ท่ามกลางความสิ้นหวังของสังคมกรณีการยิงในห้างฯ

ท่ามกลางความสิ้นหวังของสังคมกรณีการยิงในห้างฯ มีเรื่องราวหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง

มีเรื่องราวหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดการยิงที่ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง และน่าจะเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร

ประการแรก ในวันนั้นผมอยู่ที่ทำงานซึ่งไม่ได้ไกลจากจุดเกิดเหตุเท่าไหร่ และได้รับแจ้งข่าวสารจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และไลน์ แต่แทบจะไม่มีข่าวจากโทรทัศน์เลยในช่วงเกือบหนึ่งชั่วโมงแรก

เว้นแต่ช่องเก้า ซึ่งกลายเป็นว่าการแจ้งข่าวและรายงานข่าวจากรายการคุยข่าวบันเทิง เพราะว่ามีนักข่าวไปร่วมงานในวงการบันเทิงที่อาคารแห่งนั้นพอดี

กว่าข่าวต่างๆ จะเริ่มรายงานอย่างเป็นระบบก็เลยไปเกือบจะชั่วโมงแล้ว

Advertisement

ผมเห็นด้วยกับการที่จะต้องมีระบบเตือนภัยแห่งชาติ หรือแห่งเมืองให้ชัดเจน จำได้เมื่อสองสามปีก่อนไปสหรัฐอเมริกา ระบบเตือนภัยเช่นนี้แจ้งเตือนทันทีในมือถือของเรา ซึ่งเปิดบริการใช้ข้ามเครือข่ายในต่างประเทศ

ประการที่สอง อย่างน้อยสิ่งที่ดีในสังคมไทยก็คือ เป็นสังคมที่ยังไม่มีการแตกแยกในจุดยืนและการเมืองเรื่องของการยิงหมู่ (mass shooting) เช่นนี้มากนัก เมื่อเทียบกับในสหรัฐอเมริกา

กล่าวคือในไทยนั้นมีการออกมาพยายามแก้ปัญหา และมีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการจับกุม และการพยายามเปลี่ยนนโยบายในเรื่องของการจำหน่ายและถือครองปืน รวมทั้งสิ่งที่คล้ายปืนอย่างในกรณีที่เกิดขึ้น

Advertisement

ขณะที่ในอเมริกานั้น เรื่องของการยิงหมู่เช่นนี้ เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงทางการเมืองขนานใหญ่และมีการแตกแยกทางความคิดไปตามจุดยืน อุดมการณ์ และนโยบายของแต่ละพรรค

มาเริ่มที่คำจำกัดความกว้างๆ ก่อนว่า การยิงหมู่นั้นคืออะไร ซึ่งในสหรัฐนิยามกันกว้างๆ ว่าเป็นการยิงที่ก่อให้เกิดคนตายเกินสามราย ซึ่งถ้าดูรายละเอียดก็คือ เป็นคำจำกัดความที่แปลมาจากกฎหมายอาชญากรรมที่มีความรุนแรง (The Investigative Assistance for Violent Crime Act of 2012) ที่อธิบายว่า การสังหารหมู่(mass killing) คือ การสังหารคนสามคนขึ้นไปในหนึ่งเหตุการณ์ ขณะที่ในคำจำกัดความของ FBI มองว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ก่อเหตุหนึ่งคน หรือมากกว่านั้นที่สังหาร หรือพยายามสังหารผู้คนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น (Britannica.com, mass shooting) ขณะที่บางทีก็มีการใช้ศัพท์คำว่า active shooter ซึ่งเป็นคำที่ตำรวจไทยให้สัมภาษณ์ว่าได้มีหลักสูตรเหล่านี้มาแล้ว

ความแตกแยกในสหรัฐนั้นร้าวลึกลงไปในระดับของมลรัฐ และในระดับสหพันธรัฐ เพราะอำนาจส่วนมากอยู่ที่รัฐบาลมลรัฐ แต่การดูแลเรื่องอาวุธปืนและอาชญากรรมในภาพรวมนั้นก็ยังอยู่ที่หน่วยสอบสวนกลางของสหพันธรัฐด้วย (FBI)

กล่าวคือความแตกแยกของความคิดเห็นของนักการเมือง และประชาชนทั่วไปในแต่ละมลรัฐ แต่เน้นที่นักการเมืองเป็นหลักก็คือ เมื่อหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น จะมีแนวทางร่วมกันในการประณามเหตุการณ์

