เดินหน้าชน : กู้วิกฤต ร.ร.เอกชน

เดินหน้าชน : กู้วิกฤต ร.ร.เอกชน

ความเดือดร้อนของนักเรียน ผู้ปกครอง จากการปิดตัว เลิกกิจการของโรงเรียนเอกชน เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุดโรงเรียนเอกชนชื่อดังย่านอ่อนนุช ที่สอนมากว่า 30 ปี ประกาศปิดกิจการวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

ด้วยเหตุจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง การเก็บค่าเล่าเรียนไม่เป็นไปตามที่กำหนดจนขาดทุน

Advertisement

ผู้ปกครองต้องเข้ายื่นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการให้ช่วยเหลือเพราะต้องหาที่เรียนใหม่ภายใน 14 วัน เนื่องจากโรงเรียนแจ้งปิดกิจการ 16 ก.พ.

แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกเมื่อย้ายโรงเรียน

แม้ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ปกครองมีรายได้ลดลงทำให้ต้องค้างค่าเทอมกับโรงเรียนเอกชนเป็นหนึ่งปัจจัยทำให้โรงเรียนเอกชนขนาดกลางและเล็ก ขาดสภาพคล่อง

Advertisement

แต่ปัจจัยสำคัญหลักๆ ที่เคยมีการพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว คือ อัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงมาตลอด

ข้อมูลของกรมอนามัยระบุว่า จากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติตั้งแต่ปี 2513 ทำให้จำนวนการเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรก และในปี 2564เหลือเพียง 544,570 คน และอัตราเจริญพันธุ์รวม ลดเหลือแค่ 1.3

จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคง

หากไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ว่า ปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง 12.8% วัยทำงาน 56% วัยสูงอายุ 31.2%

อัตราการเกิดที่ลดลงทำให้เด็กที่จะเข้าเรียนลดลงไปด้วยแต่ละปี โดยในปี 2556 มีประชากรวัย 3-17 ปี จำนวน 12,405,609 คน ก่อนจะลดลงมาเหลือ 11,612,410 คนในปี 2565

เมื่อเทียบกับจำนวนโรงเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 38,000 กว่าแห่งในทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันดึงเด็กเข้ามาเรียน โรงเรียนเอกชนขนาดเล็กจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด

ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญ เหลืออยู่ 3,738 แห่ง นักเรียน 2,033,857 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปิดตัวไปแล้วหลายแห่ง

ส่วนโรงเรียนรัฐบาลมีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย ประมาณ 6.5 ล้านคน

ที่ผ่านมาแม้กระทรวงศึกษาธิการจะเข้ามาช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้กับโรงเรียนเอกชนในช่วงของโควิด-19 อย่างมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการบริหารจัดการโรงเรียนจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ โดยให้โรงเรียนเอกชนในระบบกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ โรงละไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลาการชำระหนี้ 6 ปี

การสนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อคนในภาคการศึกษาที่ 1/2564

แนวทางการช่วยเหลือดังกล่าวถูกมองว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนอย่างจริงจัง เป็นระบบที่จะให้อยู่รอดในระยาวได้แค่ไหน

สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงกระทบโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เชื่อว่าจะมีการยุบปิดกิจการอีกเยอะ หากยังไม่มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนในระยะยาว และไม่ควรที่จะลอยตัวเข้ามาแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ

การปรับตัวให้อยู่รอดยากมาก เพราะโรงเรียนรัฐเองก็ยังต้องแย่งเด็กให้เข้ามาเรียน ผู้ปกครองก็ย่อมพาลูกหลานไปเรียนเพราะค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนช่วยรัฐได้ดีในการจัดการศึกษา หากต้องล่มสลายปิดกิจการคุณภาพการศึกษาจะแย่ลงไปอีก เด็กจะไปแออัดเรียนกันอยู่ในโรงเรียนใหญ่ๆ ทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนอนุบาลจังหวัด โรงเรียนสาธิต โรงเรียนที่มีชื่อเสียง ส่วนโรงเรียนเล็กๆ จะค่อยๆ ถูกยุบและหายไป

สมพงษ์ระบุด้วยว่า “รัฐต้องใส่ใจลงลึก เข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบให้กับโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะแห่งเล็กๆ เชื่อว่าพวกเขาพร้อมจะสู้ ไม่อยากปิดกิจการ ระบบการอุดหนุนโรงเรียนเอกชนอาจจะต้องมาปรับแก้ ให้โรงเรียนกลุ่มนี้ได้รับการอุดหนุนมากกว่าโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีปัญหาอะไร”

แนวทางเหล่านี้เพื่อให้โรงเรียนเอกชนยังสามารถเดินหน้าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image