ภาพเก่าเล่าตำนาน : เหตุปัจจัยทำให้…อาณาจักรโรมันล่มสลาย

โรมไม่ได้ล่มสลายในชั่วข้ามคืน แต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก เป็นผลของความเสื่อมจาก “ภายใน” ที่เกิดขึ้นตลอดหลายศตวรรษ เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองและการเงิน และการรุกรานของชนเผ่าดั้งเดิมที่ย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนโรมัน

จักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ เป็นรากฐานของอารยธรรม สถาปัตยกรรมในโลกตะวันตก อาณาจักรโรมันรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ เป็นอารยชน เป็นที่ยอมรับมาถึงปัจจุบัน หากแต่ก็มีโศกนาฏกรรมทางการเมืองถูกบันทึกไว้มากมายหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงวงจรชีวิตอันดำมืดของจักรพรรดิโรมันหลายพระองค์ที่ได้ขึ้นครองราชย์โดยไม่คาดฝัน บ้างก็ถูกสังหารจนสิ้นชีพไปก่อนวัยอันควร

สถาปัตยกรรมโรมัน ประยุกต์มาจากสถาปัตยกรรมกรีกตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสต์ศักราชมาเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของตนเอง ลักษณะสถาปัตยกรรมทั้งสองถือว่าเป็น “สถาปัตยกรรมคลาสสิก”

“กรุงโรม” เคยเป็นเพียงแค่เมืองที่มีเนินเขาเล็กๆ

Advertisement

วันหนึ่ง…นักรบและวิศวกรที่มีความสามารถก็เข้ายึดพื้นที่ชนบทโดยรอบ กรุงโรมเริ่มแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ประมาณ 510 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นก็ยึดครองเป็นพื้นที่ของอิตาลี ต่อมาขยายตัวไปเป็นพื้นที่รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขยายไปถึงเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

ชาวโรมันนี่แหละที่ “คิดสร้าง” สถาปัตยกรรมการใช้ “ยอดโค้ง” (Vault) และซุ้มโค้ง ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับวัสดุสำหรับการก่อสร้าง วิศวกรชาวโรมัน ประสบกับความสำเร็จในสิ่งก่อสร้างอันใหญ่โต น่าประทับใจสำหรับสาธารณชน เช่น สะพานส่งน้ำโรมัน โรงอาบน้ำไดโอคลีเชียน และโรงอาบน้ำคาราคัลลา บาซิลิกา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “โคลอสเซียม” ในกรุงโรม ซึ่งกลายมาเป็นแบบจำลองในการสร้างสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันตามมหานครและนครต่างๆ ไปทั่วทั้งจักรวรรดิ

กว่า 2 พันปีที่แล้ว ชาวโรมันออกแบบ เลือกใช้วัสดุสำหรับสร้างถนนในเมืองต่างๆ รวมไปถึงในอาณาจักรที่ไปปกครอง ถนนบางเส้นยังคงทนทาน สามารถอวดสายตาชาวโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ถนนในกรุงโรมในโลกยุคโบราณไม่มีใครเทียบได้ ออกแบบมาเพื่อการคมนาคมที่ค่อนข้างรวดเร็วและปรับให้เข้ากับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การพาณิชย์ เกษตรกรรม การส่งไปรษณีย์ การสัญจรทางเท้า

Advertisement

โรมเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในย่านเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด รวมถึงยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ ยึดพื้นที่ขนาดใหญ่ของแอฟริกาเหนือ

ชนชาตินี้ได้รับพรสวรรค์ในด้านศิลปะประยุกต์ กฎหมาย การปกครองการวางผังเมืองและรัฐศาสตร์ กฎหมายโรมันถือเป็นเนื้อหาตัวอย่างและความคิดเห็นที่ซับซ้อนซึ่งเป็นเหตุเป็นผล ชาวโรมันวางรากฐาน โครงสร้างความยุติธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดได้รับการประมวลขึ้นในศตวรรษที่ 6