แต่ทางออกในการแก้ปัญหานั้นมีความแตกต่างกัน

ในรัฐที่เป็นเดโมแครตนั้น ทางออกจะชัดเจนมาก คือ การเข้มงวดกับการควบคุมการถือครองอาวุธปืนมากขึ้น เช่น เพิ่มอายุของการถือครองปืน มีการเข้มงวดในการเช็กประวัติก่อนซื้อ ไม่ให้ถือครองทันทีหลังจากซื้อ และรวมไปถึงการเน้นไปที่สิทธิของรัฐในการระงับการถือครองโดยทันทีกับกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่มีแนวโน้มที่จะใช้ปืนเป็นอาวุธในการก่อเหตุ เพราะพวกเขาเห็นว่าบางทีการถือครองอาวุธปืนมาก่อนนั้นเขายังไม่ป่วย หรือมีอาการ แต่ถ้ามีสัญญาณอะไรเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐควรจะสามารถระงับสถานการณ์ได้เร็วขึ้นจากการป้องกันการเข้าถืออาวุธปืน อย่างกรณีของมิชิแกน โคโลราโด

ในรัฐที่เป็นรีพับลิกันนั้น ทางออกจะเป็นเรื่องของการโทษไปที่ปัญหาของผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องของปัญหาทางจิตของผู้ก่อเหตุมากกว่า ดังนั้นทางออกคือ การเพิ่มการอบรมและให้ความรู้ รวมทั้งดูแลผู้ป่วยจิตเวช และการเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน อย่างในกรณีของเทนเนซี่ ก็มีแนวโน้มจะให้ครูถืออาวุธ หรือนักเรียนสามารถมีอาวุธได้เมื่ออายุสิบแปด เท็กซัสที่แม้จะมีความพยายามจากในสังคมซึ่งประสบเหตุในการเพิ่มอายุผู้ถือครองอาวุธ แต่ก็ไม่ผ่านสภามลรัฐที่นักการเมืองรีพับลิกันเป็นหลัก

อย่าลืมว่าในบริบทของสหรัฐนั้น สิทธิในการถือครองปืนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานของสังคมสหรัฐอเมริกา ที่การถือปืนมีไว้เพื่อปกป้องทรัพย์สินตัวเอง และสิทธิในการปกป้องประเทศจากการรุกรานจากภัยนอกประเทศในอดีต ในการถกเถียงเรื่องของสิทธิในการถืออาวุธจึงไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมเท่านั้น และทำให้การเมืองนั้นเต็มไปด้วยการถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ (สรุปประเด็นจาก D.Lieb. 2023. After a mass shooting, it’s all about mental health for some politicians – not guns. www.houstonpublicmedia.org. และ D.Lieb. 2023. Mass shootings seldom shoft partisan policies despite outcry. Apnews.com)

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงในสหรัฐ มีงานวิจัยที่มากกว่าการถกเถียงสาธารณะในเรื่องของการยิงหมู่ และการแบ่งแยกปัญหาแบบต่างฝ่ายต่างมองตามจุดยืนทางการเมืองที่ตนมี กล่าวคือมีการค้นพบว่า คนที่มีปัญหาทางจิตมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะนับเป็นศตวรรษที่ผ่านมาจากฐานข้อมูลพบว่า คนที่ก่อเหตุนั้นจะพบว่ามีอาการทางจิต หรือมีการแสดงออกว่ามีปัญหาทางจิตตั้งแต่ก่อนที่เริ่มก่อเหตุ

แต่ในอีกด้านหนึ่งจุดที่ชัดเจนก็คือ การถือครองอาวุธปืนก็ทำได้ง่าย เพราะระบบการตรวจประวัตินั้นไม่รัดกุมเพียงพอ (กล่าวคือบางรัฐก็ปฏิเสธที่จะส่งข้อมูลให้ส่วนกลาง) นอกจากนี้ แล้วยังไม่มีระบบที่จะระวังการถือครองอาวุธเมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติของผู้ก่อเหตุ เพราะพวกนี้มักจะมีการแสดงออกให้เห็นในพื้นที่สาธารณะมาก่อน เช่น ในชุมชน หมู่เพื่อน หรือออนไลน์

