ตู้หนังสือ : อะไรคือ ‘ห้ามแตะ’ และบรรพบุรุษตัวเงินตัวทอง

ตู้หนังสือ : อะไรคือ ‘ห้ามแตะ’ และบรรพบุรุษตัวเงินตัวทอง

ตู้หนังสือ : อะไรคือ ‘ห้ามแตะ’ และบรรพบุรุษตัวเงินตัวทอง

มิน่า วันนี้ คนที่เคยสงสัยก็คงหายสงสัย ส่วนคนที่ยังไม่ทันคิดก็ได้คิด ว่าทำไม “จูราสสิค พาร์ค” เป็นหนังให้ดูอยู่แท้ๆ แต่เมืองไทยถึงยังมีเหลนโหลนหลินไดโนเสาร์จริงๆ ตะกายเพ่นพ่านยั้วเยี้ยขวางทางรบกวนชาวบ้านเขาไปหมด ก็เพราะยังเจอบรรพบุรุษได้อยู่เรื่อยๆ นี่เอง

พุธที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรฯ กับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ม.สารคาม แถลงผลการค้นพบซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ตัวที่ 13 ในไทย ชนิดใหม่ของโลก “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” อายุย้อนไกลไปถึง 130 ล้านปี ที่ภูน้อย กาฬสินธุ์

เพราะอย่างนี้นี่เอง – ซ.ต.พ.

Advertisement

• และที่มาเจ็บๆ วันเดียวกันในมติชนออนไลน์ ก็คือ “กระจก” กับ “เกมโกะ” ที่นักกฎหมาย กล้า สมุทวณิช เจ้าเดิม ตั้งให้ส่องดูกันใน “กระจกส่องกรรมและสถานการณ์โคะในเกมหมากล้อม” ซึ่งหากหน้าไม่หนากันมากเกินไปก็คงได้คิดบ้าง โดยเฉพาะถ้านึกถึงลูกหลานในภายหน้าบ้าง

ติดที่คนพอสวาปามผลประโยชน์เข้าไปเต็มปาก ก็มักไม่มียางกัน ต่อให้ตั้งกระจกให้ส่อง พอเห็นตัวเองก็อาจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่โบกมือให้คนในกระจกไปน่ะสิ – หล่อนะ – เอ่อ, หล่อดอกน่ะ

• ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชาวอิตาเลียนซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยโรม กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยมาแล้วถึง 5 เล่ม ตั้งแต่ปี 2545 สองเล่ม แล้ว 2550 กับ 2558 และ 2560 อีกปีละเล่ม เมาริตซิโอ เปเลจจี วันนี้ มีงานแปลไทยเล่มหนึ่งให้อ่านเพื่อเข้าใจไทย จากงานค้นคว้าศึกษาของชาวอิตาเลียน

Advertisement

นั่นคือ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง (Lords of Things : The Fashioning of the Siamese Monarchy’s Modern Image) ซึ่งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโฮโนลูลู แห่งฮาวายเป็นผู้พิมพ์เมื่อ 21 ปีก่อน เที่ยวนี้ได้ วริศา กิตติคุณเสรี เป็นผู้พากย์ไทย

งานชิ้นนี้เสนอการก่อร่างสร้างภาพสมัยใหม่ของรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ความคิดแบบกษัตริย์นิยม ที่ปรากฏในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาเนิ่นนาน เกี่ยวกับพระปิยมหาราชผู้พลิกโฉมสยามประเทศให้ทันสมัย ซึ่งลืมปัจจัยและบริบทของการเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ของไทย

ผู้เขียนวิเคราะห์ผ่านหลักฐานชั้นต้น ทั้งที่เป็นจดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ จดหมายโต้ตอบระหว่างรัชกาลที่ 5 กับชนชั้นนำในราชสำนักและชาวต่างประเทศ โดยยกตัวตนของชนชั้นนำสยามผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีบริโภคในราชสำนัก เช่น การแต่งกาย สะสมข้าวของ ถ่ายรูป ฯลฯ

