สถานีคิดเลขที่ 12 : ไม่ใช่แค่ ‘เดี่ยว 13’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไม่ใช่แค่ ‘เดี่ยว 13’ โดย ปราปต์ บุนปาน

ประเด็นที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ “รัฐบาลประยุทธ์” โดนล้อเลียนใน “เดี่ยว 13” การแสดงเดี่ยวไมโครโฟนหนล่าสุดของ “โน้ส อุดม แต้พานิช” อาจเป็นเพียงกระแสที่พัดเข้ามาอย่างวูบวาบ แล้วลอยผ่านหายไปอย่างเงียบๆ

เพราะจนถึงตอนนี้ นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้ออกมาตอบโต้ “โน้ส อุดม” ด้วยตัวเอง

ส่วนที่บรรดา “นักร้อง” ออกมาขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโน้ส ก็น่าเชื่อว่า สุดท้าย เรื่องเหล่านี้คงค่อยๆ ถูกปัดตกไป

เพราะแม้ “กระบวนการทำลายฝ่ายตรงข้าม” ในสังคมการเมืองไทย จะไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์แน่นอนนัก และมีลักษณะทำอะไรตามอำเภอใจอยู่บ่อยๆ แต่คนมีอำนาจจริงๆ คงไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องยิบย่อยหยุมหยิมแบบ “เดี่ยว 13” สักเท่าไหร่

Advertisement

ขณะเดียวกัน “มุขการเมือง” ใน “เดี่ยว 13” ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

เนื่องจากสิ่งที่ “โน้ส อุดม” พูดบนเวที ล้วนเป็นข้อเท็จจริงหรืออารมณ์ความรู้สึกทางการเมือง ที่คนจำนวนไม่น้อยสัมผัสจับต้องได้มาพักใหญ่

ทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้นำประเทศกลายสภาพเป็น “ตัวตลก” ซึ่งถูกล้อถูกอำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

Advertisement

ตลอดจนความรู้สึกของคนชั้นกลางส่วนใหญ่ในเมือง ตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยทำงาน ที่เห็นว่านายกฯ คนปัจจุบัน ไม่ใช่ตัวเลือก-ตัวแทนของพวกเขา

นอกจากนั้น “เดี่ยว 13” ก็ไม่ใช่คอนเทนต์แรกสุดของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่กล้าหยอกเย้า “ลุงตู่” และไม่ใช่การล้อการเมืองที่ “แหลมแรง” ที่สุดในรอบหลายปีหลัง

คำถามที่น่าสนใจมากกว่าจึงอยู่ที่ว่า จนถึงบัดนี้ ยังมีสื่อ-อีเวนต์บันเทิงกระแสหลัก (ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตที่ต้องการคนดูหลักพันหลักหมื่นคน หรือซีรีส์-รายการโทรทัศน์ที่หวังเรตติ้ง-ยอดวิวสูงๆ) ที่กล้าเชียร์นายกรัฐมนตรีหลงเหลืออยู่อีกเหรอ?

คำตอบก็คือ “ไม่มี”

เช่นเดียวกับการที่เราไม่ควรพิจารณาว่ากรณี “โน้ส อุดม” ขึ้นเวทีจิกกัดท่านผู้นำนั้น ถือเป็น “เรื่องแปลกประหลาดเกินคาดคิด”

เพราะ “เรื่องแปลกประหลาดผิดคาด” จะเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต่อเมื่อมี “ดาราวายดังๆ” สักคู่ กล้าประกาศเชิญชวนบรรดาแฟนด้อมให้ไปลงคะแนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบหน้า

อีกทางหนึ่ง ก็อยากฝากถึง “กองเชียร์นายกฯ” ว่าไม่ต้องตื่นเต้นหรือรู้สึกเร่าร้อนกับ “เดี่ยว 13” ในเน็ตฟลิกซ์ให้มากนัก

เพราะเอาเข้าจริง การอำ การล้อ การวิพากษ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ “ระบอบประยุทธ์” นั้นดำรงอยู่ในทุกๆ กิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมสมัย

ไม่ว่าคุณจะดูซีรีส์, ตีตั๋วไปดูหนังในโรงภาพยนตร์, ไปร่วมเทศกาลดนตรีของศิลปินรุ่นใหม่ๆ หรือนั่งเล่นโซเชียลมีเดียหน้าจอโทรศัพท์

แม้แต่งานมหกรรมหนังสือฯ ที่กำลังจัดกันอยู่ ก็มี “สารต่อต้านผู้มีอำนาจ” ปรากฏอยู่มิใช่น้อย

สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีโดน “ต่อต้าน” ในทุกๆ สนามรบทาง “การเมืองวัฒนธรรม”

ทว่า ถ้าลองมองจากมุมของ “กองเชียร์ลุงตู่” สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่า ก็คือ การที่นายกฯ เริ่มไม่มีตำแหน่งแห่งที่หลงเหลืออยู่ในสนามรบเหล่านั้น

ดังจะเห็นว่าเมื่อเกิดกรณีวิวาทะเกี่ยวกับ “เดี่ยว 13” พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนเหมือนเก่า

และอย่างที่บอกไปแล้วว่า ดูเหมือนเสียงเชียร์นายกฯ ในพื้นที่วัฒนธรรมประชานิยม/สมัยนิยมกระแสหลักจะทยอยจมหายลงเกือบหมด

หรือขณะที่พรรคการเมืองหลักๆ ของฝ่ายค้าน พากันไปออกบูธในงานมหกรรมหนังสือฯ ซึ่งมีผู้บริโภคเข้าร่วมงานอย่างหนาแน่นคึกคัก เพื่อทำงานทางความคิดก่อนการเลือกตั้ง

ผู้นำประเทศกลับไม่ยอมหาโอกาสไปเดินดูงานอย่างละเอียด เพื่อสำรวจว่าคนยุคสมัยนี้เขาอ่านอะไรเขียนอะไรกันบ้าง

ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเดินหน้าไปสู่อนาคต แบบคนหมดแรง หมดไอเดีย และเหลือเครือข่ายสนับสนุน (ที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์) น้อยลงทุกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image