สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้ง หรือรัฐประหารเงียบ?

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้ง หรือรัฐประหารเงียบ? “คือเรากำหนดไว้ชัดว่าการเลือกตั้ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้ง หรือรัฐประหารเงียบ?

“คือเรากำหนดไว้ชัดว่าการเลือกตั้งนี่อยู่ที่ 7 พฤษภาฯ คำถามเล็กๆ ความจริงไม่เล็ก ถ้าเกิด กกต. ไม่พร้อม อย่างที่เราฟังอาจารย์สมชัย (ศรีสุทธิยากร) ฟังอะไรทั้งหลาย แล้วเกิดการเลือกตั้งมันถูกใช้เป็นข้ออ้างขอขยับออกไป ยุ่งนะ

“การขยับจะมีนัยยะเท่ากับ การรัฐประหารเงียบ เพราะว่าการเลือกตั้งมันกำหนดชัด 7 พฤษภาฯ แต่เกิดรัฐบาลบอกว่า ก็ กกต. ไม่พร้อม ถ้างั้นผมก็ต้องรักษาการณ์ต่อ แล้วยิ่งเห็นประเด็นที่อาจารย์สมชัยท้วง อะไรท้วงนี่ ผมว่าข้อถกเถียงมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“ผมตอนนี้ยังเชื่อว่า การเลือกตั้งควรจะมา ใช้คำว่า ควรจะ นะ … แต่กลัวว่า เขาบอกก็ไม่พร้อม ไม่พร้อมก็ต้องเลื่อนโดยสภาพ

Advertisement

“อย่างที่อาจารย์สมชัยเตือนเรื่องจำนวนคน (ประชากร) เรื่องแบ่งเขต ผมว่ามันพูดกันมานานจนตกใจว่า สัญญาณทุกอย่างนี่มาแล้ว ทำไม กกต. ไม่รู้สึกว่าประเด็นอย่างนี้สำคัญ เพราะว่าถ้าแบ่งเขตไม่ได้ ยังไงการเลือกตั้งเกิดไม่ได้เลยนะครับ หรือเกิด (เลือกตั้ง) แล้วถูกฟ้อง ทำให้การเลือกตั้งถอยกลับไปนี่ ไอ้นั่นยุ่งมโหฬารเลย

“ผมทิ้งประเด็นไว้ว่า ผมกลัวรัฐประหารเงียบ ผมถือว่าการเลือกตั้งเลื่อนจาก 7 พฤษภาฯ นี่ต้องถือเป็นรัฐประหารเงียบเลยนะ เหมือนกับตอนปี 2476 ที่เบรกการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั่นแหละ ผมว่ามันจะมีอาการคล้ายๆ กันบางอย่าง

“ก็คือไม่อยากเห็นประเทศไทยถอยหลังกลับไปอย่างนั้น”

Advertisement

ข้างต้นคือความเห็นของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์อาวุโส ที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองไว้ในรายการ “The Politics” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อสัปดาห์ก่อน

แม้หลายคนจะยังเชื่อเช่นเดียวกันอาจารย์สุรชาติว่า อย่างไรเสีย ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ประเทศไทยน่าจะมีการเลือกตั้ง มากกว่าไม่มี

เพราะนี่ถือเป็นทางออกเดียวจากสภาพการณ์ปัจจุบันอันน่าอึดอัด ซึ่งจะนำพาประเทศไทยเดินทางไปสู่อนาคตได้

อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่าปัญหาความไม่พร้อมของการจัดการเลือกตั้ง อาจนำไปสู่การเล่นแร่แปรธาตุทางการเมืองบางประการนั้น ก็มิใช่ทฤษฎีสมคบคิดที่เลื่อนลอย หรือการคาดเดาที่เรื่อยเปื่อยเสียทีเดียว

หากเป็นสมมุติฐานที่วางอยู่บนพื้นฐานของความไม่เชื่อมั่นที่สาธารณชนมีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ชุดปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2562, การแพ้คดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเลือกตั้งใหญ่คราวนั้น มาจนถึงกระบวนการเตรียมความพร้อมต่างๆ สำหรับการเลือกตั้งปี 2566

เป็นสมมุติฐานอันเกิดจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นปัจจัยพิเศษทางการเมือง หรือการใช้อำนาจนอกระบบหลายอย่าง ตั้งแต่การรัฐประหารกันแบบโต้งๆ, การทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะ ไปจนถึงอภินิหารอื่นๆ ที่อาจมีกฎกติกาพิกลพิการมารองรับ ทว่าขัดกับสามัญสำนึกของผู้คนส่วนใหญ่

ยิ่งเมื่อผนวกกับแนวโน้มที่ว่าพรรคการเมืองของอดีตผู้นำคณะรัฐประหาร (ไม่ว่าพรรคไหน) แทบไม่มีโอกาสจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

ก็ยิ่งไม่มีใครกล้ายืนยันว่า การเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image