ผังเมืองกรุงเทพฯ (2) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การขยายกำหนดเวลาแสดงความคิดเห็นในเรื่องของการจัดวางและจัดทำผังเมืองรวม (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
ของกรุงเทพมหานคร ออกไปประมาณหนึ่งเดือนกว่าๆ (คือจนถึง 29 ก.พ.2567) เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้คนสนใจมากขึ้น และทำให้เราเริ่มตั้งคำถามที่ใหญ่ขึ้นว่าจินตนาการของการจัดทำผังเมืองที่ผ่านมาของประเทศนี้ และของเมืองกรุงเทพฯ

ถ้าดูเอกสารของ กทม.เอง (เว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองของ กทม.) <https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/frontend/web/> จะมีเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องที่จัดทำโดย กทม.เป็นหลักฐานที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการนำมาเรียนรู้และสร้างบทสนทนาในการวางผังเมืองของ กทม.และของประเทศนี้

ในเอกสารชิ้นที่ 17 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จะพบว่ามีการวางเงื่อนไขหลักเกณฑ์ว่า

บุคคลผู้มีสิทธิแสดงข้อคิดเห็น ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้

Advertisement

1.เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่ตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองรวม หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว

2.ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านการผังเมือง หรือสิ่งแวดล้อม

3.สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองรวม

Advertisement

4.ผู้แทนองค์กร/สมาคม ผู้แทนภาคเอกชน บุคคลหรือคณะบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยมีวิธีการได้สามทาง

1.ด้วยวาจา ให้กระทำได้เฉพาะในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเท่านั้น

2.เป็นลายลักษณ์อักษร โดย

– ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนในที่ประชุม รับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน

– ยื่นต่อเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร หรือส่งทางไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง โดยให้ระบุ

2.1 ชื่อ-สกุล เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้ยื่นความคิดเห็น และในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบอำนาจให้แสดงความคิดเห็นแทนด้วย

2.2 ระบุเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิของตนเองหรือประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากผังเมืองรวมที่วางและจัดทำนั้นพร้อมเหตุผล

2.3 ทางเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (webportal.bangkok.go.th/cpud)

และมีเงื่อนไขว่า (การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมจะต้องเป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหา หรือการพัฒนาท้องถิ่นที่วางและจัดทำผังเมืองรวม หรืออาจเป็นข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชนและสวัสดิภาพของสังคม การส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม การดำรงรักษา หรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์ หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติในบริเวณที่วางและจัดทำผังเมืองรวม การแสดงความคิดเห็นจะแสดงความคิดเห็นเฉพาะเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของตนเอง หรือของส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากผังเมืองรวมที่วางและจัดทำนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้ผู้แสดงความคิดเห็นแสดงข้อเท็จจริง เหตุผล และอาจระบุแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นด้วย)

อ่านจบก็ท้อใจแล้วครับว่า โอโหจะเป็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบตรงจากผังเมืองนี่แทบจะต้องจบปริญญาด้านการวางผังเมืองกันเลยทีเดียว คือถ้าไม่ตีความง่ายๆ ว่าต้องเดือดร้อนตรงในพื้นที่ ก็จะต้องเป็นผู้แทนหรือคณะที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดอีกมากมายจึงจะดูมีความรู้และเป็นมืออาชีพเพียงพอ

คำถามก็คือ แล้วผังเมืองรวมที่เขียนออกมาเนี่ยได้อธิบายแนวคิดต่างๆ อย่างเพียงพอไหม?

ตอบเลยครับว่าไม่เลย

ลองดูเอกสารฉบับที่ 9 ที่เรียกว่า บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. …

หลักการเขียนไว้แค่ “ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่กรุงเทพมหานคร”

แต่เหตุผลน่าสนใจ คือเขียนว่า “โดยที่สมควรกําหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ในท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและดํารงรักษากรุงเทพมหานคร โดยมีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อมที่ดีมีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจวิทยาการของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศูนย์กลางการบริหารและการปกครองของประเทศ มีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดจนเป็นเมืองต้นแบบในด้านการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรวมไปถึงลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง และโดยที่มาตรา 33 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 บัญญัติว่า ผังเมืองรวมให้ออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น จึงจําเป็นต้องออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

