เพราะเหตุใด OECD จึงมีความสำคัญ ต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เพราะเหตุใด OECD จึงมีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เนื่องในโอกาสที่ปีนี้ ครบรอบ 60 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นจะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมนี้ในฐานะประธานคณะมนตรี OECD (MCM) โดยมีอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และลาว (ประธานอาเซียน) รวมทั้งสํานักงานเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย และในฐานะที่เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ญี่ปุ่นจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้ OECD เข้าไปมีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยร่วมมือกับนานาประเทศในภูมิภาคที่สำคัญนี้ ในการร่วมกันวางนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง และค้นหาแนวทางในการสร้างกฎระเบียบร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น

สืบเนื่องมาจากการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียนเมื่อปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ.2567 เราได้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่าง OECD และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ประเทศไทยหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในเขตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงเจตจำนงที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD การตัดสินใจในครั้งนี้ถือเป็นผลสำเร็จจากการที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมกับ OECD มาโดยตลอด นอกจากนี้ OECD ยังได้เริ่มพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2565 สิงคโปร์และสํานักงานเลขาธิการอาเซียน ต่างได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ OECD เนื่องในโอกาสแห่งความทรงจำนี้ ข้าพเจ้าขอทบทวนถึงความสำคัญของการที่ OECD ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงเจตจำนงของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD

OECD ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎระเบียบ เสนอแนะแนวทางการวางนโยบายและสร้างแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายผ่านการรวบรวมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและการพิจารณาตรวจสอบระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งกฎระเบียบและมาตรฐานที่กำหนดโดย OECD นั้นได้กลายมาเป็นรากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงทั่วโลก

Advertisement

ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นของ OECD ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์โดยสามารถใช้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์จาก OECD ในการปฏิรูปภายในประเทศในส่วนที่จำเป็น รวมถึงได้รับข้อเสนอแนะมากมายที่จะช่วยให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เมื่อประเทศไทยนำกฎระเบียบและมาตรฐานของ OECD มาใช้ จะช่วยดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทย เพราะเมื่อมีเงินลงทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็จะสามารถอุดช่องว่างของอุปสงค์ด้านเงินทุนได้ และนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริง

ในอีกด้านหนึ่ง OECD ควรตอบสนองต่อสภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อกำหนดกฎระเบียบของยุคสมัยใหม่ ในปี พ.ศ.2543 มูลค่า GDP รวมของกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ซึ่งคิดเป็น 80% ของ GDP โลก ได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ 60% ในปี พ.ศ.2563 ทั้งนี้ แม้ว่าศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ประเทศสมาชิกของ OECD ทั้งหมด 38 ประเทศ กลับยังคงเป็นกลุ่มประเทศยุโรปมากถึง 26 ประเทศ และมีประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา OECD ได้มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก เช่น ส่งเสริมการค้าเสรี และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน จึงถึงเวลาแล้วที่ OECD ควรจะต้องส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและอิทธิพลบนเวทีโลก รวมถึงขยายขอบเขตของความหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางเศรษฐกิจด้วย กฎระเบียบจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในการร่างกฎระเบียบและบังคับใช้จริงเท่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่ากุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ คือการที่ OECD เข้ามากระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดในโลก

เพื่อผลักดันการเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของ OECD ให้เดินหน้าต่อไป ในปีนี้ถือเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการ OECD Southeast Asia Regional Programme (SEARP) ที่จัดตั้งในการประชุม MCM เมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งริเริ่มโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ OECD ให้มากยิ่งขึ้น ในโอกาสสำคัญนี้ ญี่ปุ่นมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่าง OECD และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเตรียมความพร้อมให้การเติบโตอย่างยั่งยืนของทั้งเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเศรษฐกิจโลก

Advertisement

ในฐานะประธานการประชุม ญี่ปุ่นยังได้เตรียมหัวข้อที่ครอบคลุมในหลายมิติ มานำเสนอในวาระการประชุม MCM เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการประชุม MCM ในปีนี้ ญี่ปุ่นจะใช้โอกาสนี้ มุ่งเน้นให้ OECD เข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมเสรีภาพและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอันมีกฎระเบียบเป็นพื้นฐาน

คามิกาวะ โยโกะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image