แม้จะไม่ขัดสนจนปัญญา แต่เห็น “มติชนสุดสัปดาห์” ก็ว้าเหว่

แม้จะไม่ขัดสนจนปัญญา แต่เห็น “มติชนสุดสัปดาห์” ก็ว้าเหว่

แม้จะไม่ขัดสนจนปัญญา แต่เห็น “มติชนสุดสัปดาห์” ก็ว้าเหว่

มิได้หมายว่า บรรดาครู อาจารย์ นักวิชาการ ฯลฯ และผู้คนที่มอบปัญญาความคิดผ่าน มติชนสุดสัปดาห์ จะสิ้นไร้ไปแล้ว แต่การจากไป (กะทันหัน-โดยเฉพาะผู้ไม่รู้ข่าวเจ็บป่วย) ของอาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทำให้รู้สึกได้ว่า ต่อไปเมื่อหยิบจับนิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ขึ้นมา ก็ต้องว้าเหว่อยู่บ้างแน่นอน

ใช้สำนวนนักเขียนหลายคนระยะหลังๆ ต้องบอกว่า เป็นเพราะเกิด “ช่องโพรงในหัวใจ” ขึ้นเสียแล้ว เมื่อหยิบหนังสือมาเปิดกี่หน้าก็ไม่พบอาจารย์นิธิ

เพิ่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง ที่ “รัฐฆราวาส” ทำให้เห็นภาพการเมือง การปกครอง และศาสนา ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าพัวพันกันมามั่วซั่วโดยมีจุดหมายหรือเจตนาอย่างไรขององค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกันในสังคม จนคนจำนวนมากที่ไม่เคยคิด อาจคิดไม่ออก มองไม่เห็น ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นรุ่นๆ มาเลยได้

Advertisement

ตกปลายเดือนมิถุนายน “ประวัติศาสตร์ของกฎ” ยิ่งช่วยให้เห็นภาพบ้านเมืองนี้กระจ่าง การอ้างถึงอาจารย์ เสน่ห์ จามริก ครูเหนือครูจารีตผู้หนึ่ง ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้มีสติปัญญาความคิดในบ้านเมือง โดยเฉพาะทางกฎหมาย ข้อบังคับ ยังมีอยู่มาก ท่ามกลางนักกฎหมายเพื่ออามิสซึ่งอาจมีมากกว่า

ทั้งยังแสดงให้เห็นที่มาของการเกิดกฎ กติกา ซึ่งยากที่หากไม่มีครูอาจารย์หรือผู้รู้นำความรู้มาชี้แนะ ให้ความคิดอ่าน ก็ย่อมหลงงมอยู่ในอวิชชา ปรามาส บริภาษ คน “แหกกฎ” อย่างไม่รู้ที่มาที่ไปด้วยคิดว่าตัว (ได้บ่มมา) ถูก ลามไปถึงการสิ้นไร้เมตตาบนพื้นฐานพุทธซึ่งตนสมาทานไว้ลมๆ แล้งๆ ไม่รู้ตัวตั้งแต่เกิด

ขาดวิจารณญาณ ใคร่ครวญ หรือโยนิโสมนสิการ ไม่รู้จักกาลามสูตร

Advertisement

ยิ่งต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเรื่อง “วันชาติ” ยิ่งเปิดหูเปิดตาด้วยปัญญาความรู้ ที่ช่วยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ชาติ” กับ “รัฐราชสมบัติ” นั้น

จากย่อหน้าท้ายสุดของเรื่องนี้ในมติชนออนไลน์ “ในครั้งหน้า ผมจะพูดถึงความเข้าใจผิด หรือความสับสนในเรื่องนี้ ของผู้ใหญ่ไทยและสถาบันทางสังคมอื่นๆ เสริม (ยังมีต่อ)” จะไปหายังมีต่อได้ที่ไหน เมื่อ “ครู = คนมีความรู้หรือความชำนาญ ซึ่งในสังคมย่อมมีไม่มากนัก” (ประวัติศาสตร์ของกฎ) ไม่อยู่แล้ว

