ไทยพบพม่า : พม่ากับการเลือกตั้ง 2023 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ขิ่น ยี (คนกลาง) ภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัว Khim Yi

สัญญาณการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าเริ่มมีให้เห็นกันแล้ว โดยทั่วไปพม่าจะมีการเลือกตั้งกันในช่วงปลายปี ราวเดือนพฤศจิกายน แต่การเลือกตั้งในปีหน้าน่าจะเลื่อนมาจัดกันต้นๆ ปี หรืออย่างน้อยก็ก่อนพฤศจิกายนอย่างแน่นอน พูดกันง่ายๆ คือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารมา ในปัจจุบัน คณะรัฐประหาร (SAC) ประกาศใช้กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกำหนดให้มยิ้น ส่วย (Myint Swe) เป็นประธานาธิบดีเป็นเวลา 2 ปี ธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารยังกำหนดให้มีการเลือกตั้งไม่เกิด 6 เดือนหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหมดอายุ ทำให้การเลือกตั้งในปี 2023 จะมีขึ้นไม่เกินวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบรัฐประหาร 2 ปีกับ 6 เดือนพอดิบพอดี

ไม่ต้องสงสัยว่าเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้มี 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือความพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลของคณะรัฐประหารมาเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือน ที่กองทัพสามารถควบคุมได้แบบเบ็ดเสร็จ ใกล้เคียงกับรัฐบาลเต็ง เส่ง ที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลทหารภายใต้ SPDC และอีกประเด็นหนึ่งคือการถอนรากถอนโคนพรรค NLD อันเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเรียกว่าเป็นอุปสรรคขวากหนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกองทัพพม่า คนในกองทัพเชื่อว่าหากไม่มีพรรค NLD อะไรๆ ก็จะง่ายขึ้น และกองทัพก็จะสามารถสืบทอดอำนาจไปสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ ที่นำโดยพรรคนอมินีของกองทัพอย่าง USDP ได้อย่างราบรื่น

แต่การเมืองในทศวรรษ 2020 ไม่ได้ง่ายเหมือนยุคเมื่อหลายสิบปีก่อนอีกแล้ว กองทัพพม่าและพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเจออุปสรรคขนานใหญ่ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการเมืองพม่ามาก่อน ในปี 1988 เมื่อเกิดการลุกฮือของประชาชนและนิสิตนักศึกษา นายพลเน วิน ซึ่งอยู่ในอำนาจมายาวนาน 26 ปีตัดสินใจลาออก เปิดทางให้คณะปฏิวัติที่นำโดยนายทหารสายฮาร์ดคอร์เข้ามาบริหารต่อ และปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหารที่หลงเหลืออยู่ ส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวภายในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งหลบหนีออกมาเคลื่อนไหวภายนอกประเทศ ขบวนการของกลุ่มคนที่เราเรียกรวมๆ ว่า “88 Generation” นี้ให้แรงบันดาลใจกับคนหนุ่มสาวและผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคต่อๆ มาอย่างมาก อดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 88 หลายคนยังผันตัวไปเป็นนักการเมืองสังกัดพรรค NLD เมื่อพม่าเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยและเมื่อพรรค NLD ของด่อ ออง ซาน ซูจี เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

อิทธิพลของกลุ่มคนจากยุค 88 ยังคงมีอยู่ หลายคนออกมาต่อต้านรัฐประหารอย่างเปิดเผย และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำในปัจจุบัน แต่ในปัจจุบัน การต่อต้านรัฐประหารขยายไปกว้างกว่าขบวนการนักศึกษาในยุค 88 มากมายนัก ขบวนการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐประหารมีหลากหลายกลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐบาลคู่ขนาน NUG กองกำลังพิทักษ์ประชาชนในนาม PDF ยังไม่นับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์นับสิบกลุ่ม ที่ต่างมีวาระเป็นของตนเอง และใช้กำลังต่อต้านกองทัพพม่าแบบ “เต็มคาราเบล” กันอยู่ในปัจจุบัน ที่พูดมาทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นภาพว่าการเมืองพม่านับตั้งแต่วันแรกที่มีรัฐประหารขึ้น จะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป กองทัพก็จะกระชับอำนาจและเลือกระบอบการปกครองที่เขามองว่าเหมาะสมกับพม่ามากที่สุด คล้ายกับ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” ในยุคประธานาธิบดีซูการ์โนในอินโดนีเซีย

