บก.นิตยสารดัง นอนไม่หลับ หลังอ่าน ‘เครื่องแบบฯ’ คิดหนักบอกลูกหลาน เราจะอยู่กันอย่างไร

นางวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ อาจารย์ นักเขียน และบรรณาธิการบริหาร Hi-Class Media Group, ผู้ก่อตั้ง DP-Studio

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 14.00 น. ที่เวทีกลาง ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนจัดเสวนาเนื้อในหัวข้อ “เป็นนักเรียนไทยจึงเจ็บปวด เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว” ดำเนินรายการโดย นายธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว แอดมินเพจครูขอสอน โดยมีผู้สนใจร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก  (อ่านข่าว วงเสวนารุม ‘อิหยังวะ’ การศึกษาไทย เปิดตัวเล่มไฮไลต์ ‘เครื่องแบบ ทรงผมฯ’ ขยี้ปมลงทัณฑ์ใน ร.ร.)

ในตอนหนึ่ง หนึ่งในวิทยากร คือ นางวรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์ อาจารย์ นักเขียน และบรรณาธิการบริหาร Hi-Class Media Group, ผู้ก่อตั้ง DP-Studio กล่าวว่า ตกใจ ไม่คิดว่ามีใครสนใจเรื่องพวกนี้ขนาดเอามาเขียนเป็นหนังสือ เกือบ 400 หน้า หรือเพราะว่าเราหลับๆ ตื่นๆ มาไม่รู้นานแค่ไหน บางเรื่องเราลืมความเจ็บปวด หรือไม่นึกถึงสิทธิ ไม่ตั้งคำถามตอนเป็นเด็ก เพราะเรารู้สึกสบายดี ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ สิทธิที่มีอยู่น้อยนิด เราไม่ได้เดือดร้อนอะไร

“เราได้ขึ้นเงินเดือน 5,000 ก็ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งได้รู้ว่า เพื่อนเงินเดือนขึ้น 10,000 และคิดว่า เราต้องการสิทธินั้นหรือไม่ อดีตทวงคืนไม่ได้ แต่อนาคตเราจะจัดการอะไรกับสิทธินี้หรือไม่ อย่าง ‘ลิง’ เวลาอยู่ว่างๆ ก็หาเห็บเหา เพราะขี้เกียจ ในความเชื่อ เมื่อมนุษย์เราได้สิ่งที่พอใจ ความก้าวร้าวก็จะลดลง ฉะนั้น ทำให้รู้ว่า ‘คุณมีสิทธิเท่าไหร่’ ก็ย่อมดีที่สุด

สิทธิที่เราถูกเบียดบัง ถูกปล้นไป ตอนเราไม่รู้ เราไม่เจ็บปวด พอเรารู้ คุ้มไหมที่จะไปเรียกร้อง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ปลุกให้เราสู้ อุดมการณ์อยู่ในกระเป๋า แต่หนังสือนี้ทำให้นอนไม่หลับ เพราะเก็บมาคิด และบอกลูกหลานว่า เราจะอยู่อย่างไรต่อไป

Advertisement

เราเห็นการเกิดขึ้นของเครื่องมืออำนาจ เพราะการปกครองคนหมู่มาก หรือเลี้ยงสัตว์ ไม่ต่างกัน คือเอาสิ่งที่กลัวมากดดัน การใช้ความกลัวเป็นตัวควบคุม ใช้ได้ง่ายกว่า การแบ่งผลประโยชน์ที่เท่าเทียม เพราะนั่นถือว่า ผู้ถือผลประโยชน์จะได้รับลดลง

ขณะที่ใช้ความกลัว ก็ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์อะไรมาก ทำให้เขารู้สึกว่า ‘เขาควรได้รับแค่นี้’ ความกลัวไม่ต้องใช้ระเบิดปรมาณู เหมือน ‘ช้าง’ ที่ใช้ไม้เรียวตีตั้งแต่เล็กๆ จนโตขึ้น ก็กลัวจนสามารถกระโดดทับเราได้ เหมือนกัน เรากำลังพูดกันเรื่องของอำนาจ ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน เราโอเคกับการได้รับอะไรที่ไม่เท่ากัน จ่าฝูง ย่อมได้กินเยอะกว่า ลูกน้อง แต่โรงเรียนพยายามสอนว่า เราต้องโอเคกับสิทธิเท่านี้ โดยไม่มีการตั้งคำถามในกมลสันดาน ทุกครั้งที่ตั้งคำถาม เพื่อนจะไม่คบ ไม่ถูกใจครู พ่อแม่เริ่มมองไม่น่ารัก อย่างการทำงาน คนที่มาขอเงินเดือนเพิ่ม ไม่น่ารัก ทั้งที่เขามีสิทธิที่จะขอ” นางวรรณศิริกล่าว และว่า

เรากำลังใช้ ‘อาวุธมนุษย์’ ในการปกป้องเรา ตอนเด็กๆ ใครเคยพูดมากแล้วโดนจดชื่อส่งครูบ้าง พูดมากผิดตรงไหน พูดตอนสอนอาจจะรำคาญ แต่ตอนที่ห้องเงียบๆ กลับโดนจดชื่อ พอโตขึ้นยิ่งพูดน้อยลงๆ เพราะไม้เรียวอันนั้นขยายขนาดในสมองเรา เราจะยิ่งระวัง ยิ่งเงียบลง ทำอันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ได้ เดี๋ยวโดนฟาด”

