ดร.นำชัยแจกวิธีจับโป๊ะ ‘คนโกหก’ เช็กหมอดู-โพยหวย แม่นจริง? นักการเมืองทำได้หรือจ้อจี้

ดร.นำชัย แจกวิธี ‘จับโป๊ะคนขี้โกหก’ เช็กหมอดู-ใบ้หวย แม่นจริงไหม ? ยกวิจัยส่องคำพูดนักการเมือง ทำจริงหรือจ้อจี้

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และพันธมิตรร่วมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (Book Expo Thailand 2024) ในธีม “อ่านกันยันโลกหน้า” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 ตั้งแต่วันที่ 10-20 ตุลาคม

ในเวลา 16.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน J 02 มีกิจกรรม Talk-Eat-Read พูดคุยเรื่อง ‘10 เรื่อง จิตวายป่วง’ นำโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้เขียนหนังสือ ‘จิตตุงแปร่ง…ในโลก why (?) ป่วง’ ‘Need to know รู้แล้วรู้รอด’ ‘เธอ ฉัน สวรรค์ นรก’ เป็นต้น ดำเนินรายการโดย นายภูริพงษ์ เด่นมาลัย บรรณาธิการกองหนังสือสารคดี-วิชาการ สำนักพิมพ์มติชน

ดร.นำชัยกล่าวว่า ใครชอบอ่านหนังสือแนว How to เชิงจิตวิทยา พฤติกรรม ประมาณ 90% แกนหลักเหมือนกันร่างกายมีลักษณะเหมือนมนุษย์โบราณ แต่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมาก ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในความคิด และเราทำตัวไม่ถูก กลายเป็นความเครียด โรคซึมเศร้า หนังสือเล่มหลัง ‘Need to know รู้แล้วรู้รอด’ กับ ‘จิตตุงแปร่ง…ในโลก why (?) ป่วง’ โดยสื่อสารออกไปว่าเราสามารถใช้ชีวิตได้มีความสุขมากขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ คือ ทำความเข้าใจกระบวนความคิดของเราว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจจะรู้วิธีรับมือกับสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นเราจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น

ADVERTISMENT

“ในงานวิจัยบอกว่า คนมองโลกในแง่ดี จะมีความเครียดน้อยกว่า ไม่ค่อยป่วยโรคซึมเศร้า แต่ถ้าคุณมองโลกในแง่ดีเรี่ยราด ก็จะมีความโอเว่อร์ไป เรื่องร้ายๆ ที่คุณเจออาจจะมองว่าดี ถ้าไปถึงขั้นนั้นก็เป็นการหลอกตัวเอง การระวังคือต้องกลับมาทำความเข้าใจกับวิธีความคิดความอ่าน” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า ในเล่มนี้อคติหลักๆ ที่เจอเรียกว่า Confirmation Bias เป็นอคติที่ย้ำความเชื่อเรา สมมติว่าหมอดูคนนี้แม่น เวลาผ่านไปเราเจอเหตุการณ์ต่างๆ แล้วเข้ากับสิ่งที่หมอดูทาย เราจะตีความว่าหมอดูแม่น แต่ถ้าไม่เข้าเราก็จะเตะเหตุการณ์พวกนี้ทิ้งเสมือนไม่เกิดขึ้น เป็นการหลอกตัวเอง