ผ่านการสถาปนาพื้นที่แห่งความศิวิไลซ์ ไม่ว่าการก่อสร้างสวนดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า ฯลฯ ผ่านการจัดแสดงมหรสพสาธารณะ พระราชพิธีตระการตา การร่วมงานนิทรรศการโลก ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 ไม่เพียงตามความศิวิไลซ์แบบโลกตะวันตก ดังหนังสือเล่มนี้ขนานนามว่า “เจ้าแห่งสรรพสิ่ง” เท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแผ่นดินสยามด้วย

เริ่มตั้งแต่บทนำ สถาบันกษัตริย์กับสภาวะสมัยใหม่ ตอนที่ 1 วิถีปฏิบัติ – วิถีการบริโภค รสนิยม และอัตลักษณ์ของชนชั้นนำสยาม ที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบสมัยใหม่, การนำเสนอและภาพแทนตัวตนของชนชั้นนำราชสำนัก

ตอนที่ 2 พื้นที่ – สนามละเล่นชานเมือง, สนามแห่งความเรืองโรจน์ ตอนที่ 3 มหรสพ – การปรับรูปโฉมนาฏกรรมแห่งอำนาจ, บนเวทีโลก และบทส่งท้ายคือ สถาบันกษัตริย์กับความทรงจำ
น่าอ่านทีเดียว เพื่อเข้าถึงการตามให้ทันโลกในสมัยรัชกาลที่ 5

• ผู้ศึกษามาเขียน ปรามินทร์ เครือทอง กล่าวในคำนำงานชิ้นนี้ว่า “ทั้งๆ ที่บทเรียนบทแรกๆ ในวิชาวรรณคดี ว่าด้วยวัตถุประสงค์ของการอ่านวรรณคดีนั้น ค่อนข้างจะเซ็กซี่ คือเพื่อให้เพลิดเพลินอารมณ์ ให้รู้รสพลังอำนาจของภาษา แต่ความสนุกเหล่านั้นย่อมไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเราไม่ได้เพลิดเพลินอารมณ์กับวรรณคดีอย่าง ‘เครื่องบำเรอแก่กิเลส’

แต่วิชาวรรณคดีมักจะขู่เสียงดังๆ ว่า เรากำลัง ‘แตะต้อง’ ผลงานอันยิ่งใหญ่ อันเป็นสมบัติของชาติอยู่ ดังนั้น การจะหาคนทั่วๆ ไปที่รักการอ่านวรรณคดีสักคนในยุคนี้ จึงยาก…”

ขณะที่ ไอดา อรุณวงศ์ เขียนคำนำสำนักพิมพ์ว่า “เพราะความสามัญ คือฐานะอันประหลาด ที่วงวรรณคดีไทยไม่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกำพืดและกมลสันดาน การ ‘สงสัย’” …คือการทำให้วรรณคดีไทยเหล่านี้ ได้มีฐานะทัดเทียมวรรณคดีคลาสสิกของชาติอื่นๆ เขาเสียที

“ฐานะอย่างที่งานเขียนของเชคสเปียร์, โฟล์คเนอร์, วูล์ฟ, จอยซ์ ฯลฯ เขามีกันตลอดมา นั่นคือฐานะของงานศิลปที่มีชีวิต เลือดเนื้อ – อย่างสามัญ”

นี่เอง จึงน่าจะทำให้เราหาอ่าน วรรณคดีขี้สงสัย เพื่อเข้าใจให้ได้ว่า ตัวเองกำลังอ่านวรรณคดีอย่างอ่านนิยายสามัญ ที่สามารถวิตกวิจารณ์วิพากษ์วิจัยไต่ถามได้ ดังผู้เขียนอ่านพระลอ – สงสัยปู่เจ้าสมิงพรายเป็นใคร, อ่านพระสังข์ – สงสัยทำไมพระสังข์ต้องตัดจมูก ตัดใบหู หกเขย, อ่านขุนช้างขุนแผน – สงสัยนางวันทองขี่ม้าท่าไหน, อ่านลักษณวงศ์ – สงสัย “ฮาวทู” เล่นเพื่อน,

อ่านตะเลงพ่าย – สงสัยพระนเรศวรใส่รองเท้าทำยุทธหัตถีหรือเปล่า, อ่านพระอภัยมณี – สงสัยพระอภัยกับนางเงือก “นั่น” กันอย่างไร, อ่านบทเห่เรือ – สงสัยเจ้าฟ้ากุ้งนั่งเรือลำไหน, อ่านอิเหนา – สงสัย “บุษบง” ของบุษบาคัพอะไร, อ่านมโนราห์ – สงสัยประมาณไหนคือดอกทอง, อ่านจันทโครพ – สงสัยอุปสรรคหญิงปลอมเป็นชาย ทำอย่างไรจึงแนบเนียน ฯลฯ