นอกจากนี้ การจำกัดการเข้าถึงอาวุธปืนที่ใช้ในสงคราม เพราะมีอานุภาพที่รุนแรงก็ควรเป็นอีกเงื่อนไขที่จำเป็นในการจำกัดอาวุธได้ ดังนั้นข้อเสนอหนึ่งในสังคมก็คือให้นักการเมือง และผู้ที่ถือหางแต่ละฝ่ายนั้นวางเรื่องอุดมการณ์และจุดยืนแบบเดิมลงไปก่อน เพราะทั้งสองฝ่ายของอุดมการณ์ต้องทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่องของการดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยทางจิต และการใช้มาตรการทางกฎหมายในการแก้ปัญหาเรื่องของการถือครองและแพร่กระจายของอาวุธปืนในสังคม (S.Phipott-Jones. 2018. Policy and Politics: Mass shooting, mental illness and gun control. The Hastings Center Report. 48:2, pp.7-9)

อีกประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของข้อถกเถียงในสหรัฐอเมริกา ก็คือเรื่องของการทำความเข้าใจกับผู้ก่อเหตุยิงหมู่ ก็คือการลงลึกไปที่การศึกษาตัวผู้ก่อเหตุเอง ซึ่งจากงานวิจัยของนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาสองท่าน คือ Jillian Paterson และ Densley พวกเขาพบประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของแบบแผนและลักษณะของผู้ก่อเหตุ (J.Paterson and J. Dansley. 2021. The Violence Project: How to stop a mass shooting epidemic. New York: Abrams Press.) ซึ่งจากคำสัมภาษณ์ของเขาใน politico.com เมื่อปีที่แล้ว (J. Hong. 2022. Two Professors found what causes a mass shooter. Will politicians pay attention?. www.politico.com) เขาชี้ว่า จากการศึกษาประวัติชีวิตของผู้ก่อเหตุร้อยแปดสิบคน ทั้งจากตัวผู้ก่อเหตุที่รอดชีวิต และจากบุคคลแวดล้อม เขาพบประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ

ข้อค้นพบสำคัญคือ ผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิต และที่สำคัญคือจะแสดงออกซึ่งอาการเหล่านี้ก่อนหน้าที่จะก่อเหตุเป็นส่วนใหญ่ และอาการทางจิตนั้นเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อมโยงของผู้ก่อเหตุกับสังคม ไม่ใช่แบบว่าเขามีอาการทางจิตในทางกายภาพเป็นหลัก

แต่หมายถึงอาการทางจิตนั้นมาจากการที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับสังคม อาทิ การถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว การถูกรังแกอย่างรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การฆ่าตัวตายของพ่อแม่ ฯลฯ

ในอีกด้านหนึ่งการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ต้องมีความระมัดระวังมาก เพราะถ้านำเสนอข่าวไม่ดี มันไม่ได้เกิดแค่พฤติกรรมเลียนแบบ แบบที่เราเข้าใจ แต่มันจะไปเชื่อมโยงกับคนที่มีอาการและผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกัน แล้วพวกเขาจะรู้สึกว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้สึกของพวกเขาเองเช่นกัน สิ่งนี้จึงไม่ใช่การมองว่าเป็นการเลียนแบบ แต่น่าจะเป็นเรื่องการกระทำซ้ำและเกิดผู้สนับสนุนแนวทางในการใช้ความรุนแรง ในการแสดงออกถึงสิ่งที่เขาต้องการต่างหาก

ข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยของอาจารย์สองท่านนี้คือ สิ่งที่สังคมอาจจะไม่เข้าใจว่า การออกมายิงคนในที่สาธารณะที่แออัดนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นการกระทำที่โหดร้ายอำมหิตในมุมมองของผู้ก่อเหตุเสมอไป แต่มันเป็นเรื่องของการพยายามฆ่าตัวตาย หรือจบชีวิตของพวกเขาเอง เพราะถ้าลองย้อนดูประวัติและพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ มักจะพบว่ามีอาการสิ้นหวัง เศร้า มีความโดดเดี่ยว รังเกียจตัวเอง และถูกปฏิเสธจากเพื่อน

อธิบายว่าการก่อเหตุความจริง คือ การฆ่าตัวตายแบบหนึ่ง แต่ต่างจากการฆ่าตัวตายทั่วไป ที่การรังเกียจตัวเองนั้นไม่ได้นำไปสู่การฆ่าตัวตายเลย แต่เริ่มจากการที่เมื่อรู้สึกเกลียดตัวเองก็เริ่มต่อต้านและปฏิเสธกลุ่ม โดยเริ่มตั้งคำถามว่าใครที่เป็นคนผิด ซึ่งอาจจะมองไปที่กลุ่มผิวสี ผู้หญิง กลุ่มทางศาสนา หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน อธิบายอีกครั้งว่าความเกลียดชังที่ได้รับมานั้นถูกผลักออกไปจากตัว ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการพยายามเป็นที่สนใจ หรือมีชื่อเสียงด้วย