ADVERTISMENT

คำแนะนำถ้าอยากรู้ว่าแม่นหรือเปล่า ให้บันทึกเสียงแล้วจดเป็นข้อๆ หลังจากนั้นมาดูว่ามีข้อไหนที่ตรงบ้าง เราจะเจอความจริงว่าไม่ได้ดีกว่าการสุ่มเท่าไหร่ เหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือมันใหญ่มาก ถ้าเป็นเรื่องที่หมอดูทำนายได้จริง ก็กลับไปดูเล่มที่ทายไว้ปลายปีที่แล้ว มีใครพูดถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ้างหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็ไม่แม่น” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า คนเล่นหวยมีอาการแบบเดียวกัน เวลาไม่ถูกรางวัลก็จะจำไม่ค่อยได้ แต่กลับจำได้ว่าแม่นมากเวลาถูกรางวัล วิธีแก้คือจดเลขไว้ ได้จากใครมา มีการทดลองของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ในห้องเรียน เขานำคำทำนายของหมอดูในหนังสือพิมพ์รายวัน 2-3 ฉบับ มาตัดต่อ ใส่ในกระดาษปริ้นต์ออกมาเป็นแผ่นให้แต่ละคน โดยบอกว่าคำทำนายที่ให้ไปเป็นของแต่ละคน แล้วให้ตอบว่าแม่นหรือไม่ ปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่อ่านแล้วบอกว่าแม่น ฉะนั้น คำทำนายประจำวันเวี่ยงแห แต่ละคนก็ไปคิดเอาเองว่าตรงกับคำทำนายไหม เป็นวิธีหากินทายแบบไหนก็ถูก เพราะคนพร้อมจะเชื่อ

การรับรู้ของมนุษย์ต่อโอกาส ความน่าจะเป็นแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้ประเมินคุณค่าของความน่าจะเป็น เรามักจะตอบเร็วๆ โดยสัญชาตญาณ ซึ่งสัญชาตญาณส่วนใหญ่มักจะผิด

“เคยสงสัยไหม เวลาทำข้อสอบแบบช้อยส์ เคยคิดไหมว่าคำตอบแรกแม่นที่สุด แต่เคยลังเลไหมตอบไปแล้วกลับมาเปลี่ยนดีกว่า มีงานวิจัยระบุว่า คำตอบแรกสุดโดยเฉลี่ย มีโอกาสที่จะถูก แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะถูก เราใช้จิตใต้สำนึกตอบสนอง แต่เราไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์คำนวน ก็ไม่ได้แม่นยำเป็นพิเศษ ฉะนั้นการเดาคำตอบแรก ก็ไม่ได้แปลว่าแม่นกว่าจริงๆ” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า เรื่องซื้อหวยมีคำแนะนำง่ายๆ คืออย่าซื้อหวยเยอะ ซื้อเดือนละ 1-2 ใบ พอแล้ว มีดวงก็ถูก ไม่มีดวงก็ไม่ถูก เวลาคนเสี่ยงพวกนี้จะมีความสุข เป็นสาเหตุหนึ่งให้คนติดการพนัน เวลาเล่นแล้วเลิกไม่ได้ มีการทดลองในบ่อนแห่งหนึ่ง แต่ทายหัวกับก้อย คนแทงอีกฝั่งหนึ่งไปเรื่อยๆ เขาก็มีความเชื่อมั่นว่า ตาสุดท้ายเขาจะชนะและโกยเงินรางวัลไป แต่สุดท้ายก็แพ้พนันไป ซึ่งถ้าเล่นแล้วชนะอะดรีนาลีนจะหลั่งอย่างมาก

ดร.นำชัยกล่าวว่า มนุษย์มีความลำเอียงในการประเมินตัวเองสูงมาก มีการทดลองเทียบกับคนในออฟฟิศ ในชั้นเรียน พบว่าตัวเราจะดีกว่าค่าเฉลี่ยเสมอ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เวลาประเมินตัวเองจะดีกว่าจริง ขณะที่ประเมินคนอื่นแย่กว่าจริง ซึ่งก็ไม่ขึ้นกับระดับความฉลาดด้วย ถ้าประเมินโดยไม่มีหลักฐานจากผลงานที่ผ่านมาวางเทียบ เราจะตกหลุมนี้ง่ายมาก

“เช่นแชร์ลูกโซ่ คนเข้าไปหลังๆ จะประเมินตัวเองว่ายังเข้ามาเร็ว แล้วจะรีบออกอย่างเร็ว แต่หารู้ไม่ว่าเข้ามาช้าแล้ว คนที่เข้าเร็วออกเร็วไปหมดแล้ว เขากำลังจะเป็นแมลงเม่า” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า การโกหกคนอื่นเป็นอันดับ 2 แต่ส่วนใหญ่มนุษย์โกหกตัวเองแทบทุกวัน เมื่อผ่านแบบทดสอบบางอย่าง จะรู้ความจริงว่าเราเข้าใจผิด ถึงตอนนั้นถ้าตั้งสติเป็น ก็จะเริ่มรู้ว่าคิดผิดมาตลอด

