สถานีคิดเลขที่ 12 : รู้สึกแปลกๆ : โดย นฤตย์ เสกธีระ

 

ผลการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลเรื่องความพอใจของประชาชนต่อตัวนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมือง

ปรากฏว่า “บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี” อันดับ 1 ร้อยละ 29.66 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รองลงมา อันดับ 2 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 3 นายธนาธร
จึงรุ่งเรืองกิจ อันดับ 4 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่พรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อันดับ 1 ร้อยละ 28.78 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

Advertisement

อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 พรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 พรรคประชาชาติ

อันดับ 7 พรรครวมพลังประชาชาติไทย อันดับ 8 พรรคพลังชาติไทย อันดับ 9 พรรคชาติไทยพัฒนา

และอันดับ 10 พรรคประชาชนปฏิรูป

Advertisement

ผลที่ออกมานี้ทำให้หวนคิดถึงคำพูดของ นายเสนาะ เทียนทอง ที่ปลุกขวัญสมาชิกพรรคในวันประชุมเพื่อไทย

“ผมยืนยันได้ว่า แพ้เราขาด ไม่มีทางเทียบกันได้”

และอีกตอนหนึ่ง

“ส่วน ส.ว.250 คน ไม่ได้ทำให้เขาเป็นนายกฯได้ หรือต่อให้เป็นนายกฯได้ก็บริหารประเทศไม่ได้ ท้ายที่สุดก็มีอันเป็นไป”

นายเสนาะคงหมายถึงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งที่ ส.ว. ซึ่ง คสช.คัดมามีสิทธิโหวตตั้งนายกฯได้

ตั้งนายกฯคนในไม่ได้ หากมีความวุ่นวายก็โหวตตั้งนายกฯคนนอก

แต่ประเด็นก็คือ เมื่อได้เป็นนายกฯ หากพรรคการเมืองที่สนับสนุนมีจำนวนน้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน

แล้วจะบริหารประเทศไปได้อย่างไร จะลงท้ายอย่างที่นายเสนาะบอกหรือเปล่า

“ท้ายสุดก็มีอันเป็นไป”
ความคิดเช่นดังที่โพลนิด้าสำรวจนี้เองที่วนเวียนเป็นแนวคิดของคนกลุ่มหนึ่ง

มิน่าล่ะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงนำเสนอทางแก้ไขความขัดแย้งด้วย “รัฐบาลเฉพาะกาล”

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เองก็ออกมาเตือนให้ระวังความปั่นป่วน

ยิ่งมาผนวกรวมกับกระแสข่าว “ไม่เสียของ” และประสบการณ์รัฐประหาร 2 ครั้งสุดท้ายแล้ว
มันก็หวาดเสียวไม่น้อย

หวาดเสียวเพราะว่ากติกาที่ตั้งมา เพื่อต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างหนึ่ง

แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมาอีกอย่างหนึ่ง

และเป็นผลที่ออกมาแล้วทำให้ “เสียของ” สิ่งต่างๆ ที่จะตามมาย่อมมีโอกาสซ้ำรอยเดิม

เรื่องเช่นนี้จะแก้ไขได้ ประชาชนต้องออกมาแสดงเจตนารมณ์ให้ชัดเจน

เพราะขั้วการเมืองในการเลือกตั้งก็คมชัด

สนับสนุนแนวทาง คสช.กับ ไม่ยอมรับ คสช.

เมื่อ คสช.ยินดีที่จะเปิดเวทีการเลือกตั้ง คือ เปิดทางให้ประชาชนเลือก

พร้อมๆ กันนั้น ยังเปิดโอกาสให้นำเสนอนโยบายออกมา

มีจำนำข้าว หรือ ไม่มีจำนำข้าว

มีประชานิยม หรือ มีประชารัฐ

มีรัฐธรรมนูญ หรือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

และอื่นๆ อีกมากมายที่แต่ละฝ่ายมีจุดยืนตรงกันข้าม

ตรงนี้หากประชาชนออกมาแสดงเจตนารมณ์โดยภาพรวมให้ชัดแจ้ง

เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยคะแนนที่ขาดลอย

ตรงนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มากพอสมควร

แต่หากทุกอย่างเป็นไปตามที่นิด้าโพลได้สำรวจ คือ อยากได้ตัวบุคคลจาก คสช. แต่เลือกพรรคที่ไม่เอา คสช.

ถ้าผลออกมาเป็นแบบนี้จริง มันก็แปลกดี

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image