สถานีคิดเลขที่ 12 : จากเลือกตั้งใหญ่ 62 สู่เลือกตั้งซ่อม 65

สถานีคิดเลขที่ 12 : จากเลือกตั้งใหญ่ 62 สู่เลือกตั้งซ่อม 65

สถานีคิดเลขที่ 12 : จากเลือกตั้งใหญ่ 62 สู่เลือกตั้งซ่อม 65 โดย ปราปต์ บุนปาน

ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 (หลักสี่-จตุจักร) ที่คึกคัก

ขออนุญาตพาทุกท่านย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “When We Vote: พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน” ซึ่งเขียนโดย “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ตั้งแต่เมื่อมิถุนายน 2563

ในหนังสือเล่มดังกล่าว อาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์สภาพการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ไว้อย่างครอบคลุม ดังนี้

“การเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบปกติ ทั้งยังล้มเหลวในการนำพาสังคมไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและสังคมที่สมานฉันท์

Advertisement

“มีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ทำให้ภูมิทัศน์ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษแตกต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์

“ไล่เรียงตั้งแต่การออกแบบรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้งใหม่ที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ การทำหน้าที่ของ กกต.ที่เต็มไปด้วยข้อกังขา การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ต่างขั้วอุดมการณ์ บทบาทของโซเชียลมีเดียและคนรุ่นใหม่ในสนามเลือกตั้ง

“การแทรกแซงและเข้ามามีบทบาทของกองทัพ เครือข่ายรอยัลลิสต์ และศาลรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลในการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบรวมถึงพลิกผันผลลัพธ์การเลือกตั้ง

Advertisement

“การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ.2562 ยังอยู่ในสภาวะของการเปลี่ยน (ไม่) ผ่านและความไม่แน่นอน ความสงบที่วางอยู่บนฐานของการกดความขัดแย้งได้มลายหายไป พื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างมากขึ้น การต่อสู้ทางความคิดและการแบ่งขั้วของคนในสังคมแหลมคมมากขึ้น

“บวกกับสภาพที่เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองและสถาบันการเมืองต่างๆ อย่างสูงที่ทำให้ไม่มีใครครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่อไป

“การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลผสม 21 พรรคที่ปราศจากเสียงข้างมากเด็ดขาดก่อให้เกิดรัฐบาลที่ขาดเอกภาพและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ

“ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งจึงเดินอยู่บนเส้นทางที่เปราะบาง ในทางหนึ่ง เรายังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและมีฉันทามติระหว่างคนในสังคมที่จะยอมรับกฎกติกาเดียวกันในการปกครอง

“ในอีกทางหนึ่ง ชนชั้นนำก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบเผด็จการจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งและมีความชอบธรรมเช่นเดียวกัน

“การบริหารประเทศที่ขาดประสิทธิภาพอาจนำไปสู่ความชอบธรรมที่เสื่อมถอยลงและการเผชิญหน้ากับการประท้วงต่อต้านของประชาชนที่สูงขึ้น

“ภายใต้สภาพเช่นนี้ จุดเปราะบางของการเมืองไทยจึงอาจพัฒนาไปสู่จุดแตกหักและเผยตัวเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในรูปโฉมใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน”

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่-จตุจักร จะออกหน้าไหน ใครพ่ายแพ้ ใครชนะ อย่างไรก็ตามนี่คือสนามการแข่งขันทางการเมือง ซึ่งได้รับ “มรดกตกทอด” มาจากภาวะไร้เสถียรภาพหลังเลือกตั้งใหญ่ปี 2562

มาถึงต้นปี 2565 อะไรบางอย่างอาจผันแปรเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทว่าอะไรอีกหลายอย่างน่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังดำรงอยู่ และรอคอยวันชำระสะสางต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image