สถานีคิดเลขที่ 12 : ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’? โดย ปราปต์ บุนปาน

ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ชื่อ‘อุ๊งอิ๊ง’?

สถานีคิดเลขที่ 12 : ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’? โดย ปราปต์ บุนปาน

พรรคเพื่อไทยเพิ่งประกาศเปิดตัว อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”

แม้จะยังไม่มีการยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าสถานภาพข้างต้นคือการเป็น “ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรค

แต่แนวโน้มที่เราจะได้เห็น อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ลงชิงตำแหน่งนายกฯ ก็มีสูงขึ้นเรื่อยๆ

คำปราศรัยของ อุ๊งอิ๊ง ในกิจกรรม “ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” เมื่อวันที่ 20 มีนาคม มีถ้อยคำสำคัญและน่าสนใจอยู่จำนวนหนึ่ง

Advertisement

เช่น การยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยเคยมี “ข้อผิดพลาด” ในการทำงานทางการเมือง, การระบุว่าพรรคต้อง “เปลี่ยนแปลง-ปรับตัว” ตามความต้องการของพี่น้องประชาชน

และการยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะทำลายระบอบเผด็จการ ด้วยการ “ยึดอำนาจรัฐ” ผ่านชัยชนะในคูหาเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี “คีย์เวิร์ด” ที่ทางเพื่อไทยสื่อสารออกมาชัดเจนที่สุดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นั้นคือคำว่า “ครอบครัว”

Advertisement

ด้านหนึ่ง “ครอบครัว” คือ อุปลักษณ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ความเป็นสถาบันทางการเมือง” ที่ “พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย” สั่งสมประสบการณ์การต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง และบาดเจ็บล้มลุกคลุกคลานกับพี่น้องประชาชน มาอย่างโชกโชนร่วมสองทศวรรษ

แต่อีกด้าน คำว่า “ครอบครัว” ที่ผูกพันกับบุคคลในตระกูล “ชินวัตร” ก็อาจทำให้พรรคเพื่อไทยหลีกเลี่ยงข้อครหา-อาการรังเกียจหวาดกลัวเดิมๆ ของคนบางกลุ่ม ไปไม่พ้น

แม้การได้ แพทองธาร ชินวัตร มาเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” จะช่วยตอกย้ำ “แบรนด์” “อัตลักษณ์” หรือ “จุดแข็ง” ข้อเดิมของตนเอง ที่ลดทอนพลังลงไปหลังรัฐประหาร 2557

นี่คือจุดแข็งที่กระตุ้นเร้าให้ประชาชนที่เคยนิยม รัก และศรัทธา “ทักษิณ-ตระกูลชินวัตร” ยังปักหลักเชื่อมั่นใน “ครอบครัวเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “อุ๊งอิ๊ง”

ทว่า สารแบบเดียวกันอาจเอาชนะใจคนที่ “ไม่ชอบทักษิณ” เป็นทุนเดิม หรือบรรดาคนรุ่นใหม่ในเขตเมือง (ที่ไม่เชื่อเรื่องการทำงานการเมืองแบบ “คณาธิปไตย” หรือการส่งมอบอำนาจใดๆ ผ่าน “ระบบสายเลือด”) ไม่ได้

ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่จะท้าทายศักยภาพของ “หัวหน้าครอบครัวรุ่นใหม่” อย่าง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร

กล่าวคือในระยะหลัง ดูเหมือนเพื่อไทยจะเจอ “กลยุทธ์การสื่อสารทางการเมืองแบบใหม่” ที่ “ว้าว” และ “เวิร์ก” ในระดับหนึ่ง

ผ่านการเชื่อมโยง ส.ส.หญิงรุ่นใหม่บางรายเข้ากับ “วัยรุ่น” จำนวนไม่น้อย ด้วยวัฒนธรรมแบบ “แฟนคลับ/ติ่งบันเทิง” ซึ่งนำไปสู่ยอดการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียที่สูงมากจนน่าทึ่ง

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า “วัยรุ่น” แฟนคลับ ส.ส.เพื่อไทย เหล่านี้ ดูจะมีวิธีคิด-ท่าทีที่แตกต่างจาก “วัยรุ่นที่เคยโหวตเลือกพรรคอนาคตใหม่” ตอนปี 2562 หรือ “วัยรุ่นสามนิ้ว” ที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ

เนื่องจากประเด็นถกเถียงทางการเมืองที่เข้มข้นร้อนแรงคล้ายจะไม่ปรากฏขึ้นมากนัก ท่ามกลางกระแสชื่นชมตัวบุคคลที่เป็น “ไอดอล-ผู้แทนราษฎร”

นอกจากนั้น ยังน่าตั้งคำถามว่า “วิถีแฟนคลับ” ที่ก่อตัวขึ้นจะนำไปสู่ประสิทธิผลในสนามเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน?

เช่น “วัยรุ่นกรุงเทพฯ” ที่ชื่นชอบ “ส.ส.น้ำ” หรือ “วัยรุ่นอีสาน” ที่ชื่นชม “ส.ส.อิ่ม” จะยังโหวตเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ข้องเกี่ยวกับนักการเมืองหญิงทั้งสองคนโดยตรง อยู่หรือไม่?

ในสมการดังกล่าว “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” อาจเป็น “ตัวแปรที่ขาดหายไป” ซึ่งเข้ามาช่วยเติมเต็มให้โจทย์ทางการเมืองของเพื่อไทยมีคำตอบชัดเจนมากขึ้น

เพราะ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” คนนี้ ดูจะมุ่งมั่นเข้ามาทำงาน-สานต่อภารกิจทางการเมือง มากกว่าจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ “ไอดอล” ให้แก่ตนเอง

สิ่งที่ต้องรอพิสูจน์ก็คือ “การเมืองแบบอุ๊งอิ๊ง” จะไปไกลแค่ไหน? และตอบสนองความต้องที่เปลี่ยนแปลงไปของสาธารณชนได้ดีเพียงใด?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image