ล้อมวงส่อง ‘พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ วัตถุยุคล่าอาณานิคม ควรส่งคืนไหม?

ล้อมวงส่อง ‘พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ วัตถุยุคล่าอาณานิคม สื่อความอารยะ ‘ชาติมหาอำนาจ’ – หลากมุมมอง ต้องส่งคืนไหม?

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องอบรมสัมมนา ชั้น 2 (MR 207) สำนักพิมพ์มติชน จัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด ‘The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ เขียนโดย อดัม คูเปอร์ แปลโดย วรรณพร เรียนแจ้ง

โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่ นายสมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน เจ้าของเพจ “เกร็ดก็เก่าเกย์ที่เล่าก็แก่”, น.ส.วรรณพร เรียนแจ้ง อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้แปลหนังสือ ‘The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ และนายคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักประวัติศาสตร์-อารยธรรมโบราณ อาจารย์พิเศษ และอดีตภัณฑารักษ์

Advertisement

ในการนี้ น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมฟังเสวนาด้วย

น.ส.วรรณพรกล่าวว่า ในทางมานุษยวิทยา เรามองตัวเองเป็น The Other ทำความเข้าใจ พยามที่จะเข้าใจเราและเข้าใจเขา ไม่ให้มีอคติ ซึ่งการทำ ‘พิพิธภัณฑ์’ เริ่มจากการสะสมสิ่งของ เก็บวัตถุธรรมชาติ พฤกษศาสตร์ เพื่อใฝ่หาความรู้ เดินทางออกไปหลายที่ เก็บสิ่งของต่างๆ แสดงให้คนอื่นเห็นว่ารสนิยมดี มีความสามารถ เดินทางไกลเพื่อเก็บของจากคนอื่นๆ โดยเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในช่วงที่ชาวโปรตุเกสออกเดินทาง สำรวจเส้นทางการค้า ทำให้ชาวยุโรปประเทศอื่นๆ เดินทางตามมากขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสเก็บของต่างๆ เพื่อมอบให้กับกษัตริย์ โดยมีความเกี่ยวข้องกับการล่าอาณานิคม มีการดูตลาดการค้า ตั้งบริษัทการค้าต่างๆ มีพิพิธภัณฑ์ของตัวเองอยู่ด้วย ทั้งประเทศที่ถูกล่าอาณานิคม และประเทศของตน จึงมีคลังสะสม เช่น ในพระราชวัง

Advertisement

“พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ มีการนำเสนออารยธรรมกรีก โรมัน แต่มีประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน อดัม คูเปอร์ มองว่าของเหล่านี้เป็นของแห่งผู้เป็นอื่น ซึ่งไปเก็บของสะสมที่ไม่ใช่ยุโรป พวกแปลกอยู่แดนไกล เข้าไม่ถึงอารยธรรม ที่อยู่ในลักษณะสังคมดั้งเดิม” น.ส.วรรณพรชี้

น.ส.วรรณพรกล่าวว่า จากการทำงานเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ที่บริทิชมิวเซียม ในปี 2005-2018 ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์อาณานิคม ก็โดนด่าจากทั่วมุมโลก ผ่านบทความ หนังสือ หรืออีเมล อย่างไรก็ตาม ภัณฑารักษ์ตั้งใจทำ ศึกษาคลังสะสม ซึ่งทำงานกันอย่างหนักมาก ต้องคอยตอบคำถามของผู้ชม นอกจากนี้ยังพยายามศึกษาชนเผ่าเล็กๆ ชนเผ่าเร่ร่อน โดยผู้คนเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างความเป็นอารยธรรม ด้วย

ด้าน นายคุณากรกล่าวว่า คำว่าผู้เป็นอื่น เป็นหัวใจของ ‘อดัม คูเปอร์’ พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่สร้างความหมาย ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น คือกระบวนการนี้ อย่างเช่น บริทิชมิวเซียม (British Museum) แสดงอารยธรรมสูงส่ง เป็นตัวแทนของวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของมนุษยชาติ แต่กระบวนการอีกด้านหนึ่ง คือการนิยามในสิ่งที่ไม่ใช่เรา เพื่อให้เป็นกระจกสะท้อนที่มองว่าเราเป็นใคร

นายคุณากรกล่าวว่า ระบบการจัดจำแนกสรรพสิ่งแบบยุโรป เมื่อเจอสิ่งแปลกๆ เรายังคงหาวิธีจัดการรับมือความช็อกของยุโรป เมื่อถึงยุค Enlightenment ในศตวรรษที่ 18 มีการสร้างชุดความคิดอธิบายสิ่งต่างๆจากมุมมองของยุโรป ให้มีที่มาที่ไป บางคนใช้คำว่า Enlightenment Project จัดการสรรพสิ่งต่างๆ โดยที่ยุโรปมองตัวเองว่ามีอำนาจ

“ถ้าคุณอยากสร้างจักรวาลย่อส่วน มันคือมิวเซียม โดยเฉพาะ Universal Museum หรือ Civilizational Museum บริทิชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ถ้าลากเส้นแล้วมันคือเรื่องของเรา แต่มีหลายอย่างที่ถูกถีบออกไป ให้คำอธิบายว่าที่ไม่พอ แต่ในเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเขาพยายามสร้างโครงเรื่องอะไรบางอย่าง เมื่อมีการสร้างอาคารใหม่ของบริทิชมิวเซียม มีการย้ายของที่เป็นธรรมชาติวิทยา ไปเปิดเป็น Natural History Museum ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อยากจะสร้างภาพคอลเลคชั่นสามมิติ ที่สะท้อนความคิดของตัวเองในสรรพสิ่งที่เรามี แต่ไม่นับเรื่องธรรมชาติ” นายคุณากรกล่าว

