ความภูมิใจของ‘รัฐบาล’ ครั้งแรกสตง.บนเวทีโลก การเป็นผู้ตรวจสอบในระดับสากล : โดย สิรินทร์ พันธ์เกษม

ความภูมิใจของ‘รัฐบาล’
ครั้งแรกสตง.บนเวทีโลก
การเป็นผู้ตรวจสอบในระดับสากล

นับเป็นความภูมิใจ เมื่อหน่วยงานของไทยอย่าง “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)” ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีขององค์กรภายใต้กำกับของ “สหประชาชาติ (UN : United Nations)”

ข่าวดีดังกล่าว เกิดขึ้นหลังผลการประชุมใหญ่ “องค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Newclear-Test-Ban Treasty Organiztion หรือ CTBTO)” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน มีมติเลือก สตง.ไทยให้ทำหน้าที่หลังจาก สตง.ฝรั่งเศส หมดวาระ

วาระปี พ.ศ.2561-2562 ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ สตง.

Advertisement

ที่จะได้พิสูจน์ฝีมือการทำงานในระดับสากล

ย้อนรอยความสำเร็จกว่าจะเป็น “ผู้ตรวจสอบภายนอก” CTBTO

“องค์การสหประชาชาติ” หรือที่เรียกกันด้วยชื่อย่อว่า “ยูเอ็น (UN)” ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2488 มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือในกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก มีองค์การมากมายภายใต้กำกับ

Advertisement

ยกตัวอย่างที่คนไทยรู้จักดี อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
แต่ละองค์การมีการทำงานที่แตกต่างกันไป มีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้งานบรรลุเป้าประสงค์ และตามกฎบัตรของสหประชาชาตินั้น องค์การภายใต้สหประชาชาติทุกองค์การจะต้องแต่งตั้ง “ผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor :EA)” ซึ่งมาจากการเสนอตัวของ สตง. ประเทศภาคีสมาชิก

ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ สตง.วางเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นไปทำงานในระดับสากลในครั้งนี้

ซึ่งไม่ง่ายนัก สำหรับการคัดเลือก

รัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจึงร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, นางสิรินทร์ พันธ์เกษม รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะที่ดูแลด้านต่างประเทศขององค์กร และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ เดินทางเข้าพบ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อมูล ก่อนนำเรื่องเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

กระทั่งในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ สตง.สมัครเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO และให้กระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนการหาเสียง ด้วยเหตุนี้แผนการดำเนินการทุกอย่างจึงเป็นไปในฐานะตัวแทนของประเทศ โดยรัฐบาลไทย ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศเดินเรื่องให้อย่างสุดความสามารถ

ดังลำดับความสำเร็จ ดังนี้

12 เมษายน 2560 สตง.ส่งหนังสือสมัครเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO, สตง.ส่งหนังสือถึง สตง.ของประเทศสมาชิก CTBTO ขอความร่วมมือให้แจ้งกระทรวงต่างประเทศของแต่ละประเทศสนับสนุน สตง.ไทยเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO, กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าได้ประสานงานกับประเทศสมาชิก CTBTO จำนวน 25 ประเทศ และนัดหมายเพื่อให้ สตง.ไปแนะนำตัวในฐานะสมัครเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO

28 เมษายน 2560 นางสิรินทร์เดินทางไปสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อแนะนำประวัติ ความเป็นมา และผลงานของ สตง.ไทยกับประเทศสมาชิก CTBTO ตามที่กระทรวงการต่างประเทศนัดหมาย และได้เข้าพบ Mr.Patrick Grenard, Director, Division of Administration-CTBTO เพื่อสอบถามรายละเอียดการทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO

29 พฤษภาคม 2560 นายกรพจน์, นายพิศิษฐ์, นางสิรินทร์เดินทางไปกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อโน้มน้าวให้ สตง.ไทย ได้รับเลือกก่อนการประชุม Working Group A ครั้งที่ 51 ของ CTBTO ซึ่งจะมีวาระการพิจารณาเลือกผู้ตรวจสอบภายนอก

1 มิถุนายน 2560 นายทรงศัก สายเชื้อ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นาย กรพจน์ และนางสิรินทร์เข้าร่วมการประชุม Working Group A ครั้งที่ 51 ของ CTBTO ซึ่งระหว่างการประชุมได้มีการโน้มน้าวกับประเทศสมาชิก เพื่อให้มั่นใจว่า สตง.ไทยจะได้รับเลือก และในที่สุดที่ประชุม Working Group A ครั้งที่ 51 ของ CTBTO มีมติเลือก สตง.ไทยเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก ขององค์การ CTBTO ภายใต้สหประชาชาติ โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่สมาชิกรับรองต่อไป

และแล้ว 22 มิถุนายน 2560 ที่ประชุมใหญ่สมาชิก CTBTO แต่งตั้งให้ สตง.ไทย เป็นผู้ตรวจสอบภายนอก ตามที่ Working Group A เสนอ

นับเป็นความสำเร็จของ “รัฐบาลไทย” และ “สตง.” กับก้าวแรกของการทำหน้าที่ครั้งแรกในเวทีโลก
สิ่งที่ประเทศจะได้รับและก้าวต่อไป สตง.ไทย

มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ริเริ่มโครงการนี้ อย่างรองผู้ว่าการสิรินทร์ ซึ่งเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ สตง.

