ขายฝัน?

ขายฝัน?

ขายฝัน?

เกทับเบิ้ลกันแหลกระหว่างพรรคการเมืองประชันนโยบาย เรียกคะแนนเสียงหวังผลเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม

ตรวจสอบนโยบายหาเสียงที่พรรคการเมืองต้องส่งข้อชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

หลายพรรคใช้เงินระดับแสนล้านถึงล้านล้านขึ้นไป

Advertisement

ขออนุญาตคัดตัวอย่างจาก 2 ขั้วการเมือง

ขั้วฝ่ายค้าน

พรรคเพื่อไทย (พท.) มี 70 นโยบาย ใช้เงิน 1,813,500 ล้านบาทต่อปี เพื่อทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ อาทิ

Advertisement

กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาท

บริหารจัดการน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง ชนบทมีน้ำกินน้ำใช้ด้วยระบบบาดาล วงเงินเบื้องต้น 500,000 ล้านบาท

สวัสดิการผู้สูงอายุ ใช้วงเงิน 300,000 ล้านบาท

และมีระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไปอีกกว่า 10 โครงการ

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 52 นโยบาย ใช้เงิน 1,487,850 ล้านบาท ระดับแสนล้านบาทมี 3 นโยบาย สวัสดิการผู้สูงอายุ 500,000 ล้านบาท เป็นเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเอง 200,000 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุน อปท. การศึกษาเท่าทันโลก 200,000 ล้านบาท เป็นการอุดหนุนงบให้ TCAS เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาของนักเรียน

ยังไม่นับรวมโครงการระดับหมื่นล้านอีก 16 นโยบาย วงเงิน 540,950 ล้านบาท

ขั้วฝ่ายรัฐบาล

พรรคพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 14 นโยบาย ใช้เงิน 996,266 ล้านบาท

เป็นระดับแสนล้าน 4 นโยบาย 898,266 ล้านบาท ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาท 70 ปี ขึ้นไป 4,000 บาท และ80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท ใช้วงเงิน 495,658 ล้านบาท กองทุนประชารัฐ 300,000 ล้านบาท ใช้วงเงินงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท รวม 3 ปี แม่-บุตร-ธิดา ประชารัฐ ใช้วงเงิน 174,216 ล้านบาท บัตรประชารัฐ 700 บาท และฟรีประกันชีวิตประชารัฐ ใช้วงเงิน 128,392 ล้านบาท

มีโครงการระดับหมื่นล้านอีก 3 นโยบาย วงเงินรวม 86,000 ล้านบาท

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ย่อมมาหน่อย (อาจเพราะเป็นพรรคเกิดใหม่ คิดโครงการไม่ทัน) มี 11 นโยบาย ใช้เม็ดเงิน 250,000 ล้านบาท

ระดับแสนล้าน 7 นโยบาย วงเงิน 238,000 ล้านบาท

บัตรสวัสดิการพลัส ใช้วงเงิน 71,000 ล้านบาท โดยให้สิทธิผู้มีรายได้น้อยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ภายใต้วงเงินคนละ 1,000 บาท/เดือน

คนละครึ่งภาค 2 จำนวน 26 ล้านสิทธิ ใช้วงเงิน 40,000 ล้านบาท

เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 40,000 ล้านบาท โดยเพิ่มให้เท่ากันทุกช่วงอายุคนละ 1,000 บาท/เดือน

กองทุนฉุกเฉินประชาชน ใช้วงเงิน 30,000 ล้านบาท

เพิ่มเงินสมทบของภาครัฐเพื่อให้แรงงานในระบบประกันสังคมมีรายได้ 10,000 บาท/เดือน ใช้วงเงิน 29,000 ล้านบาท

เที่ยวด้วยกันเมืองรองภาค 2 จำนวน 5 ล้านสิทธิ ใช้วงเงิน 18,000 ล้านบาท

ค่าตอบแทน อปพร. ใช้วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยให้ อปพร. คนละ 1,000 บาท

ลองนำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีวงเงินรวม 3,185,000 ล้านบาท แบ่งการใช้จ่ายในรายการสำคัญ คือ

รายจ่ายประจำ จำพวกรายจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างพนักงานรัฐ รายจ่ายบริหารงาน ค่าวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท

รายจ่ายเพื่อการลงทุน จำนวน 695,077.4 ล้านบาท

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท

ที่สำคัญเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุล ต้องกู้เงินมาโปะร่วม 700,000 ล้านบาท และเป็นการขาดดุลต่อเนื่องมานับสิบปีแล้ว

นำมาสู่คำถาม วงเงินอภิมหาศาลที่ต้องใช้ตามสัญญาโฆษณาหาเสียงจะปั๊มมาจากไหน หากเหล่าพรรคนั้นเข้าไปบริหารประเทศ

ข้อชี้แจงถึงที่มาของแหล่งเงินนั้น เป็นไปได้จริงหรือ

เชื่อกันว่า หลังเลือกตั้งคงเลี่ยงยากความเป็นรัฐบาลผสม ทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมต้องนำนโยบายใช้เงินของตัวเองมาแปรเป็นการปฏิบัติ

สงสัยมั้ยครับ สิ่งที่เรียกว่า “พูดแล้วทำ” น่าตาจะเป็นแบบไหน

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image