ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนชฎิล

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดใต้ต้นลาน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลกัสสปโคตร ชฎิลลอยชฎาและเครื่องบริขารทิ้งไปตามแม่น้ำเนรัญชรา

ภายหลังตรัสรู้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดคณะปัญจวัคคีย์ซึ่งเดิมเป็นพราหมณ์ที่เกิดในสกุลพราหมณ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์และต่อมาได้ออกบวชติดตามพระพุทธองค์เพราะปรารถนาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะอุบัติขึ้น

เมื่อพระพุทธองค์โปรดปัญจวัคคีย์แล้วได้เสด็จผ่านกรุงพาราณสีก่อนเสด็จกลับไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ก่อนถึงกรุงราชคฤห์พระพุทธองค์ทรงโปรดชฎิลสามพี่น้องกัสสปโคตร ผู้นำชฎิลทั้งสามเชื่อว่าตนบรรลุพรหมจรรย์ขั้นสูงสุดแล้ว

ชฎิลสามพี่น้องเป็นกำลังสำคัญของชาวพุทธตั้งแต่ต้นสมัยปฐมโพธิกาล ท่านเป็นอาจารย์ชฎิลที่มีชื่อเสียงและมีบริวารมากอย่างยิ่งในแคว้นมคธและอังคะซึ่งในสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ครอบครองเอาไว้ทั้งสองแคว้น พระเจ้าพิมพิสารทรงเคารพอุรุเวลกัสสปะอย่างยิ่งและต่างมิได้ปฏิเสธพระเวท

อุรุเวลกัสสปะมีบริวารรวมเป็น 500 คน นทีกัสสปะมีบริวารรวมเป็น 300 คน และคยากัสสปะมีบริวารรวมเป็น 200 คน ทั้งสามเกิดในสกุลพราหมณ์ในกรุงพาราณสีและด้วยตระหนักในชรามรณะจึงออกสู่ป่าใหญ่เพื่อแสวงหาหนทางนิพพาน จากนั้นก็ได้บวชในสำนักชฎิลดั้งเดิม

Advertisement

อาศรมของอุรุเวลกัสสปะและนทีกัสสปะอยู่แถบหัวและท้ายแม่น้ำเนรัญชราในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ส่วนอาศรมของคยากัสสปะอยู่แถบแม่น้ำคยาในตำบลคยาสีสะ

การได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ทำให้คณะชฎิลทั้งหมดอุปสมบทจากพระพุทธองค์และบรรลุอรหัตตผลได้อย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคณะภิกษุสาวกที่สั่งสอนธรรมและมีพุทธบริษัทจำนวนมากมาย พระพุทธองค์ทรงตั้งให้พระอุรุเวลกัสสปเถระอยู่ในเอตทัคคะของความเป็นผู้มีบริษัทมาก

ชฎิลจัดเป็นนักบวชคล้ายกับฤๅษีและจัดเป็นดาบสได้อาจเพราะเป็นผู้บำเพ็ญตบะความเพียรเช่นกัน ชฎิลเน้นการปฏิบัติทางจิตคล้ายคลึงกับฤๅษีแต่ไม่ปฏิบัติทางกายอย่างนิครนถ์หรือไม่บีบคั้นร่างกายอย่างอาชีวกและอเจลก

Advertisement

ชฏิลเชื่อในความสูงส่งของสกุลพราหมณ์ มักแต่งกายสวมชฎาและมีบริวารติดตามเป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนฤๅษีมีความเป็นดาบสคล้ายคลึงกัน ปกติปลีกตัวอยู่ตามป่าเขาและอาจมีผู้อาศัยใกล้ชิดจำนวนที่น้อย เช่น ครอบครัวของตน เป็นต้น แต่หลายท่านก็มีศิษย์จำนวนมากอาศัยอยู่ด้วย บ้างถือว่าชฎิลคือฤๅษีแบบหนึ่ง

