ว่าด้วยคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์

ว่าด้วยคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน โดย ปิติ ปัฐวิกรณ์

เมื่อประมวลคดีที่เกี่ยวข้องกับ “หมูเถื่อน” สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคดี อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ 1 กลุ่มคดี … อีก 3 กลุ่มเป็นความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI โดยในกลุ่มคดีแรกดูจะมีการพิพากษากันไปบ้างแล้ว เช่น คดี สภ.สะเดา ที่มีการตัดสินจำคุกผู้ต้องหา 4 คนๆละ 6 เดือน โดยให้รอลงอาญา 1 ปี พร้อมค่าปรับอีกคนละกว่า 8 ล้านบาท กลุ่มคดีนี้ยังมีเหลืออีก 2 คดีคือ คดีนาสาครและคดีห้องเย็น MK ซึ่งไม่น่ามีอะไรในกอไผ่ รอเวลาให้กฎหมายดำเนินไปตามครรลอง

แต่อีก 3 กลุ่มคดีในความรับผิดชอบของ DSI ที่ประกอบไปด้วย 1.) คดี 161 ตู้ 2.) คดี 2,385 ใบขน และ 3.) คดีตีนไก่หมื่นตู้ นับเป็นกลุ่มคดีที่น่ากังวลว่าอาจสะดุดหยุดชะงัก เพราะเจอผู้มีอิทธิพลตัวเป้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กลุ่มคดีที่สอง : คดี 2,385 ใบขน ที่เป็นการสำแดงเท็จเข้ามายังราชอาณาจักรไทย และนำออกไปกระจายขายในประเทศไทยแล้วกว่า 60,000 ตัน

Advertisement

DSI เผยถึงคดีนี้ว่า อาจใช้ช่องทางความร่วมมือทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty : MLAT) เพื่อขอให้มีการจัดส่งเอกสารหลักฐานจากประเทศต้นทางบริษัทส่งออกหมูเถื่อน ทั้งจากบราซิลและบริษัทในยุโรป เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการปลอมใบ Invoice หรือไม่ ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น เพราะหมูเถื่อนทั้ง 2,385 ใบขนนั้น ถูกกระจายขายไปทั่วประเทศไทยแล้ว มีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นแล้ว เป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว ลำพังแค่นำสินค้าออกจากท่าเรือโดยสินค้าที่แจ้งไม่ตรงกับสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ก็เป็นความผิดชัดเจนแล้ว ถ้าจะดำเนินคดีภายใต้กฎหมายไทยก็ทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องประสานประเทศต้นทางเพื่อถามหา Invoice ใดๆ

กูรูในแวดวงกฎหมาย ให้ข้อมูลว่าการกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนการนำคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขน ไปพิจารณาเป็น “คดีนอกราชอาณาจักร” ที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งในขั้นตอนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะกินเวลาสอบสวนอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยไม่จำเป็น

Advertisement

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ถึงกับปรารภว่า กรณีนี้ดูเหมือน DSI จะประวิงเวลา ซึ่งไม่รู้ว่าทำไปเพื่อใคร ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทุกคนเฝ้ามองการทำคดีดังกล่าวด้วยความหนักใจ เกรงว่าเรื่องจะเงียบหาย และพยายามอย่างยิ่งที่จะติดตามเรื่องราวคดีหมูเถื่อนให้ถึงที่สุด โดยยังรอผลการดูแลของภาครัฐอย่างใจจดจ่อว่าจะไปถึงไหน … และใครคือผู้บงการที่จะถูกดำเนินคดี

ล่าสุด ต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมฯได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมศุลกากร ขอให้สานต่อการแก้ปัญหาหมูเถื่อนของคณะทำงานฯ หลังว่างเว้นการประชุมหารือแก้ปัญหาไปนาน พร้อมทวงถามความคืบหน้าในหลายๆ กรณี เช่น การสำแดงเท็จว่าเป็นปลาแช่แข็งในคดี 2,385 ใบขน ยังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในการออกใบอนุญาตจากกรมประมง หรือการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างในท่าเรือกรุงเทพและลาดกระบัง รวมถึงพื้นที่ Free Zone ที่มีแนวโน้มว่าจะมีหมูเถื่อนบรรจุอยู่ แต่ก็ยังไม่มีรายงานการตรวจค้นใดๆออกมา

 

 

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้มีข้อมูล หลักฐาน ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆที่จะช่วยขับเคลื่อนคดีให้เดินหน้าต่อไปได้ โปรดอย่าลืมว่าหมูเถื่อนสร้างหายนะให้คนเลี้ยงหมูจำนวนมากมานานกว่าปี เกษตรกรหลายรายต้องปิดฟาร์ม เลิกอาชีพ อย่าให้คนเลี้ยงหมูต้องรู้สึกว่าได้รับการปกป้องน้อยกว่า “ผู้ร้าย” ในขบวนการหมูเถื่อน ที่ประกอบไปด้วย นายทุน นักการเมือง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอรัปชั่น

หาก DSI ยุติแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินคดี 2,385 ใบขนเป็นคดีนอกราชอาณาจักร รวมถึงกรมศุลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือหาข้อเท็จจริง พร้อมสืบสวนสอบสวนและสนับสนุนการดำเนินคดีของ DSI อย่างโปร่งใส โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ การขับเคลื่อนคดีหมูเถื่อน 2,385 ใบขนนี้ก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะจับกุมผู้ร้ายได้ในเวลาไม่ช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image