การถือกำเนิดนางแบก นายแบก โดยศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Cognitive Dissonance’ (การหาเหตุผลและแสดงพฤติกรรมเข้าข้างความคิดของตนเอง) คนเราปกติพยายามทำความเข้าใจโลก เพราะต้องเอาตัวรอดอย่างมีความสุข ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ไม่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิม เรามีวิธีจัดการได้หลายแบบ ด้วยการตั้งหลักดูว่าทำไมถึงไม่ตรงกับความคิดความเชื่อเรา เป็นวิธีที่คนไม่ค่อยทำ ส่วนอีกวิธีคนนิยมทำมากกว่า ด้วยการตีความเข้าข้างตัวเอง

ดร.นำชัยกล่าวว่า การโกหกมีประโยชน์กับคนโกหก ตราบใดที่เขายังไม่ถูกลงโทษ แต่คนเราไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้ คนปกติจะโหยหาการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม อย่างน้อยก็มีสัตว์เลี้ยง ความรู้สึกโดดเดี่ยวเกิดขึ้นง่ายมากกับมนุษย์ การโกหกเลยทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร โดยงานวิจัยระบุว่าคนที่ขี้โม้ อวดเก่ง พบว่าคนพวกนี้ได้ประโยชน์จากการโม้ของตัวเอง พวกนี้เงินเดือนขึ้นเร็ว ได้เปลี่ยนที่ทำงานบ่อย แต่งานที่ทำออกมาไม่ได้ดีกว่าคนที่เงินเดือนขึ้นช้า

“เคสล่าสุดที่เห็น ไม่ได้เป็น ดร. แต่บอกว่าเป็น ดร. ไม่ได้เป็นหมอ แต่บอกตัวเองว่าเป็นหมอ หลายคนเลยเถิดเชื่อว่าหลอกตัวเองสำเร็จแล้ว เลยมาหลอกคนอื่นต่อได้เนียน” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า การโกหกมีประโยชน์บางอย่าง เลยไม่ไม่มีทางหมดไป แต่ที่ประหลาดใจคือการโกหกส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน ที่เรียกกันว่า White Lie เป็นการโกหกที่ไม่ได้ทำร้ายใคร เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจ มีงานวิจัยว่าถ้าคนเราโกหกไปเรื่อยๆ หรือโดนบังคับ จะเกิดความเครียดสูงมาก สะสมไปเรื่อยๆ จนออกทางร่างกาย เช่น คนที่ถูกบังคับให้โทรหลอกชาวบ้านอาจจะมีอาการผะอืดผะอม อ้วก เพราะร่างกายรับไม่ได้ เพราะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ได้อยากทำ

ดร.นำชัยกล่าวว่า นักการเมืองส่วนใหญ่โกหกเก่งหรือเปล่า หลายคนก็อาจจะพยักหน้า ซึ่งตนได้ไปดูงานวิจัยแล้วตนเซอร์ไพรส์มาก เนื่องจากงานวิจัยเขาพบว่า นักการเมืองอเมริกัน และอีกหลายชาติ เขาพยายามทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เฉลี่ย 60-70%

“แปลว่านักการเมืองส่วนใหญ่ที่พยายามขายแคมเปญ เขาก็มีความพยายามที่จะทำตามโครงการเหล่านั้น แต่มันก็จะมีเงื่อนไขอะไรต่างๆ เช่น ถ้าไม่ใช่พรรคใหญ่ ก็จะทำโครงการนั้นยากหน่อย แต่ถ้าเป็นพรรคเดียว หรือพรรคใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะทำได้สำเร็จเยอะ ไม่ใช่ว่านักการเมืองที่โกหก แต่มันดีกว่าภาพพจน์ที่เราคิด” ดร.นำชัยชี้

