหน่งยาวนานในรัฐบาลทหารจาก ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึง ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

ทุกวันนี้ประเทศที่ถูกต่อต้านจากการจัดตั้งกลุ่มต้นทางของอาเซียนกลายมาเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในอาเซียนอย่างเวียดนาม

แถมยังเป็นประเทศที่เติบโตเร็วในทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน

พร้อมกันนั้นกลุ่มอาเซียนก็กลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นตลาดการค้าระหว่างกันไม่แพ้ตลาดใดในโลก

ในท่ามกลางการเติบโตของการค้าและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันขึ้นเรื่อยๆในระดับประเทศต่อประเทศ รัฐต่อรัฐนี้

ประชาชนได้อะไรบ้าง?

การขยายตัวของการลงทุนระหว่างกันอย่างรวดเร็วนั้นชาวไร่ชาวนา กรรมกรในโรงงานและแรงงานนอกระบบที่วิ่งขายแรงงานเพื่อต่อลมหายใจได้อะไรบ้าง?

เช่นเดียวแม่ค้าหาบเร่ตามแผง วินมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง คนงานนอกระบบเหล่านี้มีรายได้ดี มีงานมั่นคงพอจะเลี้ยงลูกจนจบการศึกษาหางานทำได้มากน้อยแค่ไหน?

หรือว่าได้กันแค่กำไรและเงินปันผลของบริษัทที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้นทุนต่ำเพื่อหากำไรตอบแทนบริษัทและผู้ถือหุ้นให้สูงขึ้นเท่านั้น?

ถ้าจะพูดถึงความสัมพันธ์ของประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จากมุมมองของประชาชนคนไทย ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม

ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐ และผู้คนทั้งสองประเทศ

จะว่าไปสำหรับความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ไม่แต่เพียงรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้นำสูงสุดด้วย

ตัวอย่างล่าสุดเห็นจะเป็นดังการที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

เหงวียน ฝู จ่อง และ ประธานาธิบดี เหงวียน ซวน ฟุก จะเยือนไทยในการประชุมเอเปคในช่วงกลางเดือนนี้

ท่านทั้งสองได้เคยมาเยือนไทยพร้อมคณะรวมทั้งในคราวที่มาทำข้อตกลงทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2556 แล้ว

อาจกล่าวได้ว่าการเยือนในครั้งนั้นและอีกหลายครั้งต่อมานับเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ยั่งยืนมาแต่บัดนั้น

สำหรับชาวไทยแล้ว เรารู้จักคนญวน เมืองญวน ชาวอันนัม เจ้าอานามก๊ก จนมาถึงพุทธศาสนาอนัมนิกาย มาแต่ไหนแต่ไร

ดังที่รับรู้กันมานานว่าคนไทยกับคนญวนนั้นผูกพันธ์และเป็นซึ่งกันและกันมายาวนาน ไม่ว่าจะโดยสายเลือด ประเพณี ภาษา หรือวัฒนธรรม

เราผูกพันกันเป็นชุมชนญวนตั้งแต่ญวนจันทบูร ญวนสามเสน ญวนบางโพ ญวนนางเลิ้งไปถึงญวนเมืองกาญจน์ อันเป็นที่มาของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้ว

คนรุ่นผมยังเคยนอนเปลยวนและจำเพลงกล่อมเด็กที่ร้องว่า “กวางเอ๊ยกวาง กะย่อห่อกวาง ญวนบางโพมาสวดนะโมไล่กวาง…ญวนบางกะปิกินน้ำกระทิกับข้าวตัง…”

คนไทยจึงเป็นซึ่งกันและกันกับคนญวนตั้งแต่เมืองญวนยังไม่ใช้ชื่อประเทศเวียดนาม

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งสองประเทศจึงมีมายาวนานนับร้อยปี

อย่างน้อยที่สุดก็ไม่น้อยกว่าอายุราชธานีปัจจุบันคือกรุงเทพมหานครฯนี่แหละ

ไม่ใช่เพิ่งมาสัมพันธ์กันเมื่อปี 2519 หรือ 47 ปีมานี้เอง

แถมไม่เคยขัดแย้ง แต่อยู่กันอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวมาตลอด

มาเจ็บเนื้อเจ็บตัวบอบช้ำบ้างก็เมื่อรัฐเปลี่ยนนโยบายไปตามการเมืองระหว่างประเทศหรือคณะผู้นำในระยะสั้นๆไม่ว่าจะเป็นยุคราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย

บัดนี้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศอยู่ในยุคที่นับได้ว่าดีที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา ดังที่เรียกกันว่า “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” นั้น

คำถามจึงมีว่า ความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลในระดับที่ถือได้ว่า “อย่างไม่เคยมีมาก่อน” นี้ ได้ส่งประโยชน์ตกทอดลงไปถึงระดับประชาชนในอัตราเดียวกันหรือไม่?

ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือการศึกษา

ถ้าจะพูดให้จำเพาะเจาะจงลงไป คงต้องตั้งคำถามเอากับรัฐบาลทั้งสองประเทศว่า นอกจากธุรกิจไทยจะไปลงทุนแสวงหากำไรจากค่าแรงราคาถูกและสิทธิพิเศษด้านภาษีอากรตลอดจนตลาดที่กว้างกว่าประเทศไทยแล้ว

ธุรกิจไทยให้อะไรที่ยั่งยืนกับกรรมกรลูกจ้างเวียดนามบ้าง?

การเปิดตลาดแรงงานไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเพิ่งจะมาเปิดให้เวียดนามในภายหลังนั้นกว้างและสะดวกพอที่จะจูงใจให้แรงงานเวียดนามได้งานทำในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับชาติอื่นๆที่มาก่อนแค่ไหน?

สำหรับด้านวัฒนธรรม การศึกษา และภาษานั้น รัฐบาลทั้งสองได้พยายามอย่างเพียงพอหรือยังที่จะให้ทุนการศึกษาแก่กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมต่อกันให้ลึกซึ่งกว่าที่เป็น

ทั้งๆที่เรามีต้นทุนพื้นฐานต่อกันมากกว่าญี่ปุ่นและเกาหลี แต่กลับมีความพยายามที่จะเรียนภาษาทั้งสองมากกว่าจะนึกถึงภาษาเวียดนาม

จะว่าไปไม่ใช่แค่จะหวังให้รัฐบาลไทยให้ทุนกับเวียดนามแต่อย่างเดียวเพราะการศึกษาของเวียดนามไม่ได้น้อยหน้ากว่าไทย

จากการจัดลำดับล่าสุดพบว่า มหาวิทยาลัยที่อยู่ในลำดับคุณภาพสูงกว่ามหาวิทยาลัยดีที่สุดของไทยมีถึงสองมหาวิทยาลัย

นี่ยังไม่ต้องเทียบกับงานบางอย่างเช่นการล่ามภาษาไทยของฝ่ายเวียดนามนั้นเหนือชั้นกว่าฝ่ายไทยที่พูดภาษาเวียดนามมาก

ดังนั้นจึงต้องถามว่าถึงเวลาหรือยังที่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนระหว่างรัฐและรัฐบาลนั้น

จะสะท้อนถ่ายอย่างเป็นรูปธรรมไปสู่ประชาชนของประเทศทั้งสอง

อย่างน้อยก็เพื่อเป็นฐานรากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

กรุงเทพฯ
7 พฤศจิกายน 65

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image