จากนั้นอธิบายว่า วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม คือ

การวางและจัดทําผังเมืองรวมตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจวิทยาการของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศูนย์กลางการบริหารและการปกครองของประเทศมีเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนเป็นเมืองต้นแบบในด้านการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมไปถึงลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีแนวทางในการพัฒนาและดํารงรักษากรุงเทพมหานครภายในบริเวณแนวเขตดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยโดยการพัฒนาบริการทางสังคม สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ให้พอเพียงและได้มาตรฐาน

(2) ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและพาณิชยกรรมของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอํานวยความสะดวกให้มีความพร้อมต่อการลงทุนในระดับที่สามารถแข่งขันได้

(3) ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการเป็นทางผ่านเข้าออกของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ ให้เป็นศูนย์กลางในการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ

(4) ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางบริหารราชการของประเทศและเป็นที่ตั้งของสถาบันที่สําคัญของประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ โดยการพัฒนาย่านสถาบันราชการและองค์การระหว่างประเทศให้มีภาพลักษณ์ที่สง่างาม และสร้างเสริมประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินของภาครัฐ

(5) ส่งเสริมความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง โดยการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะการขนส่งทางราง การพัฒนาบริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

(6) ส่งเสริมความสมดุลของที่อยู่อาศัยและแหล่งงานเพื่อลดการเดินทาง โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสม การพัฒนาปรับปรุงและฟื้นฟูย่านที่อยู่อาศัยในเขตเมืองชั้นใน และพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมือง

(7) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมือง และการผลิตที่ต้องใช้ทักษะ แรงงานฝีมือ นวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงที่ไม่มีความเสี่ยงต่ออุบัติภัยและปราศจากมลพิษ (8) ดํารงรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมเมือง และเกษตรปลอดภัย โดยการบริหารจัดการการเติบโตของเมืองเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองแบบกระชับ

(9) ส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชนทั้งของกรุงเทพมหานครและของชาติโดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถานที่และวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

(10) ส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศและภูมิทัศน์การตั้งถิ่นฐาน โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่คงคุณค่าและการบํารุงรักษาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม

(11) ส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากการกระทําของมนุษย์รวมถึงการก่อวินาศกรรม

(12) ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยการลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

ต้องขอโทษที่คัดลอกมาจากเอกสารของ กทม.อย่างครบถ้วน ก็เพื่อจะชี้ว่านี่คือสิ่งที่ทางสำนักผังเมืองเขียนว่าเป็นหลักการในการจัดวางผังเมืองรวม แต่คำถามก็คือหลักการเหล่านี้มันถูกแปร หรือถอดความออกมาเป็นตัวผังสีที่เป็นเอกสารที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนในเมืองอย่างไรในแต่ละเรื่อง สิ่งนี้คือช่องว่างสำคัญในการสนทนาระหว่างนักผังเมืองมืออาชีพและสำคัญกว่านั้นคือมืออาชีพในระดับที่ได้รับสิทธิอำนาจ (authority) จากรัฐในฐานะมีองค์กรและผลิตเอกสารราชการที่จะมีลักษณะบังคับใช้ทางกฎหมายด้วย

ลองยกตัวอย่างให้เห็นก็คือ อย่างในกรณีของที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

“(๒) ที่ดินประเภท ย.6 ถึง ย.10 ที่กำหนดไว้เป็นสีส้ม ให้เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง โดยมีวัตถุประสงค์และจำแนกเป็นบริเวณ ดังต่อไปนี้

(ก) ที่ดินประเภท ย.6 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมดีในบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน จำแนกเป็นบริเวณ ย.6-1 ถึง ย.6-32”

นี่แหละครับจบกันแค่นี้ คือ “สภาพแวดล้อมดี” มันคืออะไรบ้าง แนวคิดหลักอยู่ที่ไหน เอกสารแนวคิดสำคัญที่ประชาชนจะถกเถียงว่า สภาพแวดล้อมดีของที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางมันถูกกำหนดด้วยอะไร