นี่คือการอ่านวรรณคดีแบบวางระดับ “แห่งชาติ” ลงเป็น “สามัญ” อ่านอย่างที่ผู้รจนาประสงค์ให้ผู้คนอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน มิใช่อ่านแบบดูข้าวของล้ำค่าในพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีป้าย “ห้ามแตะ” (Don’t Touch) กำกับไว้

• ญี่ปุ่นเป็นประเทศยอดนิยมสำหรับการไปทำมาหากินเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ซึ่งจะมีสตรีมากหน้าถือพาสปอร์ตคอยเตร่รออยู่หน้าสถานทูตญี่ปุ่น เพื่อร้องขอฝากให้ผู้ผ่านเข้าไปทำวีซ่าเข้าประเทศช่วยแนบของตัวติดไปด้วยสักเล่ม จากความเข้มงวดยามนั้น เมื่อญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยว สถิติคนไทยเข้าญี่ปุ่นจึงสูงสม่ำเสมอเป็นประวัติการณ์ กระทั่งสถานที่หลายแห่งต้องมีบรรยายไทยกำกับ

จากนั้น เรื่องของญี่ปุ่นจึงถูกบรรดานักเรียนญี่ปุ่น คนไทยที่ทำงานในญี่ปุ่น คนรักภาษาญี่ปุ่น คนชอบเที่ยวญี่ปุ่น ฯลฯ ช่วยกันเขียนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่นให้รู้มากมาย แต่เราที่สนใจญี่ปุ่น รู้เรื่องของญี่ปุ่นหมดทุกซอกทุกมุมแล้วหรือ – คงจะยังไม่ แน่นอน

ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก เขียนและบรรณาธิการโดย ปิยดา ชลวร นำเรื่องที่คนรักญี่ปุ่นสมควรรู้มาเสนอ 2 ภาคใหญ่ๆ คือ ภาคหนึ่ง เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ – เอกลักษณ์ของอาหารญี่ปุ่น, ตะเกียบของชาวญี่ปุ่น, วรรณคดีญี่ปุ่นสมัยโบราณ, วรรณคดีญี่ปุ่นสมัยเอโดะถึงปัจจุบัน, หมากล้อมในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น,

อีกด้านของภาษาญี่ปุ่น, ลักษณะเด่นของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น, การศึกษาเพื่อเด็กพิการในญี่ปุ่น, โดสะโฮ – ศาสตร์บำบัดร่างกายแบบญี่ปุ่น, โฆษณาญี่ปุ่น, ญี่ปุ่นกับผักตบชวา, ตะวันออกกับตะวันตก, ทำไมโอกินาวาไม่มีปลาริวกิว

ภาคที่สอง ความเปลี่ยนแปลง – การแต่งงานสายฟ้าแลบ, ฟรีเตอร์, นีทโตะ และฮิคิโคโมหริ, คนไร้บ้านในญี่ปุ่น, ทำไมผู้หญิงญี่ปุ่นรายได้น้อยกว่าผู้ชาย, สาวอะราโฟร์, แรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น, ขุดทองที่ญี่ปุ่น
ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะสองเรื่องหลังที่ใกล้ตัวคนไทยอยู่บ้าง

• เรารู้เรื่องไม่น้อยเกี่ยวกับอาหาร แต่เรายังรู้ไม่มากเกี่ยวกับร้านอาหาร หนังสือเล่มนี้ กินไกลบ้าน : เรื่องเล่าขานร้านอาหารรอบโลก (The Restaurant : A History of Eating Out) ของ วิลเลียม ซิตเวลล์ จะให้ภาพเหล่านั้นได้จดจำ