ขยายความว่าการออกไปฆ่าคนอื่นนั้น พวกเขามองว่า เขาทำไปเหมือนเป็นการกระทำสุดท้ายก่อนที่เขาจะจบชีวิตลง ซึ่งหากมองในแนวนี้จะพบว่ายิ่งผู้ก่อเหตุนั้นเห็นความพยายามในการเข้ามาระงับเหตุด้วยอาวุธ พวกเขาอาจจะไม่หยุดแต่ยังใช้ความรุนแรงต่อไป ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้สังหารด้วยลักษณะของการลอบสังหาร แต่บุกเข้าไปตรงๆ ฆ่าไปเรื่อยๆ และเริ่มจะสับสนในตอนท้ายว่ามันจะจบอย่างไร ซึ่งบ่อยครั้งเขาจบชีวิตตนเอง หรือสู้จนตาย

และบ่อยครั้งพวกนี้จะก่อเหตุในที่ที่ตนคุ้นเคย เช่น โรงเรียนที่พวกเขาไปเรียน หรือจบมา หรือในที่ที่เขาไปเกี่ยวข้องด้วยในชีวิตประจำวัน

ข้อเสนอสำคัญจากงานก็คือ อย่ามองผู้ก่อเหตุเป็นคนร้ายที่โหดเหี้ยมอำมหิตแต่แรก แต่ให้มองว่าคนเหล่านี้เคยเป็นลูกเป็นหลานเรา เป็นคนในชุมชนมาก่อน เพียงแต่เราอาจไม่ได้ระแวดระวังสัญญาณบางอย่างที่พวกเขาส่งมาหาเราก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจก่อเหตุ ดังนั้นนอกเหนือจากการทำให้เขาห่างไกลจากอาวุธแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องสนใจในการตรวจสอบลูกหลานถึงสัญญาณบางอย่างที่โยงถึงภาวะเครียดของพวกเขา หรือภาวะที่จะโยงความเครียดไปสู่การกระทำที่รุนแรง ซึ่งอาจจะขยายผลต่อไปเป็นการยิงหมู่ได้

นอกจากนั้นแล้ว สังคมต้องไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่งกำหนดประเด็นทางออก เพราะทุกกรณีมีความซับซ้อน และอธิบายง่ายๆ ว่าต้องสร้างสมดุลระหว่างเรื่องของการทำความเข้าใจและเฝ้าระวังประเด็นอ่อนไหวทางสุขภาพจิต และการเข้าถึงปืนมากกว่าแก้ด้านเดียว

ทีนี้ในสังคมไทยเอง ผมคิดว่าก็มีความพยายามอยู่หลายด้าน แต่สิ่งที่ยังไม่ได้พูดกัน ก็คือเรื่องของการที่เราเริ่มพบว่าในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯนั้น มีความหลากหลายของเยาวชนมาก และมีการจับกลุ่มรวมตัว และมีมุมมองระหว่างกันที่เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกสัมผัสซึ่งกันและกัน เพราะชีวิตวนเวียนกับเรื่องการเลี้ยงดูของครอบครัว การเรียน และกลุ่มเพื่อน แต่อาจจะยังไม่ได้เข้าใจกันทุกฝ่าย หรือรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ที่ผ่านมาอาจจะมีเรื่องม็อบเยาวชนที่เชื่อมโยงพวกเขาอยู่ในระยะหนึ่ง)

แทนที่จะมุ่งไปที่การเลี้ยงดูอย่างเดียว ซึ่งก็คงต้องทำ แต่ในฐานะของเมืองอาจจะต้องเข้ามาเสริมเรื่องกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างพื้นที่และทัศนคติของผู้คนในเมืองที่บางส่วนก็ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งให้รู้สึกว่าพวกเขามีที่ทางในเมือง เป็นเจ้าของเมือง และทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลายได้ไม่มากก็น้อย อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้เยาวชนรู้สึกว่าพวกเขามีที่ทางในเมือง ในสังคม และมีส่วนกำหนดความเป็นสาธารณะของเมือง ที่ไม่ใช่มีแต่ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ถูกจูงใจไปในทิศทางใด หรือระบบการเลี้ยงดูที่อยากให้เขาชนะทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image