นี่คือภาษาและท่าทีในร่างผังเมืองรวมที่ประชาชนเขาเริ่มสงสัย เมื่อชีวิตเขาอยู่กับเมืองนี้มาเรื่อยๆ แล้วเขาไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาและกำลังจะเป็นไปนั้นชีวิตของเขาควบคุมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้มากแค่ไหน และเขาอยู่ตรงไหนในโครงสร้างอำนาจของการเปลี่ยนแปลงของเมืองแห่งนี้

โดยเฉพาะในความเป็นจริงที่เขาอาจจะอยู่ในเมืองนี้มานาน แล้วเกิดว่าท้องที่ของเขาถูกเปลี่ยนสีผัง จากเดิมที่เป็นพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย มากลายเป็นปานกลาง แล้วหนาแน่นมาก หรือเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม

ไม่นับว่าบางทีเขาก็งงๆ ว่าทำไมพื้นที่เขาถูกห้ามพัฒนาแต่พื้นที่ข้างๆ นั้นทำไมผังสีมาสุดแค่ข้างๆ บ้านเขา

อะไรคือทางแก้?

ทางแก้ไม่ใช่การขยายเวลาในการจัดทำผัง แต่ต้องตั้งหลักใหม่ว่าหลักการและรูปธรรมของการวางผังเมืองกรุงเทพฯคืออะไร แล้วเครื่องมือที่จะใช้มันพอไหม

เปิดให้ประชาชนทั้งเมืองมาพูดก็ไม่ได้อะไรมากขึ้นจากนี้เท่าไหร่ เพราะมันอยู่ที่ว่าจะถอดเอาเสียงของประชาชนทั้งหมดออกมาเป็นรูปธรรมในการจัดวางการใช้ที่ดินอย่างไร

หลักการชีวิตดีๆ ที่ลงตัวของกรุงเทพฯคืออะไร แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าการกำหนดกิจกรรมในที่ดินแต่ละแบบที่ระบุเป็นสีออกมานั้นมันไปด้วยกัน? ใครจะตรวจสอบ และถ้ามันไม่ใช่จะแก้ไขอย่างไร

ที่ผ่านมาเราเห็นการฟ้องร้องแต่ละคดีนั้นกินเวลายาวนานมาก บางทีเป็นสิบๆ ปี เราก็ได้แต่รับสภาพกันไปอย่างนั้นหรือ?

ทางออกหนึ่งที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ ทั้งที่ไม่ขัดกับกฎหมายผังเมือง คือเปลี่ยนการเขียนบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. … เสียใหม่ เขียนให้ชัดว่าสถานการณ์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองคืออะไร และเป็นยุทธศาสตร์ที่ประชาชนยอมรับร่วมกันอย่างไร

จากนั้นก็นำเสนอแนวคิดที่สำคัญตามหลักวิชาผังเมืองในการจัดการกับสถานการณ์นั้น และพูดถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ให้ชัดเจน

ก่อนที่จะค่อยๆ อธิบายแนวคิดย่อยแต่ละส่วนสีว่าแต่ละสีนั้นถ้าใช่เงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวแล้วจะทำให้บรรลุเป้าประสงค์ได้จริง และตรวจสอบได้อย่างไร ร้องเรียนได้อย่างไร

ย้ำว่าในหลักวิชาผังเมืองที่เรียนกันในโรงเรียนการวางผังเมืองนั้น บรรยากาศสำคัญก็คือการถกเถียงและสำรวจตรวจสอบว่าแนวคิดที่ผ่านมามันใช้ได้แค่ไหน และการทำงานร่วมระหว่างโรงเรียนผังเมืองกับชุมชนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากทั้งการวางผัง การวางแผน และการพัฒนาของเมืองจริงๆ ซึ่งอีกส่วนหนึ่งนอกจากตัวนักศึกษาและคณาจารย์แล้ว นโยบายของมหาวิทยาลัยเองก็เป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษาและวิจัยในเรื่องเหล่านี้ นอกเหนือจากการทำงานกับหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสมาคมการค้าในพื้นที่

ทีนี้มาสู่คำถามที่ทิ้งไว้ในตอนที่แล้วว่าผังเมืองเอื้อนายทุนไหม?