จักรวรรดิโรมันโดดเด่นด้วยกองทัพอันเกรียงไกร ยิ่งใหญ่ เมื่อยาตราทัพไป ณ แห่งหนใด กองทัพโรมันมีชัยชนะทุกสนามรบ นักวางผังเมืองชาวโรมันบรรลุมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งระบบประปา การกำจัดสิ่งปฏิกูล เขื่อน และท่อระบายน้ำ

สถาปัตยกรรมโรมัน แม้ว่าจะเลียนแบบสไตล์กรีก แต่ก็มีการวางแผนอย่างกล้าหาญและดำเนินการอย่างหรูหรา “ซุ้มประตูชัย” เป็นที่รำลึกถึงโอกาสสำคัญของรัฐ และโรงอาบน้ำโรมันอันโด่งดังถูกสร้างขึ้นเพื่อชำระล้างร่างกายที่เป็นต้นแบบของที่อาบน้ำในยุโรป

แม้กระทั่ง “ภาษาละติน” ซึ่งเป็นภาษาของชาวโรมันก็กลายเป็นสื่อกลางสำหรับผลงานต้นฉบับที่สำคัญในอารยธรรมตะวันตก คำปราศรัย บทละคร บทกวี ตำรา คำศัพท์ทางการแพทย์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมรดกจากกรุงโรม

ความยิ่งใหญ่ รุ่งโรจน์ของอาณาจักรโรมัน กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ชาวโลกศึกษา ในเวลาเดียวกัน… “การล่มสลายของโรม” ก็เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ใครก็คาดไม่ถึง…

นักประวัติศาสตร์ ศึกษา รวบรวมข้อมูลแห่ง “ความเสื่อม” ไว้บางส่วนดังนี้…

กองทัพของโรมสำเริง สำราญ หันไปเซ็งลี้ ขาดผู้นำที่แท้จริง ข้าศึกที่แข็งแกร่งจากภายนอกมารุกราน กลุ่ม “คนป่าเถื่อน” ในปี 410 กษัตริย์วิซิกอธ นำทัพมาทำสงครามกับกรุงโรม

แม้ว่ากรุงโรมจะถูกโจมตีจากข้าศึกภายนอก แต่ก็พังทลายลงจาก “ภายใน” ด้วยเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่รุนแรง สงครามและการใช้จ่ายเกินตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินกองทุนของจักรวรรดิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดช่องว่าง-ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยและคนจน สมาชิกชนชั้นมั่งคั่งจำนวนมากจึงหนีไปยังชนบทด้วยความหวังว่าจะหลีกเลี่ยงภาษีได้

จักรวรรดิโรมันพึ่งพาแรงงานทาสเป็นหลัก เศรษฐกิจของโรมขึ้นอยู่กับทาสในการทำไร่นาและทำงานเป็นช่างฝีมือ ตามธรรมเนียมแล้วกองทัพของโรมจะกวาดต้อนเชลยศึกที่แพ้สงครามให้มาทำงาน หากแต่เศรษฐกิจถดถอยและการผลิตเชิงพาณิชย์และเกษตรกรรมลดลง จักรวรรดิจึงไม่สามารถหาทาสมาทำงานได้

การขยายตัวและการใช้จ่ายทางทหาร “เกินตัว” ไปมาก เมื่อขยายดินแดนไปสุด จักรวรรดิโรมันทอดยาวตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงแม่น้ำยูเฟรติสในตะวันออกกลาง อาณาเขตที่กว้างใหญ่ที่ต้องปกครอง จักรวรรดิจึงต้องเผชิญกับวิกฤตด้านการเงิน แม้จะมีระบบถนนที่ยอดเยี่ยม ชาวโรมันก็ไม่สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพมากพอในดินแดนที่ตนครอบครองได้

ปัญหาการทุจริตของรัฐบาลและความไม่มั่นคงทางการเมืองทำให้การปกครองเป็นเรื่องยาก ความเป็นผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดเอกภาพ การแย่งชิงอำนาจกัน คือ ปัญหาที่รอวันแตกหัก