ผู้เขียนชาวอังกฤษซึ่งเป็นนักวิจารณ์อาหารชื่อดัง เขียนหนังสือเกี่ยวกับการกินและร้านอาหารมาแล้วหลายเล่ม จะนำผู้อ่านย้อนประวัติศาสตร์สองพันปีของการกินอาหารนอกบ้าน ไล่ตั้งแต่ยุคโรมันมาจนปัจจุบัน
ตั้งแต่แผงขายอาหารซึ่งเรียบง่ายที่สุด จนภัตตาคารซึ่งหรูหราฟู่ฟ่าที่สุด ตั้งแต่ “สตรีทฟู้ด” สามัญที่สุด จน “ไฟน์ไดนิ่ง” ซึ่งวิจิตรตระการที่สุด โดยสืบสาวความเป็นมาของร้านอาหาร ความทะเยอทะยานของพ่อครัวชื่อดัง

จนการต่อยอดวิทยาการความรู้ การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม กำเนิดภัตตาคาร อาหารแนวใหม่ ซึ่งเติมเต็มโลกทั้งใบให้เอร็ดอร่อยยิ่งกว่าเดิม

อ่านเรื่องชาวโรมัน, จักรวรรดิออตโตมัน, มรดกตกทอดจากอิบิน บันตูตา, อังกฤษยุคกลาง, ปฏิวัติร้านกาแฟ, การปฏิวัติฝรั่งเศส, การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ, กาแรมและหนังสือนำเที่ยว “นิว ปารีส ไกด์”, ยุควิกตอเรีย,

ร้านบริแทนเนีย แอนด์ โค เปิดกิจการในบอมเบย์, การคิดค้นเครื่องทำทาโก้, อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, กำเนิดซูชิสายพาน, ร้านเลอ กาฟรอช เปิดในลอนดอน, ร้านบิเบนดัมเปิดในลอนดอน, ความตายของแบร์นา ลุโซ,

และอนาคตของการรับประทานนอกบ้าน เป็นบทท้ายสุด

น่าอ่านไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะนักกินอาหาร ไม่ใช่กินอิฐ หิน ปูน ทราย

• และไม่เพียงเด็กที่ไม่ชอบกินผัก กระทั่งผู้ใหญ่ก็มีไม่น้อย แม้จะรู้ว่าผักมีประโยชน์มากมาย ลองอ่านความเรียงเกี่ยวกับอาหาร โดยผู้ซึ่งหลงใหลและผูกพันกับผัก ที่จะช่วยทำให้ทั้งคนรักผักและยังไม่ถึงกับรักผัก ได้เข้าใจโลกใบเขียวๆ เหล่านี้ยิ่งขึ้น ที่ยังมีผัก ผลไม้ สมุนไพรหลากสีอยู่ร่วมโลกใบเขียวนี้ เราและพืชผักต่างเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบในตัวเอง

ผู้เขียน ฮันอึนฮยอง กับผู้แปล มินตรา อินทรารัตน์ จะช่วยกันให้เราได้รู้จัก นักบรรเลงสลัด, มู้ดหอยหวาน, ดอกซากุระและผักชีล้อม, ฤดูใบไม้ผลิและคนรักที่อ่อนแอ, กับอะโวคาโดที่สมบูรณ์แบบ, ข้าวห่อใบองุ่น, แกงเขียวหวานของเบอร์ลิน, คิมบับใบชิโซะ, หน่อไม้ฝรั่งที่ช่างมีความสุนทรีทางวรรณกรรมอย่างยิ่ง, หอยหวานแบบกรีก ฯลฯ

เห็นหัวเรื่องก็เพลินแล้ว อร่อย และได้ความรู้อีกต่างหาก

• นิยายซึ่งประกันคุณภาพด้วยรางวัล “กู๊ดรี้ด ช้อยส์ อวอร์ด 2563” ในฐานะ “นิยายอิงประวัติศาสตร์ดีเยี่ยม” ซึ่งจะนำนักอ่านไปสำรวจสายใยครอบครัว บาดแผล ความทรงจำ และความลับที่ไม่อาจเปิดเผย สายใยสีจาง
ผู้เขียน บริท เบนเนท ให้เรื่องแฝดตระกูลวีนส์วัยสิบหกที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย จนสิบปีต่อมา พี่น้องสองคนกลับมีชีวิตต่างขั้ว คนหนึ่งหอบลูกสาวผิวดำจากวอชิงตัน ดี.ซี. กลับบ้านเกิดที่เคยเกลียดชัง อีกคนไปสร้างชีวิตใหม่กับคนขาวที่ลอสแอนเจลิส อะไรเกิดขึ้นเมื่อชะตาพัดพาให้สองคนกลับมาพบกันอีกครั้ง