นายคุณากรกล่าวว่า ในเรื่องของหน้ากาก หรือพรีเมทีฟอาร์ต ต้องเป็นเรื่องของมานุษยวิทยาอยู่แล้ว แต่ในยุคแรกถูกจัดเป็นธรรมชาติวิทยา ไม่ได้เป็นอารยธรรมของมนุษย์ เทียบอยู่ในไทม์ไลน์หลังยุคฟอสซิลมาเล็กน้อย

นายคุณากรกล่าวว่า จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือมีกรณีศึกษาที่ผ่านมา การขุดค้นโบราณคดีในประเทศอียิปต์ โดยประเทศเยอรมันมีการเขียนสัญญาชัดเจนว่า วัตถุโบราณที่พบจะมีการแบ่งกันระหว่าง 2 ประเทศ หรือการได้ของที่ได้จากการเจริญสัมพันธไมตรี มันผิดหรือไม่ หรือกรณีสงครามมีการเคลื่อนย้ายวัตถุที่มูลค่าออกจากพื้นที่เสี่ยง ก็เป็นเรื่องปกติ

“การที่จะบอกว่ามันเคยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในที่นั้น แล้วมันผิด ผมคิดว่ามันเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป หลายหลายอย่างบางทีคืนให้ คืนให้ใคร” นายคุณากรชี้

ด้าน นายสมชายกล่าวว่า คูเปอร์น่าจะสร้างศัตรูเยอะ เขียนฟาดทุกพิพิธภัณฑ์ แต่แตะกระบวนการของปัญญาชน ทั้งศิลปิน นักมานุษยวิทยา นักปรัชญา ความน่าสนใจอีกอย่างตัวคูเปอร์ เป็นนักมานุษยวิทยา เกิดที่แอฟฟริกาใต้ ในปี ค.ศ.1941 อายุ 83 ปี เป็นนักมานุษยวิทยา ที่เป็นคอมมิวนิสต์ คูเปอร์จึงมีความคิดแบบลิเบอรัลมาก

“เขาเคยไปเจอเจ้าชายในชาวเผ่าแห่งหนึ่ง เจ้าชายก็มาคุยว่ายูเชื่อเรื่องแม่มดไหม แต่คูเปอร์บอกไม่เชื่อ เจ้าชายคนนั้นพูดประโยคของเชค สเปียร์ ว่า ในสวรรค์มีอีกหลายสิ่งมากที่อยู่นอกเหนือปรัชญาที่คุณรู้จัก ทำให้คูเปอร์คิดว่าที่คนไปตราหน้าว่าเป็น Primitive (มนุษย์ชนเผ่า) จริงหรอ” นายสมชายชี้

นายสมชายกล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น มักตั้งอยู่ในประเทศใหญ่ๆ อย่าง อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ที่แสดงของดั้งเดิม หรือความพรีเมทีฟ เพื่อโชว์ความอารยะของประเทศ พยายามเล่าเรื่องในวัตถุจัดแสดงเช่น ศีรษะฟาโรห์รามเสสที่ 2 พยายามหาความชอบธรรมให้อารยธรรมอียิปต์ มาเกี่ยวข้องกับอารยธรรมกรีกโรมัน

“ในยุคนั้นพยายามให้พวกมายัน ที่เจริญรุ่งเรืองมาได้ ไม่ได้มาจากชนเผ่าดั้งเดิม แต่มาจากชาวแอสแลนติกที่หนีมา น่าสนใจว่าพยายามลากความเป็นกรีกโรมัน สู่ความเป็นยุโรป” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า เมื่อมีวิทยาการใหม่ การจำแนกประเภทก็ต้องเปลี่ยนใหม่หมด บางช่วงแบ่งตามไบเบิล พิพิธภัณฑ์บางที่เอาล้อไปติดกับตู้ เพื่อให้เลื่อนไป-เลื่อนมาได้ รองรับการจัดประเภทใหม่ นอกจากนี้ ยังมีผู้เคยตั้งคำถามว่าช่วงปี 1900 กว่าๆ ทุกพิพิธภัณฑ์ต่างแข่งขันในเรื่องของคลังสะสมแต่ยุคนี้พิพิธภัณฑ์แต่ละที่แข่งขันว่า ใครจะคืนของได้มากกว่ากัน

สำหรับประเด็นความชอบธรรมในการถือครองวัตถุที่เป็นอื่น ควรส่งกลับประเทศต้นทางหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า คูเปอร์มองอย่างเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าคืนไปให้หมด แต่เป็นเรื่องที่ถกเถียงว่าเราขโมยมา หรือพยามรักษาไว้ มันอาจจะเริ่มจากการขโมย มา แต่พอถึงเวลานี้แล้วเป็นเรื่องของการพยามรักษาไว้ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องของแต่ละบริบท

ต่อมาเวลา 16.00 น. น.ส.วรรณพร ได้ร่วมกิจกรรมแจกลายเซ็น ให้กับนักอ่านจำนวนมากที่ซื้อหนังสือ ‘The Museum of Other People พิพิธภัณฑ์แห่งผู้เป็นอื่น’ ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image