การเป็น “จักรพรรดิแห่งโรมัน” เป็นตำแหน่งที่แสนอันตรายยิ่ง สงครามกลางเมืองทำให้จักรวรรดิตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย มีนักรบมากกว่า 20 คนขึ้นครองบัลลังก์ในช่วงเวลาเพียง 75 ปี ซึ่งโดยปกติจะเป็นหลังจากการฆาตกรรมบรรพบุรุษของพวกเขา

Praetorian Guard ซึ่งเป็นองครักษ์ส่วนตัวของจักรพรรดิ ได้ลอบสังหารและตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ตามต้องการ และครั้งหนึ่งเคยประมูลตำแหน่งดังกล่าวให้กับผู้ที่เสนอราคาสูงสุดด้วยซ้ำ ความเน่าเฟะทางการเมืองยังขยายไปถึง “วุฒิสภา” โรมันด้วย เนื่องจากการคอร์รัปชั่นและไร้ภาวะผู้นำ เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง ความภาคภูมิใจของพลเมืองก็ลดลง ชาวโรมันจำนวนมากก็สูญเสียความไว้วางใจในตัวผู้นำ

ความเสื่อมโทรมของกรุงโรมเกี่ยวโยงกับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ การผงาดขึ้นของศรัทธาใหม่มีส่วนทำให้จักรวรรดิล่มสลาย พระราชกฤษฎีกาแห่งมิลานทำให้ศาสนาคริสต์ถูกต้องตามกฎหมายในปี 313 และต่อมาได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติในปี 380

ศาสนาคริสต์เข้ามาแทนที่ศาสนาโรมันที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ ซึ่งมองว่าจักรพรรดิมีสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ และยังหันเหความสนใจจากความรุ่งโรจน์ของรัฐและมุ่งความสนใจไปที่เทพเจ้าองค์เดียว

ในขณะเดียวกัน พระสันตะปาปาและผู้นำคริสตจักรอื่นๆ สร้างบทบาทมากขึ้นในกิจการการเมือง และทำให้การปกครองมีความซับซ้อน สับสนมาก

เลวร้ายที่สุด คือ ความอ่อนแอของกองทัพโรมัน

ประวัติศาสตร์การทำสงครามของโลกใบนี้ กองทัพของโรมเป็นที่อิจฉาของกองทัพทั่วโลกในความเกรียงไกร แข็งแกร่ง มีวินัย กล้าหาญอดทน รบชนะทุกสมรภูมิ แต่ในช่วงที่กองทัพเสื่อมถอย ประชาชนไม่มาสมัครเป็นทหาร ทหารไม่เพียงพอ จักรพรรดิเช่นไดโอคลีเชียนและคอนสแตนติน จึงเริ่มจ้างทหารรับจ้างจากต่างประเทศมาหนุนกองทัพของตน

ในที่สุด… กองทัพก็ขยายใหญ่ขึ้น เต็มไปด้วยพวกชาวเยอรมันดั้งเดิมและคนป่าเถื่อนอื่นๆ มากเสียจนชาวโรมันเริ่มใช้คำภาษาละตินว่า “บาร์บารัส” แทนคำว่า “ทหาร”

ทหารชาวเยอรมันเหล่านี้แม้จะเป็นนักรบที่ดุร้าย แต่พวกเขาก็แทบไม่มีความจงรักภักดีต่อจักรวรรดิเลยหรือแทบไม่มีเลย และเจ้าหน้าที่ที่หิวกระหายอำนาจมักจะขัดขืนต่อผู้บังคับบัญชาชาวโรมัน

วันที่ตกลงกันโดยทั่วไปสำหรับการล่มสลายของกรุงโรม คือ วันที่ 4 กันยายน ค.ศ.476 ในวันนี้ กษัตริย์ Odoacer ชาวเยอรมันได้บุกโจมตีกรุงโรมและโค่นล้มจักรพรรดิ นำไปสู่การล่มสลาย

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image