อย่าว่าแต่กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ที่อาจารย์ให้ความรู้ มอบความคิด เกี่ยวกับวัฒนธรรม กฎ กติกา ค่านิยม การอยู่ร่วมกันในสังคมไว้เป็นพะเนินเทินทึก อย่างน้อยคนร่วมสมัยไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา ต้องมีความคิดอ่านของอาจารย์นิธิคอย “โพรโว้ก-provoke” (กระตุ้น, แหย่, สะกิด, ยั่วยุฯ) ไว้เป็นหลักให้คิดพิจารณาอยู่บ้างสักเรื่องสองเรื่อง หรืออาจมากไปกว่านั้น

มีหลายคนอาจพูดบางเรื่องหรือให้ความคิดบางประการ “โพรโว้ก” ผู้คนให้ตื่นจากความเคยชินที่ถูกยัดเยียดมายาวนาน แต่คำนี้กระแทกผู้ชมไม่น้อยไม่เพียงในสังคมไทย จากหนัง 8 ตุ๊กตาทองออสการ์เรื่อง คานธี (2525) ของยอดผู้กำกับ ลอร์ด ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์ ผู้ล่วงลับเมื่อวัย 90 ในปี 2557

ที่ให้คานธีปรากฏตัวขึ้น “โพรโว้ก” ชาวอินเดียซึ่งอาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ ตั้งแต่ครั้งเป็นทนายหนุ่ม ก่อนเดินทางกลับอินเดีย

นักอ่านไทยจำนวนมากถูกอาจารย์นิธิ “โพรโว้ก” มาตั้งแต่เป็นนักเรียนนักศึกษา และยังตามเรียนรู้ความคิดอ่านนานาเกี่ยวกับสังคมอยู่จนปัจจุบัน

จากนี้ไป ในฐานะคนคอยรับประทานความคิด จึงไม่รู้ได้ว่าจะ “ว้าเหว่” ไปอีกนานแค่ไหน

• การกล่าวถึงพระเจ้าตากมีมานานาลักษณะ แน่นอนว่า การปลดแอกพม่าจากพระเจ้าอลองพญา ราชวงศ์คองบอง ซึ่งไม่เพียงเสียกรุง แต่เสียดินแดนตะนาวศรีตอนใต้ไปถาวร ซึ่งทำได้ภายใน 7 เดือน เป็นวีรอาจหาญและคุณูปการอันบดบังมิได้ แต่การสิ้นพระชนม์ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เกิดเป็นประเด็นทึกทักกันไปต่างๆ ตั้งแต่เหตุว่าเสียพระสติ กระทั่งมิได้ถูกสำเร็จโทษจริง

เป็นที่มาให้เกิดเรื่องสั้นจากฝีมือ หลวงวิจิตรวาทการ ที่ว่า ผีจับมือเขียนยามราตรี บอกว่าพระเจ้าตากมีผู้ปลอมตัวมาตายแทนใน ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน (2480) ซึ่งต่อมาได้รวมพิมพ์เป็นหนึ่งใน 20 เรื่องสั้นชื่อเดียวกันนั้น หรือแม่ชี วรมัย กบิลสิงห์ ที่เขียนหนังสือ ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน (2516) ด้วยการนั่งทางในสนทนาหารายละเอียดเรื่องราวดังกล่าว

ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่าพระเจ้าตาก รอดการประหารไปบวชเป็นภิกษุในถ้ำที่นครศรีธรรมราช และมีฮวงซุ้ยอยู่ที่นั่น (แม้ภายหลังมีการอ่านภาษาจีนซึ่งจำหลักไว้ไม่ลงรอยกับความเชื่อ แต่ความเชื่อดังกล่าวก็ยังหลงเหลืออยู่) เกิดการค้นคว้าหาหลักฐานมาตีความตามความเชื่อของตนกันไปต่างๆ ตลอดมา

การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของอาจารย์นิธิ พิมพ์ครั้งแรกในปี 2529 (หลังสุดพิมพ์ครั้งที่ 15 ปี 2565) เป็นหนังสือคลาสสิกที่เปิดศักราชการตีความหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารด้วยการศึกษาอ้างอิงประกอบกันหลายทาง ไม่ว่าเสียพระสติจริงดังว่าหรือไม่ สิ้นพระชนม์จากการสำเร็จโทษหรือเปล่า การก่อร่างของกลุ่มเจ้าพระยาจักรี การเมืองของกลุ่มมอญ การกบฏ และรัฐประหารปราบดาภิเษก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในที่สุด

กลายเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้าเรื่องพระเจ้าตากต่อมาอย่างแพร่หลาย

• หนังสืออีกชุด 4 เล่มซึ่งเป็นงานคลาสสิกไปแล้วเช่นกัน ด้วยบทความที่รวบรวมจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม 13 ปีแรก ที่ให้ข้อสังเกตน่าสนใจ ซึ่งถูกนำไปอ้างอิงทางวิชาการสม่ำเสมอ แม้แต่ละเรื่องจะมีบริบทในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เนื้อหาเป็นแบบอย่างของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยให้ศึกษาได้เป็นอย่างดี

กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ โดยวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยเป็นหลัก พูดถึงเสรีภาพในการศึกษาประวัติศาสตร์ และการเมืองที่ครอบงำประวัติศาสตร์

ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก เรื่องของการสร้างชาติไทย ชาตินิยม การกล่อมเกลาผ่านแบบเรียน สงครามอนุสาวรีย์ระหว่างสองรัฐ และรัฐธรรมนูญที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์

ว่าด้วยปัจจัยนานาเบื้องหลังการสร้างรัฐชาติ การปกครอง (หรือการครอบงำความคิด) ด้วยความรักชาติ ความเป็นไทย ปลูกฝังจิตสำนึกด้วยแบบเรียน เริ่มจากหมู่บ้าน ครอบครัว ไปจนมหภาคโดยกระบวนการศึกษาของรัฐ

จึงเป็นงานประวัติศาสตร์วิพากษ์ ที่ต่อยอดให้คนรุ่นหลังมองประวัติศาสตร์จากจุดยืนและแง่มุมที่ไม่เคยมองมาก่อน

โขน, คาราบาว, น้ำเน่า และหนังไทย ว่าด้วยเพลง, ภาษา และนานามหรสพ วิเคราะห์การแสดงหลายรูปแบบในสังคมไทย ด้วยความรู้ที่สร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่าน ว่าพฤติกรรมจากการแสดงเหล่านั้น เจตนาอะไร บอกอะไร

ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี, ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ ด้วยเนื้อหาจากตัวอย่างหลากหลาย ดูเหมือนเรื่องจะครอบคลุมกว้างไกล แต่ที่จริงคือ คู่มืออ่านวัฒนธรรมร่วมสมัยนั่นเอง

เป็นหนังสือชุดที่ให้ความคิดอย่างพลิกโฉมค่านิยมความเชื่อเดิมหลายประการแบบที่คนรักเรียนจะตื่นเต้นที่ได้รู้ได้คิดอย่างเต็มที่ทีเดียว

• หนังสือการเมืองในประวัติศาสตร์ซึ่งตีความให้คิดพิสดารเยี่ยมยอดอีกเล่มของอาจารย์นิธิก็คือ การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ เพราะเสนอมุมมองใหม่ซึ่งต่างไปจากการอ่านประวัติศาสตร์มาแต่เดิม คือกล่าวว่าความสัมพันธ์กับต่างชาติที่ดำเนินไปในรัชกาลนั้น ปัจจัยสำคัญคือปัญหาการเมืองภายใน มิใช่การเมืองระหว่างประเทศจากภายนอก

อาจารย์ชี้ให้เห็นความขัดแย้ง การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ และบทบาทของขุนนางต่างชาติในราชสำนัก ตลอดจนพระกุศโลบายของพระนารายณ์เองในการรักษาราชบัลลังก์ในพระองค์ ซึ่งทั้งหมดช่วยให้เราเข้าใจบรรยากาศการเมืองของอยุธยาสมัยดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ได้เห็นภาพใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ทั้งนี้ จากความนำ-ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเมือง หลังสมัยพระนเรศวร์, ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเมือง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง ต่อด้วยการเมืองสมัยพระนารายณ์-ฟอลคอนและฝรั่งเศส, แนวร่วม-พระสงฆ์ ขุนนาง ประชาชน, การปฏิวัติของพระเพทราชา