Advertisement

นางวรรณศิริกล่าวว่า เล่มนี้จะบอกว่า ลองจับไม่เรียวดูไหม มันหนักไหม เราผิดจริงไหม ? สถานการณ์แบบนี้ คือการมองประชาชนเป็นทรัพยากร ที่สร้างอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเพื่อประโยชน์ของบางคน โดยแท้ด้วยคำว่า ‘ชาติ’ แต่ถ้าเรามองเป็นทรัพยากร ไม่มองความต้องการ หรือความใฝ่ฝันที่แตกต่างกัน โดยไม่ถูกมองว่า ดีหรือเลว คำว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฟังดูดี แต่คุณตายเป็น ‘ตัวเลข’ ไม่ใช่ตายเป็นอนุสาวรีย์

เราอยู่ในสังคมที่บอกว่า ‘เรา วอนนาบี’ (Wanna be) แข่งบุญแข่งได้ แข่งวาสนาแข่งไม่ได้ แต่ย้อนแย้งกับการให้ลูกแต่งงานกับคนที่มีฐานะ คือระบบความคิดที่อยู่ทั้งในบ้านและโรงเรียน แต่โรงเรียนจะหนักกว่า

นางวรรณศิริกล่าวต่อว่า สิ่งที่กลัวที่สุดของเด็ก ไม่ใช่การเจ็บ แต่คือการ ‘เสียหน้า’ ทำให้อับอาย มีเด็กหลายคนฆ่าตัวตายเพราะโดนเพื่อนล้อว่าไม่สวย อับอาย เจ็บจนตาย เจ็บไม่หาย เพื่อนๆ ก็กลัว เพราะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู วัยนี้รักสวยรักงามอยู่แล้ว คุณไปทำลายจุดที่อ่อนไหวที่สุด ถูกลดทอนอำนาจ ลดทอนความเป็นมนุษย์

เมื่อถามว่า สังคมไทย ยังมีคนที่สนับสนุน เห็นด้วยกับการลงโทษอยู่ ?

นางวรรณศิริระบุว่า ความจริงแล้ว ความรุนแรง คือสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต แต่ก็จะต้องต่อสู้กับสัญชาตญาณ เมื่อเราไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กติกาแบบคนทั่วไป ก็ใช้ความโกรธได้เต็มที่ ลงโทษได้อย่างสะใจ หรือมีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้

ในฐานะแม่และครู ผลประโยชน์ที่เรามีร่วมกันคืออะไร วิธีจะสร้างวินัยคือ ‘การพูดความจริง’ ให้รู้ว่า เขาจะได้หรือเสียอะไร มีของกองกลางเท่าไหร่ ถ้าเราทำไม่ได้ จะเสียอะไร พูดให้เข้าใจ พูดเรื่องประโยชน์คนเข้าใจกันทั้งนั้น คนเราเมื่อขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ ทำได้หมด จงเอาความจริงมาสื่อสาร ถ้าเรารู้ว่าเรา มีสิทธิในส่วนประโยชน์แค่ไหน คนจะทำเอง” นางวรรณศิริกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า

ตอนนี้การศึกษา ไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบเดิมๆ อีกต่อไป เราสามารถเรียนกับมืออาชีพที่เก่งที่สุด ที่ไหนก็ได้ในโลก นอนเรียนในส้วมก็ยังได้ การที่เราต้องไปเข้าแถว ตื่นแต่เช้าไปตากแดดหน้าเสาธง เราควรคิดเชิงวิเคราะห์ได้แล้วว่า ทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร คิดและหาคำตอบ ทำไปตามที่ตัวเองเชื่อ ไม่ต้องกลัวเหมือนคนอื่น

“การศึกษา เป้าหมายคือเพื่อการพัฒนา ไม่ใช่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของเรา หน้าที่เรา ไม่ไปใช่ดูถูกตัวเอง การศึกษาไม่ควรมากดทับเรา ขอให้เราตื่นรู้ว่า ถึงเวลาของเราแล้ว” นางวรรณศิริกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจบการเสวนา รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ผู้เขียน “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว: ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย” ได้มาร่วมแจกลายเซ็นพบปะนักอ่าน ที่บูธมติชน E3 จนถึงเวลา 15.30 น. อีกด้วย (อ่านข่าว ‘ภิญญพันธุ์’ เย้ย อยากดันนร.ไทยไปพลเมืองโลก แต่ครูไม่เก็ต ‘สิทธิมนุษยชน’ เด็กยังตากแดดหน้าเสาธง)

สำหรับหนังสือใหม่ 2 เล่มไฮไลต์ ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง’ ลด 15 เปอร์เซ็นต์ จาก 200 บาท เหลือเพียง 170 บาท ส่วน ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน’ จากราคา 350 ลดเหลือ 298 บาท ทั้งนี้ หากซื้อ 2 เล่มคู่กัน ลดพิเศษเหลือเพียง 440 บาท จากราคาเต็ม 550 บาท เฉพาะในเทศกาลหนังสือฤดูร้อนครั้งที่ 2 เท่านั้น

ผู้ที่สนใจสามารถมาเลือกซื้อหนังสือได้ที่ “บูธมติชน E3” ภายในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 ได้ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. จนถึงวันสุดท้าย 8 พฤษภาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image