มุงถก ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย’? รุ่งโรจน์ ดีใจคนกล้าเถียง-เขียนเลยในคำนำ ‘ไม่ได้ค้านไฮสปีด’

มุงถาม ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย’? รุ่งโรจน์ ดีใจคนกล้าถกเถียง – เขียนเลยในคำนำ ‘ไม่ได้ค้านไฮสปีด’

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พร้อมด้วยพันธมิตรสำนักพิมพ์ ร่วมจัดงาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22’ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายนนี้ โดยบรรยากาศการจัดงานวันที่ 3 เป็นไปอย่างคึกคักเนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 11.00 น. ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน ‘J47’ มีผู้คนแวะเวียนมาเลือกซื้อ เลือกอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากกว่าวันธรรดา โดยสำนักพิมพ์มติชน มีหนังสือหลากหลายแนว ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และจิตวิทยาพัฒนาบุคคล ซึ่งดึงดูดให้นักอ่านมาตามหาซื้ออ่านเป็นจำนวนมาก

เวลา 13.00 น. เริ่มกิจกรรมแจกลายเซ็นนักเขียน ‘Read up Sign’ โดย นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ เดินทางมาพบปะแฟนหนังสือ ‘ไม่มีครั้งสุดท้ายสำหรับโอกาส (ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ลำดับที่ 36)’ พร้อมแลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง

Advertisement

ต่อมาเวลา 15.00 น. รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เจ้าของผลงานดัง ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา’ เดินทางมาที่บูธสำนักพิมพ์มติชน (J47) เพื่อแจกลายเซ็น พูดคุย พร้อมแลกเปลี่ยนประเด็นประวัติศาสตร์กับนักอ่าน

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นท่ามกลางมายาคติ ที่ปฏิเสธเรื่อง ‘อโยธยา’ และไม่พร้อมเปิดใจ ฉะนั้นนักวิชาการสายประวัติศาสตร์คิดว่าต้องมี แต่สายโบราณคดีอาจจะมีความอคติ คิดว่ามันไม่มี

Advertisement

“ปัญหาใหญ่ของบ้านเรา เป็นสายที่ไม่กล้าเถียงอาจารย์ เถียงอาจารย์โดนด่าไหม สอบตกด้วย ฉะนั้น ถ้าเรายังยึดติดแบบนี้ สายนี้จะเรียวเล็กลงไปเรื่อยๆ เหมือนกบเหลาดินสอที่จะเหลาจนเหลือแต่ขี้ผง” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยขยายความรู้ออกไป หรือช่วยสำหรับการทบทวนวรรณกรรม (Literature review) ซึ่งสามารถขึ้นต้นด้วยหนังสือเล่มนี้ได้ จะผิดจะถูกเราไม่ว่ากัน เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้

“สังคมเราจะมีคนประเภทคนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยแล้วออกมาถกเถียง แต่อีกประเภทหนึ่ง คือ เพิกเฉยแล้วเงียบไป เราจะเลือกแบบไหน เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง ‘สถานีอยุธยา‘ ผมบอกในคำนำหนังสือเล่มนี้ว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการสร้าง แต่ขอให้เบี่ยงออกไปหน่อยได้ไหม ถ้าเรารู้ว่าตรงนั้นมีความสำคัญของเมืองเก่า สังคมก็จะรู้ว่าตรงนั้นไม่ควรทำรถไฟผ่าน” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ควรมีรถไฟความเร็วสูง แต่มันควรมีทางเลือกในการสร้างมากกว่านี้ โดยไม่ต้องผ่าใจกลางเมืองเก่า

“เอาแบบง่ายๆ เลย จะสร้างผ่านเมืองเก่าทำไม ในเมื่อมีเมืองใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว เคยไปอยุธยาไหม ไปด้วยรถไฟ หรือ รถยนต์ส่วนตัว เราก็มักจะตอบว่าขับรถไปเองสะดวกกว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วรถไฟมันจะตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้อย่างไร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่า ‘อโยธยา’ ถูกผูกปมแรกว่า ‘ไม่มี’ ตนจึงต้องค่อยๆ คลี่ออกทีละปม มันจึงเป็นเรื่องที่ดูแล้วค่อนข้างซับซ้อน

“เราเริ่มง่ายๆ จากการตั้งคำถามว่า ทำไมโบราณฯ เขาถึงคิดว่าไม่มี แล้วไม่มีเพราะอะไร อยุธยาเป็นราชธานีแห่งแรก แล้วก่อนพ.ศ.1893 อยุธยาไม่มีอะไร ถ้าเราสลายจุดนี้ไปได้ มันก็จบ เราจะคิดมุมอื่นได้” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวถึงเสียงตอบรับคนที่มาซื้อหนังสือ ‘อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา’ ด้วยว่า เป็นไปในทิศทางที่ดี หากจะมีการซื้อไปแล้วไปติเรื่องเนื้อหา หรือหยิบไปวิพากษ์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลก จะให้คนเห็นด้วยตามเราทั้งหมดย่อมไม่ได้

“วันนี้มีแฟนหนังสือเดินเข้ามา ถามถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะความรู้เกิดจากการถกเถียง (discuss) บางทีประเด็นใหม่ๆ อาจจะเกิดจากมิตรรักแฟนหนังสือของผมก็ได้ เป็นจุดที่ผมก็ชอบ เราอย่าปิดกั้น เพราะถ้าเราปิดกั้นเราจะจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ การปิดกั้นไม่ได้ทำให้ลอยขึ้นไป แต่ยิ่งจะจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า เรื่องนี้จะมีเนื้อหาที่โดนใจ จะใช่หรือไม่ใช่ ก็ขอให้มาลองอ่านก่อน

“แต่ด้วยมายาคติที่เรามอง สุโขทัยว่าเป็นสารตั้งต้น แต่ตามจริงแล้วโครงสร้างประวัติศาสตร์ไทย มันเริ่มต้นจาก ‘อโยธยา’ แล้วอโยธยามาจากไหน มาจากศรีเทพหรือเปล่า เราต้องอ่านก่อน อย่าลืมว่าเรื่องอโยธยาคนเขารู้หมดแล้ว แต่ว่าจะศึกษาอย่างไรต่อ ต้อง ‘งม’ ตรงไหนต่อ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เราอ่านแล้วต้องต่อยอดมุมมองด้วย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเยี่ยมชม บูธสำนักพิมพ์มติชน (J47) ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image