ดร.นำชัยกล่าวว่า มันมีข้อยกเว้นจากงานวิจัยอยู่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่นอกรีตที่สุด จนเรียกได้ว่า เหลือความจริงให้เชื่อได้น้อยมาก ซึ่งตนอยากให้สื่อทำเก็บข้อมูลแบบนี้ว่า เวลาที่เขาพูดแบบนั้นแบบนี้ ลองกลับไปค้นที่ฐานข้อมูล แล้วนั้น เขาโกหกจนเกินจริงไปมาก พูดจริง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เผยแพร่ความเชื่ออะไรที่มั่วซั่วเยอะมาก เช่น ตอนที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ บอกให้กินยามาลาเรียแล้วจะช่วยได้ ซึ่งมันเป็นความเชื่อส่วนตัว ไม่รู้ไปฟังใครมา แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะก้าวหน้ามาก แต่เขาเลือกผู้นำแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ประหลาดใจมาก

“เวลาเราเลือกนักการเมือง เราไม่ได้เลือกบนข้อเท็จจริง เราไม่เลือกเพราะว่าเขาทำสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า สิ่งที่เขาพูดมันเชื่อได้หรือเปล่า แต่เราใช้จริตของเราเองด้วย เราเชื่อว่าเขาเก่ง เขาทำได้ เชื่อว่าสิ่งที่เขาทำแล้วเราได้ประโยชน์ มันโยงกลับมาถึงตัวเราเองหมดเลยนะ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในจุดอ่อนของประชาธิปไตยอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าคนที่ไม่ได้รับการศึกษา หรือมีตรรกะมากพอ มันก็จะหลายเป็นผู้มากลากไป

อย่างงานของ ยูวาล โนอา ฮารารี่ ก็เขียนไว้เหมือนกันว่า ทรัมป์ มาจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมในอดีต แต่มันกลับทำพฤติกรรมที่เดโมแครตมาก จากอนุรักษนิยมมันกลายเป็นหัวก้าวหน้ามากกว่าพรรคหัวก้าวหน้าไปแล้ว ไม่ใช่ดูแค่อเมริกา แต่ถ้าย้อนกลับมาดูไทยเองว่า พรรคที่ดูเหมือนหัวก้าวหน้าอดีตเมื่อ 10-20 ปีก่อน กลับอนุรักษนิยม ยิ่งกว่าพรรคอนุรักษนิยมอีก ลองนึกเทียบดูเองแล้วมัน เพราะก็ไม่ใช่ทางผมเท่าไหร่ ” ดร.นำชัยชี้

ดร.นำชัยกล่าวว่า การอ่าน เป็นประโยชน์ แต่ถ้าอ่านแล้วไม่คิดอะไรเลย จบแค่นั้นมันก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเอาเลนส์ที่เราได้นั้นมาส่องสังคมไทย ลองเทียบดูว่าเราเหมือนเขาไหม ถ้าเป็นทำไมถึงเป็น ถ้าไม่เป็นเรามีอะไรที่ต่าง ซึ่งการทำแบบนี้เราจะได้วิธีคิดใหม่ดีๆ และต่อยอดไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มันดีขึ้นได้

ดร.นำชัยกล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่า การโกหกนั้นใช้พลังงาน ใช้ความจำเยอะมาก เพราะเป็นการแต่งเรื่อง แล้วต้องแต่งให้มันสอดคล้องกัน ฉะนั้นคนที่ต้องการโกหก เขาต้องสร้างสตอรี่ขึ้นมา ฉะนั้นมันต้องใช้ความจำมากว่า โกหกอะไรไว้คราวที่แล้ว เพื่อให้คราวนี้โกหกต่อได้อย่างแนบเนียน

