รุ่งเรือง พิทยศิริ : บนสายธารการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ เราอยู่ตรงไหน

รุ่งเรือง พิทยศิริ : บนสายธารการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ เราอยู่ตรงไหน

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกหลายอย่าง เรื่องหนึ่งที่เลี่ยงไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ เศรษฐกิจจีน

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนนับแต่ต้นปีมา ข่าวคราวความคืบหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจดูเหมือนผิดคาด ทุกคนคาดหวังกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากการคลายปมล็อคดาวน์ ทุกคนคาดหวังว่าชาวจีนจะเดินทางทั้งในและนอกประเทศ และการผลิตจะขยับขยายตัวอย่างมีโมเมนตัม แต่ปรากฎว่าความคาดหวังแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ร้อยละ 5 เหมือนกับว่าต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก และที่เติบโตได้ก็มาจากการลงทุนของประเทศฝั่งตะวันตก ญี่ปุ่น และอุตสาหกรรมไฮเทคยักษ์ใหญ่ ที่สร้างโรงงานใหญ่ๆทั้งนั้น มีแค่ช่วงตรุษจีนเท่านั้นที่มีการขยายตัวจากการเดินทางที่สูงกระโดด นอกนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็กลับมาแผ่วเหมือนเดิม ส่วนสำคัญมาจากผู้นำสูงสุดของประเทศ ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความมั่นคงภายในซะมาก เน้นการกระชับอำนาจ ปฏิรูปกลุ่มผู้บริหารประเทศ ขจัดกลุ่มผลประโยชน์ขัดกันออกไปในวงจรอำนาจ เน้นให้ความสำคัญกับนโยบายด้านต่างประเทศ แต่ขาดการโฟกัสเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญหายไป จึงทำให้เศรษฐกิจไหลไปตามวงจรเศรษฐกิจโลกซึ่งอ่อนกำลังอยู่แล้ว ในขณะที่ฝั่งตะวันตกและยุโรปพยายามสกัดข้อได้เปรียบด้านราคาของสินค้าจีนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ข้อได้เปรียบนี้รวมถึงความเด่นในด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของจีนไม่ได้รับการผลักดันออกมาเท่าที่ควร ทั้งๆที่จีนมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในหลายๆด้าน ในขณะที่ปัญหาหนี้เสียในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปีที่แล้วปล่อยให้กิจการขนาดใหญ่ล้มเอง จึงทำให้ค่าของเศรษฐกิจจีนอ่อนลงในเกือบทุกๆด้าน สะท้อนตัวเลขดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ แตกต่างจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ และของประเทศจีนเอง ที่เรียกกันว่า หุ้น A-SHARE ที่มีการควบคุมการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศหลายอย่าง จึงเกิดภาวะราคาหุ้นธุรกิจเดียวกัน แต่ราคาแตกต่างกันระหว่างสองตลาดอย่างน่าแปลกใจ

Advertisement

สถานการณ์แย่จนเชื่อว่า ท่านผู้นำคงทนไม่ไหว ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้จึงมีมาตรการณ์ฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมา ผ่านการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนบ้าน และลดตัวเลขเงินดาวน์ลงอย่างมาก พร้อมกับอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนรายได้น้อยได้ อย่างไม่มีข้อจำกัด มาตรการที่ออกก็ยังไม่ได้ทำให้นักลงทุนดีใจมากเท่าไหร่ เพราะยังไม่เห็นเม็ดเงินที่จะมากระตุ้นจริงๆ แต่ก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง ขณะนี้มีความคาดหวังว่า รัฐบาลจีนจะออกพันธบัตรจำนวนเงินมหาศาล รวมกันถึง 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 138,000 ล้านเหรียญสรอ แต่ยังไม่รู้ว่าเงินนี้จะเอามาทำอะไรบ้าง ตอนนี้เริ่มทยอยออกพันธบัตรกันบ้างแล้ว เป็นพันธบัตรระยะยาว

เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า รัฐบาลจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงจัง นับจากสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาณชีพทางเศรษฐกิจน่าจะได้รับผลดีแน่นอน แต่อย่างไรคงต้องรอดูกัน แต่ที่แน่ๆคือท่านผู้นำสูงสุดของจีนคงทนไม่ไหวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศตัวเอง จึงมีเหตุการณ์เหล่านี้ออกมา แล้วกลับมาที่ประเทศไทย เราเองก็คงทนไม่ไหวกับสถานการณ์ความซบเซาของเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ก็ยังทำอะไรมากไม่ได้เลย ยิ่งมาเจอเรื่องใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก ถ้ามีปัญหาออกมาจริง สถานการณ์เศรษฐกิจคงดูไม่จืดเลยครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงในเศรษฐกิจจีน คือ การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง การที่เศรษฐกิจจีนแม้จะซบเซาแบบของเขา แต่ก็ยังเติบโตได้ในระดับปานกลางถึงดีต่ำๆ อย่างร้อยละ 5 ไม่ใช่ร้อยละ 1.5 เหมือนบ้านเรา เพราะผู้ประกอบการเขามีการพัฒนาเทคโนโลยีจริงจังและมากมาย ไม่ว่าจะด้านซอฟแวร์ ด้านไอทีและเกมส์ ด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และข้อมูล รวมถึง Clouding ด้านธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการสื่อสาร ด้านยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีปริมาณสูงมาก ด้านธุรกิจป้องกันประเทศและอากาศยาน ด้านเครื่องจักรกลหนักและเบา ด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้านสินค้าเพื่อการบริโภคอุปโภคทั่วไป แม้กระทั่งด้านสินค้าศิลปะยุคใหม่ อย่างเช่นพวก Pop-art ความไม่หยุดยั้งของผู้ประกอบการจีน เป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้เศรษฐกิจเขาเติบโตได้ในระดับปานกลาง แม้ว่ารัฐบาลไม่ต้องมีมาตรการใดๆออกมา

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจด้าน Tech ขนาดยักษ์ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจย่อยด้านบนในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์มากมาย มีจำนวนมากและใหญ่จริง เช่น Alibaba Tencent Xiaomi HuaWei Baidu JD และอื่นๆอีกหลายกิจการ ธุรกิจเหล่านี้อยู่ในรายชื่อสิบรายใหญ่ที่สุดในเอเชียถึงเกือบครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี กระแสด้านการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ ถูกการคาดคะเนว่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือยัง มีคำถามเกิดขึ้นมาตลอด จนมีคำถามว่าการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่เรียกย่อๆ AI จะเป็นส่วนท้ายๆของยุคนี้หรือไม่ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเฝ้าติดตามว่าผลประกอบการของธุรกิจที่พัฒนาซิปคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ระบบการประมวลผลกราฟฟิคที่รองรับระบบปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นอย่างไรต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการตัวสำคัญที่พัฒนาระบบในการเป็น AI เช่น NVIDIA ของสหรัฐ จะเป็นอย่างไร

เมื่อไม่กี่วันก่อนโลกแห่งการลงทุนต่างหยุดนิ่งที่จะเฝ้าดูผลประกอบการของบริษัทแห่งนี้ บริษัทเดียวในโลก ว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ไหมในกระแสยุค AI ที่อาจเรียกได้ว่าจะเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีในทศวรรษใหม่นี้ก็เป็นได้ เป็นบริษัทเดียวที่ขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวของดัชนี NASDAQ ในช่วงนี้

ผลปรากฏว่างบของ NVIDIA ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 นี้ ยังออกมาดีมาก รายได้เติบโตร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว หรือร้อยละ 262 เมื่อเทียบกับปีก่อน กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว หรือร้อยละ 628 เมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นถึงว่าการพัฒนาที่ผมกล่าวถึงข้างต้นไม่มีการย่อตัวลงเลย การพัฒนาของคู่แข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐ คงไม่มีแนวโน้มที่จะย่อตัวลงต่อไป

