ภาพเก่า เล่าตำนาน : อำเภอเถิน…นครลำปาง… ร้อนจัด…เย็นจับใจ

ภาพเก่า เล่าตำนาน : อำเภอเถิน...นครลำปาง... ร้อนจัด...เย็นจับใจ

ตกข่าว ตกใจ…ไม่เคยคิดเลยว่า…ลำปาง เมืองรถม้าครองแชมป์อุณหภูมิสูงสุด ร้อนที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศไทยมาต่อเนื่อง
อ.เถิน จ.ลำปาง คือ แชมป์ยืนหนึ่งเรื่อง “ร้อนจัด” มาหลายสมัย
2 เมษายน 2563 วัดอุณหภูมิได้ 43.0 องศา รองลงมาที่บริเวณสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง วัดได้ 42 องศา และที่สถานีตรวจวัด อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 41.2 องศา อ.เถิน มีอุณหภูมิที่สูงสุดของทางภาคเหนือ
13 เมษายน 2565 พื้นที่ อ.เถิน ร้อนทะลุ 41.5 องศา
25 เมษายน 2565 พื้นที่ อ.เถิน ซึ่งเป็นอำเภอทางตอนใต้สุดของลำปาง ปรอทพุ่งสูงสุดในประเทศ ทะลุ 41 องศา ส่วนเขตตัวเมืองวัดอุณหภูมิได้สูงสุด 39.5 องศา ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจาก อ.เถิน
2 เมษายน 2567 ช่วงเที่ยง พื้นที่ จ.ลำปาง แสงแดดส่องลงมาเต็มที่ อากาศร้อนมากต่อเนื่องหลายวัน โดยอุณหภูมิพุ่งขึ้นเรื่อยๆ และเป็นครั้งแรกในรอบฤดูร้อนปีนี้ ที่พุ่งขึ้นมาแตะ 42 องศา
ลำปาง ร้อนทะลุกว่า 40 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องมาแล้ว 6 วัน คือตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาถ้าจะว่าไปแล้ว 5 ปีที่ผ่านมา ลำปางไม่เคยยอมเสียแชมป์เรื่องอากาศร้อนจัด
อะไรคือสาเหตุทำให้ จ.ลำปาง ร้อนจัด เย็นยะเยือก

พ.ศ.2562 ดร.ภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา สรุปความว่า …พื้นที่เมืองลำปาง มีภูเขาล้อมเป็นแอ่งกระทะส่งผลให้เมืองนี้อากาศ “สุดขั้ว” ร้อนก็ร้อนจัด หนาวก็หนาวมาก ลำปางจัดเป็น 1 ใน 5 จังหวัด สภาพอากาศสุดขั้ว เมื่อร้อนก็ร้อนจัด หนาวก็หนาวจัด เกิดจากปัจจัยภูมิประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา เป็นต้นเหตุ
เมืองลำปาง มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินหรืออ่างเรียกว่า “อ่างลำปาง” เป็นอ่างที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งปัจจัยแรกง่ายๆ เลย คือ จะทำให้อากาศไม่สามารถระบายหรือถ่ายเทออกไปได้โดยง่าย
อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวเร่งมวลอากาศให้สะสมยิ่งขึ้นก็คือ “ลม” ยามเมื่อพัดผ่านยอดเขาก็จะหอบหิ้วเอาอากาศ ณ เวลานั้น เคลื่อนตัวลงสู่ตีนเขาส่งผลให้สภาพอากาศดังกล่าวแผ่ลงสู่พื้นที่จังหวัดลำปาง เมื่อร้อนก็จึงร้อนจัด เมื่อเย็นก็จึงเย็นจัด…
พื้นที่อีก 1 แห่ง ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย คือ “จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายคลึงกันกับลำปาง แต่ด้วยความสูงของพื้นที่มากกว่าส่งผลให้เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2559 อุณหภูมิความร้อนแตะขีดสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียส
นี่เป็นเหตุ เป็นผล ที่อธิบดีกรมอุตุชี้แจงไว้เมื่อ พ.ศ.2562

เรื่องราวของ อ.เถิน น่าสนใจ ผู้เขียนขอเสริมเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์นะครับ คัดลอกจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
….พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ เจ้ากาวิละให้ท้าวชุมพูไปสังหารข้าหลวงพม่าที่กำกับเมืองเถิน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาประทับพักที่เมืองเถินก่อน แล้วแบ่งกองทัพไปตีเมืองลี้ เมื่อสามารถตีได้เมืองเชียงใหม่สำเร็จ กองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกลับทางด่านแม่พริก สร้างพระตำหนักพลับพลาพักแรมชั่วคราวริมแม่น้ำวัง เมืองเถิน แล้วล่องแม่น้ำปิงที่เมืองตาก
พระเจ้าตากสินมหาราชฯ เสด็จประทับแรม ณ พระตำหนักค่ายลำปาง เสด็จมาถึงพระตำหนักที่ประทับท่าเรือเมืองเถิน