ได้รับคำอธิบายว่า เริ่มต้นโครงการนี้หลังจากที่ได้ปรึกษากับทาง สตง.จีน ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ สตง.ไทย ซึ่งในแต่ละปีทางจีนจะให้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งการตรวจสอบ แห่ง
นานกิง 2 ทุน สอบถามกับทางจีนที่มีมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีดีมาก และบุคลากรมีความสามารถอย่างดี ก็ได้รับคำแนะนำว่ามีโครงการของยูเอ็นที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสมัครเข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกในองค์กรภายใต้กำกับ

สตง.จึงคิดที่จะเสนอตัวไปเป็น “ผู้ตรวจสอบภายนอก” แข่งขันกับประเทศสมาชิกจำนวนมาก ที่เสนอตัวแทน สตง.ฝรั่งเศส ที่กำลังจะหมดวาระ

และทั้งหมดดำเนินการภายใต้การรับรองของรัฐบาล จึงทำให้โครงการที่จะไปเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกขององค์กรภายใต้กับกับยูเอ็นในครั้งนี้ มีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

จากการได้ไปทำหน้าที่ตรงนี้ ถามว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง?

รองผู้ว่าการสิรินทร์แจกแจงให้ฟังเป็นข้อๆ ว่า

1.สตง.ได้รับการพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบตามมาตรฐานสากล

2.บุคลากรของ สตง.ได้รับการพัฒนาด้านทักษะการใช้ภาษาอังกฤษทั้งการเขียน อ่าน และพูด

3.เป็นการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐานการตรวจสอบโดยใช้เงินที่ได้รับจากองค์การที่ตรวจสอบเป็นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบ (Audit fee) จึงไม่มีภาระค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ

4.ทำให้ สตง.มีผลงานในระดับนานาชาติ เป็นการเสริมภาพลักษณ์ให้มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล

และ 5.เป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ

รองผู้ว่าการสิรินทร์มั่นใจว่าการทำงานของ สตง.ไทยนั้นเป็นมาตรฐาน ติดก็แต่ว่าในการนำเสนอผลงานในเวทีต่างประเทศนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีจุดอ่อนเรื่องภาษา อีกทั้งบุคลากรยังไม่ค่อยกล้าที่จะแสดงออก การได้เป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO น่าจะทำให้บุคลากรของ สตง.พัฒนาเรื่องนี้ได้มากยิ่งขึ้น
อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อการเป็นผู้นำในระดับอาเซียน

“งานนี้เขามีความคาดหวังว่าหน่วยงาน สตง.ไทย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ จะสร้างความมั่นใจว่างานที่เขาทำมีความถูกต้อง ไม่มีจุดอ่อน คือถ้าเป็นเมืองไทย ทาง สตง.ทำงานก็เป็นมาตรฐานไทย ไม่ได้มีอะไรให้หนักใจ

“สำหรับความท้าทายนี้คือ 1.เรื่องภาษาที่ต้องค่อนข้างวิชาการพอสมควร 2.เรื่องมาตรฐานที่ใช้ต่างกัน และ 3.เรื่องกฎหมายขององค์กรต่างประเทศที่ใช้ เราต้องศึกษาอย่างดี” สิรินทร์กล่าว

ที่สำคัญ การได้รับคัดเลือกทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยดีขึ้น และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย

การเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO สตง.เสนอค่าธรรมเนียมการตรวจสอบ และได้อนุมัติมา 80,000 ยูโร/ต่อปี ซึ่งก็ตกอยู่ราว 2,400,000 บาท จึงน่าจะใช้บุคลากรปฏิบัติงาน 8 คน โดยเป็นการไปตรวจสอบบัญชีที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย 1 ครั้ง ระยะเวลา 1 เดือน นำเสนอรายงานตามข้อบังคับอีกปีละ 2 ครั้ง ซึ่งวาระ 2 ปีนี้ สามารถที่จะต่อได้อีก 2-3 วาระ

นอกจากการได้เป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO เป้าหมายต่อไปที่สำคัญยิ่งของ สตง.ไทย คือการเข้าไปทำหน้าที่ “คณะกรรมการผู้ตรวจสอบภายนอกของสหประชาติ (UN Board of Auditors หรือ UNBOA)” แทนที่ สตง.อินเดีย ที่จะหมดวาระในปี 2563

สตง.ไทยจะเสนอตัวเองให้ได้รับการคัดเลือก

ซึ่งเป็นเรื่องที่ สตง.ต้องทำงานอย่างหนัก และประสานงานกับรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิดว่ามีความเห็นอย่างไร? สตง.ควรเข้าไปในจังหวะไหน? นำเสนอตัวเองอย่างไร? ผ่านกิจกรรมในลักษณะใด? ฯลฯ เป็นการวางแผนร่วมกัน ในฐานะที่กระทรวงการต่างประเทศทำงานใกล้ชิดกับสหประชาชาติมากกว่า

การเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของ CTBTO เป็นเหมือน “โปรไฟล์” แรกของ สตง.บนเวทีโลก

แต่ก้าวต่อๆ ไป คาดว่าจะพัฒนาบุคลากรขององค์กร และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างมากทีเดียว

สิรินทร์ พันธ์เกษม
รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image