คนที่มีโลกสองใบ คบกับแฟนทีเดียว 2-3 คน หรือ 20 คน มันต้องบริหารสมองเก่งมาก ต้องจำว่าโกหกอะไรใครไว้บ้าง มันน่าทึ่งมาก เพราะเราทำแบบนี่ไม่เป็น ก็เลยคิดว่ามันน่าทึ่งว่า เขาทำได้อย่างไร ถ้าไม่แม่นมันก็จะโดนจับโป๊ะได้” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า มันมี วิธีการจับโป๊ะอยู่ เช่น ถ้าคุณสงสัยคนที่อยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะเพื่อน หรือ แฟน เขาโกหกหรือเปล่า ลองให้เขาเล่าใหม่อีกรอบหนึ่ง แต่อย่าให้เล่าตามลำดับเวลา แต่ให้เล่าจากหลังไปหน้า เพราะถ้าเป็นเหตุการณ์จริงเล่าได้อยู่แล้ว มันอยู่ในหัว แต่ถ้าโกหกมันจะเริ่มงงแล้ว เพราะสมองมันทำงานหนักกว่าปกติ มันจะหลุดง่ายกว่าปกติ หรืออีกวิธีจับโป๊ะอีกอันหนึ่ง คือ การให้เขาเล่าแล้วจ้องตาไปด้วย เขาจะหลบตาแล้วมองไปทางอื่นตลอด ก็ถือว่าเป็น 2 วิธีง่ายๆ ที่จับโป๊ะคนโกหก

“ถ้าใครอ่านหนังสือประเภทวิเคราะห์ภาษากาย เช่น คนโกหกจะมีโอกาสสูงมากที่จะเอามือมายุ่งๆ แถวปากตอนที่กำลังพูด หรือ ตอบคำถามอะไรเรา เล็งเอาไว้เลยว่ามันมีโอกาสที่จะโกหก ซึ่งมันก็มีบางคนทำแนบเนียนที่โกหกจนเคยชิน พวกนี้ต้องจับเข้าอุโมงค์สแกนสมอง (MRI) อย่างเดียว” ดร.นำชัยกล่าว

ดร.นำชัยกล่าวว่า คนเคยบอกไว้ว่า เราโกหกคนคนหนึ่งไปเรื่อยๆ ได้อยู่ แต่เราโกหกทุกคนไปยาวๆ ไม่ได้หรอก สุดท้ายแล้วมันจะเกิดความขัดแย้ง เพราะทุกอย่างถ้ามันเป็นความจริง มันก็ต้องสอดคล้องกันหมด ไม่ใช่วันนี้บอกอย่าง เมื่อวานพูดอย่าง ถ้าไม่โกหกก็หลอกตัวเองแล้ว

เมื่อถามว่าตอนที่ค้นข้อมูลเขียนหนังสือเล่มนี้ มีเคสไหนที่น่าสนใจไหม?
ดร.นำชัยกล่าวว่า หลายคนบอกวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ทุกอย่าง แต่ตนก็พยายามอธิบายสิ่งที่ต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ได้เยอะมาก และมันชัดเจนมาก ยกตัวอย่างเช่น หนังสืออยากชวนเธอไปอำผี ซึ่งพูดถึงการถูกผีอำและวิธีไล่ผี

“หลายคนเคยมีประสบการณ์ผีอำ มันเกิดจากตอนที่เรานอน ร่างกายมันจะประมวลผลข้อมูลสิ่งที่เราเจอตลอดทั้งวัน อะไรจำเป็น ก็เก็บ อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้ง แต่การอาการผีอำ มันเกิดจากการที่เราบังเอิญรู้ตัวตอนที่สมองประมวลผลยังไม่เสร็จ มันอาจจะทำให้เราเห็นภาพที่ไม่มีจริง สมองเราสร้างขึ้น บางคนอาจจะเก่งกว่านั้น ไม่ได้สร้างแค่ภาพ ได้ยินเสียงด้วย ได้กลิ่นด้วย

วิธีที่ไล่ผีง่ายๆ คือ พยายามตั้งสติ คิดว่าผีเหรอ เราสร้างขึ้นมาเองนี่ล่ะ พยายามกระดิกนิ้วมือ นิ้วเท้า ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เรากระตุ้นด้วยเส้นประสาทง่ายมากที่สุด แล้วเมื่อเรากระดิกตัวได้ กระบวนการสมองก็จะจบไป แล้วเราก็จะตื่นขึ้นมาจริงๆ” ดร.นำชัยชี้

ดร.นำชัยกล่าวว่า เราบอกว่าสิ่งไหนที่เราอธิบายได้ เราก็จะบอกว่าวิทยาศาสตร์อธิบายได้แล้ว แต่การที่คุณบอกว่าวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ คือ คุณยังไม่ได้อ่านและเข้าใจผิด หรือ เคสไหนที่ยังไม่มีคำอธิบาย เราก็บอกว่ายังไม่มีคำอธิบาย รอไปก่อน วันหนึ่งอาจจะมีเครื่องมือที่พร้อมแล้วมาอธิบายได้