พ.ศ.2424 คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักสำรวจชาวนอร์เวย์ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสำรวจในสยาม วันที่ 22 ธันวาคม เดินทางถึงเมืองเถิน คาร์ล บ็อค ได้กล่าวถึงเมืองเถินในบันทึกว่า
…“เราไม่พบผู้คนสักคนเดียวในระหว่างทางเป็นเวลา 5 วัน แต่ตอนบ่ายวันที่ 22 ธันวาคม เราข้ามแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำปิงและถึงเมืองเถิน (Muang Tunn ฉบับแปลไทยแปลผิดเป็นเมืองตุ่น)เมืองนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ มีพลเมืองประมาณ 1,000 คน ไม่นับผู้หญิงและเด็ก ซึ่งทางราชการไม่นับว่ามีความสำคัญพอที่จะรวมเข้ากับจำนวนพลเมืองที่ทางราชการต้องการ ถึงแม้จะอยู่ในเขตแดนของภาคกลางห่างจากเมืองระแหงตามเส้นทางโดยตรงประมาณ 60 ไมล์ เมืองนี้ก็เป็นที่อยู่ของชาวเหนือทั้งหมด ไม่มีคนไทยอยู่ที่นี่สักคนเดียว บริเวณใกล้ๆ กับตัวเมืองมีการปลูกยาสูบกันมาก และมักจะปลูกกันตามสองฝั่งน้ำในระหว่างฤดูแล้ง ซึ่งในปีหนึ่งๆ มีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน” (จากบันทึก Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao)

Advertisement

เรื่องสำคัญยิ่งของ อ.เถิน ที่ไม่บอกกล่าว…ไม่ได้ครับ
สถานที่สำคัญใน อ.เถิน คือ วัดภูนเรศ เป็นโบราณสถาน ที่เชื่อได้ว่าเป็นพลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งนำทัพสยามไปตีกรุงอังวะและเป็นที่พักพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต วัดนี้อยู่ที่ ถ.พหลโยธิน ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง

กลับมาเรื่องของ “ความร้อน” ที่ทั่วโลกต่างประสบพบเจอพิษภัย มิใช่แต่ประเทศไทย
พื้นที่อื่นๆ ของโลกเป็นอย่างไร เขาร้อนกันแค่ไหน
มีข้อมูลว่า… ปี 2566 ที่ผ่านมาอาจจะร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 100,000 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิด “เอลนีโญ” (ภาษาสเปน : El Nio) อันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกจะปลดปล่อยความร้อนออกมา ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป จีน และมาดากัสการ์ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 ที่จะกลายเป็นที่ร้อนยิ่งกว่าปีที่ผ่านๆ มา

“เอลนีโญ” เป็นภาษาสเปน ซึ่งแปลว่า “เด็กชาย” และหมายความถึงบุตรพระคริสต์
นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ปี 2567 อุณหภูมิทั่วโลกจะร้อนขึ้นจนทุบสถิติ เนื่องจาก “เอลนีโญ” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าแอมะซอน หรืออะแลสกาที่มีน้ำแข็งปกคลุมทั้งปีก็หนีไม่รอด
เอลนีโญก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย อย่างเช่นอุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเศรษฐกิจเน้นเกษตรกรรมและการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และก่อให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนเหนือของออสเตรเลีย
โดยทั่วไปแล้ว เอลนีโญสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศา
22 มิถุนายน 2564 คูเวตเป็นประเทศที่ถูกบันทึกว่า มีอุณหภูมิร้อนที่สุดในโลก ถึง 53.2 องศา
ราว 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) สภาวะโลกร้อน (Global warming) และปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ต่อชาวโลกกันแบบจริงจัง เชื่อกันว่า ถ้าเรามิใช่นักวิชาการ มิใช่นักวิทยาศาสตร์ ก็ปล่อยให้เข้าหูซ้ายออกหูขวากันไป
ทำงานหาเงินมาติดแอร์ ซื้อพัดลม ก็เท่านั้น

Advertisement

ต้องยอมรับความจริงว่า ประชากรเพิ่มขึ้น ศูนย์การค้า แทบทุกอาคารที่พัก สถานที่ราชการ ร้านค้าศาลาสวดศพ โรงพยาบาล กุฏิพระ ก็ขวนขวายติดแอร์ เพื่อชีวิตที่เป็นสุข
ห้องพักอาจารย์ ห้องเรียนของโรงเรียน ถ้ามีเงินพอ ก็ไม่รีรอที่จะต้องหาทางให้พ้นทุกข์จากความร้อนที่เพิ่มขึ้นแบบโหดร้าย
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแถลงออกมาเป็นเรื่องจริงปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่แพร่กระจายถึงกันหมด ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ประสบกับภัยพิบัติด้านภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน และไฟป่าเพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้โดยมากเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกอย่างไม่อาจกลับคืนได้
บทความทางวิชาการ งานวิจัย ของสถาบันต่างๆ ในประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องความร้อน ภาวะแล้งขาดน้ำ ผลเสียหายต่อเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน บอกได้แม่นยำ พยากรณ์อากาศแบบมืออาชีพ คนไทยในประเทศมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เรื่องการเข้าถึงน้ำ
เกษตรกรในบางพื้นที่ คือผู้ประสบชะตากรรมเสมอมา
อากาศร้อน เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้
แต่ปัญหาเรื่อง “การจัดการน้ำแบบองค์รวม” เป็นเรื่องที่น่าจะต้องสำเหนียก ใส่ใจ ใส่เงิน ลงมือทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image