นอกจากนี้แล้ว ยังเสนอลู่ทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอยุธยาไม่เพียงแต่รัชกาลพระนารายณ์ แต่ทั้งก่อนหน้าและหลังรัชกาลดังกล่าวด้วย เป็นการเปิดสายตาให้เห็นมุมใหม่ๆ ในประวัติศาสตร์ได้ดียิ่ง

• และเป็นที่รู้กันว่า ไม่เพียงประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นฐานการศึกษาเรื่องอื่นๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของคนทั้งหลายนั่นเอง ที่อาจารย์ศึกษาเพื่อเป็นปากเสียงให้คนเล็กคนน้อย ซึ่งเสียงไม่ดังพอหรือมีน้ำหนักพอแก่การสนใจของคนรับผิดชอบบ้านเมือง ไม่ว่าจะในด้านใดๆ ก็ตามที่กระทบทุกข์สุขของผู้คน พิพากษ์ศาล จึงเป็นตัวอย่างเล่มหนึ่ง ในยุคที่ชาวบ้านรู้แล้วว่าการเมืองมิใช่เรื่องไกลตัว และรู้พอที่จะเข้าใจว่าอำนาจรัฐควรเป็นอำนาจอธิปไตยที่ชาวบ้านมอบให้ตัวแทนเป็นผู้บริหาร แล้วเดี๋ยวนี้ก็ยังรู้ยังเข้าใจอีกว่า อำนาจรัฐซึ่งปรากฏอยู่ปัจจุบัน เป็นอำนาจของปวงชนที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะยังมีอำนาจผลประโยชน์อีกหลายกลุ่มมายื้อแย่ง มิให้เกิดอำนาจเบ็ดเสร็จของปวงชนขึ้นได้

อาจารย์ฟันโครมลงไปตรงๆ เลยว่า “อำมาตย์” ทั้งหลายนั่นเอง อยู่เบื้องหลังการใช้กฎหมายเพื่อ “เล่นงาน” ประชาชน หรือฝ่ายที่ต่อสู้เพื่ออธิปไตยที่แท้ของปวงชน โดยให้ประเด็นสำคัญๆ4 ประเด็นกล่าวถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้น

1.อำนาจที่มาจาก “ศาล” ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระต่างๆ กำลังทำอะไรอยู่ 2.ร่าง “พ.ร.บ.ปรองดอง” ที่ถูกขับเคลื่อน จะสามารถเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด 3.กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “มาตรา 112” กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม 4.วิกฤตการเมืองปัจจุบัน หนุนให้อำนาจนอกระบบแข็งแกร่งขึ้น

ประเด็นสำคัญต่างๆ เหล่านี้ คือเรื่องที่อาจารย์ “โพ” ให้ชาวบ้านได้ “ตื่นรู้” ไปพร้อมกับสถานการณ์บ้านเมือง ที่ดูจะหันเข้าหาความรุนแรงเข้าทุกที

• หนังสือทรงคุณค่ายิ่งของอาจารย์นิธิอีกเล่มหนึ่งคือ ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่ละเรื่องมีจุดร่วมที่ใช้ตัวบทวรรณกรรมศึกษาประวัติศาสตร์ ดังเห็นได้ว่าอาจารย์ค้นคว้า สำรวจ และตีความวรรณกรรมนานาประเภท

เช่น วรรณกรรมที่ผลิตเชิงพาณิชย์ หรือวรรณกรรมตลาด อย่างงานของสุนทรภู่บางชิ้น, วรรณกรรมศาสนา เช่น มหาชาติเมืองเพชร พระปฐมสมโพธิกถา หรือวรรณกรรมราชสำนักอย่าง รามเกียรติ์ ลิลิตพระลอ แม้จนบันทึกประวัติศาสตร์ เช่น พระราชพงศาวดาร

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต้นรัตนโกสินทร์ โดยชี้ให้เห็นการเติบโตของการค้าและพาณิชย์ในสมัยดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ส่งผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง “โลกทรรศน์” ของผู้คนในยุคนั้นด้วย

อ่าน 1.วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์-วรรณกรรมสองชนชั้นของอยุธยา, ความเปลี่ยนแปลงด้านวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์, กระฎุมพีในเศรษฐกิจแบบส่งออก, วัฒนธรรมกระฎุมพีในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์

