คิด ทำการใหญ่ วัดได้ จาก กำลัง ‘ศึก’ ศักยะ การ ‘นำ’

คิด ทำการใหญ่ วัดได้ จาก กำลัง ‘ศึก’ ศักยะ การ ‘นำ’

การได้ตัวหานซิ่นเข้ามาโดยการผลักดัน “ร่วม” ของจางเหลียงและเซียวเหอได้กลายเป็นองค์ประกอบอันเป็นคุณ

สร้างจุดได้เปรียบของฮั่นอ๋องที่เหนือฌ้อปาอ๋อง

ยิ่งหากพิจารณาผ่าน “วิเคราะห์ท้ายบท” จากไฉ้ตงฝานผ่านสำนวนแปล วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์

Advertisement

ยิ่งสมควรล้างหูน้อมรับฟังอย่างเป็นพิเศษ

จางเหลียงเผาทำลายสะพานข้ามเหว คือความพิเศษอย่างยิ่ง เซียวเหอตามหาคนหนีโดยส่วนตัว เป็นความพิเศษที่สอง

หานซิ่นเป็นแม่ทัพใหญ่ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) เป็นความพิเศษที่สาม

Advertisement

ทั้ง 3 ความพิเศษอันมีองค์ประกอบมาจาก 1 จางเหลียง 1 เซียวเหอ และ 1 หานซิ่นนี้เอง

นำไปสู่บทสรุปอันรวบรัดของพระเจ้าฮั่นโกโจ

ไม่ว่าจะนำสำนวนแปลจากยุทธนิยาย “ไซฮั่น” ไม่ว่าจะนำสำนวนแปลจากหนังสือฉางต่วน
จิงก็จะสัมผัสได้ในผลึกทางความคิด

กระแสดำรัสของพระเจ้าฮั่นโกโจใน “ไซฮั่น” ดำเนินมา

“เรากระทำการใหญ่ได้สำเร็จครั้งนี้เพราะประกอบด้วยกำลังศึกสามประการ ประการหนึ่งคือจางเหลียง รู้กลอุบายลึกซึ้ง

คิดอ่านป้องกันภัยทั้งปวงไปถึงพันโยชน์ ก็เป็นกำลังประการหนึ่ง

ประการหนึ่ง เซียวเหอ ซึ่งไปรักษาเมืองเสียนหยาง เกลี้ยกล่อมคนให้ทำไร่ไถนาได้ข้าวปลาอาหารไว้บริบูรณ์เรากระทำศึกจึงไม่ขาดเสบียงอาหาร ก็เป็นกำลังศึกษาสองประการ

ประการหนึ่ง หานซิ่น ชำนาญในพิชัยสงคราม รู้ตั้งค่ายแลจัดแจงกองทัพ จึงมาตรว่าคน
สักร้อยหมื่นสองร้อยหมื่น หานซิ่นก็เป็นแม่ทัพคุมไว้ได้

อันคนสามคนนี้คือกำลังศึกของเรา จึงทำการใหญ่ได้สำเร็จ”

ความจากยุทธนิยายเรื่อง “ไซฮั่น” ย่อมสอดรับกับเมื่อเจ้าหยุยรจนาหนังสือ “ฉางต่วนจิง” แล้ว อธิคม สวัสดิญาณ แปลมาเป็น

“ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่น พลิกแพลง” นั่นคือ

“ข้าฯไม่อาจเทียบกับจางเหลียงได้ในด้านการวางแผนในกระโจม คว้าชัยพันลี้

ข้าฯไม่อาจเทียบกับเซียวเหอในด้านทำนุ บำรุงสุขราษฎร สนองธัญญาหารแก่แนวหน้า รักษาความสงบของประเทศชาติ

ข้าฯไม่อาจเทียบกับหานซิ่น ในด้านศิลปะแห่งการนำทัพ คุมกำลังพลนับล้านรบชนะทุกครั้ง

จางเหลียง เซียวเหอ และหานซิ่น ล้วนเป็นยอดคนในแผ่นดิน

แต่ข้าฯสามารถช่วงใช้พวกเขา นี่คือ สาเหตุที่ข้าฯสามารถยึดครองแผ่นดิน” เช่นนี้จึงนำไปสู่บทสรุปของ “เจ้าหยุย”

ในบทว่าด้วย “คุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ”

จึงอาจกล่าวได้ว่า ใช้ปราชญ์เป็น คือ วิถีแห่งขัตติยราช ทำงานเป็น คือ วิถีแห่งขุนนาง

เหตุผลนี้จึงดุจเดียวกับวัตถุไร้รูป สามารถบงการสรรพสิ่ง ความไร้ต้นสายปลายเหตุ คือ รากฐานแห่งกรณีทั้งปวง