ดร.นำชัยกล่าวว่า ตนเรียนสายชีววิทยามา โดยมักจะคุ้นกับทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน ซึ่งก็จะวนกลับมา 2 ข้อเสมอ คือ 1. มนุษย์พยายามอยู่รอด เรากลัวตายที่สุด แล้วเราทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตาย อยากมีชีวิตที่เป็นอมตะ 2. เราอยากมีลูกหลาน เราอยากถ่ายทอดพันธุกรรมของเราไป

“สองเล่มใหม่ของผมที่เขียน ผมจะเล่าว่าถ้าเราอยากเอาตัวรอดแล้ว ต้องทำตัวอย่างไรถึงจะเหมาะสม มันไม่ได้แค่การเอาตัวรอดอย่างเดียว แต่มันต้องอยู่อย่างมีความสุขและคุณภาพชีวิตดีด้วย ถ้าอ่านแล้วคิดตามอาจจะมีความทุกข์น้อยลงนิดหนึ่ง หรือ มีแนวทางในการดำเนินชีวิต เพราะธรรมชาติมันมหัศจรรย์มาก อาจจะมีหลายอย่างที่เราไม่เคยนึกถึง” ดร.นำชัยกล่าว

เมื่อถามว่า ผลงานล่าสุด มีเบื้องหลังการทำงานอย่างไรบ้าง?

ดร.นำชัยกล่าวว่า ตนทำหนังสือแปลเล่มล่าสุด ซึ่งได้ทำงานแปลร่วมกันกับอีก 2 ท่าน คือ ธิดา จงนิรามัยสถิต และ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ คือหนังสือชื่อ “NEXUS ‘เน็กซัส’ ประวัติย่อการสื่อสาร จากยุคหินสู่เอไอ” ซึ่งเป็นผลงานของ ยูวาล โนอา ฮารารี่ ซึ่งเป็นผู้เขียนเรื่องเซเปียนส์

เซเปียนส์มีคอนเซ็ปต์หลักของเรื่อง คือ คนเราอยู่ด้วยความเชื่อ และคนที่เป็นนักเล่าเรื่องสามารถเปลี่ยนโลกได้ เราเชื่อในเงินตรา ระบบการปกครอง ประเทศชาติ ศาสนา พวกนี้ความเชื่อเยอะมาก สกัดออกมาเหลือความจริงไม่เท่าไหร่เลย

ส่วนเน็กซัสเล่มใหม่ คอนเซ็ปต์ของมันคือ เราอยู่บนโลกของข้อมูลข่าวสาร และมีคนที่คอยควบคุมข้อมูลให้มาถึงเรา หรือ ไม่ถึงเรา นั่นคือคนที่มีอำนาจแต่เรามีความท้าทายที่สำคัญมาก คือ คือ เอไอ (Artificial Intelligence หรือ AI) ที่มันสามารถสร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมาเองได้ คำถามก็คือว่า มันจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสมดุลของการควบคุมข้อมูลอย่างไร มันจะถึงวันที่เราถูกควบคุมด้วยเอไอหรือเปล่า มันมีทั้งข้อมูลที่หลอน หรือ สร้างขึ้นมาเอง

“ถ้าเราเป็นคนดังคนหนึ่ง แล้วถามเอไอ มันก็จะดึงข้อมูลมาบอกเรา แต่ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้จัก มีข้อมูลดิจิทัล ฟุตปริ้นส์น้อยในอินเตอร์เน็ตน้อย มันก็จะสร้างตัวตนเราขึ้นมาใหม่ มันแต่งเรื่องมาเลย เช่น เป็นคนฐานะดี หรือ ตั้งบริษัท มันมโนขึ้นมาเลย ซึ่งพอถึงวันหนึ่งเรายังจะเชื่อถือข้อมูลเหล่านั้นได้หรือเปล่า เราจะอยู่กันได้อย่างไรต่อ ก็เป็นโจทย์ของเล่มนี้” ดร.นำชัยกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image