ชื่อเสียงและคุณภาพของมหาวิทยาลัย โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ความตกต่ำของระบบการศึกษาในประเทศไทยมักได้รับสนใจเมื่อเป็นข่าวว่าหน่วยงานเอกชนบางแห่งแสดงออกมาอย่างเปิดเผยว่าจะไม่รับพนักงานจากบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งแล้วก็นำไปสู่การตอบโต้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบมักมองว่าสถาบันของตนเสียชื่อเสียงและล่าสุดก็มีการตอบโต้ว่าเป็นการดิสเครดิตและไม่เป็นความจริง คุณภาพของบัณฑิตที่ตนผลิตนั้นมีคุณภาพ มีงานทำและก็ได้รับเงินเดือนที่สูงด้วย

ส่วนรัฐมนตรีด้านการศึกษาก็บอกว่าหน่วยงานเอกชนไม่ควรเหมารวม ควรพิจารณาเป็นบุคคลไป

ปัญหาคุณภาพการศึกษาในสายตาของภาคเอกชนนับเป็นประเด็นที่น่าเห็นใจมากทั้งนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบและบริษัทเอกชนที่ต้องการรับบุคคลที่มีคุณภาพเหมาะสมกับงาน

Advertisement

จึงเป็นสถานการณ์ที่ผู้บริหารการศึกษาควรที่จะต้องรับฟังและให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง เพราะเสียงสะท้อนถึงวิกฤตทางด้านคุณภาพและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในสายตาของหน่วยงานเอกชนนั้นมีเพียงไม่กี่รายที่กล้าแสดงออก ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ยินดีรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยที่ขาดความมั่นใจอยู่แล้ว

รัฐมนตรีทางด้านการศึกษายิ่งต้องเข้าใจปฏิกิริยาของผู้ที่ทำหน้าที่ว่าจ้างในภาคเอกชน
น่าเสียดายที่ผู้รับผิดชอบทางการศึกษาของประเทศไทยมักไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงทางธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ

มักเป็นข้าราชการระดับสูงที่คิดว่าตนรู้ดีแล้ว
หรือไม่ก็เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่คิดแบบผู้จัดการมหาวิทยาลัยของรัฐ

Advertisement

การจ้างงานในภาครัฐเป็นกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะและห่างไกลจากระบบที่เน้นความสามารถและความเชี่ยวชาญเป็นหลัก

จึงไม่แปลกที่การรับสมัครในภาครัฐมักไม่มีข่าวคราวของการคัดเลือกที่มองคุณภาพและประสิทธิภาพแบบของภาคเอกชน

การคัดกรองผู้สมัครโดยประเมินคุณภาพจากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่เข้าใจว่าเป็นแบบเหมารวมนั้นมักเกิดขึ้นในภาคเอกชนและนับว่ามีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายได้

บริษัทเอกชนอยู่ในสภาพที่ต้องแข่งขันสูงและต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการทำงานและการตัดสินใจที่ตอบสนองความต้องการเติบโตของบริษัทได้

บริษัทเอกชนมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงมากที่จะรับพนักงานที่อ่อนคุณภาพหรือกลายเป็นอุปสรรคของหน่วยงานในภายหลัง เพราะจะต้องให้การอบรมและการเรียนรู้ต่างๆ โดยที่ไม่ทราบว่าจะรับผิดชอบให้บริษัทได้จริงหรือในท้ายที่สุดก็อาจจะต้องลาออกไปทำงานอิสระส่วนตัว

ต้องวางแผนเตรียมบุคลากรเผื่อให้เดินไปสู่การเป็นผู้รับผิดชอบในระดับที่สูงขึ้นได้

หน่วยงานเอกชนไม่สามารถเปิดรับพิจารณาผู้สมัครเป็นจำนวนมากมายโดยคำนึงถึงเพียงรูปภาพและเกรดคะแนนได้ บางแห่งเท่านั้นที่มีศักยภาพเปิดสอบข้อเขียนคัดกรองก่อน แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเช่นนั้น

ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ

เปรียบเสมือนยี่ห้อของสินค้าเช่นยาสีฟันและแปรงสีฟัน

ผู้บริโภคมักประเมินไว้แล้วว่าตนต้องการคุณภาพระดับไหนและอาศัยประสบการณ์หรือภาพลักษณ์ที่ตลาดให้เป็นเครื่องชี้แนะ

ทั้งๆ ที่แต่ละยี่ห้ออาจมีผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งที่ไม่แตกต่างกันนัก และแม้แต่ยี่ห้อเดียวกันก็มีคุณภาพต่างระดับหรือต่างคุณลักษณะกันได้

ผู้บริโภคน้อยรายจะไม่สนใจยี่ห้อหรือแบรนด์ซึ่งเป็นข้อมูลอย่างหนึ่งสำหรับผู้บริโภค

เมื่อใช้แล้วอาจเปลี่ยนใจหรือมั่นใจยิ่งขึ้นก็ได้
หน้าที่ของบริษัทที่ผลิตยาสีฟันและแปรงสี ฟันมีหน้าที่ต้องรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคและหันกลับไปปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้เหมาะกับความต้องการของตลาด หรือไม่ก็เร่งพัฒนาแบรนด์ของตนให้ลดจุดอ่อนเดิมและเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต

ถ้าหากผู้รับผิดชอบทางการศึกษามองตนเองเป็นผู้บริโภค ท่านจะมีความมั่นใจมากเพียงใดกับยาสีฟันและแปรงสีฟันที่ผลิตโดยรัฐ ท่านจะฟังเสียงของตลาดหรือจะเชื่อยี่ห้อที่คนของรัฐเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ประทับตราว่ามีมาตรฐานแล้ว

น่าเสียดายที่เราไม่เห็นเสียงตอบจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้มีหน้าที่กำกับดูแลที่สนใจว่ามหาวิทยาลัยที่ถูกประเมินว่าด้อยคุณภาพนั้นควรได้รับการแก้ไขอย่างไรบ้าง หรือเป็นปัญหาของระบบที่รัฐบาลจักต้องแก้ไขมากเพียงใด

กลับมีท่าทีที่ทำให้เรื่องที่สำคัญเช่นนี้เงียบหายกันไป

โดยหลักแล้ว ชื่อเสียง (Reputation) และคุณภาพ (Quality) มีความสัมพันธ์กัน
ชื่อเสียงที่ดีช่วยให้การพัฒนาคุณภาพกระทำได้ง่าย คุณภาพที่ได้รับการปรับปรุงช่วยให้ได้รับชื่อเสียงที่ดีตามมา

มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาก่อนได้เปรียบมหาวิทยาลัยอื่น คุณภาพที่เสื่อมลงมักยังไม่เป็นที่รับรู้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปชื่อเสียงก็จะค่อยๆ ถดถอยลง

มหาวิทยาลัยประเภทนี้เป็นพวกกินบุญเก่า
มหาวิทยาลัยใหม่ๆ ที่พัฒนาคุณภาพได้ดีก็สามารถมีชื่อเสียงโดดเด่นได้ เพียงแต่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและที่ผ่านมามักใช้เวลานานพอสมควร เมื่อชื่อเสียงโดดเด่นขึ้น การพัฒนาคุณภาพก็จะกระทำได้ง่าย

มหาวิทยาลัยประเภทนี้เป็นพวกเชิงรุก ซึ่งมีมากมายหลายแห่งที่กลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและกำลังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทีเดียว

ในอดีต การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางด้านชื่อเสียงและคุณภาพต้องใช้เวลานานมาก ทว่าในปัจจุบัน โลกาภิวัตน์ทางด้านข่าวสารและเทคโนโลยีสามารถทำให้กระบวนการปรับปรุงมีระยะเวลาสั้นลงมาก

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและภาครัฐที่กำกับดูแลระบบการศึกษาจึงควรมองข้อวิจารณ์ในเชิงปฏิรูปให้ได้เพื่อสร้างโอกาสที่ดีในการพัฒนาคุณภาพและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

โดยวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของการบริหารการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เข้าถึงโอกาสที่เปิดกว้างนั้น

