คอลัมน์จิตวิวัฒน์ : เตรียมสอนวิชา‘กระบวนกร’ : โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

ผมชอบคำว่ากระบวนกร ต้องให้เครดิต ณัฐฬส วังวิญญู ที่คิดคำนี้ ทำให้พวกเราแตกต่างจาก facilitator ที่ใช้ในความหมายโดยทั่วไป เพราะคำว่ากระบวนกรมีความหมายเฉพาะกว่านั้น มีความลี้ลับรวมถึงความคิดของปราชญ์ทางซีกโลกตะวันออกอยู่ด้วย
ช่วงหลังผมมาโฟกัสงานเยียวยา แต่ในหลักสูตรเยียวยาผมก็หนีวิชากระบวนกรไปไม่ได้ แม้ว่างานเยียวยาแบบตัวต่อตัวจะทรงพลังมาก แต่ผมก็พบว่าในเวิร์กช็อปที่ทำกันเป็นกลุ่มต้องนำงานกระบวนการเข้ามาด้วย หลายครั้งกลับทรงประสิทธิภาพกว่า เพราะในกลุ่มคนมีสนามพลังของปัจเจกสอดประสานกัน และเมื่อกระบวนกรใช้วิชากระบวนการระดับเซียน พลังที่สอดประสานก็เกิดการกำทอน (resonance) หรือประสานกันอย่างกลมกลืน กลายเป็นครรภ์มารดาที่โอบอุ้มงานเยียวยาให้ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่างานตัวต่อตัว

Soft Side ในองค์กร
ผมมีความได้เปรียบกระบวนกรรุ่นน้องและรุ่นหลานตรงที่ทำงานอย่างที่อยากจะทำได้มากกว่า ไม่ต้องประนีประนอมมากมายกับความต้องการขององค์กรที่มักจะเน้นไปทาง hard side หรือด้านธุรกิจ เช่น ผลกำไร เป็นต้น ช่วงแรกๆ ผมก็หัดพูดภาษาธุรกิจอยู่เหมือนกัน แต่หลังจากเข้าไปพิสูจน์บางอย่างแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องพูดภาษาเช่นนั้นก็ลดน้อยลง
อยากจะบอกองค์กรที่ไว้วางใจให้ผมเข้าไปทำงานว่า อย่ามัวไปติดอยู่กับความกังวลเลย มีองค์กรแห่งหนึ่งที่ผมไปทำงานให้หนึ่งปี ผลผลิตดีขึ้นทุกหน่วยงานและยังมีพลังสร้างเสริมงานในอนาคตอย่างเห็นได้ชัด ปีนี้พวกเขาจึงปล่อยมือและวางใจกับ soft side ที่ผมจะเติมเข้าไป ซึ่งทำให้ผมสามารถทำงานอบรมให้พวกเขาได้ทรงพลังกว่าเดิม
ผมจึงมีข้อเสนอว่าเครื่องมือต่างๆ ที่จะใช้วัดผลการปฏิบัติงาน (performance) ไม่ต้องมีมาก เพราะยิ่งมีมาก คนจะมัวแต่ทำงานเอกสาร ไม่ได้ทำงานที่ต้องทำจริงๆ และการวัดผลการปฏิบัติงานเป็นปัจเจก ทำให้คนต่างเห็นแก่ตัว มุ่งแต่จะไปเพิ่มดัชนีชี้วัดผลงาน (KPI) ของตนเอง จนไม่สนใจความสำเร็จขององค์กร ไม่สนใจทีม แล้วจะประสบความสำเร็จได้หรือ ผมเสนอว่าอย่าไปติด กับดักตัวชี้วัดมีให้น้อยที่สุด และใช้อย่างฉลาด

ตกผลึก
แนวคิดหลักเบื้องต้นในการฝึกอบรมของผม คือการฝึกอบรมไม่ใช่การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมหรือหาเครื่องมือใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ แต่งานของผมเป็นระบบที่หลอมรวมมาแล้ว เนื้อหาไม่มาก เครื่องมือน้อยชิ้น แต่ต้องฝึกฝนปฏิบัติจนทำได้และเลื่อนชั้นขึ้นไปในแต่ละระดับ ดังนั้นอย่ากล่าวหาว่าเนื้อหาซ้ำ เพราะต้องเรียนเป็นลักษณะเกลียวพลวัต คือเรียนซ้ำ แต่เลื่อนระดับขึ้นไปตลอดเวลาจนบรรลุถึงขั้นสูงสุด คือทำงาน พักผ่อน และใคร่ครวญอยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดของศักยภาพสมอง (flow) สร้างทีมและหลอมรวมทีมได้อย่างมีลมหายใจเดียวกัน ที่ทำงานได้ตามผลลัพธ์ ตลอดจนมีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อสุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีและมีความสุข
หลังจากกลั่นสกัดมาอย่างดีที่สุดแล้ว เครื่องมือหลักๆ จะมีเพียงสามตัว คือ ไดอะล็อก, IFS (Internal Family System หรือระบบครอบครัวภายใน) และซกเชน คือวิถีปฏิบัติอันสุดยอดของสายวัชรยาน โดยมีวิถีกระบวนกรทำหน้าที่ผสมผสานสามเครื่องมืออันทรงพลังเหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ระดับขั้นของ IFS, ไดอะล็อก และซกเชน
ในการเป็นผู้นำองค์กรหรือชุมชนหรือเครือข่าย
การขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารย่อมหมายถึงการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ศักยภาพของมนุษย์มิใช่เพียงการทำงานเฉพาะหน้าสำเร็จ แต่คือการส่งผลกระทบต่อองค์กรในระยะต่อมาเช่นไรด้วย เช่น ซื้อใจทีมได้ไหม? ทีมมีความมั่นหมายหรือมีความเป็นเจ้าของงานแค่ไหน? เราสามารถหล่อเลี้ยงคนที่มีความสามารถให้อยู่องค์กรได้อย่างยั่งยืนไหม? บรรยากาศขององค์กรเอื้อต่อการทำงานและการอยู่อย่างยั่งยืนไหม? เป็นต้น
ขออธิบาย IFS หรือระบบครอบครัวภายในสักหน่อย คือ Self, Protectors, Exiles และทรอม่า (Trauma)
Self เปรียบเปรยได้เป็นดวงจันทร์ของจิต เมฆหมอกคือผู้พิทักษ์ หรือ Protectors ต่างๆ และฟ้าร้องฟ้าแลบฟ้าผ่าคือ เมื่อ Exiles หรือผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่ทรอม่าหรือปมบาดแผลของพวกเธอหรือเขาระเบิดออกมา เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้น ท่วมท้นจนยากที่จะรับได้
ทรอม่าดำรงอยู่ในผู้ลี้ภัยหรือหลบลี้หนีหน้า (Exiles) โดยผู้พิทักษ์จะเอาผู้ลี้ภัยไปซ่อนไว้ เวลาเกิดทรอม่าเล็กๆ จะมีความปั่นป่วนใจและกายเกิดขึ้น ในเวลาแค่เสี้ยววินาที ผู้พิทักษ์จะออกโรงทันที เพื่อไม่ให้เจ้าตัวต้องเจ็บใจเจ็บกาย