ดังหนึ่งกลองมิได้อยู่ในเสียงทั้งห้าเสียง

ในทางปรัชญาของจีนสมัยโบราณ แบ่งออกเป็นห้าเสียง ได้แก่ กง ซาง หวี่ เจิง เจียว

กลับเป็นนายแห่งเสียงทั้งห้า

กษัตริยราชผู้รู้แจ้งในขัตติยมรรคมิได้ก้าวก่ายงานของเสนาอำมาตย์ กลับคือผู้บงการความเป็นไปทั้งมวล

กษัตริยราชยืนหยัดในหลักแห่งการใช้ปราชญ์โดยระมัดระวัง

เสนาอำมาตย์ต่างปฏิบัติหน้าที่โดยรับผิดชอบ

นี่เป็นเรื่องมีมูลฐาน

บูรพกษัตริย์สำนึกในเหตุผลข้อนี้ดีจึงสามารถใช้ข้อเด่นของผู้อื่นประหนึ่งข้อเด่นของตนเอง

เพราะรู้แจ้งในขัตติยมรรคโดยแท้

ดังนั้น ตั้งปราชญ์เป็นขุนนางน้อยใหญ่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ คือ คุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ

ชอบขบคิดวางแผนมิรู้เหนื่อยหน่ายคือ คุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ

จิตใจกว้างขวาง ชนะใจคนทั้งมวล คือ คุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำ

ขัตติยราชมีภารกิจขัตติยราช กษัตริยราชผู้เป็นที่รักใคร่และหวั่นเกรงในขณะเดียวกันของเหล่าเสนาอำมาตย์และอาณาประชาราษฎร์

จึงจะสามารถภารกิจอันยิ่งใหญ่ของกษัตริยราชได้

เหตุเพราะหนังสือ “ฉางต่วนจิง” เป็นงานนิพนธ์อันบรรเจิดของ “เจ้าหยุย” ปราชญ์ในยุคแห่งราชวงศ์ถัง

อธิคม สวัสดิญาณ เมื่อนำมาแปลจึงดำเนินไปในลักษณะแห่งการรจนา

1 รจนาให้ประจักษ์ในจุดเด่นแห่งขัตติยมรรคของกษัตริยราช ขณะเดียวกัน 1 รจนาให้ประจักษ์ในจุดเด่นแห่งเสนาอำมาตย์

ผู้ลงมือปฏิบัติ สนองรับพระบรมราชโองการ

การศึกษาเรื่องราวของหานซิ่นซึ่งเป็นขุนพลระดับแม่ทัพ จึงมิอาจศึกษาได้อย่างโดดๆ หรือแยกห่าง

จำเป็นต้องศึกษาอย่างสัมพันธ์

และสัมพันธ์กับบทบาทของฮั่นอ๋องซึ่งต่อพัฒนายกระดับปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าฮั่นโกโจ

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น

ขณะเดียวกัน เมื่อศึกษาอย่างสัมพันธ์กับฮั่นอ๋องก็มิอาจแยกได้กับความสัมพันธ์ของจางเหลียง ของเซียวเหอ

แต่ละห่วงโซ่จึงร้อยเชื่อมเป็นหนึ่งเดียว

เนื่องจากวิถีดำเนินของแต่ละชีวิตก็เช่นเดียวกับดวงดาราในสากลจักรวาล ด้านหนึ่ง ดำรงอยู่อย่างเป็นตัวของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็ดำรงอยู่อย่างได้รับผลสะเทือนจากคนอื่น

ภายในผลสะเทือนที่ได้รับจากคนอื่นและสิ่งอื่นในสภาวะที่แน่นอนหนึ่งก็ส่งผลสะเทือนต่อคนอื่นและสิ่งอื่นด้วย

นี่คือ สภาวะเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันและกัน

จำเป็นต้องจับตาไปยัง 3 องค์ประกอบอันถือได้ว่าเป็น “กำลังศึก” ที่ประสานและยึดโยงระหว่างแต่ละส่วน

ดำรงอยู่อย่าง “กระจาย” ดำรงอยู่อย่าง “รวมศูนย์”

ในเมื่อเซียวเหอรับผิดชอบด้านการส่ง “กำลังบำรุง” ในเมื่อจางเหลียงรับผิดชอบด้าน “การวางแผน”

ทั้งด้าน “การเมือง” ทั้งด้าน “การทหาร”

ในเมื่อมีหานซิ่นซึ่งไม่เพียงเจนจบในตำราพิชัยสงคราม หากแต่รู้จักปรับประสานอย่างสอดรับกับภูมิประเทศ

เหมือนกับดำเนินไปอย่าง “เอกระ” กระจัดกระจาย

แต่เส้นทางไม่ว่าจะมาจากเซียวเหอ ไม่ว่าจะมาจากจางเหลียง ไม่ว่าจะมาจากหานซิ่น

ล้วนรวมศูนย์บรรจบไปยังฮั่นอ๋อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image