2.สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี 3.อันเนื่องมาจากมหาชาติเมืองเพชร 4.โลกของนางนพมาศ 5.พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาต้นรัตนโกสินทร์ 6.ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา

อ่านเพลินไปเลยแหละ-ขอบอก

• นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ว่าด้วย ปราชญ์ผู้พิทักษ์ “ชนชาวบ้าน” นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2483-2566 กับ “อารมณ์ขัน ความรู้ ความโกรธ ความหวัง” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ยังมีชีวิตอยู่ในใจผู้คน

ภูมิใจ “เพื่อไทย” 212 สูตรตั้งไข่รัฐบาล มีเรา “ไม่มีลุง” แต่เปิดรูรับ ส.ส.-ส.ว.อนุมูลอิสระ ส่วนประชาธิปัตย์ขยับขั้ว มรสุมดีลทักษิณ เพิ่มดีกรีแตกหัก 4 หัวหน้าพรรคปะทะ 22 ส.ส.อำนาจใหม่

ติดตามรัฐบาลยำรวมมิตร สกัดประวิตรเป็นนายกฯ อ่านรัฐบาลพิเศษ โผทหารพิเศษ ประยุทธ์เคาะ ผบ.เหล่าทัพใหม่ รับสถานการณ์พิเศษ

สุทธิชัย หยุ่น วิพากษ์ เมื่อการเมืองไทยวันนี้ คือเกมเล่นเล่ห์เพทุบาย

บัญชา ธนบุญสมบัติ รำลึกโศกนาฏกรรมฮิโรชิมา “จะเกิดอะไรตามมาบ้าง หากมีสงครามนิวเคลียร์” และติดตามอาชญากรรมฆ่าหั่นศพหมอโคลอมเบีย กับคำสารภาพหนุ่มสเปน “แค้นไม่ยอมเลิก ขู่แฉ” ทิ้งซากเกลื่อนทะเลพงัน

• การจากไปของอาจารย์นิธิเป็นความสูญเสียที่เห็นความสูญเสียนั้นได้ชัดเจน ไม่ต้องเปรียบเทียบกับอะไร หรือเปรียบเทียบกับผู้ใด เพื่อให้อาจารย์เด่นขึ้น เพราะไม่จำเป็น

แต่ในยุคที่การเมืองไทยยังเป็นเพียง “เกมเล่นเล่ห์เพทุบาย” เช่นกาแฟดำระบุ ซึ่งบรรดานักเลือกตั้งที่เข้ามาแสวงประโยชน์ส่วนตนส่วนพรรค ยังสามารถให้เหตุผลแก่สังคมว่า ปณิธานหรือนโยบาย เป็นเพียงการหาเสียง (จึงสามารถพลิกลิ้นหรือกลืนน้ำลายที่ถ่มไปได้) คุณค่าระหว่างตัวบุคคลจึงเห็นชัดอยู่เอง

ประธาน เหมาเจ๋อตง กล่าวในงานไว้อาลัยสหาย จางซือเต๋อ (2487) ผู้รับใช้ประโยชน์ประชาชนอย่างซื่อสัตย์ว่า “คนเราย่อมจะต้องตาย แต่ความหมายของการตายนั้นต่างกัน ในสมัยโบราณ นักอักษรศาสตร์ผู้หนึ่งชื่อ ซือหม่าเชียน กล่าวไว้ว่า “คนเราย่อมจะต้องตายนั้นจริงอยู่ แต่ความตายนั้นบ้างหนักกว่าขุนเขาไท่ซาน บ้างเบากว่าขนนก” ตายเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็หนักกว่าขุนเขาไท่ซาน รับใช้พวกฟาสซิสต์อย่างเต็มที่ ตายเพื่อคนที่ขูดรีดประชาชน และกดขี่ประชาชน ก็เบากว่าขนนก…

“สหายจางซือเต๋อตายเพื่อประโยชน์ของประชาชน การตายของเขาจึงหนักยิ่งกว่าขุนเขาไท่ซาน…เพราะว่าเราเป็นผู้รับใช้ประชาชน…”

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image