Advertisement

การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกขณะบีบให้พรรคการเมืองบางพรรคต้องเริ่มขยับตัวบ้างแล้ว ทั้งพรรค USDP ที่ถูกวางตัวว่าจะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ USDP เพิ่งได้ขิ่น ยี (KhinYi) เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ขิ่น ยี ผู้นี้มีเส้นทางด้านการเมืองสุดเพอร์เฟ็กต์ในสายตาของผู้นำคณะรัฐประหาร นอกจากเขาจะเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรถึง 2 สมัย ทั้งในยุครัฐบาลเต็ง เส่ง ระหว่างปี 2011-2015 และในยุครัฐบาล SAC อีก 1 ปีเต็ม แต่เขายังเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยาวนานถึง 8 ปี และเป็นคนที่มิน อ่อง หล่ายให้ความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ

ด้วยความที่ USDP พ่ายแพ้ย่อยยับให้กับพรรค NLD ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี 2020 พรรคจึงต้องเร่งสร้างฐานะคะแนน และที่สำคัญที่สุดคือสร้างความมั่นใจ แม้ในความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่จะไม่มีวันมั่นใจ USDP และรัฐบาลที่กองทัพพม่าเลือกมากับมือ USDP ภายใต้ขิ่น ยีจึงเร่งเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เขานำสมาชิกพรรค USDP ไปหาเสียงในหลายพื้นที่ เริ่มจากมณฑลพะโค (Bago) หรือหงสาวดี ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรค NLD ในพม่าตอนล่างก่อน และยังไปช่วยกลุ่มอาสาสมัครในพื้นที่จัดงานเสวนาและระดมทุน ในครั้งนี้เราเห็นนักการเมืองที่เคยทำงานในรัฐบาลเต็ง เส่งตบเท้าเข้าร่วมงานเสวนาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หัวหน้าพรรค USPD คนใหม่ยังไปเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจบรรดาพรรคการเมืองในเมืองพะโค หลังเสร็จภารกิจ ขิ่นยีโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ราชสีห์ไม่โดดเดี่ยวอีกแล้ว เราทำงานเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน” คำว่า “ราชสีห์” ที่ขิ่น ยีหมายถึงสัญลักษณ์ของพรรค USDP

นักการเมืองที่มาร่วมพูดคุยในงานเสวนาที่ USDP จัดขึ้นมีอ่อง มิน (Aung Min) อดีตรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี รวมอยู่ด้วย อ่อง มินเคยเป็นสมาชิกพรรค USDP มาก่อน แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในนามอิสระในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ที่เมืองชาด่อ (Shadaw) ในรัฐคะยาห์ (กะเหรี่ยง) แต่ก็พ่ายแพ้ให้ผู้สมัครจากพรรค NLD ในเวลานั้น มีนักการเมืองจาก USDP หลายคนที่ออกมาลงอิสระ เพราะในปี 2015 นั้นมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นระหว่าง “มุ้ง” ที่ใหญ่ที่สุดในพรรคทั้ง 2 มุ้ง ได้แก่ มุ้งของนายพลเต็ง เส่ง (ซึ่งต่อมาได้รับชัยชนะ และได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี) และมุ้งของนายพลธูระ ฉ่วย มาน อดีต 1 ใน 3 ผู้นำ SPDC ที่ทรงอิทธิพลรองลงมาจากนายพลตาน ฉ่วย และนายพลขิ่น ยุ้นต์

Advertisement

เมื่อพิจารณาจากกระแสที่มีในขณะนี้ อาจคาดเดาได้ไม่ยากว่า USDP ภายใต้การนำของขิ่น ยี จะนำนักการเมืองหน้าเก่าเข้ามาสู่พรรคมากขึ้น เพราะพรรคต้องเร่งหาผู้สมัครให้ครบทุกเขตการเลือกตั้ง และในยุคที่ NLD ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้อีกแล้ว การคัดเลือกตัวบุคคลจึงไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ในสมัยหน้าเราคงได้เห็นรัฐบาลใหม่ที่เต็มไปด้วยคนหน้าเก่า คนที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกพรรค USDP หรืออดีตอื่นๆ แต่ในสถานการณ์ที่กองทัพควบคุมการเมืองระดับชาติได้ประมาณหนึ่ง อดีตใดๆ ก็ไม่สำคัญเท่าผลการเลือกตั้งในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image