เดินหน้าชน : ‘ป้อม’กินทุกกระดาน

เดินหน้าชน : ‘ป้อม’กินทุกกระดาน

การเมืองไทยเหมือนถูกแช่แข็ง หลังเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาเกือบ 3 เดือน ประเทศไทยวันนี้ ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่ได้เสียงสนับสนุนจนมี ส.ส.เป็นอันดับ 1 อย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

น่าหดหู่ยิ่งนัก สาเหตุจากติดล็อกรัฐธรรมนูญ 60 ที่บิดเบี้ยว โดยเฉพาะบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือต้องได้ 376 เสียง

โดยตลอดสัปดาที่ผ่านมา ภายหลังพรรคเพื่อไทย (พท.) ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค ขอลุยรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ภายหลังวันที่ 16 ส.ค.นี้ รอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ปมข้อบังคับที่ 41 ขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากตีตกก็จบ แต่หากมีมูลแล้วเข้าสู่การดำเนินการพิจารณา เงื่อนไขเวลาจะลากยาวออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่า “เพื่อไทย” ถูกบีบ โดนต่อรองอย่างหนัก เรื่องเก้าอี้ รมต.เกรดเอ ถึงขั้นมีสูตรว่า 8 ส.ส.ต่อ 1 เก้าอี้ รวมถึงข้ออ้างต่างๆ …? ที่ถูกหยิบยกมาเจรจา

Advertisement

“การลากยาวในการโหวตนายกฯในครั้งนี้ออกไปทำให้ฝั่งรัฐบาลเดิมได้เปรียบและเป็นผู้ชนะที่แท้จริง เพราะด้วยกติกาทางการเมืองในปัจจุบันออกแบบมาเพื่อให้พรรคที่ร่วมรัฐบาลนั้นหลากหลาย มันทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยมีอำนาจในการต่อรองสูง ยิ่งเกมลากยาวมากขึ้นเท่าไหร่ ทำให้พรรครัฐบาลมีแต้มต่อเยอะขึ้นเท่านั้น” ผศ.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร วิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ฤกษ์ปฏิบัติการ “สารตั้งต้น” หรือที่โซเชียลแทงใจเจ็บจี๊ดว่า “ข้าวต้มมัด” คู่ใหม่ระหว่าง “เพื่อไทย” จับมือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รวมกัน 212 เสียง เพื่อลุยขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยการนำของ “เพื่อไทย” ยกเหตุผลต่างๆ นานา แต่มีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ “การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้เปิดกว้างให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อผ่าทางตันระบบการเมืองของประเทศ และฝ่าวิกฤตรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. ยืนยันว่า พรรค พท.และพรรค ภท.จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ และ ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง ขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่ยังคงต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว

Advertisement

สัปดาห์นี้คงเดินเครื่องทาบทาม เชิญพรรคเล็กพรรคน้อย แต่หากถอดรหัสที่ว่า “ขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว” ต้องแปลว่า มีเสียงครบหรือ 250 เสียง?

หากกางไพ่บนโต๊ะแล้ว จะมีพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง และพรรคไซซ์มินิประมาณ 6 เสียง รวมกันมีแค่ 29 เสียง เมื่อร่วมกับสารตั้งต้นแล้วได้เพียง 241 …

ตัวเลขที่เหลืออยู่ คือ พรรค ก.ก. 151 เสียง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 เสียง …

หากปัจจัยไม่เปลี่ยน “ก้าวไกล” จะโหวตให้หรือไม่ แม้ “เพื่อไทย” อาจหวังลึกๆ ช่วยปิดสวิตช์ ส.ว. แต่มีแผลในใจต่อกันแล้ว ทำให้ทิศทางสถานการณ์วันนี้ พรรค ปชป. ยังลูกผีลูกคนจะมาไหมคงเหลือเพียง “พรรค 2 ลุง” โดยเฉพาะ “บิ๊กบราเธอร์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่ถือเสียง ส.ว. ไม่ดึงไปร่วมก็ไม่มีทางทะลุ 376 ทำให้ได้เปรียบทุกกระดาน!

เมื่อต้องเดินตามกติกา “รธน.60” จะออกสูตรไหน จะจับขั้วกันอย่างไรเมื่อคำว่า ไม่มี “2 ลุง” ค้ำคออยู่ ดังนั้น “คีย์แมน” ของขั้วอำนาจคงจะ “คิดสูตร” ออกมาจนลงล็อก สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเห็นสำหรับการเมืองไทย คงไม่ต้องรอชาติหน้า …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image