ชื่อเสียงและคุณภาพมิใช่สิ่งเดียวกันและต่างก็มีปัจจัยมากมายเกี่ยวข้องอยู่ส่วนหนึ่งชื่อเสียงเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ (Image) หรือภาพที่สังคมมอง (Perception) และความโดดเด่นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องคุณภาพทางวิชาการเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความสนใจของสังคมและความต้องการของตลาดที่รองรับผลผลิตที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ สร้างขึ้น

ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่วัดได้ยาก มักอาศัยคำร่ำลือรวมทั้งความสำเร็จของศิษย์เก่า ถ้าในแง่คุณภาพทางวิชาการ ความเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมักมีความสำคัญ

เนื่องจากชื่อเสียงมีความสำคัญต่อการดึงดูดนักศึกษาและแหล่งเงินทุน การวัดชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงกลายเป็นการประเมินคุณภาพ (Quality assessment) ที่ช่วยในการตัดสินใจของตลาดไปด้วย

ธุรกิจการประเมินชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจึงเกิดขึ้นและกำลังมีอิทธิพลต่อการวัดชื่อเสียงของสถาบันการศึกษามากขึ้น

มหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับไว้สูงก็มีข้อมูลทำงานการตลาดได้ดี

มหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับไว้ต่ำมักขาดโอกาสทางการตลาด บ้างจึงหงุดหงิดมีอารมณ์ บ้างก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

การจัดอันดับที่ประเมินต่อเนื่องทุกปีจนเป็นธุรกิจและเป็นข่าวให้กล่าวถึงบ่อยครั้งได้แก่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย Times Higher Educationและ QS ของอังกฤษ ส่วนอีกแห่งที่เริ่มมีการใช้มากในหมู่นักวิชาการคือ Shanghai Ranking ของจีนซึ่งปัจจุบันก็เป็นธุรกิจ

ธุรกิจการจัดอันดับทั้งสามนี้ให้ผลการจัดอันดับที่แตกต่างกัน เช่นบางแห่งนั้นเน้นการวิจัยมากกว่า มหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์ และการตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติก็จะได้อันดับสูง

บางแห่งเน้นความเป็นนานาชาติมาก มหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาหรือมีอาจารย์ชาวต่างประเทศมากก็จะมีอันดับสูงขึ้น ดังนี้เป็นต้น

การประเมินจัดอันดับต่างจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณในภาพรวมโดยที่มหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมและประชากรที่แตกต่างกัน

สำหรับมหาวิทยาลัยของไทยนั้นถูกจัดอันดับไว้ต่ำมากซึ่งหลักใหญ่ก็เพราะมหาวิทยาลัยของไทยมีจุดอ่อนด้านความเป็นนานาชาติ บางแห่งอาจให้ข้อมูลบริษัทจัดอันดับไม่เรียบร้อย

ความจริงแล้ว การประเมินของไทยเองมีมากมายจนเป็นมหกรรม มีการจัดทำโดยหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง

หน่วยงานเหล่านี้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนอย่างยิ่งและมีการใช้แนวทางการประเมินที่มีต้นทุนสูงทั้งในด้านการเงินและภาระการดำเนินการ

ทางออกของไทยคือการเปลี่ยนวิธีการประเมินให้เป็นแบบตรวจสอบคุณภาพ (Inspection) ในลักษณะที่หวังผลให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพและมีการภาคทัณฑ์หลักสูตรหรือสาขาที่ขาดคุณภาพอย่างไม่ประนีประนอม

ส่วนการประเมินแบบปัจจุบันให้เป็นงานของสถาบันเอกชนที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและอยู่รอดได้ตามอุปสงค์ที่มีต่อการประเมินจริงๆ

ผู้กำกับการศึกษาและผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรสนใจเสียงสะท้อนของอุปสงค์ตลาดและสามารถอาศัยข้อมูลที่ใช้ในการจัดอันดับของต่างประเทศเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับตนได้

รัฐบาลควรประหยัดเม็ดเงิน กำลังคนและเวลาของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สูญเสียไปโดยไม่จำเป็นได้อย่างมากมาย

มหาวิทยาลัยเองก็จะไม่ถูกกำกับโดยมาตรฐานที่ต่ำและประนีประนอมเกินไปภายใต้วิธีการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image