หากมองไปอีกชั้น จะยิ่งฉงนใจกับพัฒนาบนโลกนี้ เพราะบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการแผงวงจรพิสดารนี้ มีเพียงบริษัทเดียวในโลก ที่ชื่อว่า ASML ย่อมาจาก Advanced Semiconductor Materials Lithography เป็นบริษัทสัญชาติดัทช์ หรือเนเธอร์แลนด์ ที่ผลิตเครื่อง Photolithography เพื่อใช้ในการผลิตไมโครซิป โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตเข้มข้นสูง EUV ในการพิมพ์แผงวงจร เขาเป็นคนจำหน่ายเครื่องผลิตแผงวงจรขนาดจิ๋วให้กับยักษ์ใหญ่ทั่วโลก รวมถึง TSMC ยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน Samsung ของเกาหลีใต้ และ Intel ของสหรัฐ จึงทำให้ ASML มีส่วนสำคัญถึงร้อยละ 90 ในการผลิตซิปทั่วโลก จึงกล่าวได้ว่า ASML เป็นกุญแจหลักในการพัฒนาระบบการผลิตซิปขนาดจิ๋ว ในขณะที่ระบบประมวลผลสำหรับ AI มีบริษัทอย่าง NVIDIA พัฒนาอย่างมีผลงานดีเยี่ยม นำไปสู่การใช้งานของพวกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น พวกกิจการอย่าง Apple Samsung HuaWei Xiaomi เป็นผู้ผลิตในลำดับต่อลงมา

ที่ผมพยายามเขียนทั้งหมดกำลังจะสื่อว่า การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีในทศวรรษนี้ ต้นกำเนิดมันกระจุกตัวอย่างมาก อยู่เพียงผู้เล่นไม่กี่ราย ไม่กี่รายจริงๆ ไม่กี่ประเทศ แน่นอนว่าต้องถูกจำกัดและควบคุมด้วยนโยบายด้านความมั่นคงของชาตินั้นๆ เช่น หากมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ขึ้น เขาคงไม่อนุญาตให้ขายเครื่องผลิตนี้ ให้กับประเทศที่แสดงบทบาทเกเร เป็นภัยต่อมหาอำนาจ เป็นต้น การพัฒนาตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะหยุดชะลอลง ในขณะที่กำลังเห็นสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่จากจีน และจะเห็นการปรับนโยบายดอกเบี้ยของญี่ปุ่น ที่จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อจากครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว ตามด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในยุโรปที่จะเริ่มปรับตัวลงได้ หลังจากเงินเฟ้อเริ่มอ่อนตัวลงมากกว่าฝั่งสหรัฐ ที่อาจเป็นประเทศสุดท้ายที่จะปรับดอกเบี้ยลงในปีนี้

ถ้าดอกเบี้ยโลกลงหมด ผลประกอบการของกิจการพวกนี้คงจะระเบิดแน่นอน ยิ่งจะมีพลังในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำหน้าขึ้นมาอีก อะไรคงจะฉุดไม่อยู่ง่าย

ส่วนประเทศไทย ยังไม่มีอะไรจะเกิดขึ้นใหม่ทางด้านเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ เห็นแค่ว่าเริ่มมีการอนุมัติเงินที่จะมาเริ่มใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่รู้ว่าจะได้ทำจริงเมื่อไหร่ ยังไม่เห็นการพัฒนานโยบายอะไรไปแข่งขันในเวทีโลกเลย เว้นแต่การท่องเที่ยว เราก็คงจะเติบโตแบบของเราไป แบบเตอะแตะไปเรื่อยๆ แล้วเราอยู่ตรงไหนของสายธารแห่งการพัฒนานี้ เรามีนักวิชาการที่เคยพูดเรื่องแบบนี้มามากมาย แต่ก็เงียบ เรายังหมุนตัวเองอยู่รอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ จากฝั่งตะวันออก ก็ยังอยู่ที่ฝั่งตะวันออก ขยับลงไปหน่อย และก่อจะมาที่ชุมพร ทำ Landbridge ไม่รู้เรือต้องผ่านกี่ลำ ถึงจะเทียบกับบริษัท ASML ขายเครื่องพิมพ์ Lithography ในเพียงแค่เครื่องเดียว

ทำไมเราไม่พัฒนาอะไรให้อยู่ในห่วงโซ่เทคโนโลยีขั้นสูงของโลกบ้าง แม้ชิ้นหนึ่ง มุมหนึ่ง หรือวัตถุดิบหนึ่งก็ยังดี  จริงไหมครับ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image