อะไรเป็นเหตุให้คนหนึ่งหนีชีวิตที่เคยรู้จัก จะถลำลึกลงอีกหรือไม่เมื่อความลับถูกเปิดเผย ความเจ็บปวดจากคำลวงที่กลายเป็นจริง จะได้รับการเยียวยาหรือถูกตอกย้ำ ครึ่งหนึ่งที่เคยหายไปจะกลับมาเติมเต็มหรือสูญหายตลอดกาล

ฉากหลังประวัติศาสตร์จะขับเน้นให้เนื้อหาตรึงใจ ตีแผ่ความคิดทรมานชีวิต ศิริกมล ตาน้อย แปลให้สะเทือนอารมณ์กับความรู้สึกที่เข้าถึงได้

• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งติดตามสถานการณ์กลุ่มอำนาจปฏิเสธประชาชนอย่างเหนียวแน่น ฉบับว่าด้วย ค คิด คิดสิคิด อำนาจสูงสุดเป็นของเขา (อีกแล้ว) อ่านเมื่อประเทศไทยไม่ปกติ อึดอัด คับข้อง เพี้ยนไปหมด วันที่ข้อบังคับเหนือรัฐธรรมนูญ อาจารย์กฎหมาย 115 สุดทน

อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เปิดโปง “รัฐประหารโดยรัฐสภา” ทำกันอย่าง “เปลือยเปล่า ล่อนจ้อน” ติดตาม 10 สิงหาคม ทักษิณคัมแบ๊กรอบ 17 ปี ผ่านดีลลับเพื่อไทยตั้งรัฐบาล? คนเขียนบทกำหนดชัด ต้องกำจัดก้าวไกลเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประเมินการเมืองไทยผ่านสายตา อดีตเลขาฯสมช.

อ่านการเมืองร้อนปลุกม็อบลงถนน นครบาลจัดทัพรับมือมวลชน ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้งผู้ชุมนุม ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ชี้แนะการเมือง ข้ามขั้วเจอประชาชนเช็กบิลทั้งประเทศ “ฝนไม่ถึงดิน” ของษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เปิดงานวิจัยตั้งรัฐบาลช้าไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง เท่าการตั้งรัฐบาลที่ทรยศอุดมการณ์

ผ่าปมฉาวการ์ดพิธา เป็น ตร.เก๊ อุ้มรีดทรัพย์ คดีเก่าถูกจับเมื่อปี 2554 ก้าวไกลยันไม่เกี่ยวข้อง “ยุทธบทความ” ของสุรชาติ บำรุงสุข “ชัยชนะของตุลาการธิปไตยบนเส้นทางการเมืองที่เปราะบาง” อ่านก้าวย่างหลังเลือกตั้งกัมพูชา จากฮุน เซน ถึงฮุน มาเนต

“คูล เทค” ของจิตต์สุภา ฉิน ส่องการเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ ปลดปล่อย “นกฟ้า” เปิดทางสู่อาณาจักร “X”

• กว่าสองพันสี่ร้อยปีที่แล้ว เพลโต พูดถึงการไม่เรียนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไว้ว่า “…ข้าพเจ้า พิศวงเมื่อรู้ยามชราว่า พวกเราช่างละเลยเรื่องเหล่านี้ไปเสียได้ สำหรับข้าพเจ้าแล้ว พวกเราเป็นเหมือนหมูยิ่งกว่ามนุษย์ และข้าพเจ้าละอายยิ่งนัก มิใช่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่สำหรับชาวกรีกทั้งมวล…”

สองพันสี่ร้อยปีมาแล้วนะ

คัดจาก โลกที่เต็มไปด้วยปีศาจ หนังสือเพื่อปลุกความกล้า ล่าความเขลา ขลาด และปีศาจรอบตัวเราของ คาร์ล เซแกน นักวิทยาศาสตร์ยอดนิยม แปลโดย ธิดา ธัญญประเสริฐกุล หนังสือที่ควรหาให้ตัวเองและลูกหลานอ่าน

ก่อนจะถูกปีศาจอดีตจนปัจจุบันหลอกหลอน

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image