สถานีคิดเลขที่ 12 : ประชาชนได้อะไร

สถานีคิดเลขที่ 12 : ประชาชนได้อะไร ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ประชาชนได้อะไร

ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ยังดูวุ่นๆ ฝุ่นตลบ ว่าพิจารณาเสร็จได้ทันตามเดดไลน์ 180 วัน คือ วันที่ 15 สิงหาคมนี้หรือไม่ ประเด็นที่ตัวแทนพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ถกเถียง ยกเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย คือ ประเด็นเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขมาใช้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ส.ส.เขต 400 คน กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ว่าจะใช้สูตรคิดหารด้วยจำนวนเท่าใด ระหว่างหารด้วย 100 คน กับหารด้วย 500 คน ล่าสุดแนวโน้มเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาจะสนับสนุนให้ใช้สูตรหารด้วย 500 ตามมติของเสียงส่วนใหญ่ ที่ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปปรับแก้ไข เนื้อหาของมาตราที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณด้วยสูตรหาร 500

ซึ่งเป็นการกลับมติของที่ประชุมรัฐสภา จากวาระรับหลักการที่มีมติให้ใช้สูตรหาร 100 แต่ในการพิจารณาวาระที่ 2 มติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภากลับเห็นด้วยกับคำแปรญัตติของ กมธ.เสียงข้างน้อยที่เสนอให้ใช้สูตรหาร 500 ซึ่งสุดท้ายปลายทางประเด็นเรื่องสูตรหารด้วย 100 กับหารด้วย 500 คงต้องถึงมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้ขาดว่าสูตรไหนชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เพราะแต่ละฝ่ายต่างยกเหตุผล ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ ความชอบธรรมและการนำไปปฏิบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เรื่องวุ่นๆ ของสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มาจากการคิดและวิเคราะห์ในสารพัดสูตร ของนักการเมืองและผู้มีอำนาจว่าแนวทางใดฝ่ายของตัวเองจะได้ประโยชน์จากกติกา การเลือกตั้งที่หวังจะ “ดีไซน์” ออกมาให้ตัวเองได้เปรียบคู่แข่งให้มากที่สุด ซึ่งประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในวงนอก มองดูการทำหน้าที่ของผู้ทรงเกียรติ ในการออกแบบกติกาการเลือกตั้ง ยังคงไม่เข้าใจในจุดยืนและหลักการของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าจะยึดหลักการ หรือผลประโยชน์ในทางการเมืองของแต่ละฝ่ายกันแน่

Advertisement

สุดท้ายไม่ว่ากติกาการเลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาด้วยสูตรการหารแบบไหน ประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย

เพราะปัญหาปากท้องและค่าครองชีพที่ยังแพงอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีอำนาจรัฐ ควรจะเร่งแก้ไขให้ได้ก่อน มากกว่าการมาชิงไหวชิงพริบในทางการเมือง เพื่อออกกติกาการเลือกตั้งให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะไม่ว่ากติกาการเลือกตั้งจะออกมาเป็นสูตรไหน

ตัวเลือกที่ประชาชนเขาคิดไว้อยู่ในใจ ว่าจะเลือกใครให้เข้ามาบริหารประเทศ นำพาอนาคตของพวกเขาในอีก 4 ปีข้างหน้า คงไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้

Advertisement

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image