ผู้เขียน | ปราปต์ บุนปาน |
---|
ปัญหา‘ปากท้อง’
ถ้าพรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียง ส.ส. และ ส.ว. จนจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
เชื่อว่าภารกิจหลักที่จะถูกชูขึ้นมาเป็นลำดับแรก คือ การแก้ไขปัญหาปากท้อง
นี่คือภารกิจที่เพื่อไทยเชื่อว่าตนเองมีประสบการณ์ มีความถนัดเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี
ขณะที่ผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่าเพื่อไทยรู้จริง ทำงานได้จริง ในภารกิจนี้
แต่คำถามท้าทาย ก็คือ ปัญหา “ปากท้อง” ของคนไทยส่วนใหญ่ ณ กลางทศวรรษ 2560 มีสภาพอย่างไร?
เวลาเราบอกว่าคนไทยกำลังประสบภาวะ “ยากลำบาก” ในทางเศรษฐกิจนั้น หมายถึงอะไรกันแน่?
คำตอบที่ได้ คือ คนไทยจำนวนมากมิได้อยู่ในสภาวะ “ยากจนข้นแค้น” ขาดสิ้นทุกสิ่งอย่าง ไม่มีอันจะกิน
นอกจากนั้น ระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งในมิติการผลิตและการบริโภค ก็ไม่ได้ล้าหลัง โบราณ ไร้ซึ่งการพัฒนาใดๆ
ดังที่นักเศรษฐศาสตร์มักระบุว่า ประเทศไทยติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (หมายความว่าไม่ได้มีรายได้ต่ำ) ซึ่งประชากรจำนวนมากไม่ได้ยังชีพอยู่ในภาคเกษตรแล้ว แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในระบบทุนนิยมที่ทันสมัยพอสมควร
ปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่การขาดแคลนทรัพยากรอย่างสิ้นเชิง แต่พวกเขารู้สึกว่าตนเองควรจะมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคนส่วนน้อยมากๆ ในประเทศ ที่ดันเข้าถึงทรัพยากรจำนวนมหาศาลได้อย่างง่ายดาย
ปัญหา “ปากท้อง” ในบริบทข้างต้น จึงมีจุดใหญ่ใจความอยู่ตรงประเด็นความเหลื่อมล้ำและการผูกขาด
คนไทยจำนวนมากในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็น “คนชั้นกลาง” ในทางเศรษฐกิจและสังคม ล้วนตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่ว่า และเอาเข้าจริง พวกเขาอาจไม่ได้ประเมินมันผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจ เหมือนที่นักวิชาการประเมิน
แต่พวกเขามองเห็นความเหลื่อมล้ำ ผ่าน “หลักการ-คุณค่า” บางประการที่ตนเองสมาทานยึดถือ
เมื่อเป็นอย่างนี้ ก่อนจะมุ่งแก้ไขปัญหา “ปากท้อง” รัฐบาลชุดใหม่อาจต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าอะไรคือ “หลักการ-คุณค่า” ทางสังคม-วัฒนธรรม ที่ประชากรหลายสิบล้านคน ซึ่งติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” ให้ความสำคัญ
ถ้าคุณค่าเหล่านั้นยังขาดพร่อง-ไม่สมบูรณ์ เพราะติดขัดเรื่องกฎกติกาต่างๆ ก็เป็นพันธกิจของรัฐบาลที่จะต้องเติมมันให้เต็ม ไม่ต่างจากนโยบายเติมเงินเข้ากระเป๋าคน
หากถามว่าคนไทยจำนวนมากในยุคปัจจุบันยึดถือสมาทาน “หลักการ-คุณค่า” อะไรกันบ้าง?
แนวคำตอบอาจอยู่ที่นโยบายเชิงก้าวหน้าต่างๆ ของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าก้าวไกลจะอยู่ในรัฐบาลชุดหน้า หรือถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านก็ตาม
คำถามต่อเนื่อง คือ แนวทางการแก้ไขปัญหา “ปากท้อง” ของรัฐบาลเพื่อไทยในอนาคตจะช่วยหนุนเสริม “หลักการ-คุณค่า” ใหม่ๆ ทั้งหลายได้หรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?
ดูแนวโน้มแล้ว การอภิปรายถกเถียงกันเรื่อง ม.112 น่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนักในรัฐบาลชุดหน้า
แม้เพื่อไทยจะเอาด้วยกับแนวคิดยกเลิกเกณฑ์ทหารตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่หากรัฐบาลชุดใหม่ปราศจากก้าวไกล แล้วแทนที่ด้วยพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งแนบชิดกับกองทัพและเครือข่ายอำนาจรัฐฝ่ายอนุรักษนิยม เรื่องนี้ก็อาจไปต่อได้ยาก
กฎหมายสุราก้าวหน้าจะไปได้ไกลแค่ไหน? ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ จะกล้าชนกับอำนาจทุนผูกขาดเพียงใด?
อาจเหลือแค่เรื่องสมรสเท่าเทียมที่มีโอกาสสำเร็จลุล่วง เพราะมิได้ชนกับอำนาจอะไรอย่างจังๆ
หากรัฐบาลเพื่อไทยในอนาคตผลักดันประเด็นทำนองนี้ได้น้อย และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มากเท่าที่ควร ผู้คนก็จะยังรู้สึกว่าปัญหา “ปากท้อง” ของพวกตนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถ่องแท้
แล้วพวกเขาก็จะหันไปฝากความหวังไว้ที่พรรคก้าวไกล หรือพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นมาแทนก้าวไกลอีกครั้ง
ปราปต์ บุนปาน