Advertisement

ระดับการพัฒนาผู้นำในองค์กร
ขั้นที่หนึ่ง IFS รู้ตัวว่าตนเองมีผู้พิทักษ์ รู้ขอบเขตจำกัดของผู้พิทักษ์และจุดบอดที่ผู้พิทักษ์อาจก่อเกิด ไดอะล็อก รับฟังได้อย่างมีคุณภาพ รับฟังการป้อนกลับได้อย่างไม่เอาผู้พิทักษ์มาปกป้องตนเอง
ซกเชน ขั้นเตรียมการ คือสามารถมีการฝึกพื้นฐานสมาธิอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ
ขั้นที่สอง IFS เรียนรู้ที่จะถอดผู้พิทักษ์ออกได้ และดำรงอยู่ใน Self เวลามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ผ่านการถูกโค้ชแบบ IFS มาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง
ไดอะล็อก เข้าถึงหลักการไดอะล็อก นำวงไดอะล็อกได้อย่างมีคุณภาพ เข้าถึงวุฒิภาวะของไดอะล็อกระดับที่สี่ได้บ้าง
ซกเชน หย่อนตัวลงสู่จิตธรรมชาติได้บ้าง มีกายภาวนาพอที่จะรู้ตัว และปรับระดับคันเร่งได้
ขั้นที่สาม IFS ดำรงอยู่ใน Self เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในวาระสำคัญของชีวิตและการงาน รับมือการสะท้อนกลับได้อย่างสง่างาม ดูแลตัวเองได้เมื่อผู้ลี้ภัยถูกกระตุ้น หรือทรอม่าถูกกระตุ้น กล่าวคือฟื้นคืนอารมณ์ปกติได้รวดเร็วเวลาเสียศูนย์
ไดอะล็อก นำใช้ไดอะล็อกได้ในทุกๆ สถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์ยากๆ
ซกเชน ดำรงอยู่ในจิตเดิมแท้ได้กว่าร้อยละเก้าสิบของชีวิต ทั้งในที่ทำงานและในครอบครัว เนื่องจากความพยายามคือความป่วยไข้สามารถลดละความพยายามได้ จึงทำงานได้อย่างผ่อนคลายทั้งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และดูแลสุขภาพได้อย่างดีเยี่ยมด้วยการละความพยายาม
ขั้นที่สี่ บรรลุถึงขอบเขตขั้นเซียนในเครื่องมือทั้งสาม

ศิลปะของกระบวนกร
น้อมนำให้ผู้เข้าร่วมเห็นและเข้าใจในแผนที่ที่จะเดินทางด้านใน ค่อยๆ นำพาการเรียนรู้ในภูมิประเทศของโลกภายในของผู้เข้าร่วมเอง ทั้งในฐานะของกลุ่มและปัจเจก ค่อยๆ ป้อนการเรียนรู้ในระดับต่อไปผ่านภูมิประเทศ คือปัญญาปฏิบัติ ให้ได้ประสบการณ์ตรง คือทำได้จริง
ให้ผู้เข้าร่วมสามารถเปลี่ยนเกียร์เข้าสู่โลกคู่ขนานที่ลึกซึ้งกว่า จากชีวิตธรรมดาสามัญหรือชีวิตปุถุชน มาสู่ระดับที่สอง คือชีวิตที่ตื่นรู้ ดำรงอยู่ในสมาธิได้มากขึ้น กำหนดชีวิตตัวเองได้มากขึ้น มาสู่ระดับที่สาม คือสามารถดำรงอยู่ใน Self ของ IFS หรือ flow หรือจิตเดิมแท้ได้ โดยละทิ้งความพยายาม เข้าถึงความสมบูรณ์เพียบพร้อมของจิต อันมีปัญญาและความรักไม่จำกัด
ระหว่างระดับต้องอาศัยการเปลี่ยนเกียร์ที่จะทำได้ผ่านประสบการณ์ตรงเท่านั้น กระบวนกรต้องนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้ผ่านประสบการณ์จริงของการเปลี่ยนเกียร์อันน่าอัศจรรย์และเป็นทางลัดตรง ชั่วพลิกฝ่ามือ

วิศิษฐ์ วังวิญญู
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image