คำตอบคือผังเมืองไม่ได้เอื้อนายทุนครับ

แต่เอื้อทุน เรียกให้เต็มๆ ก็คือ เอื้อระบบทุนนิยม ซึ่งเรื่องนี้ไม่แปลก เป็นสิ่งที่เขายอมรับกันมานานแล้วในสิ่งที่เรียกว่า เมืองทุนนิยม (capitalist city)

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งผิดบาป แต่ต้องแยกระหว่างเมืองที่เอื้อนายทุนกับเมืองทุนนิยมก่อน

การอธิบายว่าเมืองเอื้อนายทุนนี่ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจอะไรมาก เพราะเป็นสิ่งที่เราอาจจะเห็นที่ปลายทาง ที่ผิวหน้า ที่ปรากฏการณ์ ที่ผลลัพธ์ชั่วขณะหนึ่งของกาลเวลา (moment)

แต่ต้องไม่ลืมว่า มีนายทุนและเจ้าที่ดินหลายเจ้าที่เจ๊งมาเยอะแล้วกับการพัฒนาที่ดิน ไม่ใช่นายทุนทุกคน หรือชนชั้นนายทุนและเจ้าที่ดินจะชนะหรือสำเร็จในเมืองแห่งทุน (นิยม) นี้

วิธีการมองที่สำคัญคือต้องมองสองด้านว่า เมืองกับเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมมันเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างไร และสองคือ ความเป็นไปได้ในการต่อสู้ต่อรองในเมืองทุนนิยมนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีของกรุงเทพฯ

ถ้าเราไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์ความเข้าใจในการเติบโตของเมืองว่าเมืองนี้มันเติบโตและทำงานอย่างไร มั่งคั่งอย่างไร (ความสัมพันธ์ทางการผลิต) เราจะพูดถึงความยุติธรรมในเมืองได้อย่างล่องลอย เพราะมันไม่ได้เริ่มจากความเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของการเติบโตของมันได้เลย เราจะแค่รู้ว่าคนที่พูดเรื่องความยุติธรรมในเมืองเป็นคนจิตใจดีมากกว่ารู้ว่าทำไมมันแก้ปัญหานี้ไม่ได้สักที

สถานการณ์ในกรุงเทพฯในปัจจุบันคือประชากรลดลง แต่ขยายตัวออกนอกกรุงเทพฯมากขึ้นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

คำถามคือที่เถียงกันในกรุงเทพฯปัจจุบันนี้ไหงเพิ่มพื้นที่พักอาศัยหนาแน่นปานกลาง (พื้นที่สีส้มในผังใหม่) มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่มีคนจะอยู่ในกรุงเทพฯ

ใครล่ะที่จะอยู่ในกรุงเทพฯได้

ผังที่เห็นอยู่นี้ใครจะมีปัญญาและฐานะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯได้บ้าง?

ความเชื่อว่ารถไฟฟ้าจะทำให้คนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯเป็นไปได้แค่ไหน หรือทำให้คนมาอยู่ชั่วคราวแต่ยัง “อยู่อาศัย” ไม่ได้อยู่ดี แล้วใครล่ะจะได้ประโยชน์จากเมืองนี้ แล้วคนที่ยังอยู่ในเมืองนี้ที่เขาออกมาร้องเรียนตรงและผ่านตัวแทนของเขานี่ยิ่งต้องฟังเขามากๆ ใช่ไหม?

สัปดาห์หน้ามาว่ากันเต็มๆ ว่า ทุนนิยมกับเมืองกรุงเทพฯปัจจุบันนั้นสัมพันธ์กันแค่ไหน และผังเมืองรวมนี้จัดวางอำนาจของประชาชนไว้ตรงไหน ทั้ง entitlement (คือมองเห็นและยอมรับสิทธิของประชาชนในการกำหนดความเป็นไปของเมือง) และ empowerment (คือเพิ่มอำนาจให้คนในเมืองในการกำหนดชีวิตของเขาอย่างมีศักดิ์ศรี) ได้มากน้อยแค่ไหน

อย่าเพิ่งมาเหมารวมว่าทุกคนได้ประโยชน์จากร่างผังเมืองใหม่ฉบับนี้

ย้อนอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image