ชฏิลมักบวงสรวงและบูชาไฟจึงยังมุ่งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งในสมัยนั้นยัญอันศักดิ์สิทธิ์มีการบูชาไฟเป็นส่วนที่นิยมที่สุด มีคำอธิบายว่าท้าวมหาประชาบดีพรหมบำเพ็ญตบะและประทานกำเนิดแก่เทพอัคนีจากพระโอษฐ์เป็นองค์แรก

ในทางพระเวทการบวงสรวงบูชาเทพอัคนีจึงเป็นหลักของพิธีกรรมซึ่งเชื่อว่าจะมีผลมากและสามารถให้ทั้งโภคทรัพย์ เผ่าพันธุ์และการเผาผลาญบาปให้หมดไป

การบูชาไฟคงไปได้ด้วยดีกับการเจริญกสิณไฟให้เป็นฌานแต่การบูชายัญประเภทนี้ก็มีการฆ่าและการเทเลือดลงหลุมยัญซึ่งมีการเผาผลาญด้วยไฟ แม้ชฎิลพยายามถือศีลพรตและมีสมาธิจากการเพ่งแต่ก็ยังพัวพันกับปาณาติบาตและมีสัญญาแห่งการฆ่าและการทำร้ายชีวิต

ชฎิลสามพี่น้องสำเร็จกสิณไฟและเข้าใจผิดว่าอภิญญาจากฌานแสดงถึงความสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงทำให้มีมานะที่ยกตนเหนือผู้อื่นอย่างมาก พระพุทธองค์ทรงแสดงให้ชฎิลสามพี่น้องลดทิฏฐิมานะและหันมาศรัทธาทางสายตรงในพระพุทธศาสนา

ชฎิลคณะนี้เป็นปุราณชฎิลหรือชฎิลดั้งเดิมซึ่งเข้าใจว่าชฏิลรุ่นหลังๆ คงแตกต่างหรือกลายออกไป คณะนี้นับเป็นคณะเดียวที่มีการกล่าวถึงการได้รับคำสอนจากพระพุทธองค์ ชฎิลท่านอื่นๆ ที่กล่าวถึงกัน ได้แก่ อสิตดาบส และเกณิยชฎิล

ตามอรรถกถาแล้วที่ระบุอสิตดาบสหรือกาฬเทวิลดาบสว่าเป็นชฎิลก็มีและที่ระบุว่าเป็นฤๅษีก็มี ท่านสำเร็จฌานสมาบัติและเคยเป็นราชปุโรหิตให้พระเจ้าสีหนุซึ่งเป็นพระบิดาของพระเจ้าสุทโธทนะรวมทั้งถือเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะในเวลาต่อมา ท่านปรารถนาคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่มีอายุไม่ถึงกาลเวลาที่จะได้ฟัง

ส่วนเกณิยชฎิลเป็นชฎิลที่นับถือพราหมณ์พระเวท จึงมิใช่ชฎิลที่ปฏิบัติอย่างดาบส

เมื่อกล่าวถึงคำสอนของพระพุทธองค์แก่ชฎิลจึงตองอาศัยคำสอนตามอาทิตตปริยายสูตรเป็นหลัก พระพุทธองค์ทรงบรรยายธรรมบทนี้แก่คณะพระภิกษุปุราณชฎิล 1,000 รูป ที่ตำบลคยาสีสะ นับเป็นพระสูตรที่สำคัญมากโดยเป็นพระสูตรที่ 3 ที่ทรงแสดงต่อจากธัมมจักกัปปวัตนสูตรและอนัตตลักขณสูตรซึ่งทรงแสดงแก่คณะปัญจวัคคีย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้อธิบายพระสูตรนี้ไว้เป็นนิเทศอาทิตตปริยายสูตรในหนังสือพุทธวิธีในการสอน

คำสอนของพระพุทธองค์ยังมีอีกตอนหนึ่งในอาทิตตปริยายสูตรที่ 8 ว่าด้วยอาทิตตปริยายสูตรและธรรมปริยาย คำสอนนี้ช่วยให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์เกี่ยวกับการปฏิบัติทางจิตมากขึ้นเพราะทรงชี้ถึงโทษของนิมิตจากการบูชาไฟและทางออกที่ต้องอาศัยการเห็นสภาวะอนิจจังแทน

พระปุราณชฎิลคณะนี้คงเจริญฌานจนถึงฌานสี่แล้วและมีความคล่องแคล่วในฌานอย่างมาก สามารถกำหนดนิมิตและปฏิภาคนิมิตได้เร็วและมั่นคง เห็นไฟและยัญที่บูชาได้ในจิตโดยไม่ต้องมีพิธีบวงสรวงบูชาไฟจริงๆ ในขณะนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การบวงสรวงและบูชายัญไม่ใช่ทางที่ถูกต้องทว่าชฏิลรวมทั้งนักบวชและเจ้าพิธีอื่นมักปฏิบัติในแบบเดียวกันโดยไม่ทราบว่ากสิณไม่ใช่มรรคาสู่ความสุขอันไพบูลย์ จึงเข้าใจผิดว่าความสุขที่ได้สัมผัสในฌานเป็นนิพพานแล้ว

ในอาทิตตปริยายสูตร (สูตรที่ 8) พระพุทธองค์ทรงสอนว่าการบูชาไฟทำให้เห็นการทำร้ายและความทุรนทุรายด้วยเหล็กมีคมและไฟอันลุกโชนโชติช่วง ความยินดีในนิมิต (ซึ่งเป็นรูปรวม) และ “อนุพยัญชนะ” (ซึ่งเป็นส่วนย่อยของรูป) ทำให้เกิดคติที่คด 2 อย่างอันอาจนำไปสู่การอุบัติในนรกภูมิและเดรัจฉานภูมิ

คติที่คดทำให้อุบัติคด คติที่ตรงจึงจะทำให้อุบัติตรง คติที่ตรงต้องเป็นทางที่นำไปสู่การอุบัติสู่ภูมิแห่งความสุขและความสมบูรณ์พูนผลหรือที่เรียกว่าการเกิดสว่าง

ในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงสอนให้ยกจิตออกจากนิมิตและอนุพยัญชนะเหล่านั้นไว้ก่อน แล้วจดจ่อที่ความไม่เที่ยงของอายตนะภายนอก (เช่นจักษุ) อายตนะภายใน (เช่นรูป) อายตนวิญญาณ (เช่นจักขุวิญญาณ) อายตนสัมผัส (เช่นจักขุสัมผัส) และเวทนาทั้งหลาย (เช่นสุข ทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์)

ในอาทิตตปริยายสูตร (สูตรที่ 6) ซึ่งเป็นพระสูตรหลักพระพุทธองค์ทรงสอนการภาวนาว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน กล่าวคือจักษุ (อายตนะภายนอกใดๆ) รูป (อายตนะภายในนั้นๆ) จักษุวิญญาณ (อายตนวิญญาณนั้นๆ) และจักษุสัมผัส (อายตนสัมผัสนั้นๆ) เป็นของร้อน เวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส (อายตนสัมผัสนั้นๆ) จึงเป็นของร้อนตามไปด้วย

เหตุที่ร้อนเพราะไฟอันเป็นราคะ โทสะและโมหะ ร้อนเพราะชาติ ชรา มรณะ ความโศกเศร้ารำพัน ฯลฯ เมื่ออริยสาวกเห็น เกิดความเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด จิตหลุดพ้นและมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

การพิจารณาในอาทิตตปริยายสูตรเป็นการพิจารณาให้เห็นไฟจากภายใน การดูจิตที่อายตนะ อายตนวิญญาณ และอายตนสัมผัสจนถึงเวทนา (ซึ่งเป็นผลมาจากอายตนสัมผัส) ทำให้เห็นการทำงานของจิตจนเห็นแจ้งในอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา

ปรากฏการณ์ทางกายและจิตมาจากเหตุภายใน เหตุภายในทำให้เกิดความขัดข้อง เร่าร้อนและเป็นทุกข์ ทั้งเหตุและทุกข์มีการเกิดขึ้นและเสื่อมดับไป หาสาระไม่ได้และยึดถือไม่ได้

ในมุมของกรรมซึ่งสัตว์ย่อมอุบัติเพราะกรรมของตน ผัสสะ (ทางอายตนะ) เป็นวิบากจากการที่จิตไปสัมผัสแตะต้อง สัตว์นั้นจึงรับผลของกรรมนั้น คติที่คดของการบูชายัญนำไปสู่การอุบัติที่คดและการเกิดที่มืดซึ่งอาจเป็นนรกหรือเป็นเดรัจฉานก็ได้

ในมุมของอริยสัจ 4 จิตที่ร้อนหรือขัดข้องเป็นทุกข์ การพิจารณาว่าทุกสิ่งเป็นของร้อนเป็นการกำหนดทุกข์ มูลกิเลสอันได้แก่ ไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ การเวียนว่ายในวัฏจักรของชาติ ชรา มรณะและความโศกเศร้ารำพันต่างๆ นานาก็ทำให้เกิดทุกข์

การเห็นเหตุแห่งทุกข์และความเบื่อหน่ายที่ตามมาจนไม่ยึดมั่นยินดีอีกเป็นการออกจากทุกข์จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้น

ในมุมของปฏิจจสมุปบาทนามรูปและวิญญาณเป็นปัจจัยต่อกันและเป็นปัจจัยที่มีต่อการทำงานของอายตนะ การกระทบกันของอายตนะภายในและภายนอกคือผัสสะที่เกิดขึ้น ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกหรือเวทนา การดับวงจรของปฏิจจสมุปบาทสามารถกระทำที่อายตนสัมผัสและเวทนาได้

เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับและเมื่อเวทนาดับตัณหาก็ดับไปด้วยกัน วงจรการสืบต่อปัจจัยแห่งทุกข์ไปที่อุปาทานและชาติ ชรา มรณะและความโศกเศร้ารำพันทั้งหลายก็หลุดขาดตามไป วงจรปฏิจจสมุปบาทดับได้จนถึงอาสวะและอวิชชา

เราอาจมีข้อสังเกตว่าสูตรที่ 8 เป็นการบรรยายคำสอนของพระพุทธองค์ที่คยาสีสะหลังจากทั้งคณะได้บวชเป็นพระภิกษุแล้วเช่นเดียวกับสูตรที่ 6 ซึ่งเป็นอาทิตตปริยายสูตรที่ศึกษากัน สูตรนี้น่าจะเป็นคำสอนก่อนอาทิตตปริยายสูตรในคราวเดียวกันนั้นเนื่องจากทรงชี้ให้เห็นโทษของการปฏิบัติแบบดั้งเดิมของชฎิลก่อนแล้วจึงตามด้วยการแก้ไขความยินดีในนิมิตซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิแล้วอาศัยการภาวนาให้เห็นสภาวะแห่งอนิจจังอันเป็นปัญญาแทน

อาทิตตปริยายสูตรให้พุทธวิธีการสอนสำหรับผู้สำเร็จฌานและมีทิฏฐิมานะซึ่งส่งผลให้ผู้ฟังธรรมสามารถละทิ้งแนวทางเดิม มีอินทรีย์ 5 และพละ 5 (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา) อันเหมาะแก่การพิจารณาอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาทเป็นลำดับไป

พระพุทธองค์ทรงโปรดนักบวชชฎิลผู้เดินทางคดแต่ก็มีการสะสมความพร้อมให้เดินทางได้ถูกต้อง จิตของชฎิลเหล่านั้นจึงสามารถก้าวตรงไปสู่ความหลุดพ